สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ซีเอสอาร์หรือว่าลงทุน

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ ระดมสมอง โดย ไสว บุญมา sboonma@msn.com

เป็นเวลาติดต่อกันมานาน สหรัฐอเมริกาขาดคนงานด้านเทคโนโลยี ทั้งที่มีมหาวิทยาลัยหลายพันแห่ง และมีการว่างงานในอัตราสูง ทั้งนี้ เพราะชาวอเมริกันเรียนทางด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีน้อยกว่าความต้องการ บริษัทห้างร้านจึงต้องจ้างพนักงานจากต่างประเทศ

แต่ก็จ้างไม่ได้ครบตามความต้องการ เนื่องจากรัฐบาลจำกัดใบอนุญาตคนเข้าเมือง

เมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ ไอบีเอ็ม พยายามช่วยแก้ปัญหาด้วยการร่วมมือกับมหานครนิวยอร์กและมหาวิทยาลัยในนครนั้น เปิดโรงเรียนกึ่งชั้นมัธยมกึ่งมหาวิทยาลัยสำหรับเยาวชนที่สนใจในงานด้านเทคโนโลยี หลักสูตรของโรงเรียนครอบคลุมเวลา 6 ปี ซึ่งเท่ากับการเรียนในชั้นมัธยมปีที่ 3-6 ของไทยไปจนจบชั้นอนุปริญญา นักเรียนไม่ต้องเสียค่าเล่าเรียนเช่นเดียวกับการเรียนในชั้นมัธยมของรัฐโดยทั่วไปในสหรัฐอเมริกา

นอกจากจะเน้นเนื้อหาวิชาการทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เรียนในห้องเรียนแล้ว หลักสูตรยังรวมการไปฝึกงานด้านเทคโนโลยีกับไอบีเอ็มและบริษัทอื่น ๆ ที่ทำกิจการทางด้านนั้นอีกด้วย

ในการเข้าไปฝึกงานนั้น นักเรียนจะมี พี่เลี้ยง ซึ่งเป็นพนักงานของบริษัทเหล่านั้นดูแลและให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด ทั้งในด้านการดำเนินชีวิตและในด้านการฝึกงาน เพื่อให้เกิดความชำนาญ

หลังจาก 6 ปี นักเรียนจะเรียนต่อไปจนจบปริญญาในมหาวิทยาลัยก็ได้ หรือถ้าตัดสินใจออกไปหางานทำ ไอบีเอ็มจะเปิดโอกาสให้ทุกคนเข้าสอบสัมภาษณ์กับบริษัท หากนักเรียนมีคุณสมบัติตรงกับตำแหน่งที่ว่าง ไอบีเอ็มจะจ้างทันที ตอนนี้ไอบีเอ็มกำลังสนับสนุนให้เปิดโรงเรียนแบบเดียวกันนี้อีก 27 แห่ง

การเข้าร่วมจัดการศึกษาของไอบีเอ็มนำไปสู่การถกเถียงกันทางด้านความรับผิดชอบต่อสังคมของบริษัท ห้างร้าน และกิจการแสวงหากำไรอีกครั้ง (เรื่องนี้มักอ้างถึงกันสั้น ๆ ว่า "ซีเอสอาร์" ซึ่งย่อมาจาก Corporate Social Responsibility)  บางคนมองว่าการกระทำของไอบีเอ็มมิใช่ซีเอสอาร์ หากเป็นการลงทุน เพื่อแก้ปัญหาความขาดแคลนพนักงานด้านเทคโนโลยีของตัวเอง

การถกเถียง กันก่อให้เกิดการเปิดประเด็นเรื่องการจัดการศึกษาของเยอรมนี และเรื่องวัฒนธรรมองค์กรของบางบริษัทอาจเป็นที่ทราบกันดีว่าระบบการศึกษาของ เยอรมนีเน้นการให้เยาวชนออกไปหาประสบการณ์ผ่านการฝึกงานกับบริษัท ห้างร้าน และผู้ทำกิจการแสวงหากำไร

นักวิชาการจำนวนมากมองว่านั่นเป็นการจัดการศึกษาที่ถูกต้อง เนื่องจากมันผลิตคนงานออกมาตรงกับความต้องการของภาคเอกชน ยังผลให้เศรษฐกิจเยอรมนีแข็งแกร่งกว่าของประเทศอื่น ตอนนี้เริ่มมีการนำแนวคิดดังกล่าวไปใช้ในอเมริกาบ้างแล้ว

สำหรับทางด้านวัฒนธรรมองค์กร เรื่องราวของ บริษัทคัมมินส์ (Cummins) ถูกกล่าวขวัญว่ามันเกินกว่าซีเอสอาร์ธรรมดา ๆ แต่ก็เป็นสิ่งน่าทำอย่างยิ่ง

คัมมินส์ทำกิจการด้านผลิตเครื่องจักรกลดีเซลขนาดใหญ่ที่ใช้ในกิจการต่าง ๆ รวมทั้งในหัวจักรรถไฟและในการลากจูงอื่น ๆ บริษัทมีประวัติย้อนไปหลายสิบทศวรรษในด้านการเข้าร่วมพัฒนาท้องถิ่นอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะไปตั้งกิจการที่ไหน ทั้งในอเมริกาและในต่างประเทศ ตอนนี้คัมมินส์มีสาขาทั่วโลกถึง 190 แห่ง

ย้อนไปในสมัยเริ่มทำกิจการ คัมมินส์เข้าไปตั้งโรงงานในโคลัมบัสซึ่งเป็นเมืองเล็ก ๆ ในรัฐอินเดียนา ตอนนั้นประชาชนของโคลัมบัสมีการศึกษาในระดับต่ำ วิศวกรเครื่องกลที่บริษัทต้องจ้างเป็นจำนวนมาก เรียกได้ว่าหาทำยายากที่สุด แต่เจ้าของบริษัทก็มิได้คิดว่ามันเป็นอุปสรรคใหญ่หลวง และแก้ปัญหาด้วยการเข้าร่วมพัฒนาระบบการศึกษากับรัฐบาลท้องถิ่นอย่างจริงจังทันที

มาถึงตอนนี้โคลัมบัสมีระบบการศึกษาดีเยี่ยม มีจำนวนวิศวกรเครื่องกลต่อจำนวนประชาชนสูงที่สุดในอเมริกา (วิศวกรเครื่องกล 31 คน ต่อประชากร 1,000 คน) มีอัตราการว่างงานต่ำที่สุดในรัฐอินเดียนา (5.2%) และมีศูนย์การศึกษาขั้นมหาวิทยาที่มหาวิทยาลัย 3 แห่งร่วมกันตั้งขึ้น

เยาวชนมีโอกาสฝึกงานกับบริษัทซึ่งจัดพี่เลี้ยงดูแลให้อย่างใกล้ชิด เท่านั้นยังไม่พอ คัมมินส์เข้าร่วมพัฒนาอาคารกับเทศบาลอย่างใกล้ชิด และออกเงินจ้างสถาปนิกระดับโลกออกแบบอาคารต่าง ๆ ที่ทางเทศบาลสร้างขึ้นมาใหม่

การร่วมมือกันอย่างต่อเนื่องนี้มีผลให้โคลัมบัสพัฒนาตึกรามขึ้นมาได้อย่างสง่างาม จนถึงกับดึงดูดความสนใจให้ชาวอเมริกันไปท่องเที่ยวกันปีละหลายหมื่นคน

ในช่วงนี้คัมมินส์กำลังขยายโรงงานในเมืองเล็ก ๆ ซึ่งห่างออกไปราว 35 กิโลเมตรเพื่อผลิตเครื่องจักรขนาดยักษ์ ราคาเครื่องละ 2.5 แสนดอลลาร์ เช่นเดียวโคลัมบัสเมื่อครั้งคัมมินส์เข้าไปตั้งโรงงานใหม่ ๆ ประชาชนในเมืองนั้นมีระดับการศึกษาค่อนข้างต่ำ ทั้งที่บริษัทมีโอกาสไปสร้างโรงงานในอินเดีย ซึ่งจะทำให้ผลิตเครื่องจักรได้ในราคาต่ำกว่า แต่คัมมินส์เลือกเมืองนั้นเพื่อสะดวกแก่การควบคุมคุณภาพ ส่วนอุปสรรคทางด้านการขาดแคลนคนงานที่มีพื้นการศึกษาสูง คัมมินส์ก็เข้าไปร่วมพัฒนาการศึกษาเช่นเดียวกับที่เคยทำมาก่อน

การเข้าไปร่วมกับรัฐบาลท้องถิ่นอย่างใกล้ชิดเพื่อพัฒนาสิ่งต่าง ๆ จะมีผลดีต่อกิจการของคัมมินส์หรือไม่ อย่างไร ไม่เป็นที่ประจักษ์อย่างแน่ชัด อย่างไรก็ดี ในช่วงที่อเมริกาประสบปัญหาสาหัสหลังฟองสบู่แตกเมื่อปี 2551 ส่งให้เศรษฐกิจยังอยู่ในภาวะซบเซามาจนถึงปัจจุบัน คัมมินส์ยังทำกำไรได้ดี

เมื่อปีที่แล้วบริษัทมีกำไรสุทธิ 1.5 พันล้านดอลลาร์ จากยอดขาย 1.7 หมื่นล้านดอลลาร์ ในช่วงเวลาหลังจากฟองสบู่แตกเป็นต้นมา หุ้นของบริษัทพุ่งขึ้นไป 400% หรือราว 4 เท่าของดัชนีชี้วัดราคาหุ้นในกลุ่มสแตนดาร์ดแอนด์พัวร์ 500

เรื่องราวที่เล่ามานี้น่าจะชี้บ่งว่าหากบริษัทห้างร้านและกิจการแสวงหากำไรทำซีเอสอาร์กันแบบเข้าไปร่วมกับท้องถิ่น ลงทุนพัฒนาการศึกษาอย่างจริงจัง ผลตอบแทนที่ออกมาน่าจะดีกับทุกฝ่ายอย่างมีนัยสำคัญ จะเริ่มทำเช่นนั้นกันอย่างจริงในเมืองไทยได้หรือยังหนอ ?


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ซีเอสอาร์ ลงทุน

view