สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ธนาคารกลางไหนจะขึ้นดอกเบี้ยก่อน

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

มาถึงเกือบกลางปี 2014 บรรดาธนาคารกลางของประเทศยักษ์ใหญ่ ต่างก็เริ่มๆ จะเปลี่ยนเกียร์ของตนเองจากการเหยียบคันเร่งมาเริ่มที่จะลองแตะๆ เบรก

ทางนโยบายการเงินกันบ้างแล้ว บทความนี้ จะขอลองตรวจสอบว่าธนาคารกลางแห่งไหนจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายก่อนกัน

ขอเริ่มอันดับแรกที่ธนาคารกลางอังกฤษ ซึ่งคาดว่าจะออกจากการผ่อนคลายนโยบายการเงินและขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นรายแรก ในทางทฤษฎีแล้ว แบงก์ชาติอังกฤษต้องดำเนินการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงนี้แล้ว เนื่องจากอัตราการว่างงานของอังกฤษในปัจจุบันลดลงต่ำกว่าที่ได้ตั้งเป้าหมายไว้ อย่างไรก็ดีที่ยังชะลอการขึ้นอัตราดอกเบี้ยก็เนื่องมาจากเหตุผลอย่างน้อย 3 ประการ ดังนี้

ประการแรก รัฐบาลอังกฤษกำลังมีเป้าหมายในการลดการขาดดุลงบประมาณภาครัฐภายในปีนี้ การขึ้นดอกเบี้ยรวดเร็วจนเกินไป อาจทำให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของอังกฤษลดลงมากจนอัตราส่วนระหว่างการขาดดุลงบประมาณรัฐบาลต่อจีดีพีสูงกว่าที่เป้าหมายไว้

ประการที่สอง ตัวเลขจากการทบทวนข้อมูลครั้งใหญ่ในรอบปีของสำนักงานสถิติของอังกฤษจะออกมาในวันที่ 30 กันยายนที่จะถึงนี้ ดังนั้น การรอตัวเลขดังกล่าวออกมาก่อนจะตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยนับว่าเป็นกลยุทธ์ที่ดีกว่า เนื่องจากจะได้ทราบทิศทางของเศรษฐกิจอังกฤษที่ชัดเจนมากขึ้น ทั้งนี้ ต้องไม่ลืมว่าอัตราการว่างงานของอังกฤษในไตรมาสแรกของปีนี้ที่ลดลงอย่างรวดเร็วกว่าที่แบงก์ชาติอังกฤษคาดการณ์ไว้เป็นอย่างมาก น่าจะได้รับการตรวจสอบจากการทบทวนของข้อมูลดังกล่าวอีกครั้ง

ประการที่สาม ณ วันนี้ ต้องบอกว่าอาจจะเร็วเกินไปที่ตลาดการเงินจะรับรู้ว่ามีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในทันที ไม่ต้องดูอื่นไกลแค่อดีตประธานธนาคารกลางสหรัฐ นายเบน เบอร์นันกี กล่าวไว้ว่าจะมีการลดขนาด QE เมื่อกลางปีที่แล้ว ก็เล่นเอาตลาดปั่นป่วนไปพักใหญ่ทั่วโลก



ที่สำคัญ ราคาบ้านของอังกฤษในตอนนี้ เริ่มเข้าใกล้ระดับตอนวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์เข้าไปทุกขณะ ดังรูปที่ 1 แม้ว่ามาตรการ Macro-prudential ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มเงินดาวน์บ้านหรือเพิ่มคุณภาพของหลักประกันจะสามารถลดความร้อนแรงดังกล่าวได้ในบางส่วน ทว่าไม่สามารถใช้ได้ผลเท่ากับการขึ้นอัตราดอกเบี้ย

หากมองภาพทั้งหมด ต้องบอกว่า การขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางอังกฤษน่าจะเริ่มขึ้นอย่างเร็วที่สุดก็ในช่วงปลายปีนี้



อันดับที่สอง ธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟด ในขณะนี้ จากรูปที่ 2 จะเห็นได้ว่าสภาพทางการเงินของสหรัฐมีการผ่อนคลายเป็นอย่างมาก จะเห็นได้ว่าอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรสหรัฐลดลงมาตั้งแต่ต้นปี แม้จะมีการลดขนาด QE หรือ Taper ก็ตาม บางคนอาจจะคิดว่าเป็นผลมาจากการลดลงของจีดีพีจนติดลบในไตรมาสที่หนึ่งของปีนี้อันเนื่องมาจากสภาพอากาศที่เลวร้าย การลดลงของอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรดังกล่าวมิได้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่ว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในปีหน้า ทว่าน่าจะมาจากการลดลงของอัตราดอกเบี้ยในจุดดุลยภาพที่แท้จริงมากกว่า ตามสุนทรพจน์ของนายวิลเลียม ดัดลีย์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ สาขานิวยอร์ก เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเขาเองเชื่อว่าอัตราเงินเฟ้อกำลังจะกลับมาที่ร้อยละ 2 ในปีหน้าและจะเริ่มทดลองแนวทางการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายแบบใหม่ที่เรียกกันว่า "Overnight Fixed-Rate Reverse Repurchase facility" หรือ ON RRP ซึ่งจะมีการบริหารจัดการระดับของอัตราดอกเบี้ยและขนาดของปริมาณเงินดังกล่าวที่ยืดหยุ่นขึ้น

จึงไม่น่าแปลกใจที่ เฟดน่าจะเป็นธนาคารกลางที่ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อจากธนาคารกลางอังกฤษ



อันดับที่สาม ธนาคารกลางญี่ปุ่น จากรูปที่ 3 จะเห็นได้ว่าตัวเลขทางเศรษฐกิจมหภาคของญี่ปุ่นดีขึ้นมาเป็นอย่างมาก รวมถึงการคาดการณ์ของธนาคารกลางญี่ปุ่นเองก็คาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อของญี่ปุ่นในปีนี้จะอยู่ที่ร้อยละ 1.9 อย่างไรก็ดี ภาคเอกชนของญี่ปุ่นกลับคาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อของญี่ปุ่นในปีนี้จะอยู่ที่ร้อยละ 1 ซึ่งตรงนี้ ย่อมทำให้นายฮารูฮิโกะ คูโรด้า ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น ต้องยังคงการผ่อนคลายนโยบายการเงินต่อไปอย่างน้อยก็จนถึงสิ้นปีหน้า



สำหรับการขยับตัวของธนาคารกลางยุโรปนั้น ผมจะขอยกยอดไปกล่าวถึงในสัปดาห์หน้าครับ


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ธนาคารกลาง ขึ้นดอกเบี้ยก่อน

view