สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

The Leader The Teacher & You (1)

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ Education Ideas โดย ศีลชัย เกียรติภาพันธ์

ต่อจากคราวที่แล้ว ผมพูดถึงการเยียวยาวิกฤตครูเพื่อก้าวสู่การวิวัฒน์การศึกษาไทย จากเรื่องแรกคือ "strategic action plan" สู่เรื่องที่สอง การขับเคลื่อนและวิวัฒน์ระบบที่ผมเรียกว่า "strategic vision plan" วิสัยทัศน์ หรือ vision เป็นสิ่งที่สำคัญในเชิงนโยบาย หากลองเปรียบเทียบนโยบายด้านการศึกษาของไทยกับสิงคโปร์ เราเห็นความแตกต่างในหลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องการมีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจน มองเห็นอนาคตและความต่อเนื่องของการดำเนินนโยบายแบบที่สิงคโปร์ทิ้งเราไปไม่เห็นฝุ่น

คนสิงคโปร์เฝ้ามองอนาคตอย่างระแวดระวัง มีวิสัยทัศน์ที่ยาวไกล พวกเขาวิจัยศึกษาอย่างลึกซึ้งเพื่อหาแนวทางที่ท่วงทันไม่ใช่เพียงเพื่อปัจจุบัน แต่คาดการณ์และวางนโยบายเพื่ออนาคต ลงทุนอย่างจริงจังและคำนึงถึงประสิทธิภาพสูงสุดของการใช้งบประมาณเพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และเยาวชนของชาติมาโดยตลอด สิ่งที่เห็นและเป็นอยู่ในทุกวันนี้ของสิงคโปร์ ไม่ว่าจะเป็นผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรู้ของนักเรียนสิงคโปร์ที่ติดอันดับท็อปเสมอในทุกสนามทดสอบนานาชาติ ระบบการศึกษาที่มีคุณภาพระดับต้น ๆ ของโลก แรงงานที่มีทักษะความสามารถระดับสูงซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งหมดทั้งมวลเป็นผลลัพธ์ต่อเนื่องจากการดำเนินนโยบายที่มีวิสัยทัศน์ทางการศึกษา

Siong Guan LIM ผู้เขียนหนังสือ The Leader The Teacher & You กล่าวถึงการพัฒนาระบบการศึกษาของสิงคโปร์นับตั้งแต่เริ่มปกครองตนเอง โดยแบ่งเป็น 3 ยุค คือ

1) ยุคดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด (1959-1978) มุ่งเน้นการสร้างโรงเรียนเพื่อเด็กทุกคนได้รับการศึกษาอย่างน้อยในระดับประถมศึกษา

2) ยุคขับเคลื่อนเพื่อประสิทธิภาพ (1979-1996) เน้นการพัฒนาประสิทธิภาพในการจัดการศึกษาโดยรวมศูนย์การผลิตสื่อการสอนให้มีคุณภาพสูงที่สุด เพื่อช่วยครูที่มีประสบการณ์การสอนน้อยให้สามารถจัดการเรียนการสอนที่มีคุณภาพได้ดี และคัดกรองระดับความสามารถทางการศึกษาของนักเรียนเพื่อจัดกลุ่มให้มีระดับใกล้เคียง ทำให้ครูสามารถสอนได้สะดวกและยังคงคุณภาพแม้ว่าชั้นเรียนจะมีขนาดใหญ่ขึ้น

3) ยุคขับเคลื่อนความสามารถ
(1997) เริ่มต้นตั้งแต่หลังปี 1997 เน้นการพัฒนาเยาวชนให้สามารถพัฒนาศักยภาพสูงสุดตามความสามารถของพวกเขา ทั้งในเชิงวิชาการและเรื่องอื่น ๆ ภายใต้แนวคิด "Thinking School, Learning Nation"

ถ้าสังเกตให้ดีในแต่ละยุคมีช่วงเวลาประมาณ 17-19 ปี การก้าวผ่านแต่ละยุคสมัยทำให้ผู้บริหารประเทศและสังคมสิงคโปร์สะสมความรู้และประสบการณ์มองจากอดีต เท่าทันข้อมูลปัจจุบันของโลก และวางแผนสำหรับอนาคต พวกเขามองอย่างเป็นระบบเชื่อมโยงกันทุกองค์ประกอบ ภายใต้วิสัยทัศน์ที่ชัดเจนและพลังขับเคลื่อนของสังคม

ภาพเหล่านี้ทำให้เห็นตัวอย่างที่ชัดเจนของสิ่งที่เรียกว่า "strategic vision plan" และการวิวัฒน์ระบบการศึกษาของสิงคโปร์ หากโมเดลการพัฒนาการศึกษาของสิงคโปร์ที่เริ่มตั้งแต่ปี 1959 เมื่อสังคมสิงคโปร์มีขนาดเท่ากับครึ่งหนึ่งของกรุงเทพฯ ใน

ยุคสมัยเดียวกัน เขาใช้ช่วงเวลาในการพัฒนาแต่ละยุค ผ่านมา 3 ยุค รวมเวลากว่า 50 ปี ด้วยวิสัยทัศน์และนโยบายที่ต่อเนื่องจึงมีผลสำเร็จอย่างที่เห็นในปัจจุบัน

ในขณะที่ไทยมีความผันผวนทางการเมืองเปลี่ยนแปลงผู้นำในระดับนโยบายซึ่งมาพร้อมกับนโยบายใหม่ทางการศึกษาเสมอ นับตั้งแต่ พ.ศ. 2435-ปัจจุบัน ระยะเวลาดำรงตำแหน่งของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเฉลี่ย 2.1 ปีต่อคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการที่เปลี่ยนแปลงบ่อยมากที่สุดภายในรัฐบาลเดียวกัน ตั้งแต่ปี 2538 เป็นต้นมามีการดำรงตำแหน่งเฉลี่ย 0.95 ปีต่อคนเท่านั้น (ข้อมูลจาก http://thaipublica.org)

จากงานวิจัยความก้าวหน้าและความล้มเหลวของระบบการศึกษาไทย ของ ดร.สุธรรม วาณิชเสนี และคณะ แสดงให้เห็นองค์ประกอบทางการศึกษาที่ทุกส่วนล้มเหลวเชิงระบบ ดังนั้น ความไม่ต่อเนื่องในเชิงนโยบายก็มีความสัมพันธ์ที่นำสู่ความล้มเหลวขององค์ประกอบอื่น ๆ และทำให้วงรอบของการพัฒนาไม่สามารถก้าวไปข้างหน้าได้

นอกจากนี้ประเด็นที่เราควรเรียนรู้เพิ่มเติม ได้แก่ 1) ระบบการศึกษาไทยมีองค์ประกอบที่ซับซ้อนมากกว่า ขนาดที่ใหญ่กว่า และหากจะวิวัฒน์ก็คงใช้เวลาไม่น้อยไปกว่าโมเดลของสิงคโปร์ คือ ต้องใช้เวลา ต้องต่อเนื่องจริงจัง มีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนและไม่ถูกแทรกแซงจากนโยบายทางการเมือง

2) เราสามารถไต่ระดับการเรียนรู้ให้รวดเร็วได้จากการเรียนรู้โมเดลของสิงคโปร์ โมเดลการพัฒนาการศึกษาของชาติอื่น ๆ อย่างไรก็ตาม ตราบใดที่เราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงกระบวนการเรียนรู้ของเยาวชนในชาติให้มีกระบวนการที่ถูกต้อง เหมาะสมกับสภาพสังคมโลกที่แปรเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว เราจะสูญเสียความสามารถของเด็กในเจเนอเรชั่นนั้นไปทันที นี่คือความรุนแรงของวิกฤตที่เราต้องตระหนักให้มากที่สุด

จากสิ่งที่ผมเรียนรู้ สู่คำถามที่ผมขอทิ้งท้ายไว้ให้สังคมไทยร่วมกันขบคิด สังคมไทยของเรามีสิ่งที่เรียกว่า "strategic vision plan" สำหรับการศึกษาบ้างหรือไม่ เราจะวิวัฒน์ระบบการศึกษาของเราได้อย่างไรจากประสบการณ์ที่ได้จากการเรียนรู้ของคนอื่น...นี่คือวาระเร่งด่วน ถึงเวลาแล้วที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันอย่างจริงจังวิวัฒน์ระบบการศึกษาไทย เพราะเครื่องหมายของความสำเร็จในวันนี้ คือ เราต้องสามารถสร้างเจเนอเรชั่นใหม่ของสังคมไทยที่ประสบความสำเร็จมากกว่ารุ่นเราให้ได้ มิเช่นนั้นประเทศไทยจะมีความหวังใดได้อีก...ใช่ไหมครับ


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : The Leader The Teacher You

view