สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

รู้จักศาลทหาร (กันอีกที)

รู้จักศาลทหาร (กันอีกที)

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




เมื่อวาน (26 พ.ค.) ผมเขียนข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับ "ศาลทหาร" ลงในหน้า 2 ของกรุงเทพธุรกิจ ในลักษณะ "เคียงข่าว"

เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้รู้จักกับ "ศาลทหาร" ด้วยภาษาที่เข้าใจง่ายๆ หลังจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกประกาศฉบับที่ 37 และ 38 ให้คดีในกลุ่มความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา (ป.อาญา) บางกลุ่ม อยู่ในอำนาจการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลทหาร

ล่าสุดผมได้พูดคุยขอความรู้จาก ดร.ภูมิ มูลศิลป์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (เอแบค) ได้ข้อมูลลึกกว่าที่ผมได้เขียนไปวันแรก จึงนำมาแชร์เพิ่มเติมให้ได้อ่านกัน

อาจารย์ภูมิ บอกว่า ประกาศ คสช.ฉบับ 37 และ 38 ให้อำนาจศาลทหารพิพากษาคดีดังนี้

1. หมิ่นสถาบัน ตาม ป.อาญามาตรา 107-112

2. คดีความมั่นคง ตาม ป.อาญามาตรา 113-118

3. คดีผิดประกาศหรือขัดคำสั่ง คสช.

นอกจากนั้นยังรวมถึงคดีที่เกี่ยวโยงกัน แม้คดีดังกล่าวจะเป็นความผิดได้ในตัวเองและไม่อยู่ในอำนาจศาลทหาร ก็ให้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทหารด้วย

อาจารย์ภูมิ บอกว่า ขณะนี้มีการประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร ดังนั้นคดีตามประกาศ คสช.ทุกคดีต้องขึ้นศาลทหาร แต่ถ้าต่อไปภายหลังอาจมีการประกาศยกเลิกกฎอัยการศึกบางพื้นที่ แล้วใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แทน คดีในเขตพื้นที่นั้นๆ ย่อมไม่อยู่ในอำนาจศาลทหาร

ยังมีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ "อัยการ" คือ คดีความผิดดังกล่าวถ้าเกิดภายหลังจากมีประกาศฉบับนี้ พนักงานอัยการต้องไม่รับสำนวน แต่ต้องให้พนักงานสอบสวนไปส่งสำนวนที่อัยการทหารแทน ยกเว้นจะมีประกาศให้พนักงานอัยการเป็นอัยการทหารถึงจะรับสำนวนได้ แต่ขณะนี้ยังไม่มีประกาศ

อาจารย์ภูมิ บอกด้วยว่า ศาลทหารตามประกาศ คสช. ถือเป็น "ศาลทหารในเวลาไม่ปกติ" จึงไม่สามารถอุทธรณ์ฎีกาได้ เรียกว่า "ศาลเดียวจบเลย" อันเป็นไปตามพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ.2498 มาตรา 61 วรรคสอง ให้จำเลยแต่งทนายได้ตามมาตรา 55 วรรคสอง แต่ผู้เสียหายจะแต่งทนายไม่ได้ เนื่องจาก มาตรา 49 วรรคสองบัญญัติว่า "ผู้เสียหายจะเป็นบุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหารหรือไม่ก็ตาม ต้องมอบคดีให้อัยการทหารเป็นโจทก์ เช่นนี้ผู้เสียหายย่อมไม่สามารถแต่งทนายได้"

นอกจากนั้นยังมีข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ "กระบวนการยุติธรรมทหาร" อีกว่า วิธีพิจารณาคดีของศาลทหาร แท้ที่จริงแล้วหาได้แตกต่างไปจากวิธีพิจารณาคดีของศาลยุติธรรม (ศาลพลเรือน) แต่ประการใด กล่าวคือ พนักงานสอบสวนที่ได้รับคำร้องทุกข์ เมื่อสรุปสำนวนเสร็จแล้วจะส่งสำนวนไปให้อัยการทหารเพื่อพิจารณา หากอัยการทหารมีความเห็นสั่งฟ้อง ก็จะยื่นฟ้องต่อศาลทหาร

เมื่อศาลประทับรับฟ้อง กระบวนการพิจารณาเหมือนศาลยุติธรรม คือ จำเลยสามารถแต่งทนายสู้คดีได้ เป็นการพิจารณาคดีโดยเปิดเผย เว้นแต่ศาลเห็นสมควรจะให้พิจารณาคดีลับ ในการสืบพยานก็จะเริ่มจากการสืบพยานโจทก์ แล้วสืบพยานจำเลย ระหว่างการสืบพยานมีการซักถาม ถามค้าน และถามติงเหมือนศาลยุติธรรมทุกประการ เพราะใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิ.อาญา) และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ป.วิ.แพ่ง) เหมือนกัน

เพียงแต่หากเป็นคดีที่เกิดขึ้นในพื้นที่ประกาศใช้กฎอัยการศึก กฎหมายห้ามอุทธรณ์ ฎีกาเท่านั้น

ส่วนการควบคุมตัวระหว่างการพิจารณา จำเลยจะถูกควบคุมตัวไว้ที่เรือนจำทหาร การปล่อยตัวชั่วคราวใช้ ป.วิ.อาญา เหมือนศาลยุติธรรม ซึ่งเป็นดุลพินิจของศาล ขณะที่บทลงโทษเป็นไปตามกฎหมายนั้นๆ สำหรับดุลพินิจในการลงโทษไม่แตกต่างจากศาลยุติธรรม

การบังคับโทษ หากศาลพิพากษาลงโทษจำคุก จำเลยจะต้องรับโทษจำคุกในเรือนจำทหาร เว้นแต่ต้องโทษจำคุกเกินกว่า 3 ปี ก็จะโอนตัวนักโทษผู้นั้นไปรับโทษยังเรือนจำพลเรือน

ถือเป็นองค์ความรู้ที่น่าสนใจจริงๆ ในยุคที่ทุกคนมีสิทธิ์ขึ้นศาลทหาร!


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : รู้จัก ศาลทหาร อีกที

view