สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ได้มากหรือน้อย ไม่สำคัญเท่าใช้เท่าไร

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ ชั้น 5 ประชาชาติ โดย เชอรี่ประชาชาติ cheryd@gmail.com

วันก่อนมีโอกาสไปเข้าคอร์สอบรมเรื่องการลงทุนถึงสองวันเต็ม ๆ แม้โดยรวมจะคิดว่าสิ่งที่ได้กลับมา เต็มสิบคงได้สักแค่ 1 หรือ 2

เอาเข้าจริง เป้าหมายสูงลิ่ว ซึ่งเป็นกฎข้อแรกในการเข้าอบรมยังคงเป็นเป้าหมายที่เลื่อนลอยเต็มที

ลงทุนอย่างไรให้ได้ร้อยล้าน ?

สำหรับบางคนอาจไม่ยากนัก บางคนไกลสุดเอื้อม และสำหรับบางคน แค่คิดก็ดูจะยิ่งใหญ่เกินไปด้วยซ้ำ

"บ้านที่ผมอยู่ตอนนี้ ซื้อมาในราคาสิบล้านบาทเมื่อ 5 ปีก่อน ในอีกยี่สิบปีข้างหน้า คุณต้องมีเงินมากกว่านี้หลายเท่าถึงจะซื้อได้ รถยนต์บีเอ็มฯที่ภรรยาผมซื้อ 4 ล้านกว่า ผ่านไป 4 ปี ขายได้ล้านกว่าบาท ในอีกสิบปีถ้าจะซื้อบีเอ็มฯคันนี้คงต้องมีเงินใกล้สิบล้าน" วิทยากรท่านหนึ่ง ซึ่งมีตำแหน่งเป็นผู้บริหารระดับสูงพูดถึงค่าเงินวันนี้ที่จะลดมูลค่าลงมากในอนาคต เงินร้อยล้านบาทอาจมหาศาล แต่ในอีก 20-30 ปีข้างหน้า เทียบกับราคาสินทรัพย์ทั้งบ้าน ที่ดิน รถยนต์ และค่าใช้จ่ายในการดูแลตนเองจนกว่าจะลาจากโลกนี้ไป ไม่ได้มากอย่างที่คิด

อีกยี่สิบปี เราอาจไม่จำเป็นต้องมีบ้านหลังใหญ่ มีรถหรูหราที่กินน้ำมันราวกับซดน้ำ แต่สิ่งที่วิทยากรพูดก็ทำให้กลับมาถามตนเองว่า วันนี้เรามีอะไรที่เป็นสินทรัพย์ที่จะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นในอนาคตบ้าง

แล้วก็ได้แต่รำพึงกับตัวเองว่า โอ้วมายก๊อดเงินเก็บพอมี แต่เก็บแบบไม่ได้วางแผนอะไรจริงจัง แค่เปิดบัญชีเงินฝากประจำเดือนบ้าง ลงทุนในกองทุนรวมบ้าง ในหุ้นบ้างแค่นั้น ทรัพย์สินที่แปรเปลี่ยนเป็นเงินได้ง่าย เช่น เพชร หรือทอง ไม่ต้องพูดถึง เพราะไม่ใช่รสนิยม

มนุษย์เงินเดือนธรรมดา ๆ ถ้ามีภาระต้องผ่อนบ้านผ่อนรถ ไม่ต้องถามถึงเงินเก็บ เพราะถ้ามีก็คงไม่ได้มากมายอะไรนัก

ที่หนักกว่าสำหรับตนเอง คือแม้ไม่มีภาระ และเก็บออมบ้าง แต่การใช้จ่ายเงินในแต่ละเดือนหมดไปกับความบันเทิงส่วนตัว อันได้แก่ การดื่มกิน และช็อปปิ้ง

วิทยากรคนเดิมเล่าว่า "มีผู้ใหญ่วัยใกล้เกษียณคนหนึ่งมาปรึกษาผม เขาทำงานอยู่ในองค์กรข้ามชาติ เงินเดือนเกือบสองแสน แต่งงานแต่ไม่มีลูก เงินเดือนแต่ละเดือนแทบไม่เหลือ และถ้าเกษียณจะได้เงินประมาณสิบล้านบาท"

"ผมถามเขาว่า มีเงินออมบ้างไหม และใช้เงินเดือนละประมาณเท่าไร เขาบอกว่า มีเงินเก็บประมาณ 3 ล้านกว่าบาท แต่ละเดือนก็ใช้เงินเดือนเกือบหมด เพราะมีกิจกรรมสันทนาการแต่ละเดือนไม่น้อย

"ถ้าเกษียณแล้ว คุณคิดว่าต้องใช้เงินเดือนละเท่าไร ลองคำนวณดูว่า เงินเก็บที่คุณมีรวมกับเงินที่คุณจะได้ตอนเกษียณ คิดว่าจะใช้ได้กี่ปี ผู้ใหญ่ท่านนั้นหน้าซีดเผือด

"โอ้วมายก๊อด" ข้าพเจ้ารำพึงกับตัวเองอีกครั้ง

สิ่งที่ได้จากการอบรมวันนั้นยังไม่ใช่การมีเป้าหมายเก็บออมหรือลงทุนอย่างไรให้ได้ร้อยล้าน แต่อย่างน้อยก็ทำให้ตระหนักถึงการวางแผนชีวิตในอนาคตว่า สำคัญมากแค่ไหน

ยิ่งได้ทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายประจำเดือนด้วยแล้ว ยิ่งรู้เลยว่า เราหมดไปกับสิ่งไม่จำเป็น รวม ๆ กันแล้วมากอย่างไม่น่าเชื่อ และทำให้เข้าใจด้วยว่า สิ่งที่สำคัญมากกว่าการมีรายได้เท่าไร คือการใช้จ่ายอย่างไร


ระหว่างคนเงินเดือนแสนกว่าบาท กับคนเงินเดือนสามหมื่น รายรับอาจแตกต่างกันมาก

เงินเดือนเยอะกว่ามีโอกาสเก็บออมได้มากกว่า แต่ไม่ได้หมายความว่า คนมีเงินเดือนเรือนแสนจะออมเงินในแต่ละเดือนได้มากกว่าคนเงินเดือนสามหมื่น

มากกว่าการเก็บออม คือการมีวินัยในตนเองอย่างเคร่งครัดและต่อเนื่อง มนุษย์เงินเดือนทุกคนจำเป็นต้องให้ความสำคัญ

เราแต่ละคนมองเห็นชีวิตในอนาคตของตนเองได้ไม่ยากนัก

ลองคำนวณเล่น ๆ จากเงินเก็บในแต่ละเดือนคูณระยะเวลาการทำงานจนเกษียณดูก็ได้ (สมมติว่า ถ้าบริษัทให้อยู่ได้ถึงเกษียณ)

ลองถามตนเองว่า อยากมีชีวิตแบบไหน

การทำให้เงินออมงอกเงยมีหลายรูปแบบ มากน้อยและมีความเสี่ยงแตกต่างกันไป จะฝากธนาคาร จะซื้อกองทุนรวม พันธบัตร ซื้อหุ้น หรือที่ดิน มีให้เลือกมากมาย เราสามารถออกแบบได้ตามความสามารถในการออม และความสามารถในการรับความเสี่ยงนั้น ๆ ได้

ได้มาเท่าไร ไม่สำคัญเท่าใช้ไปเท่าไร ใช้ไปเท่าไร ไม่สำคัญเท่าเก็บออมแค่ไหน

แต่สิ่งที่สำคัญกว่าการเก็บออมเท่าไรและเลือกลงทุนอย่างไร...วันนี้คุณเริ่มต้นแล้วหรือยัง ?


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ได้มากหรือน้อย ไม่สำคัญเท่า ใช้เท่าไร

view