สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ชำแหละ3คดีทุจริตจำนำข้าว

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

ชำแหละ 3 คดีทุจริตจำนำข้าว ป.ป.ช.ทำงานถึงไหนแล้ว?

คดีทุจริตในโครงการรับจำนำข้าวเป็นหนึ่งใน "จุดตาย" ของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยที่ฝ่ายต่อต้านเชื่อว่าจะทำให้รัฐบาลหรือตัวนายกรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งไปได้

วันนัดชุมนุมในศึกครั้งสุดท้าย หรือ"วันเผด็จศึก" ของ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ก็ยังนัดวันที่ 14 พ.ค. ใกล้ๆ กับวันที่คาดว่าคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นัดชี้มูล นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในข้อกล่าวหาละเลยเพิกเฉยให้เกิดการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว

อย่างไรก็ดี คดีที่เกี่ยวกับโครงการมหาประชานิยมนี้ ไม่ได้มีคดีเดียว แต่มีอยู่ในมือ ป.ป.ช.ถึง 3 คดี ได้แก่

1.คดีทุจริตการขายข้าวและการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี)

ที่มาของเรื่อง - 5 มิ.ย.2556 นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ (ในขณะนั้น) ยื่นหนังสือถึง ป.ป.ช.ให้ตรวจสอบการขายข้าวแบบจีทูจี ให้กับบริษัทจีเอสเอสจี ซึ่งรัฐบาลอ้างว่าเป็นรัฐวิสาหกิจของประเทศจีน และให้ตรวจสอบคณะอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าวทั้ง 10 คน ซึ่งมี นายภูมิ สาระผล อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน รวมถึง นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (ในขณะนั้น) และยังให้ตรวจสอบคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ที่มีนายกฯยิ่งลักษณ์ เป็นประธานโดยตำแหน่ง รวมไปถึงข้าราชการ และภาคธุรกิจด้วย

ข้อกล่าวหา เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต

ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง มาตรา 157 ประมวลกฎหมายอาญา มีโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2,000-20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ผู้ถูกแจ้งข้อกล่าวหา - 16 ม.ค.2557 ป.ป.ช.มีมติแจ้งข้อกล่าวหาร่วมกันทุจริตแก่ นายบุญทรง นายภูมิ นายมนัส สร้อยพลอย เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ นายฑิฆัมพร นาทวรทัต เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักบริหารการค้าข้าว รวมไปถึงข้าราชการที่เกี่ยวข้องคนอื่นๆ บริษัทจากจีน 2 แห่ง และตัวแทนของบริษัททั้งสอง รวม 15 ราย เนื่องจาก ป.ป.ช.เห็นว่าสัญญาซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐกับรัฐบาลจีนไม่มีอยู่จริง และไม่มีการส่งออกข้าวออกนอกประเทศ

ผู้ถูกตั้งคณะกรรมการไต่สวน - นางสาวยิ่งลักษณ์ ในฐานะประธาน กขช. ข้อหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ เนื่องจากได้ทราบถึงการท้วงติงและความเสียหายจากการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวแล้ว แต่กลับละเลยไม่ดำเนินการระงับหรือยับยั้ง

สถานการณ์คดีในปัจจุบัน - ในส่วนนายบุญทรงกับพวกรวม 15 คน อยู่ระหว่าง ป.ป.ช.เปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหาชี้แจง ส่วน นางสาวยิ่งลักษณ์ อยู่ในขั้นเตรียมการชี้มูลความผิด

เส้นทางคดี - ในส่วนของนายบุญทรงกับพวก หากถูก ป.ป.ช.มีมติว่ากระทำความผิด ก็จะส่งเรื่องให้อัยการยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต่อไป ขณะที่คดี นางสาวยิ่งลักษณ์ หาก ป.ป.ช.ชี้มูลว่ากระทำความผิดจริง ก็ต้องส่งเรื่องให้วุฒิสภาลงมติถอดถอนออกจากตำแหน่ง โดยระหว่างนั้น นางสาวยิ่งลักษณ์ ต้องหยุดการปฏิบัติหน้าที่

2.คดี ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์(ปชป.)จำนวน 146 คนเข้าชื่อร้องขอให้ถอดถอน นางสาวยิ่งลักษณ์ ออกจากตำแหน่ง กรณีดำเนินนโยบายรับจำนำข้าวผิดพลาด ปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริต ทำให้ประเทศได้รับความเสียหาย

ที่มาของเรื่อง - สืบเนื่องจากฝ่ายค้านได้เปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ นางยิ่งลักษณ์ เมื่อปลายปี 2555 โดยได้อภิปรายถึงโครงการรับจำนำข้าวด้วยว่า นางสาวยิ่งลักษณ์ มีส่วนเกี่ยวข้องในฐานะประธาน กขช. เมื่อประเด็นการอภิปรายเกี่ยวกับการทุจริต รัฐธรรมนูญกำหนดให้ต้องยื่นเรื่องถอดถอนออกจากตำแหน่ง

ข้อกล่าวหา - ดำเนินนโยบายรับจำนำข้าวผิดพลาด ส่งผลให้ขาดทุน กระทบต่อการส่งออกข้าว การระบายข้าวแบบจีทูจีไม่เป็นความจริง ปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริต

ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง - มาตรา 270 และ 271 ของรัฐธรรมนูญ

สถานการณ์คดีในปัจจุบัน - 28 ม.ค.2557 ป.ป.ช.มีมติตั้งคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดใหญ่เป็นองค์คณะไต่สวน

เส้นทางคดี - หาก ป.ป.ช.เห็นว่าข้อกล่าวหามีมูล ก็จะแจ้งข้อหา และสุดท้ายหาก ป.ป.ช.มีมติชี้มูลว่ากระทำความผิดจริง ก็จะส่งเรื่องให้วุฒิสภาลงมติถอดถอนออกจากตำแหน่ง

3.คดีที่ ส.ส. ปชป.เข้าชื่อยื่นถอดถอน นางสาวยิ่งลักษณ์ กรณีโครงการข้าวถุงของรัฐบาล

ที่มาของเรื่อง - พรรคประชาธิปัตย์ยื่นตรวจสอบการระบายข้าวผ่านโครงการข้าวถุงถูกใจ ข้าวถุงธงฟ้า และข้าวถุง อคส. ซึ่งคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ(กขช.)ที่มี นางสาวยิ่งลักษณ์ เป็นประธาน มีมติจัดทำข้าวถุงจำหน่ายให้ประชาชนในราคาถูก แต่ปรากฏว่าไม่ได้มีการนำข้าวถุงจำหน่ายแก่ประชาชนในท้องตลาดจริงทั้งที่โครงการข้าวถุงนั้น รัฐบาลตั้งเบิกข้าวไว้จำนวน 2,500,000 ตัน แต่บริษัทเอกชน 3 รายที่ได้รับการคัดเลือกจาก อคส.(องค์การคลังสินค้า)ให้มารับหน้าที่ผู้แทนจำหน่ายข้าวถุง ได้ไปทำสัญญาขายสิทธิให้กับคนอื่น ทำให้ข้าวไม่ได้กระจายไปถึงมือประชาชน

ข้อกล่าวหา - ดำเนินนโยบายผิดพลาด ปล่อยปละละเลยทำให้เกิดความเสียหาย

ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง - รัฐธรรมนูญมาตรา 270 และมาตรา 271 เปิดช่องให้ ส.ส.เข้าชื่อกันยื่นถอดถอนนายกรัฐมนตรีออกจากตำแหน่งได้ หากมีพฤติการณ์ส่อว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมาย

ผู้ถูกยื่นถอดถอน - นางสาวยิ่งลักษณ์

สถานการณ์คดีในปัจจุบัน - ป.ป.ช.ตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน

เส้นทางคดี - หาก ป.ป.ช.เห็นว่าข้อกล่าวหามีมูล ก็จะแจ้งข้อกล่าวหาให้ นางสาวยิ่งลักษณ์ ทราบ และเปิดโอกาสให้แก้ข้อกล่าวหา สุดท้ายหาก ป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิด ก็จะส่งเรื่องให้วุฒิสภาลงมติถอดถอนออกจากตำแหน่งต่อไป โดยช่วงหลังจากถูกชี้มูลต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าวุฒิสภาจะมีมติอย่างใดอย่างหนึ่ง

ทั้งหมดนี้เป็น 3 คดีสำคัญที่เกี่ยวกับโครงการจำนำข้าวของรัฐบาล ซึ่งต้องตามลุ้นกันว่าจะเป็น "จุดตาย" ของรัฐบาลและนายกรัฐมนตรีจริงดังที่บางฝ่ายแอบหวังหรือไม่!


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ชำแหละ คดีทุจริตจำนำข้าว

view