สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ปิดเทอมยาวครึ่งปี-ห้ามลบ

จาก โพสต์ทูเดย์
เด็กไทยหัวใจว้าวุ่น?
ธเนศ นุ่นมัน , เจษฎา จี้สละ


ปิดเทอมหรือช่วงปิดภาคเรียนใหญ่ปีนี้ ถือเป็นปีแรกที่บรรดามหาวิทยาลัยต่างพร้อมใจกันเตรียมตัวล่วงหน้าเพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี2558  โดยแทบทั้งหมด ทั้งในกำกับรัฐและเอกชน ปรับช่วงปิดภาคเรียนให้ยืดออกไปจากเดิม 3 เดือนเริ่มในเดือนมิ.ย.ร่นเร็วขึ้นเป็นเดือนมี.ค. เปิดช่วงเดือนก.ย.กินเวลาถึง 6 เดือนกว่า หรือ ครึ่งปีเลยทีเดียว

วันหยุดปิดเทอมเพิ่มขึ้นย่อมหมายถึงช่วงเวลาว่างที่ยาวนานขึ้น นักศึกษาหลายคนใช้โอกาสนี้ ปรับแผนการบริหารเวลาใหม่อย่างไร

วิริญจ์ ชูแก้ว นักศึกษาคณะศิลปะศาสตร์ สาขาภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารสากล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ เล่าว่า เนื่องจากกำลังเรียนอยู่ชั้น ปีที่ 3 ข้อบังคับตามหลักสูตรที่เรียน กำหนดให้นักศึกษาทุกคน ต้องผ่านระยะเวลาการฝึกงานไม่ต่ำกว่า 2 เดือน นักศึกษาในรุ่นเดียวกันส่วนใหญ่จึงใช้เวลาช่วงปิดเทอมใหญ่เป็นช่วงฝึกงาน

วิริญจ์ระบุว่า ช่วงปิดเทอมที่ยาวนานขึ้น ถือเป็นโอกาสสำหรับใช้บริหารเวลา จึงได้ลงทะเบียนฝึกงานตามที่หลักสูตรบังคับไว้ตั้งแต่วันที่ 24 มี.ค. ถึง 23 พ.ค. โดยเลือกฝึกงานกับหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษ เพราะตรงกับสายที่เรียนมา และได้ทดลองทำงานจริงๆ ได้ตีพิมพ์เผยแพร่และถือเป็นผลงานที่ใช้สมัครงานได้ในอนาคต

ด้วยความขยันขันแข็งของเธอ ขณะที่ช่วงเวลาฝึกงานแต่ละสัปดาห์ กินเวลาตั้งแต่จันทร์ถึงศุกร์ วิริญจ์ วางแผนว่า ช่วงเวลาเสาร์อาทิตย์ ที่ว่างอยู่ ถือเป็นโอกาสสำหรับทำงานล่วงเวลาอีกด้วย

“พอฝึกงานมาได้ระยะหนึ่ง ก็เริ่มคิดว่าเราบริหารเวลาได้ ก็เลยไปสมัครงานล่วงเวลาในร้านเบเกอร์รีที่สีลมคอมเพลกซ์ ทำตั้งแต่ 10 โมงครึ่งถึง 1 ทุ่มครึ่ง ได้ค่าจ้างวันละ 400 บาท ถือว่าแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของที่บ้าน เป็นงานเสิร์ฟอาหารว่างที่ไม่ได้หนักมาก แต่สิ่งที่น่าเสียดายสำหรับปิดเทอมที่ยาวนานขึ้น คืองานล่วงเวลาที่ได้นั้น ไม่ตรงกับสายที่เรียนมา น่าจะเป็นเรื่องที่ดีมากหากได้งานที่ตรงสายกว่านี้ เพราะถือว่าเป็นการต่อยอดจากการฝึกงานตามที่หลักสูตรกำหนด ได้มีโอกาสในการทดลองทำงานตามสายที่เรียนมาจริงๆ” วิริญจ์เล่าถึงความต้องการ

สุชาวดี เกิดควน นิสิตคณะสัตวแพทยศาสตร์ ชั้นปีที่ 5 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เล่าว่า เวลาช่วงปิดภาคเรียนที่ผ่านมาถูกใช้ไปกับการฝึกงานเช่นกัน โดยได้สมัครเป็นสัตวแพทย์อาสา ที่มีประกาศไว้ในมหาวิทยาลัย ซึ่งมีทั้งฝึกงาน ในค่ายอาสาในพื้นที่ชนบทและตามคลินิกต่างๆ

“ปิดเทอมปีนี้ ถือว่ามีเวลาฝึกงานที่ยาวนานกว่าปีก่อนหน้านี้ แต่โอกาสนี้ก็ถือว่าเป็นข้อเสียได้เหมือนกัน เพราะระยะเวลาที่ยืดออกไป ทำให้ห่างไกลจากเนื้อหาทางวิชาการ จนอาจจะทำให้ลืมเนื้อหาบางเรื่องไปด้วย ซึ่งโดยส่วนตัวแล้ว จะแก้ปัญหาเรื่องนี้ด้วยการกำหนดระยะฝึกงานให้ได้ครบตามหลักสูตรโดยเร็วที่สุด คือประมาณ 300 ชั่วโมง และใช้เวลาที่เหลือเพื่ออ่านตำราทางวิชาการ สำหรับเตรียมทำวิทยานิพนธ์ในปี 6 ที่จะจบการศึกษา”สุชาวดี เล่าถึงแผนที่ได้วางไว้

อมร พุ่มทอง นิสิตปี 3 คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าวเช่นกัน ว่า ใช้เวลาช่วงปิดเทอมปีนี้ไปกับการฝึกงาน ซึ่งปกติคณะวิชาที่เรียนจะบังคับให้นิสิตนักศึกษาต้องผ่านการฝึกงานประมาณ 1 เดือนครึ่ง แต่เนื่องจากเห็นว่ามีช่วงระยะเวลาปิดเทอมที่ยาวนานขึ้นจึงได้กำหนดให้ฝึกงานเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 3 เดือน

“นักศึกษาในรุ่นเดียวกันส่วนใหญ่ก็ใช้เวลาช่วงนี้ในการฝึกงานแทบทั้งนั้น จะแตกต่างกันบ้างก็ตรงเรื่องของการวางแผนบริหารเวลา บางคนอาจจะฝึกทันทีที่ปิดเทอม เพื่อเหลือเวลาพักก่อนเปิดเรียนมากขึ้น สำหรับไปเที่ยวเพื่อผ่อนคลายความเครียด หรือเตรียมตัวก่อนเริ่มภาคเรียนถัดไป ก็แล้วแต่ว่าแต่ละคนจะวางแผนไว้อย่างไรในอนาคต” อมรกล่าว

นิรุต หัตถะพะสุ นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ สาขารัฐประศาสนศาสตร์ ชั้นปีที่ 3 และประธานสโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (ส.มช.) กล่าวว่า จากการสังเกต พบนักศึกษาส่วนใหญ่ที่กำลังศึกษาอยู่ในช่วงชั้นปีที่ 3 - 4 นิยมไปฝึกงานในองค์กรต่าง ๆ ตามสาขาวิชาที่ศึกษา เช่น ตนเองเลือกฝึกงานที่กองการเจ้าหน้าที่ สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย เพื่อเพิ่มทักษะและความรู้ทางด้านรัฐศาสตร์ นอกจากนั้นนักศึกษาบางส่วนเลือกไปฝึกประสบการณ์ที่ต่างประเทศ (work and travel) เพื่อเพิ่มทักษะภาษาอังกฤษ ทั้งนี้ในส่วนของ มช. เปิดการเรียนการสอนภาคฤดูร้อนตามปกติ ทำให้นักศึกษาสามารถลงเรียนในวิชาที่เปิดสอนได้ตามต้องการ รวมถึงร่วมมือกับสถาบันภาษา มช. เปิดคอร์สเรียนพิเศษ เพื่อสอนภาษาอังกฤษและภาษาในกลุ่มประเทศอาเซียนให้กับนักศึกษา
 
สธน วิจารณ์วรรณลักษณ์ อาจารย์ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยระบุว่า ช่วงปิดเทอมเวลาใหม่ที่ยาวนานขึ้นนั้น อาจจะสร้างปัญหาในการปรับตัวให้กับนักศึกษาแต่ละมหาวิทยาลัยในปีนี้อยู่บ้าง มีทั้งข้อดีและข้อเสีย โดยเฉพาะเรื่องของการปรับตัวเพราะถือเป็นปีแรก อย่างไรก็ตามทุกมหาวิทยาลัยต่างก็ได้วางแผนเตรียมการเพื่อรับมือไว้แล้ว ด้วยการเปิดให้ลงทะเบียนเรียนซัมเมอร์จากที่เคยมีเพียงครั้งเดียวก็เพิ่มเป็น 2 ครั้ง เพื่อไม่ให้เด็กว่างเกินไป ซึ่งหากนักศึกษาลงทะเบียนเรียนในบางวิชาในทั้ง 2 ครั้งที่เปิดโอกาสให้ ภาระการเรียนในภาคเรียนถัดไปตามภาคเรียนปกติก็จะเบาลง โอกาสนี้จึงมีประโยชน์มาก สำหรับนักศึกษาที่รู้จักบริหารเวลา ในอนาคตอันใกล้ 

"เวลาที่มากขึ้น ไม่ได้เป็นข้อเสียสำหรับคนที่วางแผนการเรียนไว้ล่วงหน้า เช่นอาจจะจับกลุ่มกันในแต่ละคณะเรียนคอร์สพิเศษเพิ่ม ซึ่งก็แล้วแต่ว่ามหาวิทยาลัยไหนจะวางแผนไว้อย่างไร ข้อดีของการเลื่อนเปิดเทอม จะเห็นผลในปีถัดไป คือ ทำให้ เด็กมัธยมที่จะสอบเข้ามหาวิทยาลัยในปีการศึกษาหน้า มีเวลาในการเตรียมตัวเข้าสอบมากยิ่งขึ้น ความตึงเครียดในการเตรียมตัวก็อาจจะลดลง"อาจารย์ภาควิชาฟิสิกส์ระบุ
 
ด้าน สมพงษ์  จิตระดับ อาจารย์ประจำคณะคุรุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชี้ว่าการปิดภาคเรียน 5-6 เดือน เป็นโอกาสดีต่อเด็กไทยในใช้เวลาว่างในการพักผ่อนหรือการเพิ่มทักษะต่าง ๆ รวมถึงทำกิจกรรมตามที่ตนเองสนใจ เช่น การเข้าค่ายตามความถนัด การฝึกประสบการในต่างประเทศ เรียนภาษาอังกฤษ ฯลฯ ทั้งนี้ผู้ปกครองจะต้องช่วยควบคุมดูแล แต่ไม่ควรยัดเยียดกิจกรรมให้เด็กมากเกินไป เพราะจะกลายเป็นการเพิ่มภาระและความเครียดให้กับเด็ก

สมพงษ์ ยังเสนอให้ภาครัฐส่งเสริมการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ยิ่งขึ้น โดยย้ำว่า " ถ้ามองในมุมของภาครัฐ อย่างมาเลเซีย เวียดนาม ที่เขามีปิดเทอร์มมากกว่า 2 เดือน รัฐรู้ถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้น เตรียมเปิดค่ายวิทยาศาสตร์ ค่ายภาษาอังกฤษไว้เลย ตรงประเด็น ตรงปัญหาที่รัฐต้องการ  แต่ของเราปล่อยให้เป็นไปตามกระแส ถ้าไม่คุมให้ดีอาจนำไปสู่การสร้างปัญหา เช่น เด็กติดเกมส์ มั่วสุม ติดยา หรือตั้งครรภ์ ฯลฯ ปัญหาสังคมที่เกี่ยวกับเยาวชน สำหรับเรา ผมว่า ควรมองให้เป็นโอกาส แต่ต้องจัดการให้ดี "


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ปิดเทอมยาวครึ่งปี ห้ามลบ

view