สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

โลกของการก้าวไปด้วยกัน (1)

โลกของการก้าวไปด้วยกัน (1)

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




ปัญหาช่องว่างของรายได้ระหว่างคนมีรายได้สูงกับคนมีรายได้ต่ำไม่ได้เกิดขึ้นเพียงในไทยหรือในประเทศกำลังพัฒนาเท่านั้น

จากการศึกษาพบว่าในสามทศวรรษที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในชีวิตของมนุษย์มากขึ้นนั้น ทำให้ช่องว่างระหว่างกลุ่มที่รวยที่สุด ขยายกว้างขึ้นไปอีกหลายเท่า

OECD เล็งเห็นถึงปัญหานี้ว่าจะเป็นภัยคุกคามรัฐบาลของประเทศพัฒนาแล้วเช่นกัน หัวข้อการประชุมในปีนี้ ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 5-7 พ.ค. ณ กรุงปารีส จึงกำหนดให้เป็น Resilient Economies for Inclusive Societies

ท่านจะเห็นคำว่า Inclusive และ Inclusion ถูกนำมาใช้มากขึ้น ความหมายของคำนี้คือ ต้องรวมทุกๆ คนเข้ามาอยู่ด้วย คล้ายๆ กับป้ายประชาสัมพันธ์นโยบายของพรรคการเมืองใหญ่พรรคหนึ่งเมื่อสิบปีก่อนว่า เราจะก้าวไปด้วยกัน โดยไม่ทอดทิ้งให้ใครอยู่เบื้องหลัง อะไรทำนองนี้ค่ะ ดิฉันก็จำไม่ได้แม่นยำนัก

นักเศรษฐศาสตร์และผู้บริหารประเทศต่างๆ พบว่า ปัญหาของการพัฒนาทางเศรษฐกิจในระบอบเสรีนิยมหรือทุนนิยม คือการที่กลุ่มคนที่มีโอกาส และมีทรัพยากร ซึ่งประกอบด้วยทุนต่างๆ ทั้ง ทุนการเงิน ทุนมนุษย์ ทุนเทคโนโลยี ทุนทรัพยากร ฯลฯ สามารถผลิตสินค้าหรือบริการมาสนองความต้องการของผู้คน สามารถสร้างกำไรได้มากมาย

ปัญหานี้ลุกลามใหญ่โตมากขึ้นในช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมา เมื่อเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในชีวิตมนุษย์อย่างมาก งานธรรมดาๆ ที่เคยใช้แรงงานทำ สามารถเปลี่ยนให้เครื่องจักร หรือแม้กระทั่งหุ่นยนต์ทำได้ และทำได้ดีและเร็ว มีประสิทธิภาพกว่าคนมากมาย

คนที่ได้รับการศึกษาน้อย เคยทำงานใช้แรงงาน หากเป็นงานที่เครื่องจักรสามารถทำแทนได้ หากค่าแรงไม่ต่ำจริง ก็มีแนวโน้มตกงาน เนื่องจากงานจะย้ายไปสู่แหล่งที่มีต้นทุนแรงงานต่ำกว่าไปเรื่อยๆ เหมือนที่ไต้หวัน เกาหลีและฮ่องกงเคยประสบมาในทศวรรษที่ 1980 ที่งานด้านสิ่งทอ และโรงงานที่ใช้แรงงานเป็นสัดส่วนสูง ย้ายมาประเทศไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซียหมด ทำให้ประเทศเหล่านั้นต้องหันไปสู่อุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งไต้หวันและเกาหลีใต้ เลือกเข้าสู่อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ส่วนฮ่องกงซึ่งมีภาคบริการที่แข็งแกร่งอยู่แล้ว หันไปยึดภาคบริการอย่างเหนียวแน่น

ปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา OECD ได้นำเสนอรายงานก่อนการประชุมใหญ่ประจำปี เกี่ยวกับผู้มีรายได้สูงสุด 1% แรกของประเทศในกลุ่ม OECD ว่ามีส่วนแบ่งรายได้ เพิ่มขึ้นจากประมาณ 4 ถึง 11% ของรายได้ทั้งหมดของแต่ละประเทศในปี 1981 เพิ่มเป็น 7 ถึง 20% ของรายได้ทั้งหมดในปี 2012

สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่เผชิญกับปัญหานี้มากที่สุด โดยในปี 1981 คนที่รวยที่สุด 1% แรกของสหรัฐ มีส่วนแบ่งรายได้ 8% มาในปี 2012 ส่วนแบ่งนี้เพิ่มเป็น 20% ทิ้งให้คนอีก 99% แบ่งรายได้ 80% ที่เหลือ

ประเทศที่เปลี่ยนแปลงไม่มากคือเนเธอร์แลนด์ส่วนแบ่งเพิ่มจากประมาณ 6% เป็น 7% เท่านั้น ฝรั่งเศส เพิ่มจาก 7.5% เป็นประมาณ 8.5% และสเปนเพิ่มจาก 7% เป็น 8.5% (ดิฉันประมาณการตัวเลขจากกราฟ จึงอาจจะไม่แม่นยำมากนัก ท่านที่จะนำไปอ้างอิงกรุณารอเอกสารรายละเอียดซึ่งทาง OECD คงจะเผยแพร่ออกมาในเร็วๆ นี้)

ในสหรัฐอเมริกา เมื่อมีรายได้เพิ่มขึ้น ประมาณ 47% จะเป็นรายได้ของกลุ่ม 1% แรกที่รวยที่สุด อีก 15% เป็นของกลุ่มที่รวยถัดมา (ซึ่งขอใช้แทนว่าจาก 1 ขึ้นไปถึง 10% แรก) และ 15% ของรายได้ที่เพิ่มขึ้น เป็นของคนที่เหลืออีก 90%

รายได้ที่เพิ่มขึ้นในสหรัฐอเมริกาในช่วงปี 1970 ถึง 2007 เฉลี่ยปีละ 1% ค่ะ

ในรายงานยังมีการศึกษาต่อว่า รายได้ของคนกลุ่มนี้มาจากประเภทไหนระหว่าง เงินเดือนและค่าจ้าง ธุรกิจ และ จากการลงทุน พบว่า กลุ่มที่รวยที่สุดของรวย คือ 0.01% แรก ของสหรัฐอเมริกามีรายได้จากเงินเดือนและค่าจ้าง 38% มีรายได้จากธุรกิจ 29% และมีรายได้จากการลงทุน 33% เข้าใจว่าแต่ละคนก็สามารถมีรายได้หลายประเภทปนกัน

ส่วนกลุ่มจาก 1 ถึง 10% แรก มีสัดส่วนรายได้จากเงินเดือนและค่าจ้างสูงถึง 83%มีรายได้จากธุรกิจ 9% และมีรายได้จากการลงทุนประมาณ 8% อย่างไรก็ดี รายได้จากธุรกิจและการลงทุนในช่วงปีหลังๆ นี้มีสัดส่วนสูงขึ้น

ยังมีการวิจัยของสหรัฐอเมริกาอีกงานหนึ่ง โดย Larry Mishel ร่วมกับ Heidi Shierholz และ John Schmitt พบว่าในช่วง 34 ปีที่ผ่านมา ดัชนีรายได้ของผู้เรียนจบต่ำกว่ามัธยมปลายของสหรัฐอเมริกามีค่าลดลง (จากปี 1979 ดัชนีของผู้จบการศึกษาทุกระดับ เท่ากับ 100) เหลือ 77 ในปี 2013 และผู้จบการศึกษาระดับมัธยม มีดัชนีรายได้เท่ากับ 92 ในปี 2013 ส่วนผู้ที่เรียนจบมหาวิทยาลัยมีดัชนีรายได้ เท่ากับ 118

นอกจากนี้ GINI Index ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเหลื่อมล้ำ (ค่าสูง ความเหลื่อมล้ำสูง) ของสหรัฐอเมริกา ยังเพิ่มจาก 0.34 ในปี 1985 ซึ่งมีสัดส่วนผู้สำเร็จการศึกษาในระดับสูงกว่ามัธยมปลาย 17% เป็น 0.38 ในปี 2007 ซึ่งมีสัดส่วนผู้สำเร็จการศึกษา ในระดับสูงกว่ามัธยมปลายเท่ากับ 26% แสดงให้เห็นว่าช่องว่างทางรายได้ของสหรัฐอเมริกาได้เพิ่มสูงขึ้น

ประเทศจีนประสบกับปัญหานี้มากยิ่งกว่า เราค่าดัชนี GINI ซึ่งอยู่ที่ระดับ 0.3 ในปี 1980 นั้น จากการศึกษาของ Yu Xie และ Xiang Zhou แห่งมหาวิทยาลัยปักกิ่ง พบว่าดัชนีได้เพิ่มขึ้นเป็น 0.55 ในปี 2010 ซึ่งถือเป็นระดับที่สูงมาก

ความเท่าเทียม ซึ่งเป็นคำตรงกันข้ามกับ ความเหลื่อมล้ำ นั้น Ferdinand Mount แห่ง Joseph Rowntree Foundation ได้แบ่งไว้เป็น 5 ประการ คือ

ความเท่าเทียมทางการเมือง

ความเท่าเทียมของผลลัพธ์ (ซึ่งหมายถึงรายได้และความมั่งคั่ง)

ความเท่าเทียมของโอกาส (ซึ่งหมายถึงการเข้าถึงโอกาสในชีวิต)

ความเท่าเทียมของการปฏิบัติ และ

ความเท่าเทียมของการเป็นสมาชิกในสังคม

สัปดาห์หน้าเราจะมาคุยกันถึงสาเหตุของความไม่เท่าเทียมเหล่านี้ และข้อเสนอแนะ ตัวอย่าง และวิธีการที่ประเทศต่างๆ หรือองค์กรต่างๆ ในโลก นำมาใช้ หรือพยายามใช้ เพื่อลดช่องว่างของความเหลื่อมล้ำ เพื่อพยายามไม่ให้ความไม่เท่าเทียมกันขยายขอบเขตไปจนถึงขั้นเป็นอันตรายต่อความสงบสุขของสังคมและโลกค่ะ


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : โลก ก้าวไปด้วยกัน

view