สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

การมีส่วนร่วม พูดง่ายแต่ทำได้หรือเปล่า

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ CSR Talk โดย พีรานันท์ ปัญญาวรานันท์ ผู้จัดการโปรแกรมความรับผิดชอบต่อสังคม

การมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย คือ การกระจายโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารเกี่ยวกับการตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ รวมทั้งการจัดสรรทรัพยากรของชุมชนและของชาติ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชน โดยการให้ข้อมูลแสดงความคิดเห็น ให้คำแนะนำปรึกษา ร่วมวางแผน ร่วมปฏิบัติ ตลอดจนการควบคุมจากประชาชน

การมีส่วนร่วม ตามคำจำกัดความของธนาคารโลก (World Bank) กล่าวไว้ว่า คือกระบวนการที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมีอิทธิพล และมีส่วนในการควบคุมต่อการตัดสินใจ ตลอดจนจัดการทรัพยากรที่มีผลต่อพวกเขา โดยคุณค่าของการมีส่วนร่วมนั่นคือ

- คุณภาพของการตัดสินใจ

- คาดการณ์ความห่วงกังวลและทัศนคติของสาธารณชน

- ระบุปัญหาได้ดีกว่า

- มีการพิจารณาทางเลือกต่าง ๆ อย่างเต็มที่

- มีความเข้าใจถึงเหตุและผลของปัญหา

ในประเทศไทยมีการพูดถึงการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียตามกฎหมาย ดังข้อความในมาตรา 67 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ที่มีการบัญญัติว่า การดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ จะกระทำมิได้

เว้นแต่จะได้ศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพของประชาชนในชุมชน และจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียก่อน รวมทั้งได้ให้องค์กรอิสระซึ่งประกอบด้วยผู้แทนองค์กรเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ผู้แทน

สถาบันอุดมศึกษาที่จัดการการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อม หรือทรัพยากรธรรมชาติ หรือด้านสุขภาพ ให้ความเห็นประกอบก่อนมีการดำเนินการดังกล่าว

เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 67 ต้องการให้เกิดความเป็นธรรม และการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยคำนึงถึงการพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่ไปกับสิ่งแวดล้อม จึงเป็นที่มาของการจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งหมายถึงการใช้หลักวิชาการในการทำนาย หรือคาดการณ์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมทั้งทางบวกและทางลบของการดำเนินโครงการพัฒนาที่จะมีผลต่อสิ่งแวดล้อมในทุก ๆ ด้าน ทั้งทางทรัพยากรธรรมชาติ ทางเศรษฐกิจ และสังคม เพื่อจะได้หาทางป้องกันผลกระทบในทางลบที่อาจเกิดขึ้นให้เกิดน้อยที่สุด

ทั้งนี้ กระบวนการดังกล่าวจำเป็นต้องรวบรวมเอาความคิดเห็นของประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียตั้งแต่เริ่มทำรายงาน มากกว่าจะรอให้เป็นผู้รับฟังรายงานแบบประชาพิจารณ์โดยไม่มีโอกาสแสดงความคิดเห็นใด ๆ

กระบวนการมีส่วนร่วมจึงควรได้รับการวางแผนอย่างเป็นระบบ มีการระบุผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ลักษณะความสนใจ มีความสัมพันธ์กับโครงการหรือองค์กรอย่างไรบ้าง ระดับของผลกระทบมากน้อยเพียงใด เป็นบวกหรือลบต่อการดำเนินการขององค์กรหรือโครงการ จึงจะสามารถออกแบบกิจกรรมการมีส่วนร่วมได้ชัดเจน

ตั้งแต่รับทราบข้อมูลไปจนกระทั่งร่วมคิดและตัดสินใจผ่านการแจกข่าว เสียงตามสาย สานเสวนา Workshop ระดมสมอง ไปจนถึงเวทีประชาคม คนทำงานชุมชนหลาย ๆ คนเรียกกระบวนการนี้ว่า "กระบวนการเห็นหัว"

หลายองค์กรสนับสนุนการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยกำหนดให้มีส่วนร่วม แต่การนำพวกเขาเข้ามาจริงนั้นไม่ง่าย ในสังคมฐานความรู้ (Knowledge Based Society) ข้อมูลดีมีชัยไปกว่าครึ่งเสมอ ดังนั้น การวางแผนอย่างระมัดระวังในการระบุผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่ถูกต้อง เพื่อมั่นใจได้ว่าผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมีส่วนร่วมในวิธีการที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพจริง ๆ จึงเป็นเรื่องสำคัญที่คนทำ CSR ต่าง ๆ ไม่ควรมองข้าม หรือมองแคบจนทำให้เกิดปัญหาขึ้นภายหลัง


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : การมีส่วนร่วม พูดง่าย ทำได้หรือเปล่า

view