สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

วิธีปฏิรูปเพื่อกำจัด ระบอบทักษิณ ในตลาดทุน (9) : ลดความเหลื่อมล้ำด้วยภาษีและหน่วยลงทุน

วิธีปฏิรูปเพื่อกำจัด "ระบอบทักษิณ" ในตลาดทุน (9) : ลดความเหลื่อมล้ำด้วยภาษีและหน่วยลงทุน

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




สองตอนที่ผ่านมาผู้เขียนพูดถึงหลักการ เหตุผล และวิธีการเก็บภาษีผลได้จากทุน(capital gains tax) จากกระดาน Big Lot ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไท

อันเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยปิดช่องเลี่ยงภาษีชนิด “น่าเกลียดแต่ทำกันจนกลายเป็นเรื่องปกติ” ของเศรษฐีน้อยใหญ่ในสังคมไทยมานานกว่าสองทศวรรษ

นอกจากจะช่วยปิดช่องเลี่ยงภาษีแล้ว การเริ่มเก็บภาษีผลได้จากทุนจะยังช่วยกระตุ้นให้ประเทศไทยออกเดินสู่การลดความเหลื่อมล้ำด้านทรัพย์สิน ซึ่งเป็นความเหลื่อมล้ำที่ถ่างกว้างกว่าความเหลื่อมล้ำด้านรายได้หลายเท่า และนับวันจะยิ่งถ่างกว้างขึ้นเรื่อยๆ ตราบใดที่รัฐยังไม่ใช้มาตรการภาษีกระจายรายได้จากที่ดินและหุ้น อันเป็นแหล่งสะสมทรัพย์สินสองแหล่งหลักในไทย

ผู้เขียนทิ้งท้ายไว้ว่า เหลือแต่รอรัฐบาลที่มีเจตจำนงการเมืองมากพอเท่านั้นที่จะมาขับเคลื่อนกลไกนี้ให้เห็นเป็นรูปธรรม เพราะเรามีข้อมูลหลักฐาน หลักการ และวิธีการต่างๆ พร้อมแล้ว

การเริ่มเก็บภาษีผลได้จากทุนอาจเป็นมาตรการลดความเหลื่อมล้ำด้านทรัพย์สินที่เป็นรูปธรรมที่สุด แต่ยังมีวิธีการและเครื่องมืออีกมากมายที่รัฐสามารถลดความเหลื่อมล้ำผ่านตลาดทุนได้ นำมาสู่ข้อเสนออีกสองข้อถัดไปของผู้เขียน - การขจัดนโยบายภาษีที่มีลักษณะถดถอย และการออกตราสารทางการเงินเพื่อผู้มีรายได้น้อย

ข้อเสนอ 12. ขจัดลักษณะถดถอย (regressive) ของนโยบายภาษีที่เกี่ยวกับตลาดทุน แก้ไขให้เป็นลักษณะก้าวหน้า (progressive) เพื่อให้สอดคล้องกับหลักการการเก็บภาษีในอัตราก้าวหน้า ซึ่งจำเป็นต่อการลดระดับความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ เช่น เปลี่ยนระบบการลดหย่อนภาษีกรณีกองทุน LTF และ RMF ตลอดจนขจัดสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่มอบให้กับบริษัทจดทะเบียน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำระหว่างบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ กับบริษัทที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์

การเก็บภาษีแบบก้าวหน้า (ยิ่งรวยยิ่งเสียภาษีในอัตราสูงกว่าคนที่จนกว่า) เป็นกลไกสำคัญในการลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ แต่ในไทยมาตรการทางภาษีหลายเรื่องกลับกลายเป็นว่าเพิ่มลักษณะถดถอย (ยิ่งรวยยิ่งเสียภาษีในอัตราต่ำกว่าคนที่จนกว่า) แทนที่จะเป็นลักษณะก้าวหน้า เท่ากับซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำแทนที่จะลด

น่าเศร้าที่มาตรการเก็บภาษีแบบถดถอยมักจะเกิดในตลาดทุน

ยกตัวอย่างเช่น ย้อนไปเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2551 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบตามข้อเสนอของกระทรวงการคลังให้ขยายวงเงินหักค่าลดหย่อนในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (Retirement Mutual Fund หรือย่อว่า RMF) และ กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (Long-Term Equity Fund หรือ LTF) เป็น 7 แสนบาทต่อปี จากเดิม 5 แสนบาทต่อปี เป็นการชั่วคราว โดยให้มีผลตั้งแต่ 1 ต.ค. - 31 ธ.ค. 2551 อย่างไรก็ตาม ยังคงกำหนดให้หักลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง โดยไม่เกิน 15% ของเงินได้พึงประเมิน

ผลลัพธ์คือมาตรการนี้ทำให้ระบบภาษียิ่งถดถอย ซ้ำเติมความถดถอยของมาตรการหักค่าลดหย่อนจาก LTF/RMF ซึ่งก็ถดถอยมากอยู่แล้ว กล่าวคือ ผู้มีรายได้สูงได้ประโยชน์เมื่อคิดเป็นสัดส่วนของรายได้มากกว่าผู้มีรายได้น้อย ดังตัวอย่างการคำนวณของผู้เขียนในตารางประกอบ

จากตารางจะเห็นว่า นาย จ ซึ่งเป็นผู้มีรายได้สูงที่สุดในกลุ่มจะประหยัดภาษีได้สูงที่สุดด้วย - 37% ของภาษีเมื่อเทียบกับนาย ข ซึ่งประหยัดได้เพียง 10% เท่านั้น

มาตรการนี้นอกจากจะเพิ่มความถดถอย ทำให้ความเหลื่อมล้ำถ่างกว้างกว่าเดิม ยังเป็นการช่วยผู้มีฐานะดีเพียงหยิบมือเดียวเมื่อเทียบกับประชากรทั้งประเทศ เนื่องจากดำรงเพดานการลดหย่อนไว้ที่ 15% ของรายได้พึงประเมินทั้งหมดหมายความว่า ผู้ที่จะสามารถหักค่าลดหย่อนได้เต็ม 700,000 บาท จะต้องมีรายได้ไม่ต่ำกว่าปีละ 700,000 / 15% = 4.67 ล้านบาทโดยประมาณ ซึ่งเป็นคนเพียงหลักหมื่นเท่านั้นในประเทศ (ข้อมูลจากงานวิจัยของธนาคารแห่งประเทศไทยพบว่า มีผู้เสียภาษีเพียงประมาณ 11,000 รายที่รายงานว่ามีเงินได้สุทธิต่อปีสูงกว่า 4 ล้านบาท ในปี 2549)

เมื่อมองดูไปรอบๆ พบว่า ในภูมิภาคนี้มีประเทศไทยประเทศเดียวเท่านั้นที่ให้สิทธิลดหย่อนทางภาษีสำหรับการลงทุนในตลาดทุน

ข้อเสนอ 13. ใช้ตลาดทุนเป็น “เครื่องมือ” เชิงรุก (proactive) ในการบรรเทาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ เช่น ออกหน่วยลงทุน (unit trust) ขนาดจิ๋วเพื่อผู้มีรายได้น้อย ดังตัวอย่างในหลายประเทศทั่วโลกที่ประสบความสำเร็จมาแล้ว รวมทั้งมาเลเซีย เพื่อนบ้านของเราเอง

ความเหลื่อมล้ำด้านทรัพย์สินสำคัญอย่างไร? คำตอบที่น่าคิดที่สุดอาจอยู่ในหนังสืออันลือลั่นเมื่อไม่นานมานี้ ชื่อ “Capital in the 21st Century” (ทุนในศตวรรษที่ 21) โดย ธอมัส พิกเก็ตตี้ นักเศรษฐศาสตร์ฝรั่งเศส

ในหนังสือซึ่งถูกยกย่องจากหลายสำนักให้เป็น “หนังสือเศรษฐศาสตร์แห่งทศวรรษ” พิกเก็ตตี้ใช้ข้อมูลสถิติตลอดระยะเวลาสองศตวรรษมาเสนอว่า โลกเราโดยรวมกำลังย้อนกลับไปสู่ยุค “ทุนนิยมมรดก” (patrimonial capitalism) ที่ชนชั้นทางเศรษฐกิจแข็งตัวมาก คนที่มีอำนาจครอบงำเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง จะเป็นบรรดาคุณหนูทั้งหลายที่ได้รับมรดกมาจากพ่อแม่มหาเศรษฐี ไม่ใช่เศรษฐีที่สร้างเนื้อสร้างตัวขึ้นมาเองอีกต่อไป

การเริ่มเก็บภาษีผลได้จากทุน ประกอบกับการปฏิรูปภาษีที่ดินและเริ่มเก็บภาษีมรดก จะเป็นการส่งสัญญาณที่ชัดเจนที่สุดว่า เราต้องการจะลดความเหลื่อมล้ำด้านทรัพย์สินลง

ในทางกลับกัน การไม่เริ่มเก็บภาษีดังกล่าวข้างต้น ก็เป็นเครื่องยืนยันที่ชัดเจนกว่าลมปากของนักการเมืองใดๆ ว่า สังคมไทยยังไม่สนใจที่จะจัดการกับความเหลื่อมล้ำอย่างจริงจัง


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : วิธีปฏิรูป ระบอบทักษิณ ตลาดทุน ลดความเหลื่อมล้ำ ภาษีและหน่วยลงทุน

view