สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ตระกูลเรืองสุวรรณ ทำอะไร ใน โครงการเหมืองทองคำพิจิตร

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ -สัปดาห์ ที่ผ่านมา มีชาวบ้านในพื้นที่ตำบลลำพญากลางและตำบลลำสมพุง จ.สระบุรี พื้นที่ติดกับลพบุรี และ เพชรบูรณ์ เดินทางมายื่นเอกสารเพิ่มเติมต่อ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อขอให้ตรวจสอบบริษัทเอกชนในพื้นที่ 3 จังหวัด
       
       ในข้อหา “ใช้ช่องทางและอำนาจโดยมิชอบเข้าไปหาผลประโยชน์ โดยมีหน่วยงานของรัฐให้ความช่วยเหลือ”
       
       จากการนำกฎหมายของกรมป่าไม้มาบังคับใช้กับประชาชนในพื้นที่ที่มี ทรัพยากรแร่ที่สำคัญจำนวนมากของทั้ง 2 ตำบลดังกล่าว รวมทั้งจ.ลพบุรีและจ.เพชรบูรณ์
       
       มีชื่อ บริษัทฟ้าร้อง จำกัด, บริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด, บริษัท สวนสักพัฒนา จำกัด และบริษัท อิสระ ไมนิ่ง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือเดียวกัน
       
       พบว่า หลังจาก บริษัท อัคราไมนิ่งฯ ได้ยื่นขอประทานบัตรโครงการระยะที่ 3 พร้อมกับบริษัทอื่นๆ ที่ยื่นขออาชญาบัตรพิเศษเพิ่มเติม รวมอีกหลายแสนไร่ และได้เข้าสู่ขั้นตอนการพิจารณาของหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง
       
       เรื่องที่ ฟ้องป.ป.ช. ชาวบ้านอ้างว่า บริษัทเหล่านี้ได้เข้าไปสำรวจพื้นที่ ส.ป.ก. ของชาวบ้านที่มีไม่ต่ำกว่า 2 แสนไร่ และคาดว่า บริษัทดังกล่าวได้เข้าไปสำรวจและพบแร่ธาตุสำคัญกว่า 38 ชนิด รวมทั้งน้ำมันดิบ จึงเกรงว่าบริษัทดังกล่าวจะใช้ช่องทางและอำนาจโดยมิชอบเข้าไปหาผลประโยชน์ โดยมีหน่วยงานของรัฐให้ความช่วยเหลือ
       
       ชาวบ้านอ้างด้วยว่า มีบุคคลตระกูลของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่มีนามสกุลเหมือนกับ นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย เป็นกรรมการ คือ “พล.ท.ดร.จารุมาศ เรืองสุวรรณ” และ “นายจารุอุดม เรืองสุวรรณ”ปรากฏชื่อในบริษัท สวนสักพัฒนาจำกัด แต่ได้ออกจากการเป็นกรรมการในเวลาต่อมา
       
       พร้อมกันนี้ ชาวบ้านยังได้ขอให้ ป.ป.ช.ไปตรวจสอบหน่วยงานรัฐ อาทิ กรมป่าไม้ กระทรวงอุตสาหกรรม และ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้วย
       
       ขณะที่ชาวบ้านจาก จ.พิจิตร ยังได้ขอให้ ป.ป.ช. ตรวจสอบบริษัทดังกล่าวเช่นเดียวกัน เนื่องจากบริษัทดังกล่าวได้เข้ามาทำเหมืองแร่ในพื้นที่ ทำให้ชาวบ้านได้รับผลกระทบต่อด้านสุขภาพ และมีผู้เสียชีวิตมาแล้ว
       
       โดย บริษัทดังกล่าว ไม่ได้มีการทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมตาม พ.ร.บ.แร่ พ.ศ.2510 อีกด้วย
       
       ตรวจสอบพบว่า ปัญหานี้ไม่ใช่ปัญหาใหม่ เรื่องนี้ชาวบ้านต่อสู้มากว่า 22 ปี
       
       ย้อนกลับไปเมื่อ ปี 2536 ที่บริษัทอัครา ไมนิ่ง จำกัด เครือ Kingsgate Consolidated NL สัญชาติออสเตรเลีย ได้อาชญาบัตรพิเศษ สำรวจหาแหล่งแร่ทองคำ จากสายแร่ที่พาดผ่านจากตอนบนของอีสาน จาก จ.เลยมาสู่รอยต่อ จ.เพชรบูรณ์ จ.พิจิตร จ.พิษณุโลก บริเวณเขาหม้อ เขาเจ็ดลูก
       
       ขณะที่บริษัทฯเอกชน เริ่มกว้านซื้อที่ดินเพิ่มขึ้นจากชาวบ้าน
       
       ต่อมาชาวบ้าน เขาหม้อฟ้องให้เพิกถอนประทานบัตรเหมืองแร่ทองคำของบริษัท อัครา ไมนิ่ง จำกัด ในประเด็นความร่วมมือระหว่างบริษัทกับหน่วยงานรัฐ
       
       โดยเฉพาะผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ผลกระทบต่อวิถีชุมชนรอบข้าง ที่ยังไม่จางหาย
       
       โดย ข้อมูลจากเวปไซด์ http://www.esaanvoice.net ด้าน สิทธิชุมชนและทรัพยากรธรรมชาติ ระบุว่า ปี 2543 โครงการเหมืองแร่ทองคำของ บริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด ผ่านรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และได้รับอนุญาตทำเหมืองแร่ทองคำ-เงิน รวมพื้นที่ประทานบัตรและใบอนุญาต2,835 ไร่
       
       ต่อมาได้ต่อโครงการระยะที่ 2 โดยขอรวมแผนผังโครงการเป็นเหมืองเดียวกับโครงการแรกในเดือนกรกฎาคม 2551 มีพื้นที่ 9 แปลง 2,628 ไร่ ใน ต.เขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร และ ต.ท้ายดง อ.วังโป่ง จ.เพชรบูรณ์ นอกจากนี้ บริษัท อัคราไมนิ่งฯ และ บริษัท ริชภูมิไมนิ่ง จำกัด, บริษัท ไทยโกลบอลเวนเจอร์ส จำกัด ยังได้รับอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำ-เงิน ในเขตรอยต่อ 3 จังหวัดพร้อมกันในปี 2549 จำนวน 59 แปลง 507,996 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดพิจิตร ได้แก่ ต.เขาทราย เขาเจ็ดลูก ท้ายทุ่ง และทับคล้อ อ.ทับคล้อม, ต.หนองพระ วังทรายพูน หนองปลาไหลและหนองปล้อง อ.วังทรายพูน, ต.ท่าเยี่ยม อ.สากเหล็ก และ ต.วังงิ้ว สำนักขุนเณรและห้วยพุก อ.ดงเจริญ ในส่วนจังหวัดเพชรบูรณ์ ได้แก่ ต.วังหิน อ.วังโป่ง และจังหวัดพิษณุโลก ได้แก่ ต. บ้านน้อยซุ้มขี้เหล็ก เนินมะปรางวังยาง บ้านมุง ไทรย้อย วังโพรงและชมพู อ.เนินมะปราง
       
       ผลจากการสำรวจ และทำเหมืองแร่ทองคำ-เงิน ของ บริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด, บริษัท ริชภูมิไมนิ่ง จำกัด, บริษัท ไทยโกลบอลเวนเจอร์ส จำกัด ได้ทำให้แหล่งน้ำธรรมชาติเหือดแห้ง ขาดน้ำใช้ทำเกษตร ชาวบ้านต้องซื้อน้ำกินน้ำใช้ ที่สำคัญก่อมลพิษทางฝุ่น เสียง แรงสั่นสะเทือนจากการระเบิดหินปนเปื้อนสารพิษไซยาไนด์และสารหนูลงสู่ดินและ แหล่งน้ำซึ่งทำให้ชาวบ้านเจ็บป่วย
       
       ตลอด 22 ปี มีการยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องหลายสมัย เรื่องต่อสู้ในชั้นของศาลปกครอง ถึงชั้นอุทธรณ์ รวมถึงชาวบ้านยังยื่น ป.ป.ช.สอบข้าราชการนักการเมืองที่เกี่ยวข้อง
       
       สำหรับ โครงการเหมืองแร่ทองคำของ บริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด พื้นที่ดังกล่าว เคยมีกรรมาธิการการอุตสาหกรรม สภาผู้แทนราษฎร คณะผู้เชี่ยวชาญด้านการอุตสาหกรรมโรงงานและสิ่งแวดล้อม หลายชุดลงพื้นที่ เนื่องจากมีข้อร้องเรียนหลายประการ
       
       แต่บทสรุปของ กรรมาธิการทุกชุดกลับสร้างความผิดหวังให้กับคนในพื้นที่
       
       “ข้อร้องเรียนเกิดขึ้นนั้น อาจเป็นเพราะขาดการทำความเข้าใจกับชุมชน หรือ อาจเป็นเรื่องของการขัดผลประโยชน์ รวมไปถึงกลุ่มบุคคลที่เรียกขอรับผลประโยชน์แล้วไม่ได้ดั่งใจ ก็ออกมาเคลื่อนไหว”
       
       ต่อมาหลังจาก บริษัท อัคราไมนิ่งฯ ได้ยื่นขอประทานบัตรโครงการระยะที่ 3 พร้อมกับบริษัทอื่นๆ ที่ยื่นขออาชญาบัตรพิเศษเพิ่มเติม รวมอีกหลายแสนไร่ และได้เข้าสู่ขั้นตอนการพิจารณาของหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง
       
       สำหรับข้อกล่าวหา “ใช้ช่องทางและอำนาจโดยมิชอบเข้าไปหาผลประโยชน์ โดยมีหน่วยงานของรัฐให้ความช่วยเหลือ”ที่ชาวบ้านยื่นป.ป.ช. เมื่อเร็วๆนี้
       
       ตรวจสอบรายชื่อคนนามสกุลเหมือน ปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ตามที่ชาวบ้านอ้าง
       
       พบว่า มีชื่อ “พล.ท.ดร.จารุมาศ เรืองสุวรรณ” มีชื่อเป็น “ที่ปรึกษาฝ่ายงานรัฐกิจสัมพันธ์” ของบริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด โดย พล.ท.จารุทาศ ลาออกจากกระทรวงกลาโหม ในตำแหน่ง นายทหารฝ่ายเสนาธิการประจำรัฐมนตรีว่าการกระทรวงฯ ก่อนเกษียณอายุราชการเมื่อ ต.ค.2552
       
       มีชื่อเป็นกรรมการบริษัทในเครืออัคราไมนิ่ง เช่น บริษัท ฟ้าร้อง จำกัด บริษัท ฟ้าแลบ จำกัด บริษัท อิสระ ไมนิ่ง จำกัด บริษัท ริชภูมิ ไมนิ่ง จำกัด และ บริษัท ฟ้าใหม่ เอ็กซพลอเรชั่น จำกัด
       
       ทั้งหมดทำธุรกิจ การทำเหมืองแร่ โดยการสกัด แยก แปรสภาพ ถลุง แต่ง สำรวจ ขุด เจาะ วิเคราะห์
       
       ในงานการเมือง พบว่า นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ลงนามในประกาศกระทรวงการคลัง เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2556 ให้ พล.ท.จารุมาศ อยู่ในบัญชีรายชื่อผู้มีความเหมาะสมเป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจ เพิ่มเติมประจำปี 2555 เพิ่มเติมในลำดับ ที่ 9
       
       มีชื่อเป็นที่ปรึกษาประจำคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาแก้ไขปัญหา หนี้สินข้าราชการครูในคณะกรรมการธิการแก้ไขปัญหาหนี้สินแห่งชาติ สภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2555
       
       และยังเป็น “ที่ปรึกษาพิเศษพรรคเพี่อไทย” เมื่อปี 2552 ถึงปัจจุบัน
       
       ขณะที่นายจารุอุดม เรืองสุวรรณ พบว่า เคยเป็นระดับผู้บริหารในกรมป่าไม้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ก่อนจะข้ามห้วย มาเกษียณอายุราชการที่ตำแหน่ง “รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม” เมื่อปี 2545 เคยเป็นหัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหาร ปตท.สผ.
       
       งานด้านการเมือง ปี2546 สมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (นายพินิจ จารุสมบัติ) ก่อนจะตามมาเป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ปี2547(นายพินิจ จารุสมบัติ)
       
       ปัจจุบัน เป็น ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์สภาธุรกิจไทย-ลาว


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ตระกูลเรืองสุวรรณ ทำอะไร โครงการเหมืองทองคำพิจิตร

view