สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ไขปริศนาปิดการเข้าถึง เฟซบุ๊ก-ไลน์

ไขปริศนาปิดการเข้าถึง"เฟซบุ๊ก-ไลน์

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...โพสต์ทูเดย์ออนไลน์

เหตุการณ์เฟซบุ๊กเข้าใช้งานไม่ได้เมื่อวันที่ 28 พ.ค.เป็นเวลาประมาณ 1 ชั่วโมง สร้างความปั่นป่วนไปทั่วสังคมของชาวออนไลน์ท่ามกลางบรรยากาศรัฐประหาร

เมื่อไล่เรียงลำดับเวลาของเหตุการณ์นี้ก็พบว่า บรรดาผู้ใช้เฟซบุ๊กเริ่มเข้าใช้งานไม่ได้ในเวลา 15.40 น.

จากนั้นข้อความผ่านไลน์และทวิตเตอร์ ก็ถูกกระหน่ำส่งออกมาเพื่อรายงานว่าไม่สามารถเข้าใช้งานเฟซบุ๊กได้ ไม่ว่าจะใช้งานผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตหรือเครือข่ายโทรศัพท์มือถือเจ้าใด

ความสงสัยเริ่มเพิ่มมากขึ้น เมื่อมีผู้สอบถามไปยังเพื่อนที่อยู่ในต่างประเทศถึงปัญหาการเข้าใช้งานเฟซบุ๊ก และได้รับคำตอบว่าเข้าไปใช้งานได้ตามปกติ

หลังปัญหาเกิดขึ้นไม่นาน รองโฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้แจ้งต่อสื่อมวลชนว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นเพราะระบบเชื่อมต่อต่างประเทศ (international gateway) มีปัญหา และได้เร่งประชุมกับผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ไอเอสพี) เพื่อแก้ไขแล้ว

กระทั่งเวลาประมาณ 16.19 น. เฟซบุ๊กจึงสามารถเข้าใช้งานได้อีกครั้ง

จากนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ทยอยออกมาแถลงคลี่คลายข้อสงสัยในทันที

16.30 น. สุรชัย ศรีสารคราม ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร(ไอซีที) ยืนยันว่ากระทรวงไอซีทีไม่มีคำสั่งปิดเว็บไซต์เฟซบุ๊กอย่างแน่นอน โดยตรวจสอบพบว่ารเกตเวย์ มีปัญหา เนื่องจากมีจำนวนผู้ใช้จำนวนมาก ทำให้ระบบล่ม

ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ระบุว่ากสทช.ไม่มีคำสั่งปิดกั้นการใช้งาน

16.53 น. พ.อ.วินธัย สุวารี รองโฆษก คสช. ได้แถลงผ่านทางโทรทัศน์ยืนยันว่าไม่มีการสั่งปิดเฟซบุ๊กแต่อย่างใด

แม้จะมีคำยืนยันจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทว่าข้อสงสัยยังคงมีอยู่อย่างกว้างขวางว่า การปิดกั้นการเข้าถึงโซเชียลมีเดียนั้นทำได้จริงหรือไม่ และหากทำได้จะทำอย่างไร

ดร.ปริญญา หอมเอนก เลขานุการสมาคมความมั่นคงปลอดภัยระบบสารสนเทศ ให้คำตอบว่าทางเทคนิคสามารถทำได้ แต่ในความเป็นจริงนั้นยากมาก

คำว่าปิดเฟซบุ๊ก ต้องแยกว่าปิดเป็นรายบุคคล หรือปิดทั้งหมดในไทยเลย ถ้าปิดเป็นรายบุคคล ทำได้ แต่ไม่ง่าย อาจมีหลุดบ้าง ประสิทธิผลอาจไม่สมบูรณ์ 100%

การปิดเฟซบุ๊กทั้งหมดในไทย ขอเรียนว่าเนื่องจากประเทศไทยไม่เหมือนจีน หรืออียิปต์ จีนมีแค่ 2 เกตเวย์ คือไชน่า เทเลคอมกับไชน่าโมบาย อียิปต์มีเกตเวย์เดียว ส่วนประเทศไทยนั้นมีเกตเวย์เชื่อมต่อต่างประเทศ ได้เป็นสิบๆเกตเวย์เพราะปัจจุบันมีบริษัทผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต ถึง 108 ราย

"พูดง่ายๆเมืองไทยมีสนามบินที่ทุกคนสามารถเดินทางออกไปนอกประเทศเยอะมาก"

การจะปิดทั้งหมดในครั้งเดียวอย่างพร้อมเพรียงกันทั้งหมดนั้นจึงเป็นไปได้ยากมากๆ ผู้มีอำนาจสั่งการต้องประสานขอความร่วมมือไปยังไอเอสพี เป็นร้อยๆราย ซึ่งยากที่ผู้ให้บริการจะยินยอม เพราะเป็นธุรกิจของเขาไม่เหมือนระบบทีวีพูล ที่สั่งไปที่สถานีโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ กดปุ่มตูมเดียว ปิดสัญญาณได้หมด อีกอย่างถึงปิดหมดก็ไม่ครอบคลุม 100 % อยู่ดี

ดร.ปริญญา ยังยืนยันด้วยว่า  โปรแกรมไลน์ อันถือว่าเป็นช่องทางสื่อสารยอดนิยมของคนไทยนั้น หากจะปิดกั้นก็จะต้องดำเนินการคล้ายกับเฟซบุ๊กและยากลำบากไม่แพ้กัน

ด้าน ไพบูลย์ ไพรไพศาลกิจ ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบเซิร์ฟเวอร์ ระบุถึงขั้นตอนทางเทคนิคในการปิดเฟซบุ๊กว่า

ในทางเทคนิควิธีแรกคือ บล็อกเกตเวย์ทั้งหมด เนื่องจากเวลาที่ใช้อินเตอร์เน็ต สัญญาณจะถูกส่งมาจากที่เดียวกันหมด ซึ่งแม้ไอเอสพีแต่ละเจ้าจะได้สัมปทานในการให้บริการลูกค้าแตกต่างกัน แต่สุดท้ายทุกเครือข่ายก็จะวิ่งไปหาเกตเวย์เหมือนกันหมด เมื่อบล็อกเกตเวย์ ไม่ว่าจะใช้บริการอินเทอร์เน็ตของเครือข่ายใดก็ตาม ก็ไม่สามารถเข้าถึงได้

อีกวิธีคือ บล็อกผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต เช่น ถ้าบล็อกเฉพาะเครือข่ายใดเครือข่ายหนึ่ง ผู้ใช้บริการเครือข่ายนั้นก็ไม่สามารถเข้าใช้งานได้ ขณะที่เครือข่ายอื่นๆยังใช้การได้ปกติ ซึ่งในทางปฏิบัติก็ต้องมีการร้องขอไปยังผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต

ขณะที่ ข้อสงสัย อีกประการที่กำลังถูกกล่าวถึงอย่างกว้างขวางในโลกออนไลน์ คือ เรื่องการสอดแนมกิจกรรมผ่านเครือข่ายโทรศัพท์ของผู้ที่เป็นเป้าหมายนั้นทำได้จริงหรือไม่ อย่างไร

ดร.ปริญญา บอกว่าปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีการลักลอบดักข้อมูลผ่านสื่อสารโทรคมนาคมอย่างถูกต้องตามกฎหมาย หรือ Lawful interception (LI) ซึ่งดำเนินงานโดยหน่วยงานด้านความมั่นคงแห่งชาติ  

"ยกตัวอย่างในสหรัฐอเมริกามีระบบนี้มานานกว่า 10 ปีแล้ว เพื่อการรักษาความปลอดภัยของบ้านเมือง ดักข้อมูลจากโจรผู้ก่อการร้าย รู้หมดใครจะวางระเบิด ใครจะก่ออาชญากรรม

เรื่องการดักข้อมูลนั้นเน้นเฉพาะเจาะจงไปที่คนบางคน หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมากกว่าพูดง่ายๆว่าต้องหาเป้าหมายก่อน พอรู้ว่าอยู่ที่ไหนก็ดักไปตรงนั้น ไม่ใช่ว่าจะดักหมดทุกคน ไม่ใช่ตะแกรงที่สามารถช้อนปลาหมดทั้งทะเลได้

เมืองไทยยังไม่มีระบบนี้ เพราะยังไม่มีกฎหมายรองรับ แต่ถ้าจะมีในอนาคตข้างหน้านี้ คงต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 6 เดือน ใช้งบเป็นพันล้านในการวางระบบ ถึงอย่างนั้นก็ต้องออกเป็นกฎหมายมาก่อน


ICTคุยเฟซบุ๊ก-ไลน์บล็อกคนทำผิดประกาศคสช.

จาก โพสต์ทูเดย์

ไอซีทีส่งเจ้าหน้าที่ระดับสูงบินไปเจรจา เฟซบุ๊ก-ไลน์-กูเกิล ขอให้ปิดการใช้งานบุคคลมรากระทำผิดประกาศ คสช.

พล.ต.ต.พิสิษฐ์ เปาอินทร์ ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) หัวหน้าคณะทำงานตรวจสอบสื่อสังคมออนไลน์ เปิดเผยว่า ภายในสัปดาห์หน้า เตรียมส่งเจ้าหน้าที่ระดับสูงของไอซีทีไปที่ประเทศสิงคโปร์ เพื่อเจรจากับเฟซบุ๊กและ กูเกิล และ อีกทีมไปที่ประเทศ ญี่ปุ่น เพื่อหารือกับผู้ให้บริการแอพพลิเคชั่นแชท ไลน์ (Line) เพื่อชี้แจงเหตุผลในการขอความร่วมมือ หากต้องระงับการใช้เฟซบุ๊กและไลน์เป็นรายบุคคล

ทั้งนี้ เนื่องจากไอซีทีจำเป็นต้องมอนิเตอร์และตรวจสอบการใช้งานเฟซบุ๊ก และ ไลน์ รวมถึงสื่อออนไลน์เป็นรายบุคคล โดยเฉพาะบุคคลที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษตามคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่ง ชาติ (คสช.) ซึ่งหากพบว่าหน้าเพจใด หรือ ไลน์ กรุ๊ปใด มีเนื้อหาหมิ่นเบื้องสูง การยุยงปลุกปั่นเพื่อให้แตกความสามัคคีของคนในประเทศ จะระงับบัญชีผู้ใช้งาน (แอคเคานท์) ดังกล่าวทันที

"ก่อนหน้านี้ได้มีเจ้าหน้าที่เดินทางไปติดต่อบ้างแล้ว ที่สิงคโปร์ 5 ครั้ง และที่ญี่ปุ่น 3 ครั้ง ซึ่งครั้งนั้นไปในนามของ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.)แต่ครั้งนี้ที่จะส่งไปจะเป็นครั้งแรกในนามของไอซีทีที่ต้องดำเนิน การตามคสช."พล.ต.ต.พิสิษฐ์กล่าว

ที่ผ่านมาไอซีทีได้ปิดแอคเคานท์เฟซบุ๊กไปแล้วเป็นจำนวนตัวเลข 2 หลัก และเพจต่างๆ ที่มีเนื้อหาขัดต่อคำสั่งคสช. อีกกว่า 100 เพจ ซึ่งต่อจากนี้จะตรวจสอบการใช้งานไลน์ โดยเฉพาะที่มีการตั้งเป็นกลุ่มๆ ให้มากขึ้น เพราะเป็นช่องทางสำคัญที่ทำให้เกิดการชุมนุมต่อต้านการทำงานของ คสช.

ขณะที่กรณีเฟซบุ๊กล่มเมื่อเย็นวันที่ 28 พ.ค. ที่ผ่านมา หลังการตรวจสอบพบว่า ช่องทางสำหรับเชื่อมต่อเซิร์ฟเวอร์มีปัญหา ทำให้เกิดการล้มเหลวขึ้น ซึ่งพบจุดหน่วงเกิดขึ้นในการเชื่อมต่อของเฟซบุ๊กจากส่วนกลางที่ประเทศ สิงคโปร์ โดยดูแลเซิร์ฟเวอร์เฟซบุ๊กทั้งหมดของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวในหลายประเทศก็มีปัญหาเช่นกัน อีกทั้งเป็นช่วงเวลาที่คนไทยเข้าใช้งานจำนวนมาก ทำให้ปริมาณการใช้งานหนาแน่น จึงเชื่อมต่อไม่ได้


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ไขปริศนา ปิดการเข้าถึง เฟซบุ๊ก ไลน์

view