สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

การบริหารจัดการ ความเสี่ยงในกิจการ (2)

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ เรื่องเล่าซีอีโอ โดย วิชัย เบญจรงคกุล

เมื่อครั้งก่อนผมจะพูดถึงความ เสี่ยงที่มักจะมาจากภายนอกองค์กร ครั้งนี้ขอกล่าวถึงความเสี่ยงที่มาจากในองค์กรบ้างว่ามีเรื่องอะไรที่เราใน ฐานะผู้บริหารองค์กรให้ความสนใจในการจัดการ เพื่อปรับลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น และจะทำให้มีผลกระทบกับการดำเนินกิจการของเรา

เรื่องของความเสี่ยงที่มีในองค์กร สิ่งที่ต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องสำคัญที่สุด คือ "คน"

เหตุผลที่ผมกล่าวว่า "คน" คือความเสี่ยงนั้น จริง ๆ ไม่ใช่เพราะ "คน" จะสร้างอันตรายแบบระเบิด หรือไฟไหม้ หรือความเสียหายแบบเครื่องจักรไม่ทำงาน หรือแบบภัยพิบัติธรรมชาติแต่อย่างใด

แต่ความเสี่ยงที่เกิดจาก "คน" นั้นสามารถนำความเสียหายมาสู่องค์กรและกิจการของเราได้มากที่สุดในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งที่เป็นความเสี่ยงที่เกิดจากความประมาท หรือความเสี่ยงจากการกระทำที่จงใจทำให้เกิดความเสียหายกับองค์กรและกิจการ ซึ่งอาจมีตั้งแต่ปริมาณจากขนาดเล็กน้อย จนกระทั่งขนาดมหาศาลจนทำให้กิจการล่มสลายได้



ดังนั้น "คน" จึงเป็นได้ทั้งปัจจัยบวกและปัจจัยลบขององค์กร พวกเราใช้ความพยายามและทรัพยากรจำนวนมากในการที่จะสร้างให้ "คน" เป็นทรัพยากรที่มีคุณค่ากับองค์กรและกิจการ อีกทั้งพยายามที่จะลดความเสี่ยงที่ "คน" จะกลายเป็นความเสี่ยงขององค์กรในแง่ต่าง ๆ

หากเราสามารถรู้ว่า "คน" คนไหนที่จะกลายเป็นความเสี่ยงขององค์กร เราก็คงไม่รับคนคนนั้นมาร่วมงานแน่นอน แต่เพราะเราไม่สามารถรู้ได้แน่นอนแม้ว่าจะมีประวัติของเขาอย่างละเอียดเวลามาสมัครงานก็ตาม

แม้ว่ามีบางกิจการที่ใช้หมอดูช่วยดู และคัดเลือกคนที่เข้ามาสมัครงานให้แน่ใจที่สุดว่าได้พยายามลดความเสี่ยงเรื่อง "คน" ให้มากที่สุด แต่ก็ยังไม่สามารถกำจัดความเสี่ยงจาก "คน" ให้หมดไปได้ เพราะ "คน" มักจะมีโอกาสเปลี่ยน เปลี่ยนทั้งความนึกคิด จิตสำนึก ความชอบ ความต้องการ ฯลฯ เปลี่ยนเพราะสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ

ไม่ว่าจาก "คน" ด้วยกันเองที่อยู่แวดล้อม เปลี่ยนด้วยปัจจัยอื่น ๆ เช่น ปัจจัยด้านความต้องการทางเศรษฐกิจ หรือความต้องการที่เปลี่ยนไปของตัวเอง สิ่งที่มีบทบาทในการเปลี่ยนคนและอาจมีอิทธิพลในการเปลี่ยนให้ "คน" กลายเป็นความเสี่ยงหรือเพิ่มความเสี่ยงแก่องค์กรและกิจการมากที่สุดนั่นคือ "คน" ด้วยกันเอง

เพราะคนคบคน คนฟังคน คนเชื่อคน คนไว้ใจคน คนมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดสามารถโน้มน้าวความคิดหรือเปลี่ยนพฤติกรรมของคนที่อยู่ใกล้ชิดกันได้

สิ่งเหล่านี้เป็นทั้งคุณและโทษสำหรับการบริหารความเสี่ยงในเรื่องของ "คน" ในองค์กร หากคนมีความเชื่อใจและไว้ใจกันมากเท่าไร ในแง่ผลดีก็ทำให้องค์กรนั้น ๆ สามารถขับเคลื่อนไปด้วยความสามัคคี แต่หากคนในองค์กรไม่มีความไว้วางใจและเชื่อใจกันแล้ว ย่อมเกิดแต่ความขัดแย้งและไม่มีความร่วมมือในการประกอบกิจการหน้าที่ ซึ่งย่อมเป็นโทษอย่างยิ่งสำหรับองค์กรและกิจการ

ดังนั้น หลาย ๆ องค์กรพยายามสร้างให้เกิดความสามัคคีระหว่างพนักงานต่าง ๆ ภายในองค์กร พยายามดูแลและจัดการเรื่อง "ความพึงพอใจ" ของคนในองค์กร เพื่อให้องค์กรสามารถจัดการดูแลให้ "คน" ในองค์กรนั้นทำงานได้อย่างมีคุณภาพและประสิทธิภาพมากที่สุด อีกทั้งพยายามลดความเสี่ยงที่อาจเกิดจาก "คน" ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลกระทบกับกิจการในด้านต่าง ๆ ได้ เช่น หากคนไม่พึงพอใจก็จะลาออก หรือหากมีความคับแค้นใจก็อาจสร้างปัญหาต่าง ๆ ในที่ทำงานและกับงานที่ทำอยู่

แม้กระทั่งอาจไปสร้างความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง หรือให้ข้อมูลที่ผิดกับลูกค้า สร้างผลเสียหายกับกิจการได้ ผู้บริหารจึงต้องหมั่นสำรวจว่าคนในองค์กรมีความพึงพอใจในงานและสถานที่ประกอบการมากน้อยเพียงไร

และ หากมีสิ่งที่สามารถปรับปรุงได้ก็ต้องพิจารณาดำเนินการหรือต้องสร้างความเข้า ใจที่ดีกับพนักงานถึงความรู้สึกห่วงใยและให้เขาเข้าใจว่าองค์กรพยายามทำดี ที่สุด บางครั้งอาจไม่ได้ดั่งใจของทุกคน หากมีเจตนาที่ดีและมีการสื่อสารที่ดีแล้วย่อมสร้างความเข้าใจที่ดีและนำสู่ ความรู้สึกที่ดี ๆ กับองค์กร และกิจการได้สามารถลดความเสี่ยงที่คนในองค์กรจะมีความไม่พอใจหรือไม่เข้าใจ และอาจจะส่งผลด้านลบกับกิจการ

แน่นอนครับว่า กลไกในการดูแล "คน" ในกิจการย่อมไม่พ้นหน้าที่ของฝ่ายบริหาร และหน่วยงานบุคลากรที่ต้องใส่ใจเรื่องต่าง ๆ

ยิ่งเรื่องเล็ก ๆ ยิ่งเป็นเรื่องจุกจิกที่ละเลยไม่ได้ หลาย ๆ ครั้งที่เรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ เป็นสาเหตุแห่งความไม่พึงพอใจของคน เรื่องเล็ก ๆ เป็นเรื่องอะไรบ้างแต่ละองค์กรอาจมีไม่เหมือนกันครับ

บางทีก็เป็นแค่เรื่องโต๊ะเก้าอี้ บางทีก็เป็นเรื่องสวัสดิการ ฯลฯ

ดังนั้น ผู้บริหารคงต้องใส่ใจในการสอบถามเพื่อให้แน่ใจว่าสามารถปรับปรุงหรือจัดการให้เหมาะสมอย่างไร และต้องสามารถสื่อสารสิ่งเหล่านั้นให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องกับพนักงานหรือ "คน" ในองค์กรด้วย


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : การบริหารจัดการ ความเสี่ยงในกิจการ

view