สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ทักษะทางการเงินของคนไทยยังต่ำ

ทักษะทางการเงินของคนไทยยังต่ำ

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ร่วมกับสำนักงานสถิติแห่งชาติ จัดทำการสำรวจทักษะทางการเงินของคนไทยเมื่อมี 2556 ที่ผ่านมา

เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ อีก 14 ประเทศที่เข้าร่วมการสำรวจในครั้งนี้

คนไทยเราถือว่ามีทักษะทางการเงินที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของอีก 14 ประเทศ โดยได้คะแนนเพียง 58.5% ในขณะที่ค่าเฉลี่ยของ 14 ประเทศอยู่ที่ 62.3%

ถ้าถามว่าประหลาดใจไหม ดิฉันต้องเรียนว่า ไม่ประหลาดใจ เพราะจากประสบการณ์ที่คลุกคลีกับผู้ลงทุน ผู้มีปัญหาทางการเงินที่มาปรึกษา และนักศึกษาต่างๆ ที่พบเมื่อไปบรรยายเกี่ยวกับการเงินและการลงทุน ดิฉันพบว่า การสอนเรื่องเงินๆ ทองๆ ที่ควรจะเริ่มที่บ้าน ได้ถูกละเลยไปมาก

ส่วนหนึ่งอาจเกิดจากผู้ปกครองมีเวลาให้บุตรหลานน้อยลง ส่วนหนึ่งเกิดจากหลักสูตรในโรงเรียนไม่ได้สอน และอีกส่วนหนึ่งเกิดจากอิทธิพลของโฆษณาที่ผ่านสื่อต่างๆ มาล่อตาล่อใจให้เยาวชนและแม้กระทั่งผู้ใหญ่ หลงใหลไปกับการบริโภค จนอาจจะทำให้บางคนแม้จะมีความรู้แต่ก็ไม่ได้ปฏิบัติ จึงเกิดการบริโภคเกินตัว

หลายคนใช้วงเงินในบัตรเครดิตหมุนไปหมุนมาจนหนี้พอก จากหลักพันกลายเป็นหลักแสนได้อย่างง่ายดาย และเมื่อจำนวนเงินสูงขึ้น การแก้ไขเยียวยา ก็ทำได้ยากขึ้น

ทักษะทางการเงิน หรือหากจะแปลตรงตัวรากศัพท์ภาษาอังกฤษก็ต้องเรียกว่า การอ่านออกเขียนได้ทางการเงิน ตามนิยามที่ทาง OECD บัญญัติ และธนาคารแห่งประเทศไทยใช้ในการสำรวจครั้งนี้ คือ การตระหนัก ความรู้ความเข้าใจ ความเชี่ยวชาญ ความชำนาญ ทัศนคติ และพฤติกรรม ในลักษณะที่มีผลให้บุคคลเกิดการตัดสินใจทางการเงินที่ดี และในที่สุดจะช่วยส่งผลให้บุคคลมีสุขภาพทางการเงินที่ดี

จะเห็นว่า ความเข้าใจอย่างเดียวไม่เพียงพอค่ะ ต้องนำไปสู่การปฏิบัติที่ถูกต้องด้วย เช่นเข้าใจว่าหนี้บัตรเครดิตคิดอัตราดอกเบี้ยสูง แต่ก็ยังใช้หมุนเวียนตลอดเวลา และเอาไปซื้อสินค้าคงทนชิ้นใหญ่ เกิดดอกเบี้ยท่วมท้น จนทำให้ราคาซื้อที่แท้จริงสูงกว่าที่ควรจะเป็นหลายเท่าตัว

ต้องเข้าใจว่า เงินกู้หรือสินเชื่อบางประเภทมีประโยชน์มาก เช่น สินเชื่อที่อยู่อาศัย นอกจากอัตราดอกเบี้ยจะต่ำที่สุดในบรรดาสินเชื่อสำหรับบุคคลทั้งหมดแล้ว การคิดดอกเบี้ยยังเป็นแบบ ลดต้น ลดดอก คือเมื่อผ่อนเงินต้นลดลง ดอกเบี้ยของงวดต่อไปจะคิดอยู่บนฐานยอดเงินต้นใหม่ที่ลดลงไปแล้ว

ดังนั้น ผู้ที่สามารถเข้าถึงสินเชื่อที่อยู่อาศัย หรือเงินกู้ซื้อบ้านได้ ก็ควรจะใช้ให้เป็นประโยชน์

ผลสำรวจของธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่า ทักษะทางการเงินมีส่วนสัมพันธ์กับฐานะ รายได้ และการศึกษา คือยิ่งมีรายได้สูง ฐานะดี ก็จะมีทักษะทางการเงินดีกว่าคนที่มีรายได้น้อย ฐานะไม่ดี แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคนที่มีรายได้ดี จะมีทักษะทางการเงินไปเสียทุกคนนะคะ ที่ยังไม่เข้าใจ หรือเพิกเฉยไม่สนใจก็มีมาก

สิ่งที่พบคือ คนไทยไม่เข้าใจเรื่องค่าเงินปัจจุบัน และค่าเงินในอนาคต ไม่เข้าใจว่าในโลกที่มีอัตราเงินเฟ้อ เงิน 100 บาทในวันนี้ จะมีค่ามากกว่า 100 บาทในวันพรุ่งนี้ เนื่องจากผลของเงินเฟ้อ หากอัตราเงินเฟ้อเท่ากับ 3% จะซื้อของที่ราคา 100 บาทในปีนี้ ในปีหน้าต้องใช้เงิน 103 บาทซื้อ เป็นต้น ซึ่งตอนนี้ทุกคนก็ประสบกันโดยถ้วนหน้าว่า ก๋วยเตี๋ยวขึ้นราคาเป็นชามละ 55 บาท โดยได้ปริมาณเท่ากับปีที่แล้วซึ่งขายราคา 50 บาท

ประเด็นที่สองที่ต้องแก้ไข คือ คนไทยไม่เข้าใจการคำนวณดอกเบี้ย และการทบต้นของดอกเบี้ย

ข้อนี้ดิฉันเสนอวิธีแก้ไขโดยเพิ่มโจทย์การเงินเข้าไปในวิชาคณิตศาสตร์ สำหรับชั้นเรียนประถม 4-6 เช่น ให้มีโจทย์การคิดดอกเบี้ยมากๆ หน่อย ในช่วงเวลาหลายๆ ปีหน่อย เพื่อให้เห็นผลของดอกเบี้ยทบต้น แทนที่จะเป็นโจทย์การคิดเลขอื่นๆ ที่ไกลตัว ฯลฯ เมื่อได้ทำโจทย์มาก หรือทำข้อสอบแล้วผิด นักเรียนก็จะเรียนรู้ แล้วก็จะมีทักษะเพิ่มขึ้น

ผู้ปกครองที่บ้านก็ช่วยได้ค่ะ ให้บุตรหลานของท่านฝากเงิน แล้วให้ดอกเบี้ยในอัตราแตกต่างกัน ฝากยาวหน่อยให้อัตราสูง ฝากสั้นๆ ให้อัตราต่ำ เด็กจะเรียนรู้อย่างรวดเร็วทีเดียว คุณพ่อของดิฉันเคยให้ 100% เมื่อฝากเงินกับ ธนาคารคุณพ่อ ทำให้เด็กอยากเก็บออมให้เงินงอกเงย แล้วทักษะนี้จะอยู่ติดตัวไปตลอดชีวิตค่ะ

เมื่อคราวประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ 20 อันดับแรกของโลก (G-20) ที่ประเทศรัสเซีย เมื่อปลายปี 2013 มีการแบ่งปันประสบการณ์การสอนและเร่งปรับปรุงทักษะทางการเงินของประชากรของประเทศในกลุ่ม G-20 โดยมีรายงานแบ่งกลุ่มประเทศเป็น 3 กลุ่ม ตามสถานะการหยิบประเด็นทักษะทางการเงินของประชากร คือ กลุ่มที่ใช้เป็นนโยบายแห่งชาติแล้ว 20 ประเทศ กลุ่มที่ออกแบบนโยบายไปแล้วส่วนใหญ่ (25 ประเทศ) และกลุ่มที่กำลังพิจารณาทำให้เป็นนโยบายแห่งชาติ (5 ประเทศ)

ตอนแรกดิฉันก็คิดว่าคนไทยเราน่าจะจัดอยู่ในกลุ่มที่กำลังพิจารณา แต่ปรากฏว่า มีหน่วยงานแจ้งเขาไปว่า เรากำลังออกแบบให้กลายเป็นวาระแห่งชาติ เราจึงได้อยู่ในกลุ่มเดียวกับตุรกี เกาหลี สวีเดน ชิลี เปรู รัสเซีย ฯลฯ ซึ่งน่าประหลาดใจ

ส่วนหนึ่งของข้อสรุปจากการสำรวจของธนาคารแห่งประเทศไทย คือ ความรู้ทางการเงินของคนไทยอยู่ในระดับต่ำ ถ้าเพิ่มความรู้ได้ พฤติกรรมและทัศนคติเกี่ยวกับการเงินจะดีขึ้น

ถ้าเรื่องการเพิ่มทักษะทางการเงินของประชาชนจะเป็นวาระแห่งชาติจริง หลักสูตร เงินทองของมีค่า ที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในสมัยที่คุณกิตติรัตน์ ณ ระนอง เป็นกรรมการและผู้จัดการเคยจัดทำ และจัดอบรมครูมากมายทั่วประเทศ ควรจะได้รับการบรรจุให้เป็นหลักสูตรภาคบังคับเสียที หลังจากที่พยายามมาเป็นเวลาเกือบสิบปีแล้วและกระทรวงศึกษาธิการอ้างว่า ไม่มีเวลาเรียนเพียงพอที่จะแทรกเข้าไป จึงได้เป็นเพียงวิชาเลือกเท่านั้น

ดิฉันยืนยันว่าทักษะทางการเงิน เป็นทักษะที่สำคัญที่จะยกระดับฐานะและพัฒนาคุณภาพชีวิต ทำให้ชีวิตดีขึ้น ไม่ตกเป็นเหยื่อขอผู้ไม่ประสงค์ดีที่ขูดเลือดขูดเนื้อ ทำมาหากินกับผู้มีรายได้น้อยและมีความรู้น้อย

เพราะจากการสำรวจก็ยืนยันแล้วว่า กลุ่มผู้มีรายได้น้อย (ซึ่งส่วนใหญ่มีการศึกษาน้อยกว่า)คือกลุ่มที่ประสบปัญหาด้านการคำนวณดอกเบี้ยมากที่สุด


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ทักษะทางการเงิน คนไทย ยังต่ำ

view