สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

แนวทางบริหารกองทุนที่ผู้ลงทุนควรรู้

แนวทางบริหารกองทุนที่ผู้ลงทุนควรรู้

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




มาทำความรู้จักกับแนวทางการบริหารกองทุนรวม ทั้งแบบ Active และแบบ Passive ซึ่งทั้ง 2 แบบมีความแตกต่างในเรื่องผลตอบแทนและค่าใช้จ่ายลงทุน

แม้ว่า ผู้ลงทุนส่วนใหญ่คงจะเคยได้ยินมาว่าแนวทางในการบริหารกองทุนรวมมีทั้งแบบ "Active" และแบบ "Passive" ซึ่งสามารถสร้างความแตกต่างทั้งในเรื่องของผลตอบแทน และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนในกองทุนรวมอย่างชัดเจน แต่เชื่อว่า ยังมีผู้ลงทุนอีกจำนวนมากที่ไม่รู้ว่า กองทุนทั้งสองแบบข้างต้นมีลักษณะแตกต่างกันอย่างไรดังนั้น จึงขออธิบายให้ได้รู้จักกับแนวทางในการบริหารกองทุนทั้ง 2 แบบ ดังนี้

1. "กองทุนแบบ Active" เป็นกองทุนรวมที่มีแนวทางในการบริหารแบบเชิงรุก (Active Management หรือ Active Investing) ซึ่งมีความเชื่อว่า ตลาดไม่มีประสิทธิภาพจึงมีความเป็นไปได้ที่จะสามารถเอาชนะตลาด (Beat the Market) หรือสร้างอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดโดยรวม (Outperform) ได้ โดยผู้จัดการกองทุนจะมีการศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ ควบคู่ไปกับการคาดการณ์จากมุมมอง ความเชื่อมั่น และประสบการณ์ในการลงทุนของตนเองเพื่อที่จะจัดสรรเงินลงทุนในหลักทรัพย์ที่ได้ผ่านการวิเคราะห์แล้วว่า มีระดับราคาต่ำกว่าที่ควรเป็น (Underpriced) และหลีกเลี่ยงการลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีราคาสูงเกินกว่าที่ควรเป็น (Overpriced) นอกจากนี้ผู้จัดการกองทุนยังต้องมีความสามารถในการปรับพอร์ตการลงทุนโดยดูจากจังหวะการลงทุน การถือครองหลักทรัพย์ และเงินสดเพื่อให้สอดคล้องกับสภาวะการลงทุนในแต่ละช่วงเวลาอีกด้วย โดยปกติแล้วแนวคิดในการบริหารเชิงรุกนี้จะแบ่งออกเป็น 2 วิธี คือ

1.1 "Top Down (แบบบนลงล่าง)" เป็นการวิเคราะห์ที่เริ่มต้นจากการศึกษาภาพรวมทางเศรษฐกิจก่อน จากนั้นจึงพิจารณาภาคอุตสาหกรรมเพื่อหาว่า อุตสาหกรรมใดที่มีแนวโน้มน่าลงทุนมากกว่าอุตสาหกรรมอื่น และสุดท้าย พิจารณาเพื่อหาว่า หลักทรัพย์ของบริษัทใดในอุตสาหกรรมที่ได้เลือกไว้ก่อนหน้า เป็นหลักทรัพย์ที่เหมาะสมน่าลงทุน

1.2 "Bottom Up (แบบล่างขึ้นบน)" เป็นการวิเคราะห์ที่เริ่มต้นจากการค้นหาหลักทรัพย์ของบริษัทที่มีความเข้มแข็งก่อน จากนั้นค่อยพิจารณาภาคอุตสาหกรรมของหลักทรัพย์นั้นและสุดท้าย จึงพิจารณาภาพรวมทางเศรษฐกิจ ว่าเหมาะสมแก่การลงทุนหรือไม่

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากผลการดำเนินงานของกองทุนรวมรูปแบบนี้ขึ้นอยู่กับความสามารถในการตัดสินใจลงทุนของผู้จัดการกองทุนเป็นหลัก จึงมีค่าใช้จ่ายในการบริหารกองทุนที่ค่อนข้างสูง

2. "กองทุนแบบ Passive" เป็นกองทุนที่มีแนวทางในการบริหารแบบเชิงรับ (Passive Management หรือ Passive Investing) ซึ่งเชื่อว่า ตลาดมีประสิทธิภาพในระดับสูง (Strong Form) ตามทฤษฎีความมีประสิทธิภาพของตลาด (Efficient Market Hypothesis) จึงไม่มีผู้ลงทุนคนใดที่สามารถทำกำไรเกินปกติ หรือเอาชนะตลาดได้ และไม่มีหลักทรัพย์ใดที่มีราคาเสนอซื้อขายที่ผิดไปจากมูลค่าที่แท้จริง (Intrinsic Value) ของหลักทรัพย์นั้นๆ ดังนั้นตามแนวคิดนี้การลงทุนที่ดีที่สุด ก็คือ การลงทุนล้อตามตลาดโดยจะเลือกลงทุนในดัชนีอ้างอิง (Index) ซึ่งเป็นตัวแทนของตลาด เพื่อให้ได้ผลตอบแทนเลียนแบบหรือล้อตามดัชนีที่ได้ลงทุนไว้นั่นเอง จึงทำให้ผู้จัดการกองทุนไม่จำเป็นต้องบริหาร และปรับพอร์ตการลงทุนอยู่ตลอดเวลาเหมือนเช่นกับกองทุนแบบ Active

นอกจากนี้ การดูผลการดำเนินงานของกองทุนแบบ Passive ก็สามารถดูได้อย่างง่ายๆ จากอัตราผลตอบแทนของดัชนีอ้างอิงที่กองทุนได้เลือกลงทุนไว้และเนื่องจากกองทุนรูปแบบนี้ไม่ต้องมีการบริหารจัดการและตัดสินใจอะไรมากมาย ค่าใช้จ่ายในการบริหารกองทุนจึงค่อนข้างต่ำ

ถึงตรงนี้ จึงอาจกล่าวสรุปได้ว่าหากผู้ลงทุนต้องการโอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดก็ให้เลือกลงทุนในกองทุนรวมแบบ Active แต่หากต้องการผลตอบแทนที่ใกล้เคียงหรือล้อกับตลาดก็ควรเลือกลงทุนในกองทุนรวมแบบ Passive


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : แนวทาง บริหารกองทุน ผู้ลงทุน ควรรู้

view