สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ยูเน็ต-มาตรวัดการศึกษาที่ไม่มีคุณภาพ

ยูเน็ต-มาตรวัดการศึกษาที่ไม่มีคุณภาพ

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...ธเนศน์ นุ่นมัน

กระแสคัดค้าน การทดสอบทางการศึกษาระดับชาติระดับอุดมศึกษาหรือ U-NET ที่เพิ่มมากขึ้นทุกที ทำให้เกิดคำถามว่า ทำไมเรื่องนี้จึงกลายเป็นปัญหาที่จุดเดือดต่ำ ทำให้อุณหภูมิการต่อต้าน สูงขึ้นได้ง่ายนักและจำเป็นต้องทำความรู้จักกับกลไกนี้

"ยูเน็ต" คือ การทดสอบตามมาตรฐานการอุดมศึกษา (University National Education Test) เป็นการทดสอบและประเมินมาตรฐานบัณฑิต โดยทำการทดสอบกับนิสิตนักศึกษาระดับปริญญาตรี ชั้นปีสุดท้ายของทุกสาขาวิชา เพื่อทดสอบและประเมินมาตรฐานบัณฑิตตามกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ (TQF)

กลไกนี้ ถูกคิดขึ้นเพื่อเป็นการประกันคุณภาพภายใน-ภายนอกการเรียนการสอนให้แต่ละมหาวิทยาลัย

ยูเน็ต ตั้งเป้าว่าจะจัดสอบใน 3 ด้าน คือ 1. ทักษะพื้นฐาน 4 วิชา คือ การใช้ภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร การใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร การใช้สารสนเทศและเทคโนโลยีเพื่อการดำรงชีวิต คือ การรู้เท่าทันสื่อ (Media Literacy) และการคิดวิเคราะห์แก้ปัญหา อย่างมีวิจารณญาณ (Critical Thinking) 2. คุณธรรม จริยธรรม (Moral Resoning) 3.ด้านทักษะวิชาชีพเฉพาะสาขาวิชา

ซึ่งในส่วนนี้ สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.)ซึ่งเป็นหน่วยงานที่จัดสอบ ระบุว่าจะร่วมมือกับสภาวิชาชีพ สมาคมวิชาชีพ เพื่อนำผลทดสอบและผลประเมินที่มีมาตรฐานมาใช้เป็นส่วนหนึ่ง แต่หากวิชาชีพนั้นๆ ไม่มีการทดสอบ ก็จะพัฒนาเครื่องมือวัดทักษะวิชาชีพแต่ละสาขาขึ้น

วรากรณ์ สามโกเศศ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวว่า กลไกการประเมินอย่างยูเน็ต เป็นเรื่องที่ถูกคิดมานานแล้ว และได้นำมาถกเถียงกันในแวดวงวิชาการด้านการศึกษามาเป็นระยะๆ โดยเฉพาะในประเด็นที่ว่า แม้จะมีการทุ่มเทออกแบบข้อสอบอย่างไรก็ตาม เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยากที่จะสร้างความเชื่อมั่นว่า เครื่องมือที่วัดคุณภาพนักศึกษาได้

“ในสหรัฐอเมริกาก็มีการสอบในรูปแบบที่คล้ายคลึงกับยูเน็ต แต่เครื่องมือนี้ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์และถูกตั้งคำถามว่า จะเป็นเครื่องการรันตีได้อย่างไร ว่า จะบอกได้ว่าเด็กที่ได้คะแนนสูงหรือต่ำ จะมีคุณลักษณะที่เป็นที่ต้องการแก่สังคมจริงๆ เพราะลำพังข้อสอบ จะไม่สามารถวัดคุณลักษณะบางประการได้เลย ไม่สามารถวัดทักษะแต่ละช่วงชีวิตที่อาจจะต้องเรียนรู้จากประสบการณ์ตรงที่แต่ละคน ย่อมมีไม่เท่ากัน มาสามารถวัด คุณธรรมจริยธรรม ความมีจิตอาสา การสื่อสารกับบุคคลอื่น นี่เป็นเรื่องที่เราไม่สามารถใช้ข้อสอบในกระดาษวัดได้ ”วรากรณ์กล่าว

อธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ระบุอีกว่า เมื่อคะแนนที่จะได้มาได้ ไม่สามารถสะท้อนข้อเท็จจริง และตอบคำตามเรื่องตัวแปร สังคมก็จะเกิดการตั้งคำถึงความจำเป็นในเครื่องมือนี้อย่างเลี่ยงไม่ได้

“อีกคำถามคือ เด็กสอบด้วยความสมัครใจหรือไม่ ซึ่งอาจตั้งใจ หรือไม่ตั้งใจ หรือเด็กเก่งบางคนไม่สนใจ ไม่เข้าสอบ หรือมาเพื่อกาคะแนนทิ้งเหมือนการสอบอื่นๆ แล้วผลคะแนนออกมาเป็น 0 คะแนน จะนำคะแนนตรงนี้ไปใช้ จนส่งต่ออันดับของมหาวิทยาลัยด้วยหรือไม่ ผลกระทบตรงนี้คงไม่มีใครยอมให้เกิดกับชื่อเสียงมหาวิทยาลัยตัวเองแน่”วรากรณ์ระบุ

วิทยากร เชียงกูล คณบดีกิตติคุณ วิทยาลัยนวัตกรรมสังคมมหาวิทยาลัยรังสิต ระบุว่า กรณีที่หลายมหาวิทยาลัยออกมาต่อต้านเรื่องนี้ ถือเป็นเรื่องที่ปกติ เพราะ มหาวิทยาลัยแต่ละแห่งมีอำนาจดูและตัวเอง ขณะเดียวกันก็มองเห็นว่าเครื่องมือนี้ทำงานซ้ำซ้อนกับกลไกอื่น ซึ่งกลไกหลังจบการศึกษา มีสมาคมวิชาชีพต่างๆ จัดทดสอบเรื่องนี้อยู่แล้ว

“การวัดคุณภาพเป็นเรื่องที่สำคัญ บางสาขาวิชาชีพ เช่น แพทย์ วิศวกร ทราบเรื่องนี้ดี และทราบอีกด้วยว่าการเรียนการสอนในอุดมศึกษาของเรามีปัญหาเรื่องคุณภาพ ที่ไม่เท่ากันจริง แต่การตรวจสอบควรเป็นเรื่องของอาชีพนั้นๆ ที่จะมีวิธีการหรือกลไกที่เข้าถึงปัญหากว่า ไม่ใช่เรื่องของการกรอกเอกสารอย่างที่หน่วยงานวัดคุณภาพทำอยู่ในปัจจุบัน เราต้องมาคุยกันใหม่ โดยหาทางให้สมาคมวิชาชีพต่างๆ มีระบบวัดผมที่เข้มแข็งขึ้น”วิทยากร กล่าว

สธน วิจารณ์วรรณลักษณ์ อาจารย์ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ประเด็นอยู่ที่ว่า ยูเน็ต เป็นกลไกที่ซ้ำซ้อนกับการสอบภาค ก ที่จัดสอบโดยคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (กพ.) ในการสอบคัดเลือกระบบราชการ เมื่อก่อน กพ.ให้เฉพาะผู้ที่จะสอบเข้าทำงานในระบบราชการเท่านั้น แต่ตอนนี้กำลังจะใช้กับผู้ที่จบการศึกษาใหม่ทุกคน

“ข้อสอบยูเน็ตอาจกลายเป็น เครื่องมือที่ประจานนักศึกษาที่จบจากแต่ละที่ ซึ่งไม่มีที่ไหนยอมแน่ เพราะที่สุดแต่ละแห่งอาจจะต้องตอบคำถามสังคม เช่นว่า จบคณะแพทย์ศาสตร์ ม.ชื่อดัง แต่ทำไมสอบยูเน็ตตก นอกจากนี้ หน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องนี้ถูกมองว่า ตั้งขึ้นเพื่อวัดคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐานเท่านั้น หน่วยงานนี้ยังถูกตั้งคำถามเรื่องความน่าเชื่อถือของข้อสอบระดับต่างๆ อยู่แทบทุกปี ขณะที่มหาวิทยาลัยปฏิเสธกลไกนี้ได้ เพราะแต่ละแห่งบริหารตัวเองอย่างอิสระ ไม่มีข้อบังคับตามกฎหมาย”สธนกล่าวและว่าแม้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะผลักดันเรื่องนี้ต่อไป แต่ก็จะต้องยื้อกับแรงต้านต่อไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เช่นกัน


อธิการมศว.เตือนสอบu-netให้ดูเครื่องมือวัด

อธิการมศว.ระบุก่อนใช้ u-net ควรดูเครื่องมือที่ใช้วัดเด็กก่อน ระวังเครื่องมือผิดๆ ยิ่งสร้างปัญหาเพิ่มขึ้น

ผศ.นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ อธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) กล่าวถึง การที่สทศ.มีแนวคิดเกี่ยวกับการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติในระดับอุดมศึกษา (University National Education test) ว่าทุกวันนี้มหาวิทยาลัยมีการประเมินทั้งภายนอกภายใน จากสกอ.และสมศ.อยู่แล้ว เป็นการวัดเรื่องของการเรียนการการสอนและบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษา ในการประกันคุณภาพของมหาวิทยาลัย แต่ละมหาวิทยาลัยมีการสอบรายวิชา รายเทอม รายปีอยู่แล้ว แต่ละสถาบันดำเนินการอย่างเข้มข้น แต่ไม่ได้เป็นการสอบวัดปลายทางอย่างที่สทศ.นำเสนอให้มีการสอบ U- NET

"แต่หากจำเป็นต้องทำเพราะมีการอ้างถึงกฎหมาย ก็ควรจะมีวิธีการโดยใช้วิธีการที่มหาวิทยาลัยใช้ประเมินและทำอยู่แล้ว นำไปใช้ในการประเมินในส่วนของ U-NET ด้วย แต่ในความเป็นไปได้ที่สทศ.นำเสนอนั้นคิดว่าเป็นเรื่องยาก ที่สำคัญผมอยากจะให้ช่วยวัดเครื่องมือที่จะนำมาวัดทดสอบหรือวัดเด็กก่อนดีไหม แล้วถึงจะนำมาวัดเด็กหรือทดสอบเด็กจริงๆ ทุกวันนี้เครื่องมือที่ใช้วัดเด็กยังวัดได้ไม่ถูกเลย และยิ่งวัดก็จะยิ่งผิดกันไปใหญ่ อย่างนี้ควรให้มหาวิทยาลัย หรือหน่วยงานที่เขาดูแล อย่างเช่นผู้ใช้บัณฑิตที่สำเร็จการศึกษา สถานประกอบการ ช่วยกันวัด หรือประเมินไม่ดีกว่าหรือ"


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ยูเน็ต มาตรวัดการศึกษา ไม่มีคุณภาพ

view