สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

คสช.เพิ่มอำนาจศาลทหารจัดการคดีความผิดต่อสถาบันฯ - ความมั่นคง - ประกาศและคำสั่ง

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

“คณะรักษาความสงบแห่งชาติ” ออกประกาศเพิ่มอำนาจศาลทหารให้สามารถพิพากษาได้ครอบคลุมมากขึ้น ในคดีความผิดต่อสถาบันฯ - ความมั่นคง รวมทั้งประกาศหรือคำสั่ง คสช.
             วันนี้ (25 พ.ค.) เมื่อเวลา 16.25 น. คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ออกประกาศฉบับที่ 37/2557 เรื่องความผิดที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลทหาร โดยมีสาระสำคัญ คือ ให้บรรดาคดีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ได้แก่ ความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ตั้งแต่มาตรา 107-112 และ ความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร ตั้งแต่มาตรา 113-118 ยกเว้นความผิดซึ่งการกระทำผิดเกิดขึ้นในเขตพื้นที่ที่มีการประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง และ พ.ร.บ.ฉุกเฉิน และความผิดตามประกาศ หรือคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ให้การกระทำผิดเกิดขึ้นในเขตราชอาณาจักร และในระหว่างที่ประกาศนี้ใช้บังคับอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลทหาร ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป จนกว่าจะมีประกาศเปลี่ยนแปลง
       
       ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
       
       ฉบับที่ 37/2557
       
       เรื่อง ความผิดที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลทหาร
       
       ตามที่ได้มีการประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม พุทธศักราช 2557 และประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 11/2557 ลงวันที่ 22 พฤษภาคม พุทธศักราช 2557 ให้ศาลทั้งหลายคงมีอำนาจดำเนินการพิจารณา และพิพากษาอรรถคดีตามบทกฎหมาย และประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาตินั้น เพื่อให้การรักษาความสงบ และการแก้ไขปัญหาบ้านเมืองเป็นไปด้วยความเรียบร้อย คณะรักษาความสงบแห่งชาติจึงประกาศให้บรรดาคดีความผิดตามที่กำหนดไว้ดังต่อไป นี้ ซึ่งการกระทำผิดเกิดขึ้นในเขตราชอาณาจักร และในระหว่างที่ประกาศนี้ใช้บังคับอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลทหาร
       
       1. ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา
       
       (1) ความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ตั้งแต่มาตรา 107-112
       
       (2) ความผิดต่อความมั่นคงของรัฐ ภายในราชอาณาจักร ตั้งแต่มาตรา 113-118 ยกเว้นความผิด ซึ่งการกระทำผิดเกิดขึ้นในเขตพื้นที่ที่มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติ การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พุทธศักราช 2551 หรือพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พุทธศักราช 2548
       
       2. ความผิดตามประกาศ หรือคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ทั้งนี้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป จนกว่าจะมีประกาศเปลี่ยนแปลง
       
       ประกาศ ณ วันที่ 25 พฤษภาคม พุทธศักราช 2557
       
       พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
       หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
       
       สำหรับประมวลกฎหมายอาญาที่เกี่ยวข้องกับประกาศ คสช.ฉบับดังกล่าว ได้แก่
       
       หมวด 1 ความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
       
       มาตรา 107 ผู้ใดปลงพระชนม์พระมหากษัตริย์ ต้องระวางโทษประหารชีวิต
       
       ผู้ใดพยายามกระทำการเช่นว่านั้น ต้องระวางโทษเช่นเดียวกัน
       
       ผู้ใดกระทำการใดอันเป็นการตระเตรียมเพื่อปลงพระชนม์พระ มหากษัตริย์หรือรู้ว่ามีผู้จะปลงพระชนม์พระมหากษัตริย์ กระทำ การใดอันเป็นการช่วยปกปิดไว้ ต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต
       
       มาตรา 108 ผู้ใดกระทำการประทุษร้ายต่อพระองค์ หรือเสรีภาพ ของพระมหากษัตริย์ ต้องระวางโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต ผู้ใดพยายามกระทำการเช่นว่านั้น ต้องระวางโทษเช่นเดียวกัน
       
       ถ้าการกระทำนั้นมีลักษณะอันน่าจะเป็นอันตรายแก่พระชนม์ ผู้กระทำต้องระวางโทษประหารชีวิต
       
       ผู้ใดกระทำการใดอันเป็นการตระเตรียมเพื่อประทุษร้ายต่อพระองค์ หรือเสรีภาพของพระมหากษัตริย์ หรือรู้ว่ามีผู้จะกระทำการประทุษร้าย ต่อพระองค์หรือเสรีภาพของพระมหากษัตริย์ กระทำการใดอันเป็น การช่วยปกปิดไว้ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบหกปีถึงยี่สิบปี
       
       มาตรา 109 ผู้ใดปลงพระชนม์พระราชินีหรือรัชทายาท หรือฆ่า ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษประหารชีวิต ผู้ใดพยายามกระทำการเช่นว่านั้น ต้องระวางโทษเช่นเดียวกัน
       
       ผู้ใดกระทำการใดอันเป็นการตระเตรียมเพื่อปลงพระชนม์ พระราชินีหรือรัชทายาท หรือเพื่อฆ่าผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ หรือรู้ว่ามีผู้จะปลงพระชนม์พระราชินีหรือรัชทายาท หรือจะฆ่าผู้ สำเร็จราชการแทนพระองค์ กระทำการใดอันเป็นการช่วยปกปิดไว้ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบสองปีถึงยี่สิบปี
       
       มาตรา 110 ผู้ใดกระทำการประทุษร้ายต่อพระองค์ หรือเสรีภาพ ของพระราชินีหรือรัชทายาท หรือต่อร่างกายหรือเสรีภาพของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่สิบหกปีถึงยี่สิบปี ผู้ใดพยายามกระทำการเช่นว่านั้น ต้องระวางโทษเช่นเดียวกัน
       
       ถ้าการกระทำนั้นมีลักษณะอันน่าจะเป็นอันตรายแก่พระชนม์หรือชีวิต ผู้กระทำต้องระวางโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต
       
       ผู้ใดกระทำการใดอันเป็นการตระเตรียมเพื่อประทุษร้ายต่อพระองค์ หรือเสรีภาพของพระราชินีหรือรัชทายาท หรือต่อร่างกายหรือ เสรีภาพของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ หรือรู้ว่ามีผู้จะประทุษร้าย ต่อพระองค์ หรือเสรีภาพของพระราชินีหรือรัชทายาท หรือ ประทุษร้ายต่อร่างกายหรือเสรีภาพของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ กระทำการใดอันเป็นการช่วยปกปิดไว้ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบสองปีถึงยี่สิบปี
       
       มาตรา 111 ผู้ใดเป็นผู้สนับสนุนในการกระทำความผิดตาม มาตรา 107 ถึง มาตรา 110 ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับตัวการในความผิดนั้น
       
       มาตรา 112 ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จ ราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี
       
       หมวด 2 ความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร
       
       มาตรา 113 ผู้ใดใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย เพื่อ
       
       (1) ล้มล้างหรือเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ
       
       (2) ล้มล้างอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร หรืออำนาจตุลาการแห่งรัฐธรรมนูญหรือให้ใช้อำนาจดังกล่าวแล้วไม่ได้ หรือ
       
       (3) แบ่งแยกราชอาณาจักรหรือยึดอำนาจปกครองในส่วนหนึ่งส่วนใดแห่งราชอาณาจักร
       
       ผู้นั้นกระทำความผิดฐานเป็นกบฏ ต้องระวางโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต
       
       มาตรา 114 ผู้ใดสะสมกำลังพลหรืออาวุธ ตระเตรียมการอื่นใดหรือสมคบกัน เพื่อเป็นกบฏ หรือกระทำความผิดใดๆ อันเป็นส่วนของแผนการ เพื่อเป็นกบฏ หรือยุยงราษฎรให้เป็นกบฎหรือรู้ว่ามีผู้จะเป็น กบฎแล้วกระทำการใดอันเป็นการช่วยปกปิดไว้ ต้องระวางโทษจำคุก ตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี
       
       มาตรา 115 ผู้ใดยุยงทหารหรือตำรวจให้หนีราชการ ให้ละเลย ไม่กระทำการตามหน้าที่ หรือให้ก่อการกำเริบ ต้องระวางโทษจำคุก ไม่เกินห้าปี ถ้าความผิดนั้นได้กระทำลงโดยมุ่งหมายจะบ่อนให้วินัยและสมรรถภาพของกรมกอง ทหารหรือตำรวจเสื่อมทรามลง ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี
       
       มาตรา 116 ผู้ใดกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใดอันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต
       
       (1) เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดินหรือรัฐบาล โดยใช้กำลังข่มขืนใจหรือใช้กำลังประทุษร้าย
       
       (2) เพื่อให้เกิดความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือ
       
       (3) เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี
       
       มาตรา 117 ผู้ใดยุยงหรือจัดให้เกิดการร่วมกันหยุดงาน การร่วม กันปิดงานงดจ้าง หรือการร่วมกันไม่ยอมค้าขายหรือติดต่อทางธุรกิจกับบุคคลใดๆ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดิน เพื่อบังคับรัฐบาลหรือเพื่อข่มขู่ประชาชน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
       
       ผู้ใดทราบความมุ่งหมายดังกล่าวและเข้ามีส่วนหรือเข้าช่วยในการ ร่วมกันหยุดงาน การร่วมกันปิดงานงดจ้างหรือการร่วมกันไม่ยอมค้า ขายหรือติดต่อทางธุรกิจกับบุคคลใดๆ นั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
       
       ผู้ใดทราบความมุ่งหมายดังกล่าว และใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญ ว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายหรือทำให้หวาดกลัวด้วยประการใดๆ เพื่อให้บุคคลเข้ามีส่วนหรือเข้าช่วยในการร่วมกันหยุดงาน การร่วมกันปิด งานงดจ้างหรือการร่วมกันไม่ยอมค้าขายหรือติดต่อทางธุรกิจกับบุคคลใดๆ นั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกิน หนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
       
       มาตรา 118 ผู้ใดกระทำการใดๆ ต่อธงหรือเครื่องหมายอื่นใดอันมีความหมายถึงรัฐ เพื่อเหยียดหยามประเทศชาติ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
       
       เพิ่มอำนาจศาลทหาร
       
       จากนั้น เมื่อเวลา 21.35 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ออกประกาศฉบับที่ 38/2557 เรื่องคดีที่ประกอบด้วยการกระทำหลายอย่างเกี่ยวโยงกันให้อยู่ในอำนาจของศาล ทหาร
       
       โดยที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ พิจารณาเห็นว่า คำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 37/2557 ลงวันที่ 25 พ.ค. 2557 และคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับอื่น ให้คดีที่มีข้อหาว่าการกระทำผิดบางอย่างอยู่ในอำนาจศาลทหารนั้น คดีดังกล่าวอาจมีข้อหาอื่นที่มีความผิดในตัวเองและมิได้อยู่ในอำนาจศาลทหาร รวมอยู่ สมควรให้ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาพิพากษาในข้อหานั้นด้วย เพื่อให้การดำเนินคดีเป็นไปด้วยความรวดเร็ว จึงมีคำสั่งดังต่อไปนี้
       
       บรรดาความผิดที่อยู่ในอำนาจศาลทหารพิจารณาพิพากษา ตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 37/2557 ลงวันที่ 25 พ.ค. 2557 และคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับอื่น ถ้าคดีใดประกอบด้วยการกระทำหลายอย่างเกี่ยวโยงกัน แม้แต่ละอย่างจะเป็นความผิดได้ในตัวเอง และไม่อยู่ในอำนาจศาลทหารก็ให้อยู่ในอำนาจศาลทหารที่จะพิจารณาด้วย
       
       ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
       
       ประกาศ ณ วันที่ 25 พฤษภาคม พุทธศักราช 2557
       
       พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
       หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ


คสช-เผยขั้นตอนดำเนินการกับผู้ต่อต้านรัฐประหาร

จาก โพสต์ทูเดย์

คสช.เผยมาตรการแก้ไขปัญหาชุมนุมต้านรัฐประหาร ย้ำปฏิบัติตามขั้นตอนจากเบาไปหาหนัก ย้ำไม่มีมีศาลเตี้ย ถ้ามีคดีก็ส่งระบบยุติธรรม

พล.ท.ภาณุวัชร นาควงษ์ ผู้ช่วยเสนาธิการทหารบก กล่าวกับคณะบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ซึ่งคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ(คสช.) เชิญไปรับทราบแนวทางการบริหารงานเมื่อวันที่ 25 พ.ย.ถึงแนวทางจัดการกับผู้ชุมนุมประท้วงต่อต้านการรัฐประหารว่า สื่อมวลชนรายงานเรื่องนี้ได้โดยไม่ต้องซีเรียส ถ้าถ้าจะช่วยสักนิดก็ช่วยพิจารณาว่า ภาพถ่ายที่จะตีพิมพ์ออกไปนั้นจะส่งผลอะไรบ้าง ส่วนจะตัดสินใจอย่างไรก็แล้วแต่วิจารณญาณ ที่ผ่านมาได้ใช้ยาแรงโดยใช้มาตรการทางกฎหมายแล้วแต่ก็ยังมีอยู่ก็ไม่สบายใจ

“สาเหตุที่ต้องใช้ยาแรงเพราะโรคมันแรงกว่า ไม่เป็นไรตามหลักการแพทย์ ใช้ยาแรงแล้ว หมอต้องมีวิธีการ เรามีขั้นตอนการปฏิบัติที่ดำเนินการอยู่ทุกจุด ต้องหาสาเหตุว่าที่มามาเพราะใคร คนที่มาจับได้สารภาพว่ามีคนอยู่เบื้องหลังทั้งสิ้น เราตรวจสอบว่า ใครส่งกำลัง ใครจ้าง  ตรวจสอบพบแล้วก็จะก็ทำต่อคนๆนี้ เดี๋ยวนี้ทำอยู่แบบนี้ ”พล.ท.ภาณุวัชรระบุ

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 24 พ.ค.มีรายงานว่า มีการต่อต้านที่ จ.ขอนแก่น ที่จ.เชียงใหม่ก็ยังมีประมาณ 50 คนเจ้าหน้าที่ไปชี้แจงก็แตกกระเจิงไป สายรายงานมาว่า มีคนที่ไม่มีอาชีพรับเงินมาช่วยยกป้ายก็มี พยายามแก้กันอยู่ แรงขนาดมีกฎหมายแล้วก็ยังมีอยู่ก็ต้องอดทน ที่ขอนแก่นและหลายที่มีการจับอาวุธส่องสุม ร้ายแรงทั้งสิ้น บางกรณีสอบสวนแล้วให้การรับสารภาพว่า เตรียมการจะนำอาวุธมาทำร้ายกลุ่มต่างๆ ความจริงเป็นแบบนั้น

พล.ท.ภาณุวัชร กล่าวถึง มาตรการแก้ไขปัญหาการชุมนุมต่อต้านการรัฐประหารว่า ต้องปฏิบัติตามขั้นตอนจากเบาไปหาหนัก ไม่ใช่จับมาทุบตี จะทำแบบนั้นไม่ได้ แต่พยายามอย่างอดทน ตอนนี้อยู่ในขั้นที่ต้องทำให้สงบแล้วค่อยๆยกระดับ ให้สบายใจ ไม่ใช่ว่า ทหารมีอำนาจอยู่ในมือแล้วจะใช้ความรุนแรงแต่ถ้ามีความรุนแรงให้กรุณาเข้าใจว่า ไม่เกิดจะอยากจะให้เกิดเว้นแต่สุดวิสัย

พล.ท.ภาณุวัชร กล่าวถึง มาตรการที่จะดำเนินการกับผู้ที่ถูกจับกุมในกรณีเช่นนี้ว่า เมื่อจับกุมมาแล้วจะตรวจสอบว่า มีคดีอะไรติดตัวอยู่หรือไม่ ถ้าไม่มีก็จะตักเตือนแล้วปล่อยตัวไป แต่ถ้ามีคดีเป็นผู้ทำผิดก็ส่งเข้ากระบวนตามการกฎหมายไป

“สำหรับผู้ที่ถูกเรียกตัวตามประกาศมารายงานตัวนั้น สาเหตุที่ต้องทำเพราะมีข้อมูลเป็นผู้สนับสนุนทำให้เกิดแตกแยกทั้งสิ้น ไม่ต้องปฏิเสธ ฝ่ายข่าวกรองมีข้อมูลหมด ถึงเวลาทหารก็เชิญมาเอามาทำความเข้าใจ จัดให้อยู่ในเซฟเฮาส์กินนอนอยู่สบายแล้วพูดคุยกัน คนไม่มีประวัติบางคนก็ปล่อยเลย บางคนไม่เคลียร์ก็วันสองวัน ใครเกี่ยวก็ 5-7 วัน แต่ไม่ว่ากรณีไหน 7 วันจบ เกินนั้นเราไม่มีอำนาจควบคุมตัว ต้องปล่อยกลับบ้านแต่ยังอยู่ที่บ้านนะ ถ้ายังมีเรื่องร้ายแรงอีกก็จะเชิญมาใหม่ ขึ้นตอนเป็นอย่างนี้ เราจะตรวจสอบด้วยว่า มีคดีอะไรหรือไม่ ไม่ต้องกังวลว่าจะมีศาลเตี้ย ถ้ามีคดีก็ส่งระบบยุติธรรมไปศาล คดีเป็นอย่างไร ประกันเป็นอย่างไรก็ว่ากันไป ใครผิดว่าตามกระบวนการศาล รวมทั้งหมายเรียกแล้วไม่มามีความผิดก็ออกหมายจับ ถ้าจับได้ก็ต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม”พล.ท.ภาณุวัชรกล่าว


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : คสช. เพิ่มอำนาจ ศาลทหาร จัดการ คดีความผิดต่อสถาบันฯ ความมั่นคง ประกาศและคำสั่ง

view