สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ดูช้าง..ดูนาง..ดู CSR

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ CSR Talk โดย สุรีพันธุ์ เสนานุช ผู้เชี่ยวชาญ ฝ่ายวิจัย สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ

หลายปีก่อนนักวิชาการด้าน CSR พยายามแยกแยะว่าองค์กรใดเป็น CSR แท้หรือ CSR เทียม คือทำเพื่อหวังผลทางการตลาด หรือทำด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างแท้จริง จะว่าไปแล้วจะแท้หรือเทียม ปัจจัยสำคัญคือผู้บริหารระดับสูงนั่นเองว่ามีแนวคิดและนโยบายอย่างไรในเรื่องนี้ ดังคำพังเพยโบราณที่ว่า "ดูช้างให้ดูหาง ดูนาง ให้ดูแม่" จึงขอต่อไปอีกว่า "จะเป็น CSR แท้หรือไม่แท้ ก็แค่ดูผู้บริหาร"

บทบาทของผู้บริหารในเรื่อง CSR ไม่ใช่เพียงมีแนวคิดและประกาศนโยบาย แต่ต้องผลักดันให้คนในองค์กรนำไปปฏิบัติจนบรรลุผลตามเป้าหมาย ผู้บริหารส่วนใหญ่มักให้สัมภาษณ์ว่า "เรื่องนี้ผมสนับสนุนอย่างเต็มที่" แต่ไม่เข้าใจว่า "การสนับสนุน" ต้องทำอย่างไรบ้าง

บางครั้งอาจดูเหมือนจะลืมไปว่า ความสำเร็จหรือความล้มเหลวใด ๆ ในองค์กรโดยแท้จริงเป็นความรับผิดชอบของผู้บริหารทั้งสิ้น ดังนั้นการสนับสนุนจึงไม่ใช่แค่การประกาศนโยบาย อนุมัติงบประมาณ มอบหมายผู้รับผิดชอบ กล่าวเปิดงาน แล้วปล่อยให้ทีมงานทำงานโดยลำพัง

ส่วนใหญ่ทีมงานที่มีหน้าที่โดยตรงในการทำ CSR มักจะมีกันอยู่ 2-3 คนที่ไม่ได้มีอำนาจสั่งการใด ๆ คิดกิจกรรมกันไปในแต่ละปีให้ได้ตามตัวชี้วัด แต่จะมีผลต่อสังคมอย่างไร คุ้มค่ากับทรัพยากรที่ลงไปหรือไม่ มักไม่มีคำตอบ

ในเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติ หรือ Thailand Quality Award-TQA หมวดที่ 1 การนำองค์กร ระบุถึงบทบาทของผู้บริหารไว้อย่างชัดเจนที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการทำ CSR ได้ นั่นคือการที่ผู้บริหารระดับสูงต้องนำแนวคิดและนโยบายเรื่อง CSR สู่การปฏิบัติในองค์กร รวมไปถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด ต้องปฏิบัติตนเป็นแบบอย่าง สื่อสารกับคนในองค์กรทุกระดับชั้นอย่างสม่ำเสมอในเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม เพื่อให้เกิดความตระหนัก กำหนดเป็นหนึ่งในค่านิยมขององค์กรที่มีผลต่อการประพฤติปฏิบัติในชีวิตประจำวัน

นี่คือแนวทางของการสนับสนุนอย่างแท้จริง!

เพราะการทำ CSR ต้องมาจากใจ หากสามารถทำให้คนในองค์กรมีจิตสำนึกในเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมแล้ว วิธีการปฏิบัติ กิจกรรมต่าง ๆ จะเกิดขึ้นอย่างมีคุณค่า ส่งผลต่อองค์กรและสังคมตามความคาดหวัง

ยกตัวอย่าง องค์กรประกาศนโยบาย CSR ว่าจะเป็นธุรกิจสีเขียว ผู้บริหารจะต้องทำความเข้าใจกับคนในองค์กรให้ชัดเจนว่า ความหมายของธุรกิจสีเขียวคืออะไร องค์กรต้องดำเนินการอย่างไร แต่ละส่วนงานต้องทำอย่างไรบ้างเพื่อให้เป็นไปตามนโยบายนี้ หลายองค์กรมีถ้อยคำสวยหรู แต่ขาดการตีความ สร้างความเข้าใจ ในที่สุดก็ไปไม่ถึงการปฏิบัติ

เมื่อกำหนดแนวทางการดำเนินการแล้ว ผู้บริหารต้องทำให้คนในองค์กร Buy-in ในนโยบายนี้เพื่อให้เกิดการร่วมแรงร่วมใจ การที่คนในองค์กรจะ Buy-in ต้องเกิดจากความเข้าใจ เห็นความสำคัญจนถึงที่สุดคือเห็นคุณค่าที่จะเกิดขึ้น ผู้บริหารจึงต้องสื่อสารอย่างสม่ำเสมอและมีคุณภาพ

เพื่อให้การสื่อสารเข้าถึงพนักงานทุกระดับชั้น และต้องประเมินเพื่อให้มั่นใจว่าการสื่อสารได้ผลตามต้องการ ผู้บริหารบางท่านไม่ใช่จะพูดเฉพาะในที่ประชุม แต่ทุกกิจกรรมที่มีโอกาสพูด ท่านจะพูดเพื่อตอกย้ำ ด้วยเทคนิคการพูดที่เหมาะสมกับสถานการณ์ คือไม่ได้เป็นทางการเสมอไป แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นที่ลูกน้องตระหนัก

นอกจากนั้น ผู้บริหารต้องสร้างสภาพแวดล้อมในองค์กรให้สอดคล้องกับนโยบายที่ประกาศออกไป คำว่าธุรกิจสีเขียวไม่ได้หมายความแค่การดูแลสิ่งแวดล้อม แต่หมายถึงการทำธุรกิจอย่างมีจริยธรรมด้วย นอกจากการลดขยะ, แยกขยะ หรือตกแต่งสถานที่ทำงานด้วยต้นไม้ให้มากขึ้น ควรมีบอร์ดเล็ก ๆ หรือถ้อยคำงาม ๆ เกี่ยวกับจริยธรรม มีเวทีเรื่องเล่าชื่นชมพฤติกรรมของคนในองค์กรที่มีจริยธรรม เชิญบุคคลที่เป็นต้นแบบด้านจริยธรรมมาพูดให้คนในองค์กรฟัง ฯลฯ

ขณะที่ผู้บริหารเองก็ต้องแสดงตนเป็นแบบอย่างของการรักษาสิ่งแวดล้อม และประพฤติตนอย่างมีจริยธรรมด้วยในทุกการกระทำ การติดตาม ประเมินผลเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย

การปรับวิธีการดำเนินการก็เป็นงานที่ผู้บริหารต้องให้ความสำคัญ หลายองค์กรทำไปเรื่อย ๆ จนสุดทางจึงพบว่าไม่ได้ผล สูญเสียทรัพยากรไปอย่างน่าเสียดาย การบรรลุเป้าหมายเป็นสิ่งที่จะทำให้ทุกคนรู้สึกอิ่มเอมใจพอ ๆ กับความเบื่อหน่าย หากการดำเนินการใด ๆ มีแต่ความว่างเปล่า ไม่เห็นผล คนในองค์กรจะไม่ให้ความร่วมมือในการดำเนินการครั้งต่อไป

พร้อมกับคำถามว่า...จะทำไปทำไม ? ทำแล้วได้อะไร

CSR แท้หรือเทียมผู้บริหารนั่นแหละคือปัจจัยบ่งชี้ที่ชัดเจนที่สุด


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ดูช้าง ดูนาง ดู CSR

view