สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

นายกคนกลาง-ตามวิถีทางรัฐธรรมนูญ

นายกคนกลาง-ตามวิถีทางรัฐธรรมนูญ

จาก โพสต์ทูเดย์
โดย-อภิชาติ ดำดี สมาชิกวุฒิสภา จ.กระบี่

การได้มาซึ่งนายกคนกลางเพื่อแก้วิกฤติชาติ อย่างเร่งด่วน ที่วุฒิสภาพยายาม หาทางออกกับทุกภาคส่วนในสังคมไทยขณะนี้ ไม่ใช่ “นายกนอกรัฐธรรมนูญ” “นายกเถื่อน” “นายกม.7” แต่เป็นนายกที่จะได้มาตามกระบวนการที่เป็นไป ตามวิถีทางรัฐธรรมนูญ ดังนี้

1.รัฐธรรมนูญ ม.182 (7) : ความเป็นรัฐมนตรีของนายกยิ่งลักษณ์สิ้นสุดลง ตั้งแต่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าได้กระทำการอันต้องห้าม  ตาม ม.266, 268

2.รัฐธรรมนูญ ม.180 วรรคสอง : เมื่อความเป็นรัฐมนตรีของนายกยิ่งลักษณ์ สิ้นสุดลง ต้องดำเนินการให้มีการแต่งตั้งนายกโดยสภาผู้แทนราษฎร ตามม.172, 173 โดยอนุโลม

(หมายเหตุ : นับตั้งแต่ปี 2476 มีการแต่งตั้งนายกใหม่ต่อเนื่องหลังจากนายกลาออก 8 ครั้ง คณะรัฐมนตรีลาออก 1 ครั้ง และความเป็นรัฐมนตรีของนายกสิ้นสุดลง 2 ครั้ง คือ กรณีนายกสมัครและนายกสมชาย และครั้งที่สามคือ กรณีนายกยิ่งลักษณ์)

•ประเทศไทยไม่มีนายกและครม.ที่มี อำนาจเต็มในการบริหารราชการแผ่นดิน และอยู่ในสถานการณ์ไม่ปกติ คือต้องแต่งตั้งนายกในขณะที่ไม่มีสภาผู้แทนราษฎร

3.รัฐธรรมนูญ ม.132 : เมื่อสภาผู้แทนราษฎรถูกยุบ (1)วุฒิสภาทำหน้าที่รัฐสภาในเรื่องสำคัญ ของประเทศเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ (ม.19, 21,22, 23) และการประกาศสงคราม (ม.189)

(2)วุฒิสภาทำหน้าที่พิจารณาให้บุคคล ดำรงตำแหน่งใดตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ

•การใช้กฎหมายโดยการเทียบเคียง  (Analogy) จากมาตรา 132 (1) ได้ว่า ในขณะที่ไม่มีสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภาทำหน้าที่รัฐสภาในเรื่องสำคัญยิ่งของประเทศได้ และมาตรา 132

(2)ให้อำนาจวุฒิสภาในการพิจารณาให้บุคคลดำรงตำแหน่งตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญได้

4.รัฐธรรมนูญ ม.7 : อุดช่องว่างในรัฐธรรมนูญไว้ว่า เมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญบังคับใช้แก่กรณีใด ให้วินิจฉัยกรณี
นั้นไปตามประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

(หมายเหตุ : จากประวัติศาสตร์การเมืองไทย เคยมีการแต่งตั้งนายกตามประเพณีการปกครองเกิดขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาบ้านเมืองในยามวิกฤติ 2 กรณี คือ -กรณีปี 2516 นายกถนอมลาออก นายทวี แรงขำ รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติใน ขณะนั้นเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งให้อาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์เป็นนายก

-กรณีปี 2535 นายกสุจินดา ลาออก ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งทำหน้าที่ประธานรัฐสภาในขณะนั้นเป็นผู้รับ สนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งให้นายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกฯ ออการตัดสินใจของ ดร.อาทิตย์ ในครั้งนั้น ได้รับความชื่นชมจากสังคมไทยและยกย่องให้เป็น “วีรบุรุษประชาธิปไตย”)

จากที่กล่าวมาข้างต้น “นายกคนกลาง ตามวิถีทางรัฐธรรมนูญ” จึงมีความชอบในทางนิติศาสตร์ทั้งหลักกฎหมาย, การใช้กฎหมายโดยการเทียบเคียง และประเพณีการปกครอง

แต่ปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่งที่วุฒิสภาและทุกภาคส่วนต้องช่วยกันตอบโจทย์คือความชอบในทางรัฐศาสตร์ เพื่อให้นายกคนกลางและครม.ชุดใหม่เป็นที่ยอมรับมากที่สุด แม้จะไม่ทั้งหมดก็ตาม โดยมีแรงเสียดทานในระดับที่บริหารจัดการได้

ทั้งนี้ เพื่อนำพาประเทศไทยฝ่าวิกฤติ แก้ปัญหาเศรษฐกิจเฉพาะหน้า และดำเนินการปฏิรูปการเมืองอย่างเร่งด่วน โดยมีกรอบเวลาที่ชัดเจนในการนำพาบ้านเมืองไปสู่การเลือกตั้งที่สุจริตยุติธรรม ทุกฝ่ายยอมรับได้ เพื่อการปฏิรูปประเทศไทยไปสู่สังคมธรรมาภิบาลที่มีความสันติสุขอย่างยั่งยืนสถาพรต่อไป


มือกม.พท.งัดรธน.นายกฯคนกลางเกิดไม่ได้

มือกฎหมาย พท.งัดรธน.ยัน นายกฯ คนกลางเกิดไม่ได้ ขู่ดึงดันอาจก้าวล่วงสถาบัน

นายพิชิฏ ชื่นบาน คณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย ได้โพสข้อความลงในเฟซบุ๊กส่วนตัวผ่านบทความว่า บันทึกที่เห็นต่าง “รัฐบาลกลาง” ทางออกให้ประเทศวุฒิสภาทำไม่ได้ในกรอบรัฐธรรมนูญว่า การดำเนินการของนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ว่าที่ประธานวุฒิสภา กับกลุ่มส.ว.จำนวนหนึ่ง เพื่อให้มีรัฐบาลกลางหรือนายกรัฐมนตรีคนกลาง เป็นการทำให้บรรลุเป้าหมายของกลุ่มบุคคลใดบุคคลหนึ่งเท่านั้น เช่น กลุ่มกปปส. บรรดาสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ มิใช่ประชาชนทั้งประเทศ การพิจารณาผู้ซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 172 และ 173 เป็นหน้าที่โดยตรงของสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้อำนาจของนายกรัฐมนตรียึดโยงกับประชาชน มิได้ให้อำนาจวุฒิสภาดำเนินการ

ดังนั้นวุฒิสภาไม่อาจจัดการประชุมวุฒิสภาในระหว่างที่อายุของสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงหรือถูกยุบเพื่อพิจารณาผู้ซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีได้ อีกทั้งยังไม่รวมถึงบทบัญญัติที่ให้อำนาจแก่ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี นายสุรชัยขณะนี้ยังเป็นแค่เพียงรองประธานวุฒิสภาเท่านั้นหรือแม้แต่เป็นประธานวุฒิสภาเองก็ตามรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้บัญญัติให้อำนาจไว้

นายพิชิต ระบุด้วยว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 9/2557 ได้วินิจฉัยไว้ชัดแจ้งแล้วว่า รัฐมนตรีใดที่ไม่ขาดคุณสมบัติและมีคุณสมบัติต้องห้าม ต้องปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมีคณะรัฐมนตรีใหม่ แสดงว่าปัจจุบันยังคงมีคณะรัฐมนตรีทำหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ การตั้งรัฐบาลกลาง ขึ้นซ้อนหรือซ้ำกับรัฐบาลที่ยังมีอยู่ จึงไม่อาจทำได้ อีกทั้งการตั้งรัฐบาลกลางในขณะที่ยังมีรัฐบาลที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 171 อยู่ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 181 จะถือว่าผู้กระทำการละเมิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 8 หรือไม่ สุดท้ายของบันทึกนี้ ยืนยันเหตุและผลตามหลักกฎหมาย และมั่นใจว่าไม่บิดเบือนหรือสร้างเงื่อนปมให้กับวิถีการปกครองแบบรัฐสภาของประเทศนี้อย่างเด็ดขาด แต่บันทึกฉบับนี้อาจจะเป็นโซ่ตรวนกับบุคคลบางกลุ่มเท่านั้น แต่มิใช่ประเทศที่ตนหวัง เกิด และตาย ในประเทศนี้อย่างแน่นอน


นักวิชาการย้ำนายกฯต้องมาจากการเลือกตั้ง

นักวิชาการลั่นนายกฯต้องมาจากการเลือกตั้ง ต้องไม่มีรัฐประหาร

คณะกรรมการจัดงาน 22 ปี พฤษภาประชาชน ร่วมกับมูลนิธิพฤษภาประชาธรรม และคณะกรรมการญาติวีชนพฤษภา 35 จัดเสวนา"บทเรียนประชาธิปไตยในต่างประเทศ ทางออกจากความขัดแย้งและความรุนแรงทางการเมือง"ในโอกาส 22 ปี เหตุการณ์พฤษภา 35 โดยมีนายสมชาย หอมลออ ประธานองค์กร Amnesty International Thailand และ นายวิทิต มันตาภรณ์ ศาสตราภิชานประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้เสวนา

โดยนายสมชาย กล่าวว่า ความขัดแย้งมีหลายรูปแบบ เช่น ความขัดแย้งทางกระบวนการ ซึ่งจะทำให้เรียนรู้เและไปสู่การเติบโต โดยความขัดแย้งไม่ได้เกิดขึ้นในช่วงเวลาสั้น ๆ แต่จะเกิดขึ้นเป็นช่วงเวลาที่ยาวนาน ซึ่งประเทศไทยปัจจุบันก็ยาวนานมาพอสมควรแล้ว อย่างไรก็ตามเรื่องความขัดแย้งของต่างประเทศมีหลายกรณี อย่างกรณีประเทศอินโดนีเซีย ที่มีกระบวนการฝ่ายซ้าย พรรคคอมมิวนิสต์ ที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่ไม่ได้อำนาจรัฐ และทางการได้ฆ่ากระบวนการฝ่ายซ้ายถึง 6 แสนคน โดยในแม่น้ำมีแต่ศพ และเลือดเต็มไปหมด และใครที่เป็นลูกหลานของคอมมิวนิสต์จะห้ามทำอะไรบางอย่าง เช่น ห้ามทำธุรกิจบางอย่าง ห้ามเรียนบางวิชา และในที่สุดรัฐบาลก็ล้มไปเพราะเศรษฐกิจไม่ดีจริงตามที่เปิดเผยและนำไปสู่การเลือกตั้ง และอีกกรณีความขัดแย้งในเหตุการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่กัมพูชา โดยเรื่องนี้จบลงได้โดยสหประชาชาติเข้าไปดูแลช่วยเหลือ และให้มีประชาธิปไตย ซึ่งการแก้ปัญหาดังกล่าวทำให้แก้ปัญหาการเมืองไปได้ในระดับหนึ่ง

ทั้งนี้ การที่จะก้าวพ้นความขัดแย้งได้ 1.ใช้กระบวนการประชาธิปไตย นอกจากจะทำให้ก้าวผ่านความขัดแย้งและรุนแรงไปได้ยังเป็นการป้องกันความขัดแย้งในอนาคตด้วย 2.นานาชาติต้องเข้ามาช่วย ต้องมีการพูดคุยกัน เป็นเรื่องของคนในฝ่ายต่าง ๆ และต้องสรุปบทเรียนด้วยกัน“มองดาวคนละดวงก็มาลอมชอมกันไม่ได้” และ 3.ต้องใช้เวลา ไม่ใช่เรื่องง่าย และไม่เร็ว

"ผมได้ยินหลายฝ่ายพูดเรื่องปฏิรูปแต่ยังไม่ได้ยินว่าจะปฏิรูปอย่างไร และผมคิดว่ายุคนี้เป็นยุคที่นักกฏหมายตกต่ำที่สุด เพราะแต่ละฝ่ายพยายามเอาเรื่องกฏหมายมาเข้าข้างตัวเอง"นายสมชาย กล่าว

ขณะที่นายวิทิต กล่าวว่า บทเรียนที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยเราต้อง 1.ไม่ขอให้มีรัฐประหาร 2.ขอรัฐบาลพลเรือนที่เคารพสิทธิเลือกตั้งของทุกคน มีสิทธิเท่าเทียมกัน ไม่แบ่งฐานะ และการศึกษา 3.นายกฯต้องมาจากการเลือกตั้ง 4.กฏหมาย การมีส่วนร่วมกับประชาชน 5.ระบบการเลือกตั้งต้องนุ่มนวล 6.เรื่องสิทธิเป็นเรื่องสำคัญ ต้องได้รับการเคารพและผูกมัดเต็มที่ 7.การที่มีกลไกล องค์กรอิสระ ต้องอยู่ในกลไกและอำนาจ เพราะเป็นส่วนสำคัญ 8.เรื่องความรับผิดชอบ ทั้งนี้ บทเรียนทางออกสำหรับประเทศไทยให้ฝากคิด 1.ไม่เอารัฐประหาร 2.ขอให้แต่ละพรรคมาเล่นด้วยกัน สู่กันอย่างสร้างสรรค์คือเลือกตั้ง 3.นายกฯต้องมาจากการเลือกตั้ง 4.ดีที่ไม่ผ่านนิรโทษกรรมตนเอง การผ่านต้องนุ่มนวล การนิรโทษต้องเล็ก ๆ ไม่ใช่เรื่องใหญ่ ๆ 5.ข้าวต้องพูนขึ้น คนกินต้องมีมากขึ้น เช่น การกระจายอำนาจ 6.คานดุลอำนาจ 7.เรื่องปากเสียงประชาชนเป็นเรื่องที่สำคัญ เคารพกันและกัน และ 8.ต้องพูดถึงนโยบายคุณธรรม


คำนูณ'แจงเหตุวุฒิไม่เดินหน้าหานายกฯม.7

"คำนูณ" โพสต์เฟซบุ๊คแจงเหตุที่วุฒิสภา ไม่เดินหน้าหานายกฯเฉพาะกิจ เพราะเงื่อนไขเดินหน้าไม่สมบูรณ์ รอเวลา รบ.รักษาการยินยอมลาออก

นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา ในฐานคณะทำงานของวุฒิสภา เพื่อแก้ปัญหาวิกฤตของชาติ โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊คส่วนตัว เพื่อชี้แจงต่อกรณีคำแถลงการณ์ของวุฒิสภา เรื่อง การแก้ไขปัญหาวิกฤตของชาติเมื่อวันที่ 16 พ.ค ที่ผ่านมา โดยมีสาระสำคัญตอนหนึ่ระบุว่า โครงสร้างของระบอบการเมืองและรัฐธรรมนูญ ยึดถือการเลือกตั้ง การมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง และสภาผู้แทนราษฎรเป็นหลัก แต่ขณะนี้ประเทศไทยไม่มีสภาผู้แทนราษฎร ส่วนการเลือกตั้งไม่ทราบได้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใด ดังนั้นสถานการณ์ที่เลวร้ายนั้น เป็นเหตุผลที่วุฒิสภาต้องเปิดประชุมนอกรอบเพื่อหาทางแก้ไข โดยจากการับฟังความเห็นและข้อเสนอแนะจากทุกฝ่าย มีหนึ่งข้อเสนอคือให้วุฒิสภาฐานะผู้แทนปวงชนชาวไทยและเป็นองค์กรฝ่ายนิติบัญญัติองค์กรเดียวที่เหลืออยู่ ดำเนินการเพื่อให้มาซึ่งนายกฯ โดยเร็วโดยอาศัย มาตรา 7 ประกอบ มาตรา 3 มาตรา 122 รวมถึงมาตราอื่นๆ ภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญ โดยไม่ใช่การขอพระราชทานนายกฯ ที่อยู่นอกกรอบรัฐธรรมนูญ

นายคำนูณ ระบุต่อว่าสถานการณ์ปัจจุบันที่มีลักษณะพิเศษ ทำให้กระทบต่อน้ำหนักในการกระทำหน้าที่ของวุฒิสภาดังกล่าว ทั้งนี้มีประเด็นที่ต้องใคร่ครวญคือ จุดจบของเรื่องดักล่าวที่ต้องอยู่ที่สถาบันพระมหากษัตริย์ เพราะแนวทางที่วุฒิสภาจะดำเนินการแม้ไม่ใช่การขอพระราชทานนายกฯ แต่ในสถานการณ์ที่มีความขัดแย้งระหว่างประชาชน 2 ขั้วใหญ่ และการคงอยู่ของรัฐบาลตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 181 ทำให้กลายเป็นเงื่อนไขที่การดำเนินการของวุฒิสภามีความไม่สมบูรณ์

"คำถามสำคัญคือหากวุฒิสภาจะทำ แล้วจะทำได้ทันทีหรือไม่ โดยมี 2 คำตอบให้เลือก คือ 1.ทำโดยทันที ด้วยเหตุผลที่ไม่อาจปล่อยให้บ้านเมืองเสียหายไปมากกว่านี้ และ 2.ทำเมื่อเงื่อนไขในสถานการณ์สมบูรณ์ คือ รัฐบาลรักษาการลาออกโดยความยินยอม การเลือกตั้งทั่วไปไม่สามารถทำได้โดยสมบูรรณ์ เพราะมีองค์กรที่น่าเชื่อถือ หรือมีอำนาจชี้ขาดตามรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ารองนายกรัฐมนตรีผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรีไม่มีอำนาจเป็นผู้รักษาการตามพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2556 หรือรัฐบาลกับกกต.ไม่สามารถตกลงเนื้อหาของร่างพระราชกฤษฎีกาแก้ไขเพิ่มเติมฯกันได้ ดังนั้นการตัดสินใจของวุฒิสภาหลังจากนี้ไม่ใช่เรื่องของความกล้าหาญ หรือความขลาดเขลา ไม่ใช่เรื่องของความรับผิดชอบ หรือไม่รับผิดชอบ หากเป็นเรื่องของการตัดสินใจชั่งน้ำหนักความเสียหายของบ้านเมือง เมื่อได้ไตร่ตรอง และปรึกษาหารือรอบด้านแล้ว เห็นว่าคำตอบใดเป็นสิ่งจำเป็นที่สุดที่ต้องกระทำเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน ก็ต้องเลือกคำตอบนั้น และต้องเดินหน้าไป โดยอาศัยความสุจริตเป็นที่ตั้ง" นายคำนูณ ระบุ

ส.ว.สรรหา ระบุทิ้งท้ายด้วยว่า “หลังการตัดสินใจของวุฒิสภาเมื่อวานนี้ วุฒิสภายังคงเดินหน้าทำงานต่อไป เมื่อเงื่อนไขสถานการณ์สมบูรณ์หรือมีปัจจัยแปรเปลี่ยนมีเงื่อนไขสถานการณ์ใหม่เกิดขึ้น วุฒิสภาต้องตัดสินใจอีกครั้ง


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : นายกคนกลาง วิถีทางรัฐธรรมนูญ

view