สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

การบริหารจัดการความเสี่ยงในกิจการ

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ เรื่องเล่าซีอีโอ โดย วิชัย เบญจรงคกุล

ในปัจจุบันหลายประเทศที่มีระบบ เศรษฐกิจที่มั่นคงและมีการบริหารจัดการที่ดีจะให้ความสำคัญกับเรื่องการ บริหารจัดการความเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นและมีผลกับกิจการต่าง ๆ ไม่ว่าเป็นระบบการเมือง การบริหารกิจการธุรกิจ หรือแม้แต่ความเสี่ยงส่วนบุคคล แต่เรื่องการบริหารจัดการความเสี่ยงในบ้านเราดูยังจะมีคนให้ความสนใจน้อย กว่าที่ควร

ที่จะเห็น ๆ ก็มีในบริษัทใหญ่ ๆ หรือพวกกิจการข้ามชาติ หรือกิจการที่ต้องดำเนินการเกี่ยวกับการจัดการความเสี่ยง เพราะถูกบังคับเรื่องมาตรฐานจากคู่สัญญาต่างประเทศ

หากดูกลุ่มกิจการธุรกิจภายในประเทศ ทั้งขนาดใหญ่ กลาง เล็กแล้ว เรื่องการจัดการเรื่องความเสี่ยงต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงการดูแลเรื่องความปลอดภัยในสถานที่ทำงานที่เป็นสาขาหนึ่งของการบริหารจัดการความเสี่ยงก็ดูเหมือนมีคนให้ความสนใจน้อยมาก ๆ

ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น...หากถามกันก็คงมีคำตอบอยู่สัก 2-3 อย่าง เช่น ไม่คิดว่าต้องทำอะไร หรือไม่น่าจะมีอะไรเกิดกับเรา เพราะไม่เห็นมีใครมาบังคับให้ต้องทำ หรือไม่สนใจเพราะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมทำให้เกิดต้นทุนสูง

ทีนี้หากถามว่า การจัดการเรื่องการบริหารความเสี่ยงนั้นมีประโยชน์หรือไม่ คำตอบก็อาจมี 2-3 อย่างเช่นกัน คือ จะช่วยจำกัดความเสี่ยงที่อาจมีผลกระทบถึงการดำเนินกิจการที่อาจเกิดขึ้นโดยไม่คาดคิด ทำให้การดำเนินกิจการสามารถดำเนินการอย่างต่อเนื่อง หรือทำให้เกิดกระบวนการดูแลจัดการด้วยความระมัดระวังเป็นระบบที่มีผู้รับผิดชอบชัดเจน และที่มีการพัฒนาระบบการจัดการที่มีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง และ/หรือทำให้ผู้บริหารกิจการดูแลเอาใจใส่อย่างจริงจัง

แล้วทำไมผู้บริหารระดับสูง หรือผู้ที่เป็นผู้ควบคุมกิจการ (เจ้าของ) ในบ้านเราถึงยังมีเรื่องการพูดหรือใส่ใจในเรื่องนี้ยังน้อยอยู่

ผมก็คิดหาเหตุผลแบบง่าย ๆ ก่อน อย่างหนึ่งคือในวัฒนธรรมความเชื่อของคนบ้านเรา มักจะเชื่อเรื่องของดวง เรื่องของโชคชะตา คิดว่าหากสิ่งเลวร้ายที่อาจเกิดกับเรามักมาจากความเชื่อเรื่องของ "กรรมเก่า" และเป็นสิ่งที่เราหลีกเลี่ยงไม่พ้น

อีกอย่างก็คงเป็นเรื่องที่คิดว่า หากสิ่งเลวร้ายยังไม่เกิดขึ้นเรา ไม่ควรไปคิดในแง่ร้ายไว้ก่อน มันอาจกลายเป็นการแช่งตัวเอง (คล้าย ๆ กับความคิดในมุมของความเชื่อในโชคชะตา) และอีกอย่างเราอาจจะเชื่อใจคนอื่น เช่น เจ้าหน้าที่ในบริษัทหรือบุคคลรอบตัวว่าจะช่วยดูแลแทนเราเสมอ จึงทำให้เราอาจละเลยความสำคัญของการบริหารจัดการความเสี่ยงในกิจการ จนบางทีอดนึกไม่ได้ว่า คำโบราณที่กล่าวว่า "วัวหายล้อมคอก" นั้น ช่างเป็นอะไรที่คนในอดีตได้คิดเรื่องพวกนี้ไว้บ้างแล้ว แต่ก็ไม่ได้ทำให้พฤติกรรมที่ไม่ใส่ใจเกี่ยวกับเรื่องการจัดการบริหารความ เสี่ยงมีมากขึ้น ในวัฒนธรรมของเราจึงขาดการใส่ใจทั้งจากภาครัฐและในภาคองค์กรต่าง ๆ

ผมว่าหลาย ๆ ท่านคงมีประสบการณ์เรื่องประเภทนี้อยู่บ้าง ผมขอเล่าประสบการณ์ที่เกิดกับกิจการที่ผมมีส่วนเกี่ยวข้องอยู่ นั่นคือเรื่องสมัยลดค่าเงินบาทยุควิกฤตเศรษฐกิจปี ค.ศ. 1997

ตอนนั้นประเทศไทยมีการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทคงที่ และเพราะปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจไทยไม่สามารถรองรับนโยบายการกำหนดค่าเงินคงที่ได้ จึงต้องปรับนโยบายเป็นการปล่อยค่าเงินบาทลอยตัว ซึ่งค่าเงินบาทต้องนั้นอ่อนค่าลงแบบทุกวันนี้ เราคงยังจำกันได้ถึงความเจ็บปวดของผลที่เกิดขึ้นนะครับ

ในตอนนั้นพวกเราหลาย ๆ คนก็ไม่เป็นภาษีภาษา ยังหลงเชื่อว่าค่าเงินบาทของเราคงไม่มีการเปลี่ยนแปลง

เราไม่เคยคิดไม่เคยศึกษาหาข้อมูล ไม่เคยรู้ว่ากลไลการเงินของโลกเขาบริหารจัดการกันซับซ้อนขนาดไหน

เราไม่รู้ เราไม่ถาม เราไม่สงสัย และเราไม่เคยสนใจว่าเศรษฐกิจเราเป็นอย่างไร
เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ เราคล้าย ๆกับเป็น "กบในกะลา" (อย่างน้อยก็พวกเราที่เป็นนักธุรกิจ ไม่ใช่นักการเมือง หรืออินไซเดอร์) เรามารู้ตัวกันอีกที ทุกคนที่มีหนี้เป็นเงินตราต่างประเทศก็เป็นหนี้สินเพิ่มขึ้นอย่างน้อยเป็นหลายเท่าตัว หลายธุรกิจต้องยุติบทบาทไป หลาย ๆ คนถึงกับต้องหนีหนี้ เราคงยังจำภาพนั้นกันได้นะครับ

บริษัทผมก็เป็นหนึ่งในกลุ่ม "กบในกะลา" ไม่รู้ ไม่คิด ไม่ถาม ไม่ระวัง เลยเจอกับหนี้สินเงินตราต่างประเทศมากมายที่ไปกู้มาเพื่อลงทุนในประเทศไทย และโดยไม่มีการปิดความเสี่ยงของอัตราแลกเปลี่ยน ค่าเงินบาทกับเงินที่กู้มา

ทุกดอลลาร์สหรัฐ ทุกเยนญี่ปุ่น ทุกสวิสฟรังก์ ผลเป็นอย่างไร ท่าน ๆ คงเดาได้ง่าย ๆ ผมยังจำได้ในวันที่ค่าเงินบาทอ่อนมากจนแตะ 50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ วันนั้นคิดว่าชาตินี้เราคงต้องทำงานใช้หนี้ไปจนตาย และทิ้งเป็นมรดกให้ลูกหลานต่ออีก...เซ็งมากครับ

แล้วทำไมบริษัทผมจึงไม่จัดการบริหารความเสี่ยงโดยการซื้อสัญญาอัตราแลกเปลี่ยนล่วงหน้า (Exchange Forward Contract) กับสถาบันการเงินล่ะครับ

ก็แบบที่เอ่ยมา คือ

1.ไม่คิดว่าสิ่งเลวร้ายจะเกิดกับเรา (คิดว่าเป็นคนโชคดีเสมอ)

2.เชื่อว่ามีคนคอยดูแลให้เรามีความรู้และจัดการเรื่องนี้จะคอยบอกเหตุเรา (ผู้บริหารด้านการเงิน และ/หรือนายธนาคารที่เวลามาพบ ก็จะบอกว่าเป็นเพื่อนเรา และเป็นผู้ที่ใส่ใจดูแลกิจการของเรา)

3.คิดว่าทำไมต้องจ่ายค่าสัญญาประกันความเสี่ยงที่มีราคาแพงกับสิ่งที่คงไม่เกิดขึ้นในประเทศไทย เพราะรัฐบาลเราไม่เคยเปิดเผยอะไรที่ฟังดูแล้วจะเกิดความเสี่ยงกับระบบเศรษฐกิจและกิจการของเรา

และเราก็คิดผิดทุกประเด็น...

พอได้บทเรียนมาก็ถามตัวเองว่า เราจะเชื่อในโชคชะตา และคนอื่น ๆ ได้มากน้อยแค่ไหน และมีอะไรไหมที่ช่วยให้เราลดความเสี่ยงที่คาดไม่ถึงเหล่านี้ได้บ้าง ซึ่งหลังจากนั้นไม่นานก็มีการนำแนวคิดเรื่องการบริหารความเสี่ยง (Risk Management) มาในประเทศไทย (แน่นอนจากชาวตะวันตกที่ทำอาชีพนายประกันหรือนายธนาคาร) แต่เป็นอะไรที่หากเราฟัง และคิดตามก็จะพอเห็นประโยชน์ของสิ่งนี้ คืออะไรที่บอกว่าแน่นอน แต่มันคือความไม่แน่นอนเสมอ และเราควบคุมมันไม่ได้

ความเสี่ยงนั้นต้องบริหารจัดการด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง ไม่ว่าเราจะรับความเสี่ยงนั้นทั้งหมดเอง หรือกระจายความเสี่ยงนั้นให้กับกลไกที่เขาดูแลเรื่องเหล่านี้โดยเฉพาะ (ก็หนีไม่พ้นบริษัทประกันภัยหรือธนาคาร) และอีกหนทางหนึ่ง คือจัดการเรื่องเหล่านี้ด้วยตนเอง ควบคู่กับการกระจายความเสี่ยงเหล่านั้นกับกิจการรับประกันความเสี่ยง

เราต้องแยกความสามารถและประเภทของความเสี่ยงในการบริหารจัดการความเสี่ยงออกเป็นความเสี่ยงภายนอก และความเสี่ยงภายใน โดยที่ความเสี่ยงภายนอกจะเป็นเรื่องที่เรามีความสามารถที่จะจัดการเองได้น้อย

ส่วนความเสี่ยงภายใน เป็นสิ่งที่เราน่าจะบริหารจัดการได้มากกว่า โดยที่มีความเสี่ยงภายนอก เช่น เศรษฐกิจ การเมือง อัตราแลกเปลี่ยน ภูมิอากาศ เป็นต้น ส่วนความเสี่ยงภายใน คือ นโยบายการบริหารจัดการ และบุคลากร เป็นต้น

เรื่องความเสี่ยงภายนอก ผมขอให้ผู้ชำนาญท่านอื่น ๆ วิเคราะห์ดีกว่า แต่เรื่องที่เราสามารถทำกันได้มากขึ้นคือต้องติดตามข้อมูลต่าง ๆ มากขึ้น และต้องคอยสอบถามเกี่ยวกับข้อมูลด้านเศรษฐกิจ ส่วนการบริหารความเสี่ยงภายใน ผมพอจะรับความเสี่ยงในการนำเสนอได้...

เรื่องที่เราควรคิดถึงสำหรับการบริหารความเสี่ยงภายใน ได้แก่

1.นโยบายการบริหารจัดการของกิจการด้านต่าง ๆ เช่น การตลาดและการบริหารทรัพยากรบุคคล การดำเนินธุรกิจกับลูกค้าต่าง ๆ ว่าสิ่งที่เราวางแผนและคาดหวังจะมีอุปสรรคใดบ้าง หากมีสถานการณ์ที่ทำให้ไม่เป็นตามแผนธุรกิจที่วางไว้ และเรามีแผนรองรับกรณีสถานการณ์เหล่านั้นเกิดขึ้นอย่างไร

2.นโยบายการบริหารการเงินของกิจการได้มีการไตร่ตรองถึงความผันแปรของเศรษฐกิจรอบตัวมากน้อยแค่ไหน แม้ว่าสิ่งเหล่านั้นอาจไม่ใช่เรื่องของกิจการเรา แต่อาจส่งผลถึงระบบเศรษฐกิจโดยรวม (เช่น การล้มละลายของเศรษฐกิจในยุโรป หรือวิกฤตการเงินในสหรัฐอเมริกา) เราต้องกล้าถามคำถามกับนายธนาคารของเรา แบบไม่มีคำถามไหนเป็นคำถามที่ฟังดู "โง่" หากคำถามนั้นตอบคำถามของเราได้ (ถามเถอะครับ หากถามแล้วเขาตอบไม่ได้ เราต้องระวังเป็นพิเศษ เพราะเขาอาจไม่รู้เรื่องในสิ่งนั้น หรือเขาถูกสั่งห้ามไม่ให้บอกเรา ผมจะระวังพวกที่ตอบไม่ได้เป็นพิเศษ)

3.คนของเราต้อง "รู้เขารู้เรา" ในเรื่องที่เขาถนัด และเป็นงานประจำของเขา เช่น ข้อมูลการตลาด ข้อมูลเศรษฐกิจทั่วไป ข้อมูลลูกค้า สิ่งเหล่านี้จะทำให้เราสามารถรวบรวม และประเมินเหตุการณ์ต่าง ๆ ได้ดีขึ้น หากคนของเรารู้แต่เรื่องของตัวเราเอง นั่นย่อมเป็นเครื่องหมายบอกว่ากิจการของเรากำลังประมาทมาก

4.การยอมรับภาระในการ "ประกัน"
ความเสี่ยงควรต้องมี เพราะหากเราคิดว่าเราเป็นคนที่โชคดีที่สุด (หรือควรเป็น) ก็เท่ากับเรากำลังเพิ่มความเสี่ยงให้กับตนเอง อย่างน้อย 50/50 เพราะเรากำลังประมาท ไม่ว่าจะเป็นการจัดตั้งหน่วยงานภายในที่จะคอยดูแลและรายงานพร้อมข้อเสนอในการจัดการความเสี่ยงด้านต่าง ๆ หรือจ้างผู้ชำนาญจากภายนอกมาประเมินความเสี่ยงของกิจการของเรา

ทั้งนี้ไม่ว่าข้อมูลจะมาจากภายในหรือภายนอก "เรา" ในฐานะผู้บริหารระดับสูงย่อมมีหน้าที่ที่จะตัอง "ตัดสินใจ" ในสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับองค์กรด้วยข้อมูลที่ดี และในฐานะผู้บริหารต้องมีความรับผิดชอบกับการอยู่รอดของกิจการและความสามารถในการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง

เราคงไม่สามารถใช้อารมณ์แบบขึ้นกับโชคชะตา หรือคิดว่าทุกอย่างจะโอเคในการบริหารจัดการกับกิจการท่ามกลางการผันแปรต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยเอง หรือทั่วโลกทุกวันนี้

ทุกธุรกิจควรอย่างน้อยมีการหารือเพื่อทบทวนเรื่องต่าง ๆ ที่เป็นองค์ประกอบในการดำเนินกิจการและความเสี่ยงที่อาจเกิดผลกระทบกับกิจการปีละ 2-3 ครั้ง ในกลุ่มคณะผู้บริหารหรือหุ้นส่วน

การสร้างความตระหนักถึงสิ่งเหล่านี้ อย่างน้อยจะช่วยเตือนให้เราสามารถคิดแผนสำรองไว้บ้าง หากเวลาเกิดสิ่งเหล่านั้นขึ้น เราจะได้ไม่ขาดสติ โดยเฉพาะในสถานการณ์ทางการเมืองที่ไม่แน่นอนของประเทศไทยในขณะนี้ ยิ่งต้องทำให้พวกเราต้องมา ทบทวนการบริหารจัดการความเสี่ยงมากยิ่งขึ้นและคงต้องทำกันบ่อย ๆ ครับ เพราะเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : การบริหารจัดการความเสี่ยง กิจการ

view