สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

กรณีศึกษาว่าด้วย ตู้โทรศัพท์สาธารณะ

จากประชาชาติธุรกิจ

โดย ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์ pairat@matichon.co.th

ประมาณ 2-3 ปีมาแล้วที่ผู้บริหารของหลายๆ เมืองใหญ่ระดับมหานครทั่วโลก ปวดหัวกับปัญหาว่าด้วย "ตู้โทรศัพท์สาธารณะ" ที่ก่อนหน้านี้ไม่กี่ปีถูกเรียกร้องให้ติดตั้งไปทั่วเมือง แต่ตอนนี้กลายเป็น "ส่วนเกิน" ทั้งของชุมชนและของตัวเมืองไปแล้ว

โลกในยุคที่โทรศัพท์มือถือมีมากกว่าจำนวนประชากรในหลายๆ ประเทศ ไม่เพียงประชาชนทั่วไปไม่ต้องการใช้ตู้โทรศัพท์หยอดเหรียญที่ว่านั้นอีกต่อไปแล้ว ผู้ให้บริการทั้งหลายที่เคยประมูลติดตั้งตู้ในสนนราคาแพงๆ ก็เมินไม่อยากได้มันอีกต่อไป

ปัญหาก็คือ จะทำอย่างไรกับตู้โทรศัพท์สาธารณะที่ไม่มีใครอยากได้นั่น?

นิวยอร์กก็มีปัญหานี้เช่นเดียวกับมหานครลอนดอน ผมเชื่อว่ากรุงเทพฯเราก็มีปัญหานี้เหมือนกัน

ในลอนดอนเขาเปิดให้ประชาชนสามารถ "ประมูล" ตู้โทรศัพท์แต่ละแห่งไปเปลี่ยนแปลงเพื่อใช้ประโยชน์ตามใจชอบได้ เช่น กลายเป็นแผงสำหรับแลกเปลี่ยนหนังสือ หรือติดตั้งงานศิลปะ เป็นต้น



ส่วนที่นิวยอร์กก็มีกระบวนการจัดการกับปัญหานี้ที่น่าสนใจมาตั้งแต่เมื่อปี 2013 เริ่มด้วยกระบวนการ "สอบถาม" ความคิดเห็นของผู้คนในชุมชนแต่ละแห่งว่ามีความคิดว่าจะทำอย่างไรกับตู้โทรศัพท์สาธารณะริมถนน ที่สร้างเอาไว้อย่างดีเหล่านั้น แล้วก็จัดประกวดหาแนวความคิดใหม่ๆ ที่จะจัดการกับตู้โทรศัพท์สาธารณะ เปิดโอกาสให้เสนอทั้งการออกแบบและการใช้งานมันเสียใหม่ทั้งหมด โดยไม่จำเป็นต้องยึดโยงกับโทรศัพท์อีกต่อไป

ผลก็คือ มีผู้เสนอแนวความคิดบริหารจัดการตู้ที่ว่านี้เข้ามามากกว่า 125 แนวความคิด หลายๆ อย่างถูกตัดทิ้งไป

แต่หลายๆ แนวความคิดถูกนำมาใช้จริงในทางปฏิบัติ

เริ่มต้นจากการเปลี่ยนตู้โทรศัพท์สาธารณะให้กลายเป็น "ฟรี ไวไฟ ฮอตสปอต" ครับ

อีกไม่นานตู้โทรศัพท์สาธารณะจำนวน 7,300 จุด ใน 5 เขตชุมชนที่พักอาศัยในนิวยอร์ก จะกลายเป็นเครือข่ายไวไฟขนาดใหญ่ที่ครอบคลุมไปทั่วทั้งพื้นที่ ให้บริการประชาชนแบบฟรีๆ ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย นอกเหนือจากการใช้โทรศัพท์ประจำตู้สำหรับโทร.ขอความช่วยเหลือฉุกเฉิน (911) และเรียกใช้บริการของทางการมหานครนิวยอร์ก (311) แล้ว

แต่นั่นเป็นเพียงแค่จุดเริ่ม แทนที่จะรื้อทิ้งให้เสียงบประมาณการรื้อไปเปล่าๆ ปลี้ๆ ทางการนครนิวยอร์ก เตรียมเพิ่มบริการใหม่ๆ เข้าไปในตู้โทรศัพท์สาธารณะเหล่านี้นอกเหนือจากการทำหน้าที่เป็นไวไฟ ฮอตสปอต

แล้วอาทิ การทำให้กลายเป็นฮับสำหรับการชาร์จโทรศัพท์มือถือ ติดตั้งจอทัชสกรีน ใช้สำหรับให้ข้อมูลเกี่ยวกับตัวเมือง เรื่อยไปจนถึงการประกาศข่าวสารและประกาศฉุกเฉินต่างๆ ที่ชัดเจนอีกอย่างก็คือ ทั้งหมดนี้ต้องไม่ใช้พลังงานอื่นใด นอกเหนือจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ได้จากแต่ละบูธเองเท่านั้น

จุดเด่นที่น่าสนใจของแนวคิดดังกล่าวเหล่านี้ก็คือ ทางการนิวยอร์กมีเป้าหมายจะทำให้มันกลายเป็น "แหล่งทำเงิน" ขึ้นมาอีกครั้งหนึ่งนอกเหนือจากการกลับมามีประโยชน์ต่อสาธารณชนอีกครั้งหนึ่งแล้ว

ในเมื่อมันมีประโยชน์ ก็มีผู้เข้ามาใช้งาน เมื่อมีคนมาใช้งาน ก็สามารถกลายเป็นจุดที่ทำอะไรได้อีกหลายๆ อย่าง ตั้งแต่การโฆษณาหาผู้ที่เหมาะสมกับตำแหน่งงาน จุดติดตั้งป้ายโฆษณาอิเล็กทรอนิกส์ ไปจนถึงการกลายเป็นจุดสำหรับทำธุรกิจขนาดย่อม สร้างทั้งงานให้กับคนในชุมชนแล้วก็กลายเป็นแหล่งรายได้ของทางการนิวยอร์กไปในที่สุด

ประเมินกันไว้ว่าจำเพาะป้ายโฆษณาดิจิตอล จะทำเงินให้กับมหานครนิวยอร์กได้ถึงปีละ 17.5 ล้านดอลลาร์ต่อปี มากพอที่จะครอบคลุมการลงทุนเพื่อ "เปลี่ยนโฉม" ตู้โทรศัพท์เหล่านี้ทั้งหมด โดยไม่จำเป็นต้องเสียเงินภาษีของประชาชนแม้แต่สตางค์แดงเดียว

แล้วก็ไม่แน่ว่า อาจจะมีผู้ประมูลโครงการแต่ละโครงการไปทำ โดยที่ทางมหานครนิวยอร์ก ไม่จำเป็นต้องเปลืองแรงอีกต่างหาก

บิลเดอ บลาซิโอ นายกเทศมนตรีนครนิวยอร์ก บอกว่า เราเคยมีปัญหาว่าจะทำอย่างไรกับตู้โทรศัพท์เหล่านี้ แต่ตอนนี้เราไม่เพียงทำให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากมันอีกครั้งเท่านั้น ยังทำให้มันกลายเป็นแหล่งรายได้ของตัวเมืองโดยไม่ต้องเปลืองเงินภาษีอีกต่างหากเติมความคิดลงไปอีกนิด ก็สามารถเปลี่ยนของเก่าไร้ประโยชน์ให้กลายเป็นของใหม่ทรงคุณค่าได้อย่างยอดเยี่ยมทีเดียว




ที่มา : นสพ.มติชน


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : กรณีศึกษา ว่าด้วย ตู้โทรศัพท์สาธารณะ

view