สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

พรฎ-เปิดประชุมกับเรื่อง-กิจการภายใน-ของวุฒิสภา

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...บรรเจิด สิงคะเนติ คณบดีคณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

ตามที่มีพระราชกฤษฎีกาเปิดประชุมวุฒิสภา เมื่อวันที่ 2 พ.ค. 2557 โดยในพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวได้กำหนดเรื่องที่จะประชุมไว้ 2 เรื่อง คือ เรื่องการแต่งตั้งกรรมการ ป.ป.ช. และการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง เมื่อวุฒิสภาได้เปิดการประชุมแล้วนอกเหนือจากวาระการประชุมทั้งสองเรื่องตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกาแล้ว ที่ประชุมวุฒิสภายังได้มีมติ 2 เรื่อง คือ ก. เรื่องการเลือกประธานวุฒิสภา และ ข. การตั้งคณะกรรมาธิการประจำของวุฒิสภา

ซึ่งนำมาสู่ข้อโต้แย้งว่า การดำเนินการของวุฒิสภาดังกล่าวเป็นการดำเนินที่หมิ่นเหม่ต่อความถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ บทความชิ้นนี้ขอร่วมถกในประเด็นว่า วุฒิสภามีอำนาจในการดำเนินการดังกล่าวได้หรือไม่ เพียงใด เพราะเหตุใด

ก่อนที่จะเข้าสู่ประเด็นดังกล่าวข้างต้น ผู้เขียนใคร่ขอกล่าวถึงหลักการพื้นฐานที่สำคัญของวุฒิสภาที่จะเกี่ยวโยงกับประเด็นเรื่องการดำเนินการที่เกี่ยวกับ “กิจการภายใน” ของวุฒิสภา ดังนี้

ก. “วุฒิสภา” เป็นสถาบันการเมืองที่ทำหน้าที่เป็นผู้แทนของปวงชนชาวไทย โดยไม่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติ มอบหมาย หรือความครอบงำใดๆ (มาตรา 122) การใช้อำนาจของวุฒิสภาจึงถือว่าเป็นการใช้อำนาจอธิปไตยในการดำเนินการตามกรอบภาระหน้าที่ของวุฒิสภา ดังนั้นวุฒิสภาย่อมมีความอิสระในการตัดสินใจใดที่อยู่ในขอบอำนาจของตน

ข. อำนาจของรัฐสภาไม่อาจเป็นสุญญากาศได้ เมื่อใดก็ตามที่อายุของสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลง หรือมีการยุบสภาผู้แทนราษฎร มาตรา 132 (1) ได้กำหนดให้วุฒิสภาทำหน้าที่รัฐสภาตามมาตรา 19 มาตรา 21 มาตรา 22 มาตรา 23 และมาตรา 189 ดังนั้นในช่วงที่ไม่มีสภาผู้แทนราษฎรในกรณีที่จำเป็นตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 132 (1) วุฒิสภาจะต้องทำหน้าที่เป็น “รัฐสภา”

ค. เรื่องการกำหนดสมัยประชุมของสภานั้น มาตรา 127 ของรัฐธรรมนูญได้กำหนดไว้แต่เพียงว่า ในปีหนึ่งให้มีสมัยประชุมสามัญทั่วไป และสมัยประชุมสามัญนิติบัญญัติเท่านั้น แต่อย่างไรก็ตาม แม้จะอยู่ในช่วงสมัยประชุมสามัญนิติบัญญัติมาตรา 127 วรรคสี่ ก็ยังกำหนดข้อยกเว้นว่าอาจกระทำเรื่องอื่นๆ ได้ตามหากเสียงข้างมากให้ความเห็นชอบ

ที่กล่าวข้างมาต้น เพื่อให้เห็นถึงสถานะของ “วุฒิสภา” ในฐานะที่เป็นสถาบันการเมืองที่สำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงที่ไม่มีสภาผู้แทนราษฎร หากกล่าวโดยสรุป อำนาจหน้าที่ของวุฒิสภาอาจกำหนดได้ 3 กรณี ดังนี้ (1) อำนาจหน้าที่ของวุฒิสภาในช่วงสมัยประชุมสามัญทั่วไป (2) อำนาจหน้าที่ของวุฒิสภาในช่วงของสมัยประชุมสามัญนิติบัญญัติ และ (3) อำนาจของวุฒิสภาในช่วงที่ไม่มีสภาผู้แทนราษฎร อำนาจของวุฒิสภาทั้งสามกรณีดังกล่าว ย่อมไม่เกี่ยวกับเรื่องการดำเนินการ ซึ่งเป็นเรื่อง “กิจการภายใน” ของวุฒิสภา ไม่ว่าจะอยู่ในช่วงใดก็ตาม วุฒิสภาย่อมมีอำนาจในการดำเนินการอันเป็นกิจการภายในของตนได้เสมอ เช่น การเลือกประธานวุฒิสภา ซึ่งเป็นเรื่องกิจการภายในของวุฒิสภา ไม่สามารถนำเงื่อนไขสมัยประชุมสามัญทั่วไป หรือสมัยประชุมสามัญนิติบัญญัติมาจำกัดการดำเนินกิจการภายในของวุฒิสภาได้ เพราะ

(1) วุฒิสภาเป็นสถาบันการเมืองที่มีความอิสระในการดำเนินภารกิจของตน สิ่งที่สะท้อนความเป็นอิสระของวุฒิสภา คือ การที่วุฒิสภามีอำนาจในการออกข้อบังคับการประชุมวุฒิสภาได้เอง

(2) โดยที่วุฒิสภาเป็นองค์กรกลุ่มในรูปของ “สภา” การทำหน้าที่ขององค์กรเหล่านี้ จะต้องอาศัยการประชุมเป็นพื้นฐาน ดังนั้นเรื่องที่เกี่ยวกับการประชุม รวมทั้งการมีประธานของวุฒิสภา เพื่อทำหน้าที่ในการควบคุมการประชุม จึงถือว่าเป็นเรื่องกิจการภายในโดยแท้ของวุฒิสภา และเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะทำให้วุฒิสภาทำหน้าที่ของตนได้

(3) พระราชกฤษฎีกาเปิดสมัยประชุมสภานั้น เป็นเพียงแบบพิธีที่เกี่ยวกับการเปิดประชุมของสภาเท่านั้น พระราชกฤษฎีกาไม่อาจกำหนดเนื้อหาที่เป็นการขัดกับรัฐธรรมนูญได้ กล่าวคือ อำนาจของวุฒิสภาในแต่ละช่วงย่อมมีอำนาจไม่เหมือนกัน ช่วงใดจะมีอำนาจเพียงใดย่อมขึ้นอยู่กับรัฐธรรมนูญ แต่ไม่ใช่พระราชกฤษฎีกา แต่ไม่ว่ากรณีจะเป็นอย่างไรก็ตาม พระราชกฤษฎีกาเปิดสมัยประชุมไม่อาจก้าวล่วงเข้าไปจำกัดอำนาจในการดำเนิน “กิจการภายใน” ของวุฒิสภาได้ หากยอมรับให้|พระราชกฤษฎีกาก้าวล่วงต่ออำนาจของวุฒิสภาได้ หรือก้าวล่วงต่อการดำเนินกิจการภายในได้ เท่ากับเป็นการกระทบต่อความเป็นอิสระของวุฒิสภาได้

กล่าวโดยสรุป วุฒิสภาในฐานะองค์กรกลุ่มในรูปของ “สภา” ซึ่งมีความอิสระในการดำเนินการตามกรอบอำนาจหน้าที่ตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้

การกระทำที่เป็นเรื่อง “กิจการภายใน” ของวุฒิสภา ย่อมขึ้นอยู่กับมติของที่ประชุม ไม่อาจนำเงื่อนไขของพระราชกฤษฎีกาเปิดสมัยประชุมมาจำกัดการดำเนินกิจการภายในของวุฒิสภาได้

หากตีความว่าพระราชกฤษฎีกาเปิดสมัยประชุมสามารถจำกัดการดำเนินกิจการภายในของวุฒิสภาได้ พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวย่อมขัดกับรัฐธรรมนูญ


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : พรฎ.เปิดประชุม เรื่อง กิจการภายใน วุฒิสภา

view