สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เรื่องพื้นฐานกับการปฏิรูป

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

หลังการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลได้ผ่านมากว่า 6 เดือน ทั้งฝ่ายต่อต้านและฝ่ายรัฐบาลเห็นพ้องต้องกันว่า ประเทศตกอยู่ในภาวะที่จะต้องปฏิรูป

แต่มีประเด็นใหญ่ที่เห็นไม่ตรงกัน นั่นคือ จะเลือกตั้งก่อนปฏิรูป หรือปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง แม้การเคลื่อนไหวครั้งนี้อันมี กปปส. เป็นแกนนำจะดูยาวนาน แต่มองได้ว่ามันเป็นกระบวนการต่อเนื่องซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่ครั้ง พธม. เป็นแกนนำเมื่อปี 2548 การเคลื่อนไหวในช่วงแรกนั้น พธม. เข้ายึดทำเนียบรัฐบาลเป็นเวลากว่า 6 เดือนซึ่งยุติเมื่อปลายปี 2551

เนื่องจากการเคลื่อนไหวเป็นไปในรูปของการต่อต้านรัฐบาล มันจึงมักถูกมองว่าแรงจูงใจได้แก่การช่วงชิงอำนาจทางการเมืองระหว่างกลุ่มการเมืองต่างๆ แต่ตามความจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ แรงจูงใจเป็นเรื่องพื้นฐานมากกว่านั้น คำพูดของ ชัย ราชวัตร ที่แพร่กระจายอยู่ในสังคมออนไลน์สะท้อนได้ดีที่สุด (ภาพ)

แน่ละ คนชั่วในที่นี้หนีไม่พ้นคนที่อยู่ในคณะรัฐบาล แต่เรื่องนี้มิใช่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวาน หากเป็นปรากฏการณ์ที่มีมานานแล้วทั้งในเมืองไทยและในต่างประเทศ มันเป็นเรื่องความเสื่อมทรามทางศีลธรรมจรรยาที่แสดงออกมาทางความฉ้อฉลโดยผู้คนละเมิดกฎเกณฑ์ของสังคมมากขึ้น ผลของความฉ้อฉลอย่างหนึ่งซึ่งเกิดในเมืองไทยได้แก่วิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 วิกฤติครั้งนั้นอ่านได้ว่าเป็นอาการของวิกฤติทางศีลธรรมจรรยาซึ่งคอลัมน์นี้ได้อ้างถึงครั้งสุดท้ายเมื่อที่ 7 พฤษภาคม 2553 การอ้างถึงครั้งนั้นอยู่ในบริบทของการอ่านวิกฤติเศรษฐกิจในอเมริกาซึ่งเกิดเมื่อปี 2551 ของนักเศรษฐศาสตร์ชั้นรางวัลโนเบล โจเซฟ สติกลิตซ์ ทั้งที่เป็นผู้มีภูมิหลังทางด้านเศรษฐศาสตร์ แต่โจเซฟ สติกลิตซ์ มิได้จำกัดการมองหาต้นตอของวิกฤติเศรษฐกิจอยู่เพียงในกรอบของเศรษฐศาสตร์เท่านั้น เขาสรุปว่า ต้นตอของปัญหาได้แก่ “การขาดดุลทางศีลธรรมจรรยา” (Moral Deficit) ซึ่งแสดงออกมาทางการเล่นแร่แปรธาตุทางการเงินเป็นส่วนใหญ่ในช่วงก่อนเกิดวิกฤติ 2551

เมื่อความเสื่อมทรามทางศีลธรรมจรรยาเป็นต้นตอพื้นฐานของปัญหาที่แสดงออกมาในรูปของวิกฤติทางการเมืองอยู่ในขณะนี้ การปฏิรูปจึงควรจะมีส่วนประกอบอย่างน้อย 2 ด้านด้วยกัน นั่นคือ มาตรการป้องกันมิให้คนชั่วเข้าถึงอำนาจทางการเมือง และแรงจูงใจที่จะนำไปสู่การยกมาตรฐานทางศีลธรรมจรรยาอันเป็นหลักยึดในการดำเนินชีวิตของประชาชนโดยทั่วไปในทุกวงการ ส่วนจะทำอย่างไร ควรจะไปปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทางด้านการเมืองและด้านพฤติกรรมของมนุษย์

ในการปฏิรูปครั้งนี้ควรมีด้านเศรษฐกิจรวมอยู่ด้วยเนื่องจากระบบตลาดเสรีที่เราใช้อยู่ในปัจจุบันได้กลายเป็นระบบที่สร้างปัญหาไม่น้อยกว่าการแสวงหาคำตอบที่เหมาะสมให้แก่สังคมโลกที่เปลี่ยนไปอย่างมีนัยสำคัญแล้ว นั่นคือ จำนวนคนเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 7 พันล้านคนท่ามกลางทรัพยากรที่ร่อยหรอลงทุกวันจนเกิดการแย่งชิงกันอย่างเข้มข้นแพร่กระจายไปแทบทุกมุมโลก จุดอ่อนของระบบตลาดเสรีที่เราใช้กันอยู่ได้แก่การใช้การบริโภคเพิ่มขึ้นแบบไม่มีที่สิ้นสุดเป็นตัวขับเคลื่อน นั่นหมายถึงการใช้ทรัพยากรเพิ่มขึ้นอย่างไม่หยุดยั้งทั้งที่ทรัพยากรโลกกำลังลดลง

แนวคิดสำหรับการปฏิรูปเศรษฐกิจมีจำนวนมาก จากการเปลี่ยนแนวคิดพื้นฐานไปถึงการปรับเปลี่ยนระบบปัจจุบัน การเปลี่ยนแนวคิดพื้นฐานเช่นการทำตามหลักบุญนิยมไม่น่าจะทำได้เพราะคนส่วนใหญ่คงไม่สมัครใจที่จะดำเนินชีวิตในแนวนั้นแม้มันจะลดการบริโภคลงเหลือแค่ความจำเป็นจริงๆ ก็ตาม ส่วนเรื่องการใช้ระบบใหม่ในแนวของ “ทฤษฎีอรรถประโยชน์ก้าวหน้า” (Progressive Utilization Theory หรือ ProUT) ของชาวอินเดียชื่อ พี. อาร์. ซาร์คาร์ ก็ไม่น่าจะทำได้เนื่องจากมันต้องใช้มาตรการที่เข้มข้นจนสังคมส่วนใหญ่ไม่ยอมรับ อาทิเช่น ตั้งเพดานทรัพย์สินที่บุคคลจะมีได้ไม่เกิน 500 ล้านบาท ในโลกปัจจุบันทรัพย์สินจำนวนนั้นไม่มากหากมองจากความจำเป็นที่จะต้องใช้ในการทำกิจการขนาดกลางๆ ส่วนทางด้านโลกตะวันตก มีข้อเสนอของนักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังเช่น เจฟฟรี แซคส์ ซึ่งคอลัมน์นี้อ้างถึงในฉบับประจำวันที่ 8 มิถุนายน 2508 แล้ว นอกจากนั้น ยังมีข้อเสนอล่าสุดที่ได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางในหนังสือชื่อ Capital in the Twenty-First Century ของ มัส พิเกตตี อีกด้วย

จริงอยู่ ชาวตะวันตกเริ่มเรียนรู้ถึงอันตรายของระบบตลาดเสรีที่มีการบริโภคแบบไม่สิ้นสุดเป็นตัวขับเคลื่อนแล้ว แต่ข้อเสนอของพวกเขายังไม่ครอบคลุมพื้นฐานด้านต่างๆ เท่าแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงซึ่งคอลัมน์นี้ประจำวันที่ 31 ตุลาคม 2551 - 30 มกราคม 2552 ได้เสนอไว้ว่าจะนำมาเป็นแนวปฏิบัติอย่างไรในระดับนโยบายของรัฐบาล (ข้อเสนอเหล่านั้นรวมอยู่ในหนังสือชื่อ “ทางข้ามเหว: แนวคิดสำหรับแก้วิกฤติไทย” ซึ่งอาจดาวน์โหลดฟรีจากเว็บไซต์ของมูลนิธินักอ่านบ้านนา www.bannareader.org) นี่เป็นแนวคิดที่จะเป็นฐานของการปฏิรูปที่เหมาะสมกับสังคมโลกมากที่สุด ฉะนั้น ทุกฝ่ายควรให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : เรื่องพื้นฐาน การปฏิรูป

view