สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ลูกหนังการเมือง

ลูกหนังการเมือง

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




วิเคราะห์ภาพทับซ้อนการเมืองผ่านบอลลูกกลมๆ ในนามมหกรรมกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติ ที่ซ่อนอยู่ในฟุตบอลลีกสูงสุดของประเทศไทย

หลังจากประมวลภาพฟุตบอลผ่านกรอบการเมือง จนออกมาเป็น ฟุตบอลไทย : การเมืองของเกมใต้ตีนใคร ไปเมื่อปีก่อน ล่าสุด ณัฐกร วิทิตานนท์ ผู้ช่วยคณบดีและอาจารย์สำนักวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ได้สังเคราะห์จนกลายเป็นบทความ การเมืองกับฟุตบอลไทย ที่รวมอยู่ในหนังสือเล่มเรื่อง ฟุตบอลไทย ประวัติศาสตร์ อำนาจ การเมือง และความเป็นชาย ซึ่งจัดพิมพ์โดย ศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน (Center for Gambling Studies) ที่จะมีงานเปิดตัวหนังสือขึ้นในวันที่ 23 พฤษภาคม 2557

เขาไม่ต่างจากผู้ชายทั่วไปที่มีเกมลูกหนังอยู่ในหัวใจตั้งแต่เด็ก ตั้งแต่ลงฟาดแข้งในสนามหญ้าเอง หรือจะเกาะหน้าจอเชียร์ทีมรัก จากความหลงใหลกลางเป็นความสงสัย ฟุตบอลที่ไม่ได้มีความหมายแค่เกมกีฬา

แต่สำหรับแว่นตาของรัฐศาสตร์ การจับสังเกตความเคลื่อนไหวในวงการฟุตบอลทำให้ "อาจารย์แบงค์" มองเห็นลูกบอลกลิ้งไป-มาอยู่บนกระดานการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่บอลโลกกำลังจะเปิดฉาก ในอีกไม่กี่วันข้างหน้า เพื่อให้คนดูบอลได้มองเห็นความหลากหลายบนสังเวียนลูกหนังระดับโลก และวงการฟุตบอลบ้านเรา

...นี่คือบทวิเคราะห์เกมของเขา

ตั้งแต่เมื่อไหร่ที่คุณหันมาสนใจฟุตบอลที่ไม่ใช่แค่เกมกีฬา

ถ้าเป็นฟุตบอลในความหมายนี้ ก็มาในช่วงที่ลีกฟุตบอลไทยเริ่มบูม ผมไม่เข้าใจว่าทำไมบอลไทยถึงมีนักการเมืองเข้ามาเป็นเจ้าของทีมเยอะ ซึ่งผมรู้สึกว่าในลีกที่พัฒนาไปไกล ความเป็นการเมืองในฟุตบอลจะมีน้อยมาก จะเป็นธุรกิจเต็มรูปแบบมากกว่า เราก็เลยรู้สึกว่าของไทยดูแปลกๆ มีอะไรที่ไม่เหมือนคนอื่นเขา ก็เลยเริ่มสนใจลงไปศึกษาเก็บข้อมูล อย่างน้อยก็ดูในเชิงตัวเลขว่ามันมากน้อยแค่ไหน ซึ่งที่พบมาก็จะเยอะมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในลีกระดับล่าง ส่วนใหญ่เจ้าของทีมแทบทั้งหมด ใช้คำนี้ได้เลยว่า เป็นฝ่ายที่เคยอยู่ในแวดวงการเมือง หรือเกี่ยวข้องกับการเมืองปัจจุบันอยู่เยอะ

เรื่องนี้แสดงนัยยะอะไรบ้าง

ผมคิดว่ามันแสดงนัยยะเรื่องทรัพยากร คือ ทรัพยากรส่วนใหญ่มันอยู่ที่รัฐ หมายถึงว่า พื้นฐานของทีมฟุตบอลมันคือสนามฟุตบอล ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญ รายได้ที่จะเลี้ยงตัวเองได้ก็คือ ค่าตั๋วที่จะหาเลี้ยงตัวเองได้ แม้กระทั่งทรัพยากรสำคัญในการที่จะสร้างรายได้ให้กับทีมก็ไม่มีที่เป็นของตัวเอง ซึ่งมันเป็นเรื่องใหญ่นะ เท่าที่ผมสำรวจมีเพียง 7 ทีมจากทีมฟุตบอลทั้งหมดในลีกที่มีสนามเป็นของตัวเอง

หมายความว่าที่เหลือสนามฟุตบอลต้องไปพึ่งกับรัฐโดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น อย่าง อบจ. ซึ่งเป็นเจ้าของสนามแทบทุกจังหวัด ก็จะมีอยู่บ้างที่เป็นข้อยกเว้นว่า ไม่ใช่ของ อบจ. ก็ทำให้ทีมฟุตบอลต้องพึ่งกับอำนาจการเมือง ดังนั้น คนที่ไม่มีอำนาจการเมืองแล้วเข้ามาทำทีมฟุตบอลก็ยากลำบากในการที่จะไปใช้ทรัพยากรของรัฐซึ่งจะทำให้ทีมอยู่รอด

มันเห็นได้ชัดเจนเมื่อเทียบกับลีกฟุตบอลอาชีพในต่างประเทศ ?

ถ้าต่างประเทศเราแยกมองนะครับว่า ถ้าเป็นลีกในยุโรปที่เขาพัฒนาแล้ว อย่างพรีเมียร์ลีกเท่าที่ผมดู ตั้งแต่ก่อตั้งมากว่า 20 ปี มีแค่ 3 คนเท่านั้นที่เป็นอดีตนักการเมือง หมายความว่า เขาจะมีเงื่อนไขที่จำกัดมากๆ คือ คนที่เป็นนักการเมืองอยู่ๆ จะเข้ามาไม่ได้ มันมีข้อกำหนดของเขาอยู่ คนแรกคือ โรมัน อิบราฮิโมวิช ประธานสโมสรฟุตบอลเชลซี ที่เคยเป็นผู้ว่าการรัฐชูโคตก้าในรัสเซียมาก่อน คนที่ 2 คือ ทักษิณ ชิณวัตร ซึ่งตอนหลังก็ขายทีมทิ้งไป และอีกคนหนึ่งก็คือ สตีฟ กิบสัน ของมิดเดิลสโบรซ์ เคยเล่นการเมืองแล้วตอนหลังก็เลิก ทำให้เห็นได้ชัดว่า น้อยมากที่เจ้าของทีมจะเป็นนักการเมือง ซึ่งมันผิดกับประเทศไทยที่มันเยอะมาก

หรือกรณีกัลโซ่ เซเรีย อา ของอิตาลีก็แทบไม่พบ มีครั้งเดียว... ไม่ใช่นักการเมือง แต่ใช้ฟุตบอลเพื่อเข้าไปสู่การเมือง ก็คือ ซิลวีโอ แบร์ลุสโกนี เจ้าของทีม เอซี. มิลาน ตอนนั้นเขาทำธุรกิจโทรทัศน์ก่อนที่จะซื้อทีมมิลานในช่วงที่ตกต่ำมาสร้างจนประสบความสำเร็จ หลังจากนั้นเขาจึงกระโดดเข้าสู่การเมือง และได้เป็นนายกรัฐมนตรีอิตาลีในเวลาต่อมา กรณีอย่างนี้ก็มีแค่เขาคนเดียว ซึ่งถือว่าน้อยมาก ถ้าเกิดขึ้นในยุโรปจะถือเป็นเรื่องแปลก แต่ในทวีปอื่นๆ มี แต่ก็ไม่ได้มีสัดส่วนที่มากนัก มีนักการเมืองจำนวนมากที่เข้าไปเป็นเจ้าของทีมฟุตบอล โดยเฉพาะในแอฟริกา และเอเชียที่เป็นตะวันออกกลาง ถ้าดูเป็นสัดส่วนเท่าที่ประเมินคงเทียบกับของไทยไม่ติด เพราะของไทยมีเยอะมาก

ประมาณได้ไหมว่าเท่าไหร่

ถ้าเทียบเป็นเปอร์เซ็นต์... ผมเก็บตัวเลขนะ แต่เก็บเฉพาะ 2 ลีกบน ก็คือ TPL (Thai Premier League หรือ ไทยพรีเมียร์ลีก) และ D1 (ดิวิชั่น 1) ข้อมูลหยาบๆ ก็ประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์

แล้วแนวโน้มในช่วงที่ผ่านมาเป็นอย่างไร ทรงตัว ?

ครับ... คือ ตัวเลขเนี่ย ไม่เปลี่ยน ถ้าไปดูในรายละเอียด คนที่เป็นประธานก็มักจะเป็น พอเป็นประธานทีมนี้ก็ค่อนข้างที่จะเป็นต่อเนื่อง นี่คือถ้าเราดูระดับผิวเผินนะ อย่างกลุ่มตัวอย่างที่ผมเก็บระดับภาคเหนือจะมีอยู่ 13 ทีมจาก 16 ทีม พูดง่ายๆ ลีกระดับบน มันเป็นธุรกกิจ ก็มีทีมที่เขาพึ่งตัวเองได้ เขาเลือกเดินบนเส้นทางธุรกิจโดยที่ไม่เกี่ยวกับการเมือง แต่ถ้าเป็นลีกระดับล่าง อย่างที่บอกว่ามันมีต้นทุนต้องใช้ และต้นทุนที่ว่าทรัพยากรไปอยู่ที่รัฐ ก็ทำให้คนที่เข้าถึงอำนาจรัฐดึงทรัพยากรตรงนี้มาใช้ได้มีความได้เปรียบถ้าเขาจะทำทีมฟุตบอล ซึ่ง 13 ใน 16 ทีมนี้เป็นทีมที่มีนักการเมืองทำอยู่

กรณีที่คุณบอกว่าต่างประเทศเป็นการวางมือทางการเมืองแล้วมาทำทีมฟุตบอล ซึ่งในไทยก็มีนักการเมืองบางคนเหมือนกันที่ภาพออกมาเป็นแบบนั้น ?

มันมีจุดเปลี่ยนที่สำคัญ ก็คือว่า ช่วงที่มีเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงทางการเมืองช่วงรัฐประหารปี 49 จะมีนักการเมืองจำนวนหนึ่งที่เขาโดนแบนโดยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนููญจากข้อมูลที่รวบรวมได้ในปัจจุบันมีกลุ่มนี้อยู่เกือบ 10 ทีมเป็นคนที่ผันตัวมาทำทีมฟุตบอล ซึ่งหลายคนก็วางแล้ววางเลย แต่ส่วนใหญ่วางเป็นแค่เว้นวรรคชั่วคราว แล้วก็กลับมาสู่การเมืองโดยระหว่างนั้นใช้ฟุตบอลเป็นเครื่องมือเรียกความนิยม ไม่ให้ตัวเองหายไปจากการรับรู้ของสาธารณะ ตรงนั้นก็อาจจะเป็นการหวังผลทางการเมืองลึกๆ ว่าจะกลับมา

แต่อย่างที่เรารู้กันว่าตลอดระยะเวลาของประวัติศาสตร์ลูกหนังในโลกนั้น มันผูกติดกับวาระซ่อนเร้นหลายๆ เรื่องเอาไว้มาตั้งแต่อดีตแล้ว... ?

ของไทยผมมองว่าเรามองแคบไป อย่างต่างประเทศเวลาพูดถึงเรื่องฟุตบอล อย่างล่าสุดที่เป็นประเด็นในข่าว บางประเทศเขาก็ถือว่าเป็นเรื่องการเมือง อย่างที่ แดเนียล อัลเวส ของบาซ่าถูกแฟนบอลเอากล้วยโยนลงมาในสนาม ซึ่งเป็นการล้อว่าเขาเหมือนลิง มันเป็นเการเหยียดชาติพันธุ์ ตรงนี้ ในต่างประเทศเขาก็ถือเป็นเรื่องการเมือง แต่เราอาจจะไม่ได้คิดเรื่องนี้ แต่เรามองแค่ ถ้ามีนักการเมืองเข้ามายุ่งเกี่ยวกับวงการฟุตบอล หรือเกี่ยวข้องกับทีม นั่นคือการเมือง แต่ต่างประเทศเขามองกว้างกว่านั้น อย่างกรณีโศกนาฏกรรมไฮบิวรี่ที่มีคนตายเยอะๆ เขาก็มองว่าเป็นปัญหาการเมืองที่ไม่เข้าไปจัดการความปลอดภัยในสนามได้ สุดท้ายหลังเหตุการณ์ครั้งนั้นก็นำไปสู่การจัดระเบียบโดยการ ไม่มีตั๋วยืน ก็สร้างเก้าอี้เป็นกฎกติกามานับตั้งแต่นั้น ก็ทำให้การเชียร์มันปลอดภัยขึ้น

หรืออย่างเรื่องสิทธิมนุษยชนที่กำลังจะเป็นประเด็นสำคัญที่เข้ามาในโลกกีฬา อย่างกรณีของบราซิล หลายคนก็ท้วงติงว่าบราซิลไม่ควรเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลโลกเพราะบราซิลมีปัญหาเรื่องการกดขี่แรงงาน จากกรณีที่มีการประท้วงกันของคนงานในการก่อสร้างสนาม เราก็จะเห็น ซึ่งหลายประเทศก็อยากให้สร้างตัวชี้วัด ประเทศไหนที่เป็นเจ้าภาพไม่เฉพาะฟุตบอลโลก แต่เป็นรายการแข่งขันใหญ่ๆ ต้องผ่านเกณฑ์มาตรฐานของการล่วงละเมิดสิทธิมนุษยชนด้วย เพราะเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่

ในช่วงที่ฟุตบอลโลกก็กำลังใกล้เข้ามาแบบนี้ มีภาพการเมืองที่ผูกติดกับฟุตบอลโลกที่เราไม่ควรมองข้ามไปมีเรื่องอะไรบ้าง

จากที่เก็บเล็กผสมน้อย ทั้งที่เป็นหนังสือวิชาการ และนิตยสารทั่วๆ ไป ก็พบว่า ฟุตบอลโลกกับการเมืองจะมีประเด็นหลักๆ อยู่ 3 ประเด็น ประเด็นแรกก็คือ เรื่องของการที่พยายามจะสร้างให้กีฬา หรือฟุตบอลเป็นเวทีจำลองของความขัดแย้ง หรือความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอะไรทำนองนั้น เช่น หากเป็นประเทศที่ดีกันเจอกันก็อาจจะมองว่ามีการซูเอี๋ยกันหรือเปล่า หรือ กรณีประเทศที่ไม่ถูกกันเจอกันก็อาจจะมีการบอยคอต หรือการแสดงออกที่มีการต่อต้านกันอยู่จากกองเชียร์หรือความรุนแรงที่มันเกิดขึ้นหลังเกม

พูดง่ายๆ มันไม่ใช่แค่เกมฟุตบอลในสนาม มันกำลังเอาเรื่องที่ทะเลาะกันจริงๆ มาเล่น อย่าง อาร์เจนตินากับอังกฤษ กรณีหมู่เกาะฟอล์กแลนด์ (Falklands War) หลังจากนั้นเมื่ออังกฤษมาเจอกับอาร์เจนติน่ามันก็ถูกบิวท์ และสร้างอารมณ์ร่วมว่า มันไม่ใช่แค่เรื่องฟุตบอลในสนาม แต่มันเป็นเรื่องสงคราม รวมถึงกรณีวันดีคืนดีจับฉลากมาเจอกันเอง อย่างเยอรมันตะวันออก กับเยอรมันตะวันตกที่แยกกันหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แล้วมาเจอกันเอง มันก็เป็นภาพสะท้อนด้วย

หรืออีกเรื่องหนึ่งก็คือ เอาฟุตบอลเป็นเรื่องหนึ่งที่ใช้จุดประเด็นทางสังคม ในโลกนี้อาจจะเห็นไม่เยอะ แต่เราเห็นการใช้ฟุตบอลเป็นเครื่องมือในระดับลีกอย่างสโมสรบาร์เซโลนา ในปีนี้ก็จะมีการลงประชามติเพื่อขอแยกแคว้นคาตาโลเนียออกมาเป็นประเทศ ซึ่งในอดีตที่ผ่านมาบาร์เซโลนา ฟุตบอลถูกให้เป็นภาพแทนการสู้เพื่อเอกราชมาตลอด ในสนามฟุตบอลจะมีนาทีที่ 17 และนาทีที่ 24 ของครึ่งแรก เขาจะกระโดดดีใจ และปรบมือพร้อมกันแล้วพูดพร้อมกันว่า "เอกราช" รวมถึงเสื้อฤดูกาลล่าสุด ทีมเยือน สีเหลือง-แดง ก็เอามาจากธงชาติแคว้นคาตาลัน

พูดง่ายๆ ก็คือ พวกเขาใช้ฟุตบอลเป็นเครื่องมือต่อสู้ทางการเมือง เป็นสัญญะ เพราะข้อจำกัดของรัฐธรรมนูญสเปนมันไม่สามารถจะแยกประเทศได้ แต่เขาก็ใช้กีฬาขยับเข้ามาทีละนิด จนสุดท้ายฝ่ายการเมืองก็คือพรรคที่อยากแยกมีเสียงข้างมากพอที่จะทำอะไรได้ แต่เรื่องนี้ก็ยังต้องว่ากันอีกยาว แต่เราก็เห็นการใช้ฟุตบอลเป็นเครื่องมือในการเรียกร้องทางสังคมอีกรูปแบบหนึ่ง

สุดท้าย ฟุตบอลถูกใช้เป็นเครื่องมือของฝ่ายการเมืองโดยตรง หลายครั้งนักการเมืองที่มีอำนาจในแต่ละประเทศใช้ฟุตบอล บางคนไม่ได้ชอบฟุตบอล ฮิตเลอร์ไม่ได้ชอบฟุตบอล หรือมุสโสลินี ไม่ได้ชอบฟุตบอล แต่จำเป็นต้องไปปรากฏตัวที่สนามบอล จำเป็นต้องทำให้เห็นว่าเราเอาจริงเอาจังกับฟุตบอลโลก เพื่อสร้างความนิยมเพราะรู้ว่าฟุตบอลคือกีฬามหาชน มันก็คล้ายๆ กับของไทยที่ว่า ทำไมนักการเมืองถึงเข้ามาทำทีมฟุตบอล เพราะรู้ว่าคนส่วนใหญ่ชอบฟุตบอล การทำฟุตบอลก็อาจมีผลต่อความนิยมของตัวเองด้วย

กรณีนี้ทำกันเยอะ ในแอฟริกาเราจะพบว่า นายกฯ เอย อะไรเลยเป็น... หรืออย่างซัดดัมก็ให้ลูกชายเข้ามาเป็นนายกสมาคมฟุตบอลของประเทศ แล้วก็มีสโมสรฟุตบอลในประเทศ แต่ปัจจุบันฟีฟ่า (FIFA : International Federation of Association Football หรือ สหพันธ์ฟุตบอลระหว่างประเทศ)เราได้ออกมาตรการไม่ให้การเมืองเข้ามาแทรกแซงสมาคมฟุตบอลของแต่ละประเทศ การเมืองก็จึงต้องเฟสออกไป

การเข้ามาของฟีฟ่าสามารถทำให้การเมืองถอยห่างจากกีฬาได้จริงหรือเปล่า เพราะอย่างที่เห็นกระทั่งบ้านเราเอง การเมืองก็ยังอยู่ใต้สตั๊ดอยู่ดี

มันไม่ใช่การเมืองแบบที่เราเห็นได้แล้ว มันจะไม่ใช่แบบที่วันดีคืนดีนักการเมืองมีอำนาจก็อยากเข้ามาฮุบทีมฟุตบอล ไม่ใช่แบบนั้น แต่จะมาในลักษณะที่แยบยล มองไม่เห็น เพราะถ้ามีฟีฟ่าเขาแบนเลยนะ มีหลายๆ ประเทศถูกแบนจากฟีฟ่าที 5 - 10 ปีไม่ให้ลงแข่งขันอะไรเลย ถ้าพบว่ามีการแทรกแซงทางการเมืองกับสมาคมฟุตบอลของประเทศนั้นๆ จริงๆ มันก็คงไม่หมดไป มันก็พัฒนารูปแบบที่มันไม่เหมือนที่เราเคยเห็นในอดีต แต่สิ่งที่น่าสนใจก็คือ บทบาทฟีฟ่าเป็นบทบาทที่ยิ่งใหญ่กว่าในอดีต แม้กระทั่งการเลือกนายกสมาคมฟุตบอลในไทย ฟีฟ่าจะเข้ามากำหนดว่าสัดส่วนควรจะเป็นอย่างไร ที่เป็นข้อถกเถียงกันอยู่ในช่วงหนึ่ง สุดท้ายก็ต้องทำตาม และฟีฟ่าก็เข้ามาสังเกตการณ์

แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ฟีฟ่าจะไม่มีโอกาสฮั้วกับขั้วการเมืองของประเทศนั้นๆ ?

แน่นอน เราจะเห็นได้จากกรณีของ... อย่างเช่น ตอนเลือกเจ้าภาพฟุตบอลโลกจะเห็นว่ามันค่อนข้างจะเป็นไปตามที่ฟีฟ่าอยากให้เป็น ฟีฟ่าเลือกแปลกมาก คือ ฟีฟ่าเลือกบราซิล รัสเซีย และการ์ตา รวดเดียวเลย ในขณะที่มหกรรมกีฬาอื่นๆ เขาก็จะดูกันเป็นครั้งต่อครั้ง ซึ่งหลายคนก็บอกว่า ฟีฟ่าเลือกการ์ตาเพราะมีวาระซ่อนเร้นอยู่ ทั้งๆ ที่มีประเทศอื่นๆ ในเอเชียต่างก็เสนอตัว แต่ก็ไม่เลือก เพราะฟีฟ่าล็อกผลเอาไว้แล้วหรือเปล่าอะไรอย่างนี้

บริบทของความเป็นฟุตบอลกับการเมือง หรืออะไรก็ตามที่มันออกไปแบบนี้ อย่างในบ้านเราจะส่งผลอย่างไร

กรณีของไทย มันไม่สะท้อน... แน่นอนว่า คนส่วนใหญ่ที่ไปดูกันเขาก็ชื่นชอบกีฬาฟุตบอล แต่บางครั้งการเอาการเมืองเข้ามายุ่งเกี่ยวกับฟุตบอลในบ้านเรามันซับซ้อนยิ่งในภาวะการเมืองแบ่งสี ความจริงควรเป็นกีฬาที่ไม่มีการเมืองในความหมายแคบ แต่พอนักการเมืองเข้ามามากๆ ... ล่าสุดเหมือนทาง TPL จะออกกฎในการหาเสียงของนักการเมืองห้ามเข้ามาหาเสียง หรือแสดงออกว่าชอบใครในสนาม เพราะมันก็ถือเป็นการกีดกันคนกลุ่มหนึ่งที่เขาอยู่ในจังหวัดนี้ และเขาก็ชอบฟุตบอล แต่เขาไม่ได้อยู่สีเดียวกับเจ้าของทีม ก็จะกลายเป็นการถูกกีดกันออกไปโดยปริยาย ซึ่งตรงนี้มันควรจะเป็นธุรกิจ และแฟนบอลเข้ามามีบทบาทในการบริหารให้มากขึ้น เพราะว่าหลายครั้งการตัดสินใจที่จะทำอะไรก็มักจะเป็นเรื่องของคนไม่กี่คน ก็คือเจ้าทีม เพราะเขาเป็นคนออกเงิน เขาก็ไม่แคร์แฟนบอลเท่าที่ควร

แต่ถ้ามันไปไกล ตัวอย่างที่น่าสนใจก็คือ บาร์เซโลนา สโมสรให้สมาชิกที่มีการเสียค่าธรรมเนียมรายปีมีบทบาทในการกำหนดทิศทางของสโมสร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการเลือกประธานสโมสร มันจะต่างจากที่อื่น ซึ่งเจ้าของทีมเป็นคนเลือกประธาน เขาทำให้เห็นถึงความเข้มแข็งของแฟนบอล และสนามบอลเขาก็ใหญ่ที่สุดในยุโรป ในแง่ของผลงานในสนามเขาก็แสดงให้เห็นว่าเขาไม่ได้เป็นรองใคร แต่แบบนี้ก็ไม่ใช่ว่าใครก็ใช้ได้ เพราะเทรนด์ส่วนใหญ่เป็นเรื่องขององค์กรธุรกิจมหาชน คือ เอาไปเข้าตลาดหลักทรัพย์ แล้วก็เป็นไปตามกระบวนการ เจ้าของทีมก็ถือหุ้นข้างมาก ซึ่งของไทยถ้ามันเป็นการเมืองมาก ก็จะทำให้เสน่ห์ของกีฬาที่ไม่มีเส้นแบ่งหายไป จะถูกโยงว่า ถ้าคุณเสื้อสีนี้ คุณต้องเชียร์ทีมนี้ ถ้าคุณไม่ใช่เสื้อสีนี้ในทางการเมืองคุณก็ไม่มีทีมนี้ให้เชียร์ มันชัดไปน่ะ มันไม่ควรจะมีเรื่องพวกนี้อยู่ ซึ่งเท่าที่สัมผัสมาจะเป็นแบบนั้น ถ้าเขาสีนี้จะเชียร์ทีมนี้ ถ้าเชียร์ทีมนี้จะเลือกพรรคนี้ ถึงไม่มีงานวิจัยรองรับ แต่เท่าที่สังเกตมามันเป็นแบบนี้

และอีกอย่างที่สำคัญก็คือ พอการเมืองเข้าไปในทีมฟุตบอลความสำเร็จที่แท้จริงของทีม เช่น ต้นทุนที่ทีมต้องจ่ายเพื่อดูว่าทีมมันอยู่รอดด้วยตัวเองไหม ถ้ามีอำนาจทางการเมืองมันก็สามารถไปลดค่าใช้จ่ายได้ เช่น เราไปใช้สนามของรัฐโดยไม่ต้องเสียค่าเช่า ใช้เส้น เราก็ไม่เสียค่าเช่า แล้วเราก็ไปขอ ตำรวจมาดูแลความปลอดภัย เพราะจะมีข้อกำหนดเอาไว้ว่า ถ้าแฟนบอลเท่าไหร่ต้องมีตำรวจเท่าไหร่ เราก็ไปขอโดยที่ไม่ต้องจ่ายเงิน มันก็ไม่สะท้อน... ต้นทุนมันก็ต่ำ เพราะเราสามารถไปกดต้นทุนได้ด้วยวิธีการที่มันเป็นความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์แบบนี้ อันนี้มันก็เป็นปัญหาที่สุดท้ายก็ทำให้บอกไม่ได้ว่าสุดท้ายทุนคุณอยู่ได้ด้วยแฟนบอล หรือพลังทางการเมืองที่คุณมีอยู่

แต่ถึงอย่างนั้น ในอนาคตมันจะเป็นธุรกิจมากขึ้น เพราะเราเห็นหลายทีมที่เขาไม่ต้องพึ่งการเมืองเลย แต่เขาอยู่ได้ ทีมใหญ่ๆ เขาอยู่ได้ หรือกระทั่งทีมที่เป็นของการเมืองเองก็สลายภาพการเมืองได้ และเป็นทีมที่มีคนนิยมทั่วประเทศ ไม่ได้จำกัดแค่จังหวัดของตัวเอง แต่มันก็มีกรณีที่น่าสนใจนะ ผมเคยคุยกับนักฟุตบอล แม้กระทั่งการตัดสินใจย้ายทีม บางคนก็คิดเรื่องอำนาจทางการเมืองนะ หมายความว่า เขาไม่ได้ย้ายตามเงินเดือนที่จะได้ ถ้าเป็นต่างประเทศเขาจะดูว่า ครอบครัวมีความสุขไหมถ้าไป อะไรอย่างนี้ แต่เมืองไทยมีเรื่องปัจจัยการเมือง... ดูว่าขั้วที่เราจะไปอยู่ การเมืองมันเป็นสีเสื้อที่ชอบไหม หรือแม้กระทั่งเมื่อเข้ามาอยู่ทีมนี้แล้ว ทางนี้เขาจะช่วย... ถ้าพ่อรับราชการอยู่ หรือภรรยาสามารถย้ายตามมาอยู่ที่นี่ได้ไหม หรือจะได้โปรโมทขึ้นตำแหน่งสูงขึ้นได้ไหม มันไม่ใช่แค่ตัวเงินไง

นี่คือสิ่งที่ผมคิดว่า ลีกอาชีพไทยต่างจากลีกฟุตบอลยุโรป แต่คงมีจำนวนไม่เยอะนะ แต่หลายคนที่เคยคุยเขาคิดเรื่องนี้ประกอบการตัดสินใจด้วย ดังนั้นเรื่องนี้มันก็ต้องทำให้สโมสรฟุตบอลเป็นธุรกิจมากขึ้น แล้วก็ปล่อยให้กลไกธุรกิจจัดการไป เหมือนอย่างที่หลายทีมในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไป ยังมีอีกหลายเรื่องนะครับที่อยากให้มีคนเอาไปศึกษาเชิงลึกต่อ เช่น ปัจจัยในการตัดสินใจย้ายทีมของนักฟุตบอลว่า นักฟุตบอลที่เป็นคนไทย เพราะฝรั่งคงไม่ได้คิดเรื่องนี้ ว่าคนไทยเขาคิดเรื่องอะไรบ้าง ก็อาจจะเจอข้อมูลที่เราไม่คาดคิดมาก่อนก็ได้ ซึ่งจะไม่เหมือนกับประเทศที่ให้เงินมากก็ไป แต่มีเรื่องอื่นที่แฝงอยู่ และอีกกรณีที่น่าสนใจมากก็คือ เวลาเขาไปเชียร์บอล กับตัดสินใจเลือกตั้งนั้นเชื่อมโยงกันไหม หมายความว่า กองเชียร์ทีมนี้ มีคนนี้เป็นเจ้าของ พอคนนี้ส่งญาติพี่น้อง หรือเครือข่ายลงการเมืองเขาจะไปเลือกคนนี้ไหม เท่าที่ฟังมากแต่อาจจะบอกไม่ได้เต็มปาก เพราะมันเป็นจุดเล็กๆ มันมีผลสอดคล้องกันอยู่

ถ้ามันเป็นอย่างนั้นจริง ก็คงยากที่การเมืองจะถอยออก เพราะเขาใช้เครื่องมือตัวนี้แล้วมันได้ผล และข้อจำกัดของ กกต. ตอนหลังก็ทำให้มีข้อจำกัดในการหาเสียงมากขึ้น วิธีการรณรงค์หาเสียงในระยะยาวโดยผ่านทีมฟุตบอลอาจจะคุ้มค่ากว่าที่เขาจะไปเสี่ยงกับใบเหลือง-ใบแดงก็ได้

เรื่องนี้มีมุมบวกไหม

เราจะเห็นภาพคนใส่เสื้อทีม รวมทั้งการติดสติ๊กเกอร์สัญลักษณ์ทีม นัยยะนี้ผมคิดว่าเป็นเชิงบวก เพราะว่ามันสะท้อนถึงความภูมิใจในท้องถิ่น และกำลังเกิดขึ้นกับหลายๆ ทีม ซึ่งเมื่อก่อนทีมเกือบทั้งหมดที่แข่งในลีกไทยจะอยู่ในกรุงเทพฯ แต่พอแข่งไปหลายๆ ปี ตอนนี้ทีมกรุงเทพฯ จะเป็นส่วนน้อย ทีมส่วนใหญ่เป็นทีมที่อยู่หัวเมืองต่างจังหวัด แล้วเราก็จะเห็นบรรยากาศชีวิต นันทนาการในช่วงสุดสัปดาห์ของเขา รวมตัวกันนั่งรถกระบะพาครอบครัวไปเชียร์บอล แทนที่เสาร์-อาทิตย์จะไปแต่ห้างสรรพสินค้า แล้วเราก็จะเห็นว่าเขามีความภูมิใจในทีมของท้องถิ่นเขา

ถ้าอย่างนั้น วัฒนธรรมแฟนบอลของเราในวันนี้พัฒนาไปถึงไหนแล้ว

มีหลายแบบนะ ทั้งกองเชียร์ประเภทฮาร์ดคอร์ ที่เน้นเชียร์มากกว่าดูเกม แต่แฟนบอลส่วนใหญ่ก็คงให้ความสำคัญกับเกมมากกว่า คือไม่ได้ตั้งหน้าตั้งตาจะเชียร์อย่างเดียว ซึ่งถ้ากองเชียร์กลุ่มนี้เราจะเห็น เมืองทองยูไนเต็ด เขาไปไกลมาก บางทีเขามีรูปแบบการเชียร์เหมือนยุโรปเลย คือ หันหลังดู เพื่อจะบอกว่า สุดยอด โดยที่เกมก็ไม่ต้องดูแล้ว เชียร์ทีมโดยไม่ต้องสนใจ ตั้งหน้าตั้งตาเชียร์เลย แฟนบอลกลุ่มนี้ถึงจะน้อย แต่ก็แข็งขัน รวมตัวกันเวลาไปแข่ง เป็นทีมเยือนก็เหมารถบัสกันไปดู ส่วนเพลงก็คงได้แบบมาจากพรีเมียร์ลีกเยอะ

อีกไม่กี่วันข้างหน้าก็จะถึงเวลาของบอลโลกแล้ว เรามองบอลโลกแล้วย้อนมองบอลไทยเป็นอย่างไร

มันจะทำให้ความสนใจเรื่องการเมือง หรือเรื่องอะไรต่างๆ จะถูกเปลี่ยน เท่าที่ผมดูมาหลายครั้งจะเห็นได้ชัดเลยว่ามีผลกับคนทั่วไป ไม่ใช่แค่คอบอล เมื่อก่อนจะคุยบอลพรีเมียร์ลีกก็อย่าคุยกับคนที่ไม่ดูบอลอังกฤษ แต่พอเป็นฟุตบอลโลกจะเป็น นักเรียน นักศึกษา เจ้าหน้าที่ ผู้ชาย ผู้หญิง ก็จะคุยด้วยกันได้ อารมณ์ร่วมของสังคมจะมีมากกว่า

อีกแง่หนึ่งก็คือ การตื่นตัวเรื่องของการพัฒนาในทางสื่อ เราจะเห็นเลยว่า ถ้ามีฟุตบอลโลก อีกสักพัก อาจจะช่วงเบรกรอบแรก หรือจบแล้ว ก็จะมีข่าวการทวงหนี้ การฆ่าตัวตายหนีหนี้ ก็จะเจอเยอะ ตรงนี้ก็เป็นความกังวลของหลายฝ่ายว่า เออ มันจะมีผลไหมกับฟุตบอลโลกคราวนี้ เรื่องการพนัน แต่ผมมองว่า รอบนี้จะลำบากกับการดูของเรานิดนึง เพราะบอลจะเริ่มเตะดึก ไปจนเช้า เมื่อก่อนเราจะสามารถดูได้อย่างน้อย 2 คู่ แล้วค่อยนอน แต่คราวนี้คงยาก เพราะคู่แรกกว่าจะเริ่มก็ 5 ทุ่ม เต็มที่ประมาณตี 1 เลิก แล้วค่อยต่อไปทีละคู่ๆ จนถึง 7 โมงเช้า ดังนั้น โอกาสที่คนจะดูได้ครบ หรือโฆษณาที่จะเข้าก็จะเป็นไปได้ยาก

คุณเชียร์ทีมไหน

ฮอลแลนด์ครับ (ยิ้ม) ผมไม่รู้ว่าคนอื่นเป็นไหม แต่เวลาเราเลือกเชียร์สักทีมเราต้องเลือกเชียร์ทีมที่เก่ง เชียร์แล้วก็จะไม่ค่อยแพ้ ตอนนั้นผมดูช่วง 3 ทหารเสือ รุด กุลลิท แฟรงค์ ไรจ์การ์ด มาร์โก้ แวนบาสเท่น มิลานช่วงนั้นพอดี แล้วก็ไปไกลสุดแค่รองแชมป์โลกเมื่อครั้งก่อน (ยิ้ม)

แล้วถ้าถามถึงแชมป์ฟุตบอลโลกปีนี้ล่ะ ?

อเมริกาใต้แน่นอน ถ้ามาเตะอเมริกาใต้ ทีมจากอเมริกาใต้จะเป็นแชมป์ จากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาจะไม่มีทีมยุโรปที่มาได้แชมป์ที่นี่ ซึ่งทั้งโลกก็มีอยู่แค่ 2 กลุ่มที่จะเป็นแชมป์โลก แล้วอเมริกาใต้ก็มี 2 ทีม ไม่บราซิล ก็อาร์เจนตินา สำหรับผม (ยิ้ม)


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ลูกหนังการเมือง

view