สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

คูปองแลกกล่องทีวีดาวเทียม(1): ยิ่งคิดยาว-ยิ่งเห็นหายนะชัด

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

คิดใหม่ วันอาทิตย์

อดิศักดิ์ ลิมปรุงพัฒนกิจ


ผมยอมรับว่าเมื่อได้รับคำอธิบายด้วย"ลายมือ"ของพ.อ.ดร.นที ศุกลรัตน์ ประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์(กสท.)

ความยาว 8 หน้ากระดาษ ในช่วงการหารือนอกรอบอีกครั้ง เพื่อทำความเข้าใจแนวคิดคูปองส่วนลด แลกซื้อกล่องรับสัญญาณทีวีดิจิทัลได้ทุกรูปแบบ

สมาชิกส่วนใหญ่ของชมรมผู้ประกอบการโทรทัศน์ดิจิทัล"ใจอ่อน"คล้อยตามไปแล้ว แทบจะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าต้องยอมแพ้ในความวิริยะอุตสาหะของ"อาจารย์น้ำ" ที่ใช้เวลาเขียนลายมืออธิบายว่าทำไมคิดว่าจะต้องเปิดให้"คูปองส่วนลด" สามารถแลกกล่องรับสัญญาณทั้งภาคพื้นดิน,ดาวเทียมและเคเบิลได้

แต่เมื่อกลับมาคิดแบบยาวๆแล้ว กลับยิ่งไม่เห็นด้วยอย่างมากกับการเปิดกว้างให้คูปองส่วนลดไปแลกซื้อกล่องรับสัญญาณดาวเทียมหรือที่มีชื่อย่อๆว่ากล่องแบบ DVB-S2 ( Digital Video Broacasting- Second Generation Sattellite)และกล่องรับสัญญาณระบบเคเบิล DVB-C ( Digital Video Broadcasting- Cable ) ที่ทั้งสองแบบสามารถรับช่องโทรทัศน์ที่มีคุณภาพความคมชัดสูงหรือ HD ได้

ทางเลือกที่ดีที่สุดทั้งระยะสั้นและระยะยาว ควรจะให้คูปองแลกซื้อได้เฉพาะกล่องรับสัญญาณทีวีดิจิทัลภาคพื้นดินเรียกว่า DVB-T2 (Digital Video Broadcasting - Second Generation Terrestrial) ที่สามารถรับสัญญาณความคมชัดสูงแบบ HD ได้อยู่แล้วและที่สำคัญจะลดความล่าช้า,ปัญหาข้อกฎหมายในการแจกคูปองส่วนลดที่กสท.บอกว่าน่าจะไปถึงเดือนส.ค.จากเดิมเคยกำหนดไว้ประมาณ มิ.ย.

ดร.นทีเขียนไว้บนหัวกระดาษว่า Press- Coupon(น่าจะหมายถึงให้เผยแพร่ได้) อธิบายเป็นข้อๆได้อย่างน่าสนใจ

1) ทำไมคูปอง สรุปใจความสำคัญ ศึกษาบทเรียนจากหลายประเทศ, การไม่แทรกแซงกลไกตลาดและอำนาจการเลือกเป็นของประชาชน

ประเทศที่มีการแจกคูปองคือสหรัฐอเมริกา,อังกฤษและญี่ปุ่น ประเทศที่แจกอุปกรณ์กล่องไปเลยคืออินโดนีเซียและอาฟริกาใต้ สรุปบทเรียนได้ว่าควรจะหลีกเลี่ยงกระบวนการจัดซื้อ,การจัดจ้าง,การรับประกัน,การซ่อมและการติดตั้ง โดยมีคอนเซปต์ว่าควรจะแจกเงินสดที่เรียกว่า"คูปองส่วนลด"ที่มีการกำหนดเงื่อนไขการใช้งานให้สอดคล้องกับการสนับสนุนให้เกิดDTT(ทีวีดิจิทัลภาคพื้นดิน)

การกำหนดเงื่อนไข เช่น กว้างที่สุด,ง่าย,เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน,ตรงกับความต้องการของประชาชนมากที่สุด,ส่งผลให้มีการใช้งานคูปอง( Convert Rate ) และเปิดทางเลือกไม่บังคับ

2)การกำหนดเงื่อนไขการใช้คูปอง เช่น คูปองเงินสด(ส่วนลด),ให้ใช้กับสิ่งที่เกิดขึ้นกับการเปลี่ยนผ่านครั้งนี้และสอดคล้องกับแนวทางปกติของการใช้คูปอง

TV DVB-T2( ทีวีที่มีจูนเนอร์ในตัว), DVB-T2 STB(กล่องรับสัญญาณ)+ Active Indoor/Outdoor Antena (เสาอากาศในอาคารหรือเสาอากาศนอกอาคาร), DVB-S2 STB และ DVB-C MPEG4 ที่เพิ่มช่องเคเบิลเป็นแบบดิจิทัล

3) ทำไมกำหนดให้สามารถเลือก DVB-S2 / DVB-C ด้วย ปัจจุบันประชาชนมากกว่า 60% รับบริการโทรทัศน์ผ่านระบบดาวเทียมและเคเบิล แต่ระบบดาวเทียมปัจจุบันเป็น DVB-S1 ไม่รองรับ HD จานสายอากาศติดตั้งแล้ว การบังคับให้ประชาชนต้องใช้คูปองโดยเปลี่ยนเป็นระบบภาคพื้นดิน DVB-T2 อาจทำให้คูปองจำนวนมากไม่ Convert ช่อง HD ดูเป็น SD และกสทช.กำหนดให้ประชาชนรับสัญญาณระบบ DTT ผ่านระบบดาวเทียมและเคเบิลด้วยตามกฎ Must Carry เพราะฉะนั้นกำหนดให้สามารถเปลี่ยนเป็น DVB-S2 หรือ DVB-C ได้เพราะ.....

3.1) ไม่เปลี่ยนแปลงวิธีการและนิสัยของผู้บริโภค ไม่ว่าจะเลือกรับบริการโทรทัศน์ด้วยช่องทางใดก็สามารถใช้ประโยชน์จากคูปองได้

3.2) เป็นคูปองส่วนลด ประชาชนสามารถเลือกใช้ตามที่ตนเองต้องการ รวมถึงกรณีที่เลือกที่จะรับบริการผ่านดาวเทียมหรือเคเบิลก็จะได้รับบริการที่ดีขึ้น โดยการแลกอุปกรณ์ที่รองรับคุณภาพช่อง HD

3.3) บริการโดยทั่วถึงเพราะโครงข่ายภาคพื้นดิน ไม่สามารถจะขยายให้ครอบคลุม 100%, เป็นการลงทุนเกินความจำเป็น, ทุกประเทศใช้ระบบดาวเทียมเพื่อให้เกิดบริการทั่วถึงและใช้ช่องทางการสนับสนุนคูปองเพื่อให้เกิดบบริการโดยทั่วถึง

3.4)การสนับสนุนคูปองในครั้งนี้ไม่ควรทำลายธุรกิจเดิม เพื่อนำไปสู่การให้บริการแบบบอกรับสมาชิกที่มุ่งขายคอนเทนท์, กล่องรับสัญญาณแบบ S1 และเคเบิลแบบอนาล็อกที่รับได้เฉพาะช่อง SD ได้รับอานิสงค์ในกระบวนการเปลี่ยนผ่าน โดยได้รับการ move to Digital HD

กรณีที่ไม่สนับสนุน CAB/SAT จะทำให้ลูกค้าจำนวนหนึ่งเปลี่ยนมารับ DVB-T2 จากกระบวนการ,การพัฒนากิจการโทรทัศน์จะสำเร็จได้ด้วยการทำให้เกิดการขายคอนเทนท์ที่มีรายได้โดยตรง,เกิดการพัฒนาคอนเทนท์ห้ตอบสนองต่อความต้องการเฉพาะ เช่น DISC,HIS etc. และสื่อหลักพยายามตอบสนอง MASS

ขออนุญาตยังไม่เขียนถึงอีกหลายข้อที่ดร.นทีเขียนอธิบายด้วยลายมือ เช่น ความปลอดภัยทางการสื่อสารของประเทศ,ความมั่นใจว่าการขยายโครงข่ายภาคพื้นดินจะไม่ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบดิจิทัล,การกำหนดเงื่อนไขกรณี CAB/SAT , วิธีการแจกคูปอง,คุณภาพของอุปกรณ์ที่สามารถนำมาร่วมโครงการ, ทำไมราคา 1,000/1,200 บาท ขอยกยอดไปสัปดาห์หน้าแต่จะขอแสดงความเห็นใน 3 ข้อแรกของดร.นทีก่อน

การอ้างถึงบทเรียนในต่างประเทศเรื่องการไม่แทรกแซงกลไกตลาด,การให้อำนาจการเลือกเป็นของประชาชน น่าจะทำให้เกิดความเข้าใจผิดเบี่ยงเบนไปเสียมากกว่า เพราะเท่าที่ตรวจสอบไม่มีประเทศใดในโลกที่เปลี่ยนผ่านจากระบบอนาล็อกภาคพื้นดิน ด้วยการแจกคูปองให้เลือกได้ทั้งกล่องภาคพื้นดิน,ดาวเทียมและเคเบิลที่ยิ่งทำให้กระบวนการแลกซื้อยุ่งยากมากยิ่งขึ้นและจะนำไปสู่ปัญหาอื่นๆในระยะยาวได้

ดร.นทีพยายามอ้าง"ผู้บริโภค"เป็นตัวตั้งให้มีทางเลือก,ให้มีอำนาจตัดสินใจเพื่อให้สมเหตุสมผลในการแลกกล่องทุกรูปแบบ แต่ผลทางอ้อมที่จะเกิดขึ้นอย่างชัดเจนคือการลดโอกาสเกิดขึ้นของ"โทรทัศน์ชุมชน"ในอนาคต แม้ดร.นทีจะบอกว่าโทรทัศน์แบบจูนเนอร์ในตัวที่รับทีวีชุมชนได้จะขยายตัวเร็ว แต่จะเป็นการสร้างภาระทางการเงินให้ผู้บริโภคที่ต้องการดูทีวีชุมชนจะต้องซื้อโทรทัศน์ใหม่

การเพิ่มโอกาสให้กล่องรับสัญญาณทีวีดิจิทัลจากดาวเทียมขยายตัวจะยิ่งทำให้กล่องรับสัญญาณภาคพื้นดินมีผู้บริโภคไปแลกน้อยลงเท่านั้น กล่องรับสัญญาณจากระบบดาวเทียมจะไม่สามารถรับช่องโทรทัศน์ชุมชนภาคพื้นดินได้ที่ส่งสัญญาณภาคพื้นดิน

คำถามง่ายๆที่กสท.ยังตอบไม่ได้เลย กสท.ยังไม่มีความสามารถในการกำกับและดูแลโทรทัศน์ดาวเทียมที่ออกใบอนุญาตไปแล้วไม่น้อยกว่า 300-400 ใบอนุญาตที่จำนวนมากมีเนื้อหาไม่เหมาะสมและการหารายได้จากการโฆษณายา-วัตถุมงคลได้อย่างเสรีมากๆ หากแจกคูปองส่วนลดเพื่อแลกซื้อกล่องรับสัญญาณจากดาวเทียมได้จะยิ่งทำให้โทรทัศน์ดาวเทียมที่ไม่มีคุณภาพเกิดขึ้นได้ง่ายและเร็วกว่าเดิม บริษัทผลิตกล่องรับดาวเทียมที่ลงทุนน้อยกว่าการผลิตคอนเทนท์จะเฟื่องฟูทำตลาดได้ง่ายขึ้นมาก

ในขณะที่สัดส่วนของผู้บริโภคที่ดูโทรทัศน์ดิจิทัลภาคพื้นดินที่รับได้จำกัด 48 ช่องกับดูจากจานดาวเทียมที่รับได้มากกว่า 300 ช่อง แทบจะไม่มีทางจะเป็นไปอย่างที่ดร.นทีพยายามโน้มน้าวให้เห็นว่าสัดส่วนที่เหมาะสมคือ 50/50 แต่การรับชมโทรทัศน์จากภาคพื้นดินน่าจะลดลงจาก 30-35%เหลือแค่ 20%และผู้บริโภคหันไปรับชมจากดาวเทียมเพิ่มจาก 60 %เป็น 80%ที่จะทำให้ช่องทีวีดาวเทียมแม้จะกำหนดเงื่อนไขให้เป็น Pay TV แต่ยังสามารถโฆษณาได้ 5-6 นาทีต่อชั่วโมงจะทำให้ท่ีวีดิจิทัลช่องใหม่ไม่สามารถขึ้นราคาได้เลย ในขณะที่ฟรีทีวีอนาล็อกเดิมก็ยืนราคาสูงได้เช่นเดิม

ผู้ประกอบการโทรทัศน์ดิจิทัล 17 บริษัทที่ยอมประมูลสู้ราคาด้วยเงินรวมกันกว่า 50,000 ล้านบาทจะไม่มีทางแข่งขันในทางธุรกิจกับโทรทัศน์ดาวเทียมที่ไม่ได้ลงทุนประมูล แม้จะได้ประโยชน์จากกฎ Must Carry ก็ตาม

แม้ว่าดร.นทีพยายามจะบอกว่าโฆษณาได้แค่ 5-6 นาทีต่อชั่วโมงจะไม่มีทางแข่งขันกับทีวีดิจิทัลได้ แต่ดร.นทีที่ไม่เคยอยู่ในภาคธุรกิจคงไม่ทราบว่าปัจจุบันราคาขายโฆษณาช่องทีวีดิจิทัลยังไม่ได้สูงกว่าอัตราเดิมของทีวีดาวเทียม สภาพการณ์คงเป็นไปอย่างนี้อีกไม่น้อยกว่า 2-3 ปีเพราะโครงข่ายยังไม่ครอบคลุมทั่วประเทศและคูปองแบกกล่องก็ล่าช้ามากๆ ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลจะขาดทุนล้มหายตายจากไปก่อนเสียมากกว่า

เพราะสัญญาณดาวเทียมครอบคลุมพื้นที่แล้ว 100 % แต่โครงข่ายดิจิทัลทีวีภาคพื้นดินจะครอบคลุม 98% ในปีที่ 4 บริษัทขายกล่องระบบสัญญาณดาวเทียม ย่อมจะเชียร์ให้ผู้บริโภคเอาคูปองมาแลกซื้อกล่องดาวเทียมมากกว่ากล่องภาคพื้นดินที่บริษัทเหล่านี้ขายขาดไม่ได้ประโยชน์อีก แต่กล่องรับทีวีจากดาวเทียมจะมีประโยชน์ในระยะยาวในการหารายได้จากหลายๆทาง เสมือนเป็นการลงทุนสร้างแพลทฟอร์มโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิกที่ไม่ต้องใช้เงินลงทุนเองเลย

ลองสอบถามผู้บริหารของกลุ่มทรูวิชั่นส์กับกลุ่มแกรมมี่ดูก็ได้ว่าบทเรียนในอดีตเป็นอย่างไร ทั้งสองบริษัทยอมทุ่มเงินลงทุนในการสร้าง"แพลทฟอร์ม"โทรทัศน์บอกรับสมาชิกที่ส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าหรือผลิตกล่องแบบเข้ารหัสเพื่อใช้ในการป้องกันการลักลอบดูและมองระยะยาวถึงธุรกิจอื่นๆ เช่น Pay TV, E-Commerce ฯลฯ

ในอดีตกฎหมายไม่ให้โทรทัศน์บอกรับสมาชิกมีรายได้จากโฆษณา ส่งผลให้กลุ่มทรูวิชั่นส์ขาดทุนต่อเนื่องกันมานานเป็นสิบปีๆละหลายร้อยล้านบาท กฎหมายปี 2551 อนุญาตให้โฆษณาได้ 6 นาทีสามารถทำรายได้เพิ่มขึ้นจากโฆษณาในช่องต่างๆที่มีเป็นร้อยช่อง อย่างเป็นกอบเป็นกำปีละเกือบพันล้านบาท

ส่วนกลุ่มแกรมมี่ใน 2-3 ปีที่ผ่านมาได้แบกภาระลงทุนพัฒนากล่อง GMMZ เป็นจำนวนมากขาดทุนต่อเนื่องมา 2 ปีแล้ว ถ้ากสท.ให้มีคูปองมาแลกกล่องรับดาวเทียมได้ กสท.จะกำหนดเงื่อนไขแบบไหนให้เฉพาะ Pay TV ก็ยังดีกว่าเดิม คงจะทำให้ธุรกิจนี้ทั้งทรูวิชั่นส์และแกรมมี่ รวมทั้งรายใหม่อย่าง CTH กลับมามีเรี่ยวแรงมากขึ้นและโล่งอกไปเยอะไม่ต้องตุนเงินไว้นำเข้ากล่องมาขาย แต่จะสามารถเอาเงินไปซื้อมาก่อนรอแลกคูปองได้เลยเพราะจะได้เงินคืนแน่ๆ


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : คูปองแลก กล่องทีวีดาวเทียม ยิ่งคิดยาว ยิ่งเห็นหายนะชัด

view