สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เปิดเอกสารลับย้ายถวิลเร่งรีบข้ามขั้นตอน

เปิดเอกสารลับย้ายถวิลเร่งรีบข้ามขั้นตอน

จาก โพสต์ทูเดย์

สว.สมชายเปิดหลักฐานรัฐบาลยิ่งลักษณ์ย้ายถวิลกระทำการอย่างเร่งรีบ ลุกลี้ลุกรน ข้ามขั้นตอน

เมื่อวันที่ 7 พ.ค. นายสมชาย แสวงการ สว.สรรหา โพสต์ข้อความและเอกสารประกอบ เมื่อวันที่6พ.ค.57 ผ่านเฟซบุ๊ก"สมชาย แสวงการ" โดยอ้างอิงข้อมูลจาก นายคำนูณ สิทธิสมาน สว.สรรหา ซึ่งมีหลักฐานที่ยืนยันว่า การโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี ออกจากตำแหน่งเลขาธิการสมช.ไปเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เป็นไปอย่างเร่งรีบ  ลุกลี้ลุกรน ข้ามขั้นตอน โดยมีเนื้อหาและรายละเอียดดังต่อไปนี้

พรุ่งนี้เที่ยงศาลไคฟงลงดาบประหาร!!!

ใครปลอมเอกสาร 'บันทึกข้อความ ที่ นร 0401.2/8303' ส่งศาลรัฐธรรมนูญ ?

เอกสารเดิมที่เลขาธิการนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น (นายบัณฑูร สุภัควณิช) ทำขึ้นเพื่อขอย้ายคุณถวิล เปลี่ยนสีจากเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติมาเป็นทึ่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำ มี 2 ฉบับ ทั้ง 2 ฉบับลงวันที่ 4 กันยายน 2554 ซึ่งเป็นวันอาทิตย์วันหยุดราชการ

1. นร 0401.2/2418 ทำถึงรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (น.ส.กฤษณา สีหลักษณ์) เพื่อให้ความเห็นชอบและดำเนินการขอตัวนายถวิล เปลี่ยนสีมาดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี จากรองนายกรัฐมนตรี (พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ) ในฐานะรัฐมนตรีเจ้าสังกัดสำนักงานเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ

2. นร 0401.2/8303 ทำถึงรองนายกรัฐมนตรี (พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ) เพื่อขอความเห็นชอบและยินยอมในการย้ายถวิล เปลี่ยนสีมาเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี โดยอ้างว่ารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (น.ส.กฤษณา สีหลักษณ์) ให้ความเห็นชอบและยินยอมรับโอนแล้ว

ย้ำอีกครั้งว่าหนังสือบันทึกขัอความทั้ง 2 ฉบับลงวันที่วันเดียวกันคือ 4 กันยายน 2554 ซึ่งเป็นวันอาทิตย์วันหยุดราชการ

ทั้ง ๆ ที่ในหนังสือหมายเลข 2 ลงวันที่ 4 กันยายน 2554 อ้างว่ารัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯให้ความเห็นชอบและยินยอมแล้ว แต่ในหนังสือหมายเลข 1 ลงวันที่ 4 กันยายน 2554 รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯเพิ่งเห็นชอบโดยเกษียรท้ายหนังสือลงลายมือกำกับไว้ว่าเป็นวันที่ 5 กันยายน 2554

หนังสือหมายเลข 2 จึงอ้างผิดความจริง

และแสดงให้เห็นว่าการโยกย้ายกระทำการอย่างเร่งรีบ ลุกลี้ลุกรน ข้ามขั้นตอน

นายถวิล เปลี่ยนศรีจึงสู้มาตลอดในชั้นคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมและในศาลปกครองทั้ง 2 ชั้นว่าการย้ายตนทำผิดขั้นตอน และเร่งรีบ

แต่ทั้งคณะกรรมการฯและศาลปกครองเห็นว่าไม่ใช่สารัตถะสำคัญที่ทำให้การโยกย้ายต้องเสียไป

ประเด็นคือในการต่อสู้ 2 ปีเศษ ไม่ปรากฎว่ามีการต่อสู้ว่าเอกสารหมายเลข 2 นั้นแท้จริงแล้วลงวันที่ 5 กันยายน 2554 ไม่ใช่วันที่ 4 กันยายน 2554 มาก่อนเลย

ในคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดก็ไม่มีการพูดเป็นอื่น เอกสารที่ทั้งพวกผมคณะส.ว.ผู้ร้องและนายถวิล เปลี่ยนสีเสนอตีอศาลรัฐธรรมนูญจึงเป็นเอกสารลงวันที่ 4 กันยายน 2554 ทั้ง 2 ฉบับ

แต่พอศาลรัฐธรรมนูญท่านมีคำสั่งเรียกพยานเอกสารไปยังสำนักนายกรัฐมนตรีในช่วงกลางเดือนเมษายน 2557 เอกสารหมายเลข 2 ที่ส่งศาลรัฐธรรมนูญมากลับเกิดปาฏิหาริย์กลายเป็นลงวันที่ 5 กันยายน 2554

ศาลรัฐธรรมนูญท่านเป็นผู้ค้นพบ พวกเราเองก็ไม่ทราบมาก่อน และไม่มีเอกสารหมายเลข 2 ฉบับปาฏิหาริย์อยู่ในมือ จึงไม่อาจนำมาแสดงเปรียบเทียบได้

ส.ว.ไพบูลย์ นิติตะวันและนายถวิล เปลี่ยนสีในฐานะพยานก็เพิ่งพบเห็นในศาลฯเมื่อศาลฯท่านนำมาให้ดู

ศาลฯท่านย้ำว่าเป็นเรื่องสำคัญ เพราะต้องคัดกรองพยานหลักฐานปลอมออกไป

ที่มา https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=696962637014360&id=100001018909881


ศาลพบพิรุธเอกสารย้าย'ถวิล'เร่งรีบ-แก้วันที่

ศาลรธน.นัดชี้ชะตา "ยิ่งลักษณ์" คดีโยกย้าย "ถวิล" พบพิรุธเอกสารโอนย้าย"ถวิล"เร่งรีบ-แก้วันที่

ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำสั่งนัดอ่านคำวินิจฉัยคำร้องที่ประธานวุฒิสภาส่งความเห็นสมาชิกวุฒิสภา ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่าความเป็นรัฐมนตรีของ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 182 วรรคหนึ่ง (7) ประกอบมาตรา 268 หรือไม่ จากกรณีแต่งตั้งโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยนัดอ่านคำวินิจฉัยในวันนี้ (7 พ.ค.) เวลา 12.00 น.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 10.30 น. วานนี้ (6 พ.ค.) คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้ออกนั่งบัลลังก์ ไต่สวนพยาน 4 ปาก ประกอบด้วย นางสาวยิ่งลักษณ์ พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี อดีตปลัดกระทรวงคมนาคมและอดีตเลขาธิการสมช. นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา และ นายถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการสมช.

โดย นายบุญส่ง กุลบุปผา ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เป็นผู้กล่าวกำหนดประเด็นการไต่สวนไว้ 3 ประเด็น ดังนี้ 1.เมื่อมีการยุบสภา ปัญหาพิจารณามีว่า ผู้ถูกร้องต้องพ้นจากตำแหน่งแล้ว ความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงแล้วหรือไม่ 2.เมื่อการกระทำของผู้ถูกร้องต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ อันเป็นการกระทำให้ความเป็นรัฐมนตรีทั้งคณะสิ้นสุดลงหรือไม่ และ 3.เมื่อความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงจะเป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีของคณะรัฐมนตรีทั้งคณะสิ้นสุดลงหรือไม่

"ไพบูลย์"ชี้ถ้าสิ้นสภาพ-ตั้งนายกฯ ภายใน7วัน

ทั้งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญ ได้ให้นายไพบูลย์ ขึ้นเบิกความเป็นปากแรก นายไพบูลย์ กล่าวว่า ศาลปกครองเห็นว่าผู้ถูกร้องกระทำให้ตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผบ.ตร.) ว่างลง เพื่อให้ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ขึ้นเป็นผบ.ตร.แทน โดยการโยก พล.ต.อ.วิเชียร มาดำรงตำแหน่งเลขาธิการ สมช. เพื่อเอื้อต่อเครือญาติ ถือเป็นการใช้สถานะความเป็นนายกฯ เข้าไปแทรกแซงให้นายถวิล พ้นจากตำแหน่งเลขาธิการ สมช. เพื่อผลักดัน พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ซึ่งไม่ได้กระทำตามนโยบายที่แถลงต่อรัฐสภา และเป็นการกระทำที่ไม่ใช่ตามที่กฎหมายกำหนด

"เมื่อผู้ถูกร้องถูกวินิจฉัยแล้วตำแหน่งจึงว่างลง จึงต้องแต่งตั้งนายกฯ ทันที ซึ่งการแต่งตั้งนายกฯ แทนนายสมัคร สุนทรเวช ได้ใช้เวลาแค่ 9 วัน และการแต่งตั้งนายกฯ แทนนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ใช้เวลา 14 วัน จึงเห็นว่าการแต่งตั้งนายกฯ คนใหม่ควรกระทำทันที ซึ่งสถานการณ์ขณะนี้รัฐบาลไม่สมประกอบ สุ่มเสี่ยงที่เศรษฐกิจเสียหาย จึงจำเป็นเร่งด่วน ไม่ควรเกิน 7 วัน"

นายไพบูลย์ ยังกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ขอควรให้วินิจฉัยตามมาตรา 268 มีผลให้ความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงเฉพาะตัว จึงไม่อยู่ในตำแหน่งรัฐมนตรีตามมาตรา 181 จึงเป็นเหตุให้ ครม.ทั้งคณะพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 181 และ ครม.จึงต้องร่วมรับผิดตามมาตรา 171 จึงมีความจำเป็นเร่งด่วน และวินิจฉัยให้แต่งตั้งนายกฯ คนใหม่ทันที โดยนำรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องมาใช้โดยอนุโลม

"จรัญ"พบพิรุธเอกสารโอนแก้ไขวันที่

ขณะที่ นายจรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ซักถามว่า จากการตรวจสอบเอกสารหลักฐาน กระบวนการโยกย้ายนายถวิล พบว่า เอกสารการแจ้งโอนจากหน่วยงานต้นสังกัด ไปยังหน่วยงานรับโอน ลงวันที่ 4 ก.ย. 2554 ถูกต้องไหมและเป็นวันอาทิตย์ใช่หรือไม่ และหนังสือจากเลขาธิการสำนักนายกฯ แจ้งไปยัง พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ รองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น เพื่อขอความเห็นชอบ แจ้งไปวันอาทิตย์ 4 ก.ย. 2554 ได้ระบุว่า นางสาวกฤษณา สีหลักษณ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ในขณะนั้น ได้ให้ความเห็นชอบแล้ว แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่า เอกสารรัฐมนตรีสำนักนายกฯ ลงวันที่ 5 ก.ย. 2554 ซึ่งตรงกับวันจันทร์ เป็นเอกสารฉบับเดียวกัน เนื้อความเดียวกัน แต่กลับลงวันที่ต่างกัน

นายไพบูลย์ ตอบว่า วันที่ 4 ก.ย. 2554 เป็นวันอาทิตย์ เนื่องจากมีการประชุมคณะรัฐมนตรีในวันอังคารที่ 6 ก.ย. 2554 อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้เป็นประเด็นความเร่งรัดอย่างผิดปกติ ไม่เป็นกระบวนการตามขั้นตอนปกติ ซึ่งส่วนตัวไม่ทราบว่า เอกสารทั้ง 2 ฉบับที่มีเนื้อหาเดียวกัน แต่ทำไมลงวันที่ต่างกัน

"ยิ่งลักษณ์"ปัดเอื้อประโยชน์เครือญาติ

ด้าน นางสาวยิ่งลักษณ์ ได้ขึ้นชี้แจงโดยขอปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา ยืนยันว่าตนได้รับความไว้วางใจจากประชาชน ได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา ที่ได้ดำรงตำแหน่งนายกฯ ต้องรับผิดชอบในการบริหารประเทศ คำนึงถึงประโยชน์ของประเทศ ขั้นตอนการโยกย้ายยึดหลักบริหารราชการแผ่นดิน และในฐานะนายกฯ ตนได้มอบอำนาจในรองนายกรัฐมนตรี ในการสั่งการ กำหนดแผนงาน บุคลากร เพื่อรับผิดชอบผลการปฏิบัติงานที่แถลงไว้ในรัฐสภา เรื่องนี้ได้มอบให้พล.ต.อ.โกวิท ดูแลความมั่นคง รับผิดชอบงานในสภาความมั่นคง (สมช.)

"ดิฉันไม่ได้รับผิดชอบในเรื่องการโยกย้าย ไม่ได้แทรกแซงการทำงานต่างๆ จึงขอปฏิเสธพฤติการณ์ต่างๆ เพราะได้มอบอำนาจในการโยกย้ายให้รองนายกฯ รับผิดชอบ ยืนยันว่าไม่ได้เข้าแทรกแซงการบริหารแต่อย่างใด ไม่มีพฤติกรรมที่วางแผนเป็นระบบเป็นตอน ไม่ได้ทำในสิ่งที่กฎหมายห้าม ได้ยึดถือประโยชน์ประชาชนและประโยชน์ของประเทศ ไม่ได้คำนึงถึงเครือญาติ ขอบอกว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ได้หย่าขาดกับคุณหญิงพจมานไปเรียบร้อยแล้ว และการหย่าร้างก็ไม่ได้มีผลในการพิจารณาการแต่งตั้งโยกย้าย ซึ่งพิสูจน์ได้ว่าแม้วันนี้ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ จะเกษียณแล้ว ก็ไม่มีชื่อ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ มานั่งเป็นรัฐมนตรีแต่อย่างใด"

ศาลรธน.นัดฟังคำวินิจฉัยเที่ยงวันนี้

ต่อมาเมื่อเวลา 14.05 น. ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ โดยนายจรูญ ได้อ่านกระบวนการวิธีพิจารณา โดยระบุว่า กรณีที่ผู้ถูกร้องขอให้สอบพยานเพิ่มพยาน ได้แก่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมว.แรงงาน นายชาญชัย แสวงศักดิ์ ตุลาการศาลปกครองสูงสุด นายนพดล เฮงเจริญ อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ นายสมรรถชัย วิศาลาภรณ์ นายสมชัย วัฒนการุณ และ นายประวิตร บุญเทียม ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองกลาง ขอยื่นแถลงปิดคดี ซึ่งศาลไม่อนุญาต เนื่องจากเห็นว่าพยานหลักฐานครบถ้วนและกระบวนการไต่สวนเสร็จสิ้นแล้ว จึงขอนัดคำฟังวินิจฉัยในวันที่ 7 พ.ค. เวลา 12.00 น.

พท.ตั้งวอร์รูมเกาะติดคำวินิจฉัย

นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย แถลงภายหลังการประชุม ส.ส.พรรคเพื่อไทย ว่าที่ประชุมมีความกังวล กรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญนัดวินิจฉัยคดีการโยกย้ายนายถวิล เพราะหากศาลวินิจฉัยให้นายกฯ และครม. พ้นสมาชิกภาพก็อาจจะส่งผลกระทบทางการเมือง ในขณะที่บางส่วนมองว่าศาลรัฐธรรมนูญควรวินิจฉัยหาทางออกให้บ้านเมือง มากกว่าจะนำไปสู่การขัดแย้งทางการเมือง โดยในวันที่ 7 พ.ค. นี้ พรรคเพื่อไทยจะตั้งวอร์รูมเพื่อติดตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่พรรคเพื่อไทย ในเวลา 10.00 น.

"จารุพงศ์"ขู่ครม.ไปทั้งคณะวุ่นวายแน่

ด้าน นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รมว.มหาดไทย กล่าวถึงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญ นัดไต่สวนคดี นางสาวยิ่งลักษณ์ ในวันที่ 7 พ.ค. ว่า เป็นดุลพินิจของศาล ที่จะต้องให้ความยุติธรรม อย่างไรก็ตามในส่วนของพรรคเพื่อไทย มีแผนรองรับไว้แล้ว ถ้าศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้นายกฯ และคณะรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่ง

"ถ้าครม.ไปทั้งคณะ ต้องวุ่นวายแน่ แต่พวกเรารู้ว่าไป ซึ่ง นายกฯ ได้ยุบสภาตั้งแต่วันที่ 9 ธ.ค. ก็คือลาออก แต่ไม่ใช้คำว่าลาออก เพราะกฎหมายให้ใช้คำว่ายุบสภา"

นายธนาวุฒิ วิชัยดิษฐ โฆษกแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวว่า สำหรับคนเสื้อแดงไม่ว่าศาลจะตัดสินไปในทิศทางใดก็ตาม ทางแกนนำก็จะประเมินสถานการณ์เป็นวันๆ ไป แต่ยิ่งศาลตัดสินเป็นลบเท่าไร ก็จะยิ่งเรียกแขกมากเท่านั้น

ส่วนการชุมนุมใหญ่ของคนเสื้อแดงจะยังจัดชุมนุมในวันที่ 10 พ.ค. ที่ถนนอักษะ ย่านพุทธมณฑล เช่นเดิม เพื่อปรามฝ่ายที่ต้องการอำนาจด้วยวิธีการนอกระบบ

กกต.นัดถกรัฐบาลใหม่ปมพ.ร.ฎ.เลือกตั้ง

เมื่อเวลา 17.00 น. วันเดียวกัน นายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แถลงผลการประชุมกกต.เพื่อพิจารณาเนื้อหาถ้อยคำในร่างพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) แก้ไขเพิ่มเติมกำหนดวันเลือกตั้งเป็นการทั่วไป ว่า เมื่อวันที่ 30 เม.ย.ที่ผ่านมา กกต.หารือร่วมกับนายกรัฐมนตรีที่กองทัพอากาศ จากนั้น กกต.ได้ประสานไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่ง 2 หน่วยงานยังมีความเห็นแตกต่างในประเด็นข้อกฎหมาย

โดย กกต. ยืนยันในเรื่องการแก้ไขปัญหาการเลือกตั้ง 2 ก.พ. แต่กฤษฎีกายังมีความเห็นแย้ง ใน กกต.ได้ประชุมพิจารณาและมีความเห็นส่งไปยังครม.เป็นหนังสือด่วนที่สุด ลงนามโดย กกต. ทั้ง 5 คน เรื่องความเห็นของ กกต.เกี่ยวกับ พ.ร.ฎ.แก้ไขเพิ่มเติมกำหนดวันเลือกตั้ง ส.ส. เป็นการเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ. .... ส่งถึงนายกรัฐมนตรี พร้อมกับแนบเอกสารอีก 2 ฉบับ ประกอบด้วย หนังสือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ลงวันที่ 1 พ.ค. 2557 และ คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 2/2557 ลงวันที่ 24 ม.ค. 2557 เพื่อขอให้ นายกฯ มาประชุมร่วมกับ กกต. อีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้เกิดความละเอียดรอบคอบ

เลขาธิการ กกต. กล่าวว่า หากทั้ง 2 ฝ่าย กำหนดวันที่จะพูดคุยกันโดยเร็วภายใน 3-5 วัน ก็จะไม่กระทบจนต้องขยับวันเลือกตั้งจากที่กำหนดไว้ คือ วันที่ 20 ก.ค. นี้ นอกจากนี้ขอยืนยันว่าการทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีเพื่อเชิญมาหารืออีกครั้งหนึ่ง ไม่เกี่ยวกับกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยคดีของนายกรัฐมนตรีในวันที่ 7 พ.ค.

ครม.รอร่างพ.ร.ฎ.เลือกตั้งเก้อ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 17.00 น. วันเดียวกัน นางสาวยิ่งลักษณ์ ได้มอบหมายให้นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดพิเศษ ที่สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม เมืองทองธานี เพื่อพิจารณาวาระเดียว คือ วาระที่ กกต. ส่งเอกสารร่าง พ.ร.ฎ.กำหนดวันเลือกตั้งมาให้ ครม. พิจารณาเพื่อทราบ และให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯ ต่อไปตามขั้นตอน

จนกระทั่งเวลา 17.30 น. ครม.ได้รับเอกสารจากสำนักงาน กกต. แต่กลับเป็นเพียงหนังสือเชิญรัฐบาลหารือเรื่องการจัดการเลือกตั้งอีกครั้ง ไม่ใช่เอกสารร่าง พ.ร.ฎ.กำหนดวันเลือกตั้ง ตามที่ ครม.รอแต่อย่างใด ทำให้รัฐมนตรีที่มารอประชุมต่างทยอยเดินทางกลับออกไป


โฉมหน้า10รัฐมนตรีสิ้นสภาพ

โฉมหน้า10รัฐมนตรีสิ้นสภาพ หลังศาลรัฐธรรมนูญตัดสินคดีโยกย้าย"ถวิล เปลี่ยนศรี"

1.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯและรมว.กลาโหม

2 เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกฯ ขณะนั้น

3.กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกฯ ขณะนั้น

3.สุรพงษ์ โตวิจักษ์ชัยกุล รมว.ต่างประเทศขณะนั้น

4.สันติ พร้อมพัฒน์ รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ขณะนั้น

5.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รมว.ไอซีที

6.ศิริวัฒน์ ขจรประศาสน์ รมช.พาณิชย์ขณะนั้น

7.พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รมว.ยุติธรรม ขณะนั้น

8.นายปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.วิทยาศาสต์ ขณะนั้น

9.พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รมว.กลาโหม ขณะนั้น


สื่อนอกตีข่าว “ศาล รธน.” พิพากษา “ยิ่งลักษณ์” พ้นสภาพนายกฯ ฐานใช้อำนาจเอื้อประโยชน์ให้ “เพรียวพันธ์”

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์

      เอ เจนซีส์ - สื่อนอก เป็นต้นว่า รอยเตอร์ บีบีซีนิวส์ เอพี เอเอฟพี ต่างหันมาจับจ้องความเคลื่อนไหวของการเมืองไทยวันนี้ (7 พ.ค.) ในเวลาที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำตัดสินให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พ้นจากสถานภาพนายกรัฐมนตรี ในความผิดฐานละเมิดกฎหมายรัฐธรรมนูญ โดยต่างบอกว่า ประเทศกำลังตกอยู่ในสภาวะสับสนอลหม่านทางการเมือง แม้ว่าบรรดารัฐมนตรีที่ไม่มีส่วนพัวพันในคดีจะยังสามารถรักษาการในตำแหน่ง ตามเดิม

       รอยเตอร์ชี้ว่า แม้ว่าคำพิพากษาในวันนี้ (7) อาจทำให้ฝ่ายผู้สนับสนุน น.ส.ยิ่งลักษณ์ พากันโกรธแค้น แต่การที่พรรคของเธอยังเป็นรัฐบาลรักษาการก็อาจช่วยบรรเทาบรรยากาศอันร้อน ระอุในการประท้วงของกลุ่ม นปช. ทีนัดชุมนุมกันสุดสัปดาห์นี้ และอาจช่วยลดการเผชิญหน้ากันระหว่างผู้ประท้วงฝ่ายสนับสนุนกับฝ่ายต่อต้าน รัฐบาลลงได้บ้าง
       
       ในช่วงเวลา 6 เดือนที่ผ่านมา น.ส.ยิ่งลักษณ์ ต้องเผชิญกับการประท้วงอย่างรุนแรงในกรุงเทพฯ ซึ่งมุ่งโค่นอำนาจรัฐบาล เนื่องจากผู้ประท้วงฝ่ายต่อต้านรัฐบาลไม่สามารถบรรลุเป้าหมายด้วยการจัดการ ประท้วงบนท้องถนน จึงหันไปพึ่งกระบวนการทางกฎหมาย
       
       ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญผู้อ่านคำวินิจัยชี้ว่า เมื่อปี 2011 น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้ใช้อำนาจหน้าที่โยกย้ายเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เพื่อเอื้อประโยชน์แก่ญาติของตน
       
       ศาลรัฐธรรมนูญระบุว่า “จำเลยมีส่วนพัวพันในการโยกย้าย นายถวิล เปลี่ยนศรี จากตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เพื่อให้ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ผู้เกี่ยวดองเป็นญาติ ขึ้นเป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
       
       ศาลวินิจฉัยว่า “จำเลยทำเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว ... การโยกย้ายตำแหน่งไม่ได้เป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของประเทศ”
       
       วานนี้ (6) ขณะมาขึ้นศาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้ปฏิเสธว่าไม่ได้ประพฤติผิด และเธอไม่ได้มาปรากฏตัวที่ศาลในวันนี้ (7) ขณะที่โฆษกของเธอยังคงไม่สะดวกที่จะออกมาแสดงความเห็น
       
       อย่างไรก็ตาม ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะสามารถยื่นอุทธรณ์คำตัดสินของศาลได้หรือไม่ หากเธอต้องได้รับโทษอื่นๆ นอกเหนือจากการพ้นสภาพนายกรัฐมนตรี หรือในกรณีที่เธอถูกสั่งห้ามเล่นการเมือง
       
       รอยเตอร์กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ เหล่าผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายคาดการณ์กันว่า ศาลจะสั่งให้รัฐบาลพ้นตำแหน่งยกชุด ทว่าในที่สุดตัดสินว่า รัฐมนตรี 9 คนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีนี้ควรก้าวลงจากตำแหน่ง ขณะที่คนอื่นๆ ยังสามารถอยู่ต่อได้ ส่งผลให้พรรคเพื่อไทยยังเป็นรัฐบาลรักษาการต่อไป
       
       นอกจากนี้ ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่า ขั้นตอนการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่จะเป็นเช่นไร เนื่องจากโดยปกติแล้ว นายกรัฐมนตรีได้รับเลือกมาจากสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งถูกยุบไปตั้งแต่เดือนธันวาคมที่ผ่านมา เมื่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ออกมาประกาศจัดการเลือกตั้ง เพื่อปลดชนวนวิกฤตประท้วงที่กำลังทวีความร้อนแรง
       
       เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา น.ส.ยิ่งลักษณ์ และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เห็นชอบให้มีการจัดการเลือกตั้งครั้งใหม่ในวันที่ 20 กรกฎาคมนี้ แต่วันเวลาดังกล่าวยังไม่ผ่านความเห็นชอบอย่างเป็นทางการ และมีแนวโน้มที่ฝ่ายค้านอาจออกมาคัดค้านอีกครั้ง
       
       รอยเตอร์ชี้ว่า ทางด้านแกนนำการเคลื่อนไหวของกองทัพประชาชนโค่นล้มระบอบทักษิณ (กปท.) รู้สึกยินดีกับคำตัดสินของศาลที่สั่งให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ พ้นสภาพนายกรัฐมนตรี แต่ยังคงเน้นย้ำว่าการชุมนุมจะยังคงดำเนินต่อไป
       
       แซมดิน เลิศบุศย์ กล่าวว่า “แน่นอนว่าคำตัดสินของศาลวันนี้เป็นเรื่องที่น่ายินดีมาก แต่เรายังคงไม่บรรลุเป้าหมายที่ต้องการให้มีการปฏิรูป และเลื่อนการเลือกตั้งออกไปก่อน”
       
       “ถึงแม้ยิ่งลักษณ์จะพ้นสภาพแล้ว แต่พรรคเพื่อไทยก็ยังเป็นรัฐบาลรักษาการอยู่” เขากล่าวกับผู้สื่อข่าวรอยเตอร์ พร้อมทั้งเสริมว่า จะยังเดินหน้าจัดการชุมนุมวันที่ 14 พฤษภาคมนี้ต่อไป

      ทางด้าน บีบีซี นิวส์ ได้สัมภาษณ์นายนพดล ปัทมะ ทนายความของ พ.ต.ท.ทักษิณ และที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี น.ส.ยิ่งลักษณ์ โดย นายนพดล กล่าวว่า คำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญนั้นเป็นสิ่งที่มีผลผูกพันให้ต้องปฏิบัติตาม
       
       “จริงๆ แล้วท่านนายกฯไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากต้องปฏิบัติตามคำพิพากษา เพราะรัฐธรรมนูญระบุเอาไว้ว่าคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญมีผลผูกพันต่อทุกๆ ฝ่าย ถึงแม้ทางเราเองก็จะจัดการประท้วงทางการเมืองขึ้นมาด้วย”
       
       นายนพดล บอกว่า รัฐมนตรีที่ยังคงเหลืออยู่ จะปฏิบัติหน้าที่ของพวกตนต่อไปจนกว่าจะมีการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่
       
       บีบีซีเท้าความว่าก่อนหน้านี้ พรรคเพื่อไทยที่เป็นพรรครัฐบาลได้เรียกร้องให้จัดการเลือกตั้ง ส.ส. ครั้งใหม่ในเดือนกรกฎาคม หลังจากการเลือกตั้งซึ่งมีขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ ก็ถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้เป็นโมฆะ
       
       “เราจะต้องมุ่งโฟกัสไปที่การเลือกตั้ง ส.ส. เพื่อที่ประชาชนไทยจะสามารถตัดสินอนาคตของพวกเขาเองได้” นายนพดล กล่าวย้ำจุดยืนของฝ่ายทักษิณ
       
       ส่วนทางด้าน นายเกียรติ สิทธีอมร รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นฝ่ายค้าน ให้ความเห็นกับบีบีซี นิวส์ ว่า การตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญคราวนี้ จะยังไม่สามารถยุติวิกฤตทางการเมืองที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน
       
       นายเกียรติ บอกว่า พรรคประชาธิปัตย์ยังคงเน้นย้ำว่าจำเป็นที่จะต้องดำเนินการปฏิรูปทางการเมือง ก่อนที่จะจัดการเลือกตั้ง และชี้ว่า “ดังนั้น ความเห็นที่แตกต่างกันจึงยังคงดำรงอยู่ และเราจะต้องรอดูกันต่อไปว่าจะมีอะไรคลี่คลายไปในระยะสองสามวันข้างหน้านี้”

       สำหรับสำนักข่าวเอพี บอกว่า คำตัดสินคราวนี้ถือเป็นการพลิกผันอย่างน่าตื่นตาตื่นใจครั้งล่าสุดในวิกฤต ทางการเมืองของไทยที่ดำเนินมาอย่างยืดเยื้อ โดยถือเป็นชัยชนะสำหรับพวกที่เป็นปรปักษ์ต่อยิ่งลักษณ์ ซึ่งเข้าร่วมการประท้วงตามท้องถนนอันอึกทึกครึกโครม และบางครั้งก็เกิดความรุนแรง ด้วยข้อเรียกร้องให้เธอลงจากตำแหน่ง เพื่อเปิดทางให้แก่ผู้นำชั่วคราวที่จะไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง
       
       อย่างไรก็ตาม คำตัดสินคราวนี้ก็ส่งผลให้ประเทศไทยอยู่ในท่ามกลางความคับขันทางการเมือง และมีโอกาสอย่างมากที่จะเกิดความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นอีก ทั้งนี้ นับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนปีที่แล้วเป็นต้นมา มีผู้ถูกสังหารไปกว่า 20 ราย และบาดเจ็บอีกเป็นร้อยๆ ราย จากเหตุยิงต่อสู้กันด้วยปืนเป็นระยะๆ, การลอบยิงโดยคนที่ขับรถเข้ามาใกล้ๆ ที่ชุมนุม, และการโจมตีด้วยลูกระเบิด
       
       คำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญครั้งนี้ ยังก่อให้เกิดความอึมครึมว่าจะสามารถจัดการเลือกตั้ง ส.ส. ครั้งใหม่ในเดือนกรกฎาคมตามที่ฝ่ายรัฐบาลวางแผนเอาไว้ได้หรือไม่ และเรื่องนี้น่าจะสร้างความโกรธเกรี้ยวให้แก่พวกผู้สนับสนุนยิ่งลักษณ์ ซึ่งได้นัดหมายจัดการชุมนุมใหญ่ในกรุงเทพฯวันเสาร์นี้ (10) เอาไว้แล้ว
       
       เอพีได้รายงานคำพูดของนายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำกลุ่มคนเสื้อแดงที่เป็นฝ่ายสนับสนุนยิ่งลักษณ์ ซึ่งกล่าวว่า “คำตัดสินในวันนี้เป็นเพียงความขรุขระที่ทำให้เกิดการกระทบกระแทกขึ้นบนถนน สายประชาธิปไตย แต่เราจะยังคงเดินหน้าต่อไป” และ “จุดยืนของเรามีความชัดเจนมาก … ถ้ามีนายกรัฐมนตรีที่ผิดกฎหมายเข้ามา เราจะสู้ ถ้ามีการรัฐประหาร เราจะสู้”
       
       ในอีกด้านหนึ่ง เอพีมองว่ายังไม่มีความชัดเจนเอาเลยว่า พวกปรปักษ์ของยิ่งลักษณ์จะสามารถบรรลุข้อเรียกร้องสำคัญๆ ข้ออื่นๆ ของพวกเขาได้อย่างไร เป็นต้นว่า การก่อตั้งสภาปฏิรูปซึ่งกำกับดูแลโดยผู้นำที่พวกเขาต้องการ เพื่อดำเนินขั้นตอนต่างๆ หลายหลากในการกำจัดการทุจริตคอร์รัปชั่นของประเทศ และกำจัดสิ่งที่พวกเขาระบุว่าเป็นการเมืองแบบอำนาจเงินเป็นใหญ่ ดังเช่น การซื้อสิทธิขายเสียง

      ส่วนสำนักข่าวเอเอฟพี ได้เสนอทัศนะของนายฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันความมั่นคงและนานาชาติศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่กล่าวว่า จากการที่ทั้งสองฝ่ายยังคงมีความมั่นอกมั่นใจว่า พวกเขาสามารถที่จะเป็นฝ่ายชนะเช่นนี้แล้ว ศึกสงครามที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องเพื่อช่วงชิง “จิตวิญญาณของประเทศไทย” คราวนี้ จึงดูยังจะลากยาวต่อไป
       
       “ต่อเมื่อทั้งสองฝ่ายคิดว่าพวกเขาไม่สามารถที่จะชนะกวาดเอาไปทั้งหมด ได้ นั่นแหละเราจึงจะได้เห็นการประนีประนอมบางประการ … แต่สำหรับในขณะนี้เราน่าที่จะได้เห็นสิ่งต่างๆ ยิ่งเลวร้ายลงไปอีกเยอะทีเดียว ก่อนที่อะไรต่างๆ จะกลับดีขึ้นมาได้” เขาบอก


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : เปิดเอกสารลับ ย้ายถวิล เร่งรีบ ข้ามขั้นตอน

view