สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ภาระบนบ่า-เผือกร้อนในมือ ความในใจ พล.อ.ประยุทธ์

ภาระบนบ่า-เผือกร้อนในมือ ความในใจ พล.อ.ประยุทธ์

จากประชาชาติธุรกิจ

ผ่านไปเป็นที่เรียบร้อย สำหรับพิธีรับสนองพระบรมราชโองการโปรดเกล้าแต่งตั้ง "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ในฐานะ "หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ" (คสช.) บ่งบอกถึง "อำนาจเต็ม" ในการบริหารราชการแผ่นดิน-อนาคตประเทศไทยนับจากนี้อย่างเป็นทางการ

แต่หนทางแก้ปัญหา-อุปสรรค ภายหลังการเข้าควบคุมการบริหารประเทศของ "พล.อ.ประยุทธ์" ที่รออยู่เบื้องหน้านั้น มิได้เป็น "งานง่าย" สำหรับบุคคลที่เคยเป็นทหารมาทั้งชีวิต

"พล.อ.ประยุทธ์" จึงบอกว่า "การดำเนินการทุกอย่างจะใช้สติปัญญาทหารทั้งหมดไม่ได้ ต้องใช้ความร่วมมือจากข้าราชการทุกส่วน"

ดังนั้น หลังจากนี้กองทัพ ในนาม คสช. จะต้องขับเคลื่อนประเทศร่วมกับบรรดาเทคโนแครต-ข้าราชการประจำ

ไม่ แปลก พลันที่มีอำนาจในมือ "พล.อ.ประยุทธ์" ได้ปรับเปลี่ยนข้าราชการด้านความมั่นคงหลายตำแหน่ง อาทิ ตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ-ตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจในนครบาลและ ภูธร-อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ-เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดน ภาคใต้-ปลัดกระทรวงกลาโหม เพื่อคอนโทรลสายงานใต้บังคับบัญชาให้เป็นไปอย่างราบรื่น ปราศจากคลื่นใต้น้ำ และเมื่อส่องวาระร้อนยิ่งกว่าร้อนในมือของหัวหน้า คสช. สำคัญยิ่งกว่าการหาตัวนายกรัฐมนตรีคนที่ 29 คือการสางปัญหาความขัดแย้ง คืนความสงบให้ประเทศ

"ภาระสำคัญที่สุดในขณะนี้หลังจากนี้เป็นต้นไป คือการดูแล รักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ โดยเฉพาะการบังคับใช้กฎหมายในทุกมิติ เพื่อให้เกิดความถูกต้องและเตรียมการเข้าสู่อนาคต"

ความขัดแย้งจะหายไปจากคนไทยหรือไม่ เขาบอกว่า "ขึ้นอยู่กับพวกเราทุกคน ทุกภาคส่วน สื่อทุกสื่อต้องไม่ขยายความขัดแย้ง ต้องควบคุมให้ได้ โดยจะเริ่มตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป"

"ถ้าขยายความขัดแย้งไปเรื่อย ๆ ก็จะเกิดผลกระทบ เหตุการณ์เดิม ๆ จะวนกลับมาอีก ต้องการให้กลับไปเป็นอย่างเก่าอีกใช่ไหม วันนี้เกิดการประท้วงกันอีกแล้ว เพราะฉะนั้นผมจึงจำเป็นต้องใช้กฎหมาย จึงอยากให้ทุกคนหยุดการกระทำดังกล่าว และจะส่งผลต่อตัวเองและครอบครัว"

"เพราะกฎหมายขณะนี้มีความเข้มข้น และการดำเนินการหลังจากนี้จะต้องดำเนินการโดยศาลทหาร โดยเฉพาะการกระทำผิดต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ดังนั้น จากนี้ไปต้องทำให้ทุกคนกระทำตามกฎหมาย เคารพกฎหมาย เพี่อให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานได้"

นอกจากภาระลดความขัดแย้งที่เป็นเหมือนเผือกร้อนในมือ พล.อ.ประยุทธ์ที่ต้องเร่งแก้ไขแต่ภาระบนบ่าที่ต้องแบกรับก็คือปัญหาเศรษฐกิจ ทั้งในระยะสั้น-ระยะยาว

"พ.อ.ณัฐวัฒน์ จันทร์เจริญ" รองผู้อำนวยการกิจการพลเรือน รองโฆษก คสช. ฉายแผนการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจ ภายใต้การบริหารงานของ คสช.ว่า การดำเนินงานของหน่วยงานต่าง ๆ ด้านเศรษฐกิจให้ทำตามแผนงานเดิมต่อไป โดย คสช.จะไม่พิจารณาแผนงานใหม่ที่ใช้วงเงินสูง แต่จะพิจารณาโครงการที่มีความจำเป็นทั้งด้านความมั่นคงและเศรษฐกิจที่เงินไม่สูง

อย่างไรก็ตาม แม้เริ่มต้นนับ 1 ในการเข้าควบคุมการบริหารประเทศ คสช.จะประกาศว่าพร้อมเดินต่อโปรเจ็กต์เศรษฐกิจสำคัญ เพื่อกระชากเศรษฐกิจให้พ้นจากปากเหวไม่ว่าสานต่อโครงการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยาย กรุงเทพฯ-ปริมณฑล รวมถึงการสร้างถนนเลียบ 2 ฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อป้องกันน้ำท่วม-คลายปัญหาการจราจรติดขัด หรือไม่ว่าการแก้ไขปัญหาเดือดร้อนของประชาชน โดยเฉพาะการจ่ายเงินที่ค้างจ่ายชาวนาในโครงการรับจำนำข้าว ที่ คสช.ประกาศว่าจะจ่ายให้ชาวนาจนครบภายใน 1 เดือน

ไม่ว่าการอนุมัติโครงการขนาดเล็ก-ขนาดใหญ่ที่ "ค้างท่อ" เพื่อให้เกิดการลงทุน รวมถึงเรื่องการต่อระยะเวลาภาษีมูลค่าเพิ่ม 7 เปอร์เซ็นต์ (VAT) ภาษีนิติบุคคล และยังมีเรื่องจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2558 ที่จะต้องสามารถเบิกจ่ายให้ได้ในวันที่ 1 ตุลาคม 2558 ทั้งหมดเพื่อฟื้นกระตุ้นเศรษฐกิจ หลังจากโดน "พิษ" การชุมนุมทางการเมืองกระหน่ำซัดมา 6 เดือนเต็ม แต่ใช่ว่าดำเนินการแค่นี้แล้วจะฉุดเศรษฐกิจไทยให้กลับขึ้นมาอยู่ในระดับทรงตัวได้อีกครั้ง เพราะยังมีปัญหาเฉพาะหน้ามากมายที่จะต้องแก้ไข

อย่าลืมว่าหน้าแล้งนี้ไม่แล้งอย่างที่คิด แต่ในฤดูฝนอาจกระหน่ำจนเกิดน้ำท่วมอีกระลอก ส่งผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตรประกอบกับนักลงทุนไทยและต่างชาติที่เริ่มขยาดกับพิษความขัดแย้งทางการเมืองไทยที่ดำรงอยู่มาร่วม 10 ปี ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ต้องเร่งฟื้นความน่าเชื่อถือจากนักลงทุน แถมยังต้องตอบคำถามรายวันถึงความชัดเจนทางการเมืองในอนาคต

ทุกอย่างเป็นเรื่องเฉพาะหน้าที่เตรียมถาโถมเข้าใส่หัวหน้า คสช.ทั้งสิ้นยังไม่นับ "ภารกิจหลัก"-"โรดแมป" ต่อไป คือการจัดตั้ง "สภาปฏิรูป"-"สภานิติบัญญัติ" เพื่อปฏิรูปประเทศในทุกมิติ โดยใช้ "สภานิติบัญญัติ" ในการแก้ไขกฎหมาย กฎระเบียบต่าง ๆ เพื่อ "ยกเครื่อง" ประเทศและเดินหน้าไปสู่อนาคต และนำกลับสู่ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยอย่างสันติวิธี ปราศจากความขัดแย้ง

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า "การเมืองก็เป็นเรื่องของการเมือง ซึ่งการแก้ไขจะอยู่ในกระบวนการปฏิรูป เช่น การปฏิรูปการเมือง การปกครอง ข้าราชการ ระเบียบข้อราชการ การเข้าสู่อำนาจรัฐ การใช้จ่ายที่โปร่งใส กระบวนการใช้จ่ายงบประมาณ กระบวนการตรวจสอบ ไม่ได้ต้องการมาทะเลาะเบาะแว้งกับใคร แต่ต้องการให้ทุกอย่างออกมาให้เห็นเด่นชัด เพื่อแก้ไข"

"อาจจะข้องใจว่าพวกผมมีความรู้ความสามารถหรือไม่ แต่คงไม่สำคัญเท่าความตั้งใจที่ผมสามารถทำได้ทุกอย่าง ถ้ายึดหลักถูกต้อง โปร่งใส เป็นธรรม ทั่วถึง จึงอยากให้ทุกคนช่วยกัน อย่าเพิ่งติติง อย่าเพิ่งสร้างปัญหาใหม่ เพราะไม่มีประโยชน์"

"บ้านเมืองเรามีปัญหา เพราะฉะนั้นต้องยุติปัญหาให้ได้ พวกเราไม่ได้มุ่งหวังที่จะเข้าสู่อำนาจเพื่อให้มีอำนาจ แต่เหตุผลมันเป็นไปตามที่ผมกล่าวมาแล้ว ขอความร่วมมือจากประชาชนที่รักทุกคน ไม่ว่าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด ขอความกรุณาทำความเข้าใจถึงการปฏิบัติในเวลานี้"

"เราไม่ได้ต้องการมุ่งหวังไปขัดแย้งกับกลุ่มใด เราเข้าใจดีถึงกระบวนการประชาธิปไตยตามที่สากลโลกเขาอยู่ แต่ในเมื่อการดำเนินการดังกล่าวมีข้อขัดแย้งจนไม่อาจหาข้อสรุปได้ และมีข้อติดขัดทางข้อกฎหมาย มีความขัดแย้งและมีแนวโน้มที่จะใช้ความรุนแรง และท่ามกลางความขัดแย้งเหล่านั้นไม่สามารถนำไปสู่กระบวนการประชาธิปไตยที่ถูกต้องได้โดยเร็วและปลอดภัย จึงมีความจำเป็น"

"ที่ผ่านมาพวกเราเข้าใจดี มีบทเรียนมากมายในอดีต โดยจะนำมาแก้ไขไม่ให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ต่อไปในอนาคตด้วย จึงขอให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องกับชาติไทยและต่างชาติกรุณาเข้าใจในเจตนารมณ์ของเราด้วย เรามุ่งหวังจะให้สถานการณ์คลี่คลายโดยเร็วเพื่อเข้าสู่กระบวนการประชาธิปไตยที่ถูกต้อง"

"ผมไม่ได้ทำเพื่อทหาร แต่ทำเพื่อปกป้องศักดิ์ศรีของคนไทยทุกคน ถอยหลังไม่ได้อีกแล้ว หยุดทะเลาะเบาะแว้งกันและกัน เพื่อมุ่งสู่ความปรองดองและสมานฉันท์"

อีกหนึ่งภาระที่คนต้องการคำตอบจาก "พล.อ.ประยุทธ์" นั่นคือใคร ? จะเป็นนายกฯคนต่อไป หรือจะนั่งเป็นประมุขฝ่ายบริหารเสียเอง ? เขาไม่ตอบ-บอกเพียงว่า ถามในสิ่งที่ยังมาไม่ถึง

"ไปถามในสิ่งที่ยังมาไม่ถึง แต่มันอยู่ในแผนงานอยู่แล้ว ยังไงมันต้องมีนายกฯ และเมื่อมีนายกฯ ก็ต้องมีคณะรัฐมนตรี ส่วนจะเป็นนายกฯเองหรือเปล่า ยังอยู่ในขั้นตอนการดำเนินการ ยังไม่รู้ ต้องรอดู ใจเย็น ๆ"

ส่วนทางเดินที่นำไปสู่การเลือกตั้งนั้น "นายพลประยุทธ์" กล่าวว่า "จนกว่าเหตุการณ์จะยุติ ไม่มีกำหนด ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ โดยเร็วที่สุด"

การรัฐประหารเข้าควบคุมการบริหารประเทศนั้นอาจยาก แต่สิ่งที่ยากกว่านั้นคือการบริหารสถานการณ์ต่าง ๆ ไม่ให้กระเพื่อม หรือให้เกิดแรงต้านน้อยที่สุด

ต้องจับตาว่าภาระบนบ่า เผือกร้อนในมือ "พล.อ.ประยุทธ์" จะรับมันไหวหรือไม่


เล่าสู่กันฟัง

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ สามัญสำนึก โดย สกุณา ประยูรศุข

เป็นธรรมเนียมของทุกครั้งที่มีการปฏิวัติรัฐประหารเกิดขึ้นในประเทศ นอกเหนือจากการอ่านแถลงการณ์ของคณะผู้ทำการและเปิดเพลงปลุกใจแล้ว

สิ่งหนึ่งที่คณะรัฐประหารจะต้องดำเนินการก็คือ การเรียกบุคคลจากหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ และองค์กรเอกชน เข้ารายงานตัว ที่ขาดไม่ได้อย่างยิ่งเป็นบรรดาสื่อมวลชนทั้งหลายทั้งปวง ตั้งแต่หนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ ครั้งนี้มีเพิ่มขึ้นมาคือ ทีวีดิจิทัล และวิทยุชุมชน รวมทั้งบรรดาผู้ประกอบการเว็บไซต์ต่าง ๆ ด้วย นับหัวดูแล้วก็หลายร้อยหลายพันคน เฉพาะวิทยุชุมชนปาเข้าไปถึง 7,000 สถานี

ว่ากันเฉพาะหนังสือพิมพ์ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้เชิญทั้งหมด 18 ฉบับ โดยเจ้าหน้าที่บอกว่าเป็นการหารือ ไม่ใช่การรายงานตัว ซึ่งนอกเหนือจากหนังสือพิมพ์ในเครือมติชน ประกอบด้วย มติชน ข่าวสด และประชาชาติธุรกิจแล้ว เป็นหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษ หนังสือพิมพ์หัวสีททั้งยักษ์ใหญ่ ยักษ์เล็ก ไปกันพร้อมหน้า

ก่อนการประชุมจะเริ่ม บรรยากาศไม่เหมือนอยู่ในห้วงของการรัฐประหารเท่าไหร่นัก บรรดาสื่อทั้งหลายยังมีอารมณ์ขันเหลือเฟือพอที่จะถ่ายรูปหมู่เป็นที่ระทึก ! เสียงเจื้อยแจ้วว่าเป็นส่วนหนึ่งของหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย

จากนั้นนายทหารทั้งสาม ได้แก่ พล.ท.ภาณุวัชร นาควงษม์ ผู้ช่วยเสนาธิการทหารบก, พล.ต.พลภัทร วรรณภักตร์ เลขานุการกองทัพบก และ พล.ต.พลาวุฒิ กลับเจริญ เจ้ากรมกิจการพลเรือนทหารบก เริ่มการพูดคุยด้วยบรรยากาศเป็นไปตามปกติ โดยประธานที่ประชุม พล.ท.ภาณุวัชรบอกว่า "ขอให้เป็นกันเอง"

สิ่งที่นายทหารแต่ละคนผลัดกันกล่าว โดยสรุปแล้วเป็นการขอความร่วมมือจากบรรณาธิการทั้งหลาย ในการพาดหัวข่าว นำเสนอข่าว การเขียนบทนำ ขอให้เป็นโหมดของความสมานฉันท์ ปรองดอง เพื่อทำให้บรรยากาศของบ้านเมืองกลับไปสู่ความสามัคคี มีความสงบเรียบร้อยอย่างรวดเร็ว

เลขานุการกองทัพบก ในฐานะหัวหน้าฝ่ายประชาสัมพันธ์ คสช. กล่าวถึงความรับผิดชอบต่อบ้านเมืองร่วมกัน คงไม่ใช่เฉพาะ คสช.เท่านั้น

ท่านย้ำว่าสื่อมีบทบาทสำคัญที่จะทำให้บรรยากาศดูร้อนแรงขึ้นหรือดูสงบลง เพราะสัมผัสได้เวลาหยิบหนังสือพิมพ์ขึ้นมาอ่านในแต่ละวัน จึงขอความร่วมมือกันในการทำหน้าที่ ทหารเองหรือตำรวจเองพยายามทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด จึงเชื่อว่าสื่อเองก็จะทำหน้าที่ของตัวเองอย่างดีที่สุดเช่นเดียวกัน

และเพื่ออำนวยความสะดวกในการทำงานของสื่อ ท่านได้จัดตั้ง "ศูนย์ประสานงานสื่อมวลชน" ที่สนามกีฬากองทัพบกไว้รองรับ

เสร็จจากเลขานุการกองทัพบก เจ้ากรมพลเรือนทหารบกกล่าวต่อว่า ความเป็นอิสระของสื่อคือสิ่งที่สำคัญที่สุด รัฐประหารไม่ใช่สิ่งที่ดี แต่เป็นสิ่งที่จำเป็น ไม่อาจมาถกเถียงว่าจำเป็นไหม แต่เมื่อมาถึงจุดนี้แล้วต้องสร้างความสมานฉันท์ของคนในประเทศระยะเวลาหนึ่ง เพื่อให้จูนกันสักพัก แล้วก้าวเดินต่อไปในห้วงทำนองของระบอบประชาธิปไตย

ท่านหยอดท้ายก่อนปิดประชุมนิดหนึ่ง "ไม่ต้องมาอยู่ฝั่งทหาร ขอความกรุณาว่ามาอยู่ฝั่งประเทศไทยด้วยกัน พาประเทศไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองในภายภาคหน้าดีกว่า"

"ทุกอย่างที่ทหารทำมา ไม่ได้มุ่งหวังเพื่ออำนาจหรืออะไร ที่เข้ามาต้องมาแก้ทุกสิ่งอย่าง จึงเป็นเรื่องที่ต้องให้ความเห็นใจและให้กำลังใจแก่ ผบ.ทบ.มากกว่า หลายเรื่องท่านต้องขบคิด และช่วงที่ผ่านมาท่านไม่ได้พักผ่อน ท่านทุ่มเท ภาระทั้งหมดอยู่ที่ ผบ.ทบ. ผมอยากให้ทุกท่านเข้าใจ เราเป็นคนไทยด้วยกันทั้งนั้น จะยุติด้วยการสู้รบ มันไม่ใช่ทางออก"

เรื่องทั้งหมดมันเป็นอย่างนี้เลยนำมาเล่าสู่กันฟัง


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ภาระบนบ่า เผือกร้อนในมือ ความในใจ พล.อ.ประยุทธ์

view