สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

8 วิธีป้องกัน ผู้เฒ่า หกล้ม หลังพบตายสูงปีละ 1.6 พันราย

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

       กรมควบคุมโรคเผยคนไทยตายจาก การ “พลัดตกหกล้ม” สูงปีละ 1,600 คน สูงเป็นอันดับ 2 รองจากอุบัติเหตุ ห่วงแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะผู้สูงอายุ เตือนลูกหลานสอดส่องดูแล แนะ 8 วิธีป้องกันผู้สูงอายุหกล้ม
      วันนี้ (26 พ.ค.) นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า การพลัดตกหกล้มเป็นสาเหตุการตายอันดับสองในกลุ่มของการบาดเจ็บโดยไม่ตั้งใจ (Unintentional) รองจากการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนน ทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตจากการพลัดตกหกล้มประมาณปีละ 424,000 คน เฉลี่ยวันละ 1,160 คน ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากการพลัดตกหกล้มปีละกว่า 1,600 คน เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดย 1 ใน 3 เป็นผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และความเสี่ยงจะเพิ่มสูงขึ้นตามอายุ โดยเพศหญิงสูงกว่าเพศชาย ทั้งนี้ เพศหญิงส่วนใหญ่พลัดตกหกล้มในตัวบ้านและในบริเวณรั้วบ้าน เช่น ห้องนอน ห้องครัว และห้องน้ำ เป็นต้น ขณะที่เพศชายส่วนใหญ่พลัดตกหกล้มบริเวณนอกบ้าน ขณะเดินทาง และในสถานที่ทำงาน เช่น ถนนในซอยและถนนใหญ่ ข้ามสะพาน จักรยาน/มอเตอร์ไซค์ล้ม บนรถเมล์ไร่ นา ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ เป็นต้น
       
       “สาเหตุของการหกล้มส่วนใหญ่มาจากพื้น ลื่น สะดุดสิ่งกีดขวาง การเสียการทรงตัว พื้นต่างระดับ หน้ามืดวิงเวียน และสาเหตุจากสิ่งแวดล้อม เช่น ถูกกระแทก ตกบันได เป็นต้น และภายหลังการพลัดตกหกล้มแล้ว ประมาณครึ่งหนึ่งมีอาการฟกช้ำ รองลงมาคือ มีอาการปวดหลัง และรุนแรงจนกระดูกหัก รวมทั้งเกิดความพิการและเสียชีวิตตามมา” อธิบดี คร. กล่าว
       
       นพ.โสภณ กล่าวอีกว่า คำแนะนำในการป้องกันการพลัดตกหกล้มในผู้สูงอายุ 1. สังเกตอาการและความผิดปกติของการมองเห็น เช่น มองเห็นไม่ชัดเจน ตาพร่ามัว บอกระยะห่างไม่ได้ และไม่สามารถแยกความแตกต่างของสีได้ เป็นต้น 2. สังเกตอาการและความผิดปกติของการเดิน การทรงตัว เนื่องจากผู้สูงอายุมีกลไกการทำงานที่ควบคุมการทรงตัวของระบบอวัยวะต่างๆ ลดลง ทำให้สมดุลในการทรงตัวบกพร่อง 3. สังเกตอาการและความผิดปกติทางด้านการรับรู้ เช่น สับสน หลงลืมเกี่ยวกับ วัน เวลา สถานที่ และบุคคล เป็นต้น รวมทั้งมีการรับรู้ ตัดสินใจ หรือตอบสนองได้ช้าลง 4. ทบทวนและปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับการใช้ยาที่ทำให้เสี่ยงต่อการพลัดตกหกล้ม ได้แก่ ยาที่ทำให้ง่วงซึม ยากล่อมประสาท ยาลดความดันโลหิต และยาขับปัสสาวะ หรือมีประวัติการใช้ยาเป็นประจำตั้งแต่ 4 ชนิดขึ้นไป (ไม่รวมวิตามิน)
       
       5. ประเมินสภาพบ้าน ที่อยู่อาศัย ทั้งในบ้านและบริเวณบ้าน โดยจัดให้มีราวบันไดและราวจับในห้องน้ำ แสงสว่างเพียงพอ พื้นเรียบเสมอกัน ไม่ลื่น ไม่มีสิ่งกีดขวางบริเวณทางเดิน ห้องนอนควรอยู่ชั้นล่าง ใช้เตียงที่มีความสูงเหมาะสม และใช้โถส้วมชนิดนั่งราบ/ชักโครก ฯลฯ 6. ควรออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ เน้นฝึกการทรงตัวและทักษะการเคลื่อนไหว เช่น โยคะ ไทเก๊ก เป็นต้น 7. ควรเปลี่ยนท่าช้าๆ เพื่อป้องกันภาวะความดันตกในท่ายืน หน้ามืด วิงเวียน จะเป็นลม ขณะลุกนั่งหรือยืนทุกครั้ง และ 8. สำรวจสิ่งแวดล้อมหรือจุดเสี่ยงในชุมชน เช่น พื้นทางเดิน ถนน ที่สาธารณะ ฯลฯ และ กำหนดนโยบายสาธารณะและร่วมปรับปรุงแก้ไขจุดเสี่ยงในชุมชน รวมทั้งสนับสนุนกิจกรรม/โครงการป้องกันการพลัดตกหกล้มของผู้สูงอายุในชุมชน เช่น การออกกำลังกายแบบไทเก๊ก โยคะ การรำมวยจีน การเดิน ว่ายน้ำ เป็นต้น
       
       “ขอย้ำเตือนว่า ตอนนี้เริ่มเข้าสู่ฤดูฝน ฝนตกเป็นช่วงๆ พื้นมักจะชื้น เปียกและลื่น ถ้าร่วมกับแสงสว่างไม่เพียงพอ มีสิ่งกีดขวางทางเดิน อาจทำให้ผู้สูงอายุพลัดตกหกล้มและบาดเจ็บได้ ดังนั้นควรดูแลผู้สูงอายุอย่างใกล้ชิด อย่าให้อยู่ตามลำพัง ดูแลสิ่งแวดล้อมรอบตัว เพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุ พร้อมทั้งเอาใจใส่ดูแลสภาวะจิตใจของท่าน” อธิบดี คร. กล่าว


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : วิธีป้องกัน ผู้เฒ่า หกล้ม หลังพบ ตายสูง ปีละ พันราย

view