สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เหตุที่ผู้นำ หลงทาง

เหตุที่ผู้นำ "หลงทาง"

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




บ้านเมืองเราเดินทางมาจนถึงวันนี้ ต้องถือว่าหายใจไม่ทั่วท้องกันมาเป็นเวลานาน

เราก็ได้แต่หวังกันว่าความสามัคคีจะคืนกลับมา และบ้านเมืองเราจะพ้นจากปัญหาที่คาราคาซังนับสิบปี เสียที

ต้องยอมรับว่ารากเหง้าของปัญหา มาจากการที่คนจำนวนมาก ออกมาต่อต้านระบอบทักษิณ และต้องการให้มีการปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง ในขณะที่คนจำนวนมากเช่นกัน สนับสนุนรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง และต้องการให้เลือกตั้งโดยเร็ว ตามระบอบประชาธิปไตย

การปฏิวัติหลายครั้งที่ผ่านมา ข้อกล่าวหาที่มีต่อผู้นำ คือเป็นผู้มีส่วนร่วมในการคอร์รัปชัน และสร้างความร่ำรวยให้แก่ตนเอง พวกพ้อง และครอบครัว จนสังคมรับไม่ได้อีกต่อไป

ผู้นำบางคน เริ่มต้นก็ได้รับความนิยมอย่างสูง แต่ในที่สุดกลับจบลงด้วยการที่ประชาชนจำนวนมากออกมาขับไล่ จึงเป็นคำถามที่น่าสนใจว่า อะไรหรือที่ทำให้ผู้นำ “หลงทาง”

คำตอบง่ายๆโดยไม่ต้องคิดมาก ก็คงจะเป็น “เพราะอำนาจทำให้ตาบอด” แต่นั่นเป็นคำตอบเปรียบเปรยทั่วไปที่ง่ายเกินไป แม้จะมีส่วนจริงอยู่ไม่น้อย แต่คำตอบที่ดี ควรจะมาจากการวิเคราะห์อย่างมีตรรกทางวิชาการ

ดร. บิล จอร์จ ศาสตราจารย์แห่งฮาร์วาร์ด บิสสิเนส สคูล ผู้เชี่ยวชาญเรื่องผู้นำ ได้ศึกษาเรื่องผู้นำทางการเมือง หรือทางธุรกิจ ซึ่งประสบความสำเร็จจนก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งซีอีโอ แต่แล้วก็กระทำความผิดหลากหลาย เช่นเบียดบังเงินของแผ่นดิน ขององค์กร หรือแอบประพฤติผิดทางเพศ เป็นต้น

เขาเริ่มด้วยการตั้ง 4 คำถามว่า “เหตุใดผู้นำที่ถูกจับได้ว่าทำผิด (ทั้งๆที่บางคนก็ได้รับการยอมรับมานาน ว่าเป็นคนดีมีคุณธรรม) จึงเอาตนเองเข้าไปเกี่ยวข้องกับการกระทำที่ผิดกฎหมายหรือจริยธรรมเช่นนั้น” “เหตุใดจึงกล้าเอาอนาคตและเกียรติยศของตนเองเข้าไปเสี่ยง” “พวกเขาคิดว่าจะไม่มีวันถูกจับได้หรืออย่างไร” และ “ความผิดที่เขาทำครั้งนี้ เป็นเพียงครั้งล่าสุด หรือว่าก่อนหน้านี้เขาได้ทำมาแล้วหลายครั้ง”

บิล จอร์จ บอกว่าคงมีผู้นำไม่กี่คนนักหรอก ที่ “ตั้งใจ” ตั้งแต่แรกเริ่มเลยว่าจะเข้าไปโกง หรือทำความผิดทางจริยธรรม ส่วนใหญ่มักเป็นเพราะเมื่อได้ตำแหน่งแล้วพวกเขาบางคนกลับ “หลงทาง” เสียมากกว่า และหลายคนก็รู้สึกเสียใจในภายหลัง

คนที่คิดจะเป็นผู้นำทางการเมือง ข้าราชการ หรือนักธุรกิจ จึงต้องถามตนเองด้วยคำถามง่ายๆว่า “ฉันอยากเป็นผู้นำ เพราะอะไร?” คำถามนี้แม้จะฟังดูง่าย แต่ก็ต้องถาม เพราะถ้าคำตอบออกมาว่าเพราะ “อยากมีอำนาจ อยากมีเงิน และมีเกียรติยศ” บิล จอร์จ บอกว่า ก็ไม่ใช่ความผิดอะไร เพียงแต่คนประเภทนี้เมื่อได้เป็นเบอร์หนึ่งแล้ว ก็มีโอกาสที่จะ “หลงทาง” ได้ง่ายกว่าคนอื่น แถมวันหนึ่ง อาจจะถึงขนาดรู้สึกว่า การที่องค์กร หรือประเทศชาติอยู่ได้อย่างดี “ก็เพราะฉัน”

เขาอธิบายต่อว่า อำนาจ เงิน และเกียรติยศ ถ้าหากอยากได้ก็ไม่ใช่ความผิด เพียงแต่ผู้นำคนนี้ จะต้องมี “วาระในหัวใจ ที่ยิ่งใหญ่กว่าประโยชน์ของตนเองและพรรคพวก” เป็นพื้นฐานไว้ก่อน เท่านั้นเอง

บิล จอร์จ อธิบายว่า อำนาจ เงิน และเกียรติยศ ที่มีอยู่ในตอนเริ่มต้นนั้น จะเริ่มพัฒนาไปเรื่อยๆ และต้องการมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และเมื่อทำอะไรได้สำเร็จ ก็จะเริ่มเฉลิมฉลอง และเริ่มรู้สึกมากขึ้นเรื่อยๆว่า “ฉันคือคนทำ” จากนั้น ก็เริ่มไม่อยากฟังเสียงวิจารณ์ในทางลบ เหลือแต่คนแวดล้อมที่สรรเสริญเท่านั้น แล้วในที่สุดก็ “หลงทาง”

ที่ บิล จอร์จ กล่าวนั้น ผมว่าพวกเราคนไทย เข้าใจดี (ไม่ต้องรอให้อาจารย์ฮาร์วาร์ด มาอธิบาย ก็ได้!) เพราะเราเห็นจากผู้นำที่หลงทาง คนแล้วคนเล่า ที่ผ่านมาในชีวิตเรา เป็นเช่นนี้เสมอมา และเขายังเสริมว่า ระหว่างที่หลงทาง ก็อาจทำอะไรผิด แต่จะไม่มีวันยอมรับความผิดเหล่านั้น และถ้าหากผู้นำคนนั้นขึ้นมาได้ด้วยการ “ทำลาย” คู่แข่งในระหว่างทาง พอมีข้อผิดพลาดใดๆเกิดขึ้น ก็จะเริ่มระแวงว่าเป็นเพราะการให้ร้ายของ คู่แข่ง ฯลฯ ดังนั้น แทนที่จะแก้ไข กลับปกป้องความผิดของตนเองมากขึ้น คือหลงทางต่อไปยิ่งขึ้น นั่นเอง

แล้วผู้นำจะป้องกันตนเองอย่างไร ไม่ให้หลงทาง? ตรงนี้ สำคัญมาก บิล จอร์จ บอกว่าก็ต้องกลับมาคิดใหม่ แทนที่จะมองว่าตนเองนั้นเป็น “พระเอก” หรือ “นางเอก” ก็ควรมองเสียใหม่ว่าเขาหรือเธอ เป็นเพียง “คนรับใช้” ของประชาชนหรือของผู้ใต้บังคับบัญชา เท่านั้น ซึ่งวิธีคิดเช่นนี้ แม้จะเป็นเรื่องที่ดี แต่ก็เป็นเรื่องที่ทำได้ยากมาก เพราะผู้นำส่วนใหญ่ มักขึ้นมาด้วยการมีอัตตาสูง (Ego) จึงลดลงไปได้ยาก

ถ้าจะยกตัวอย่างแบบไทยๆ ก็ง่ายมาก ไม่ต้องมองอื่นไกล ดูแค่ข้าราชการที่อยู่ได้ด้วยเงินเดือนจากประชาชน ถามจริงๆเถอะ ว่ามีข้าราชการสักกี่คน กี่เปอร์เซ็นต์ ที่ยังตระหนักเรื่องนี้ และทำตนเป็นคนรับใช้ของประชาชน จริงๆ (วันนี้ บ้านเมือง กำลังจะเปลี่ยนแปลงอีกแล้ว ข้าราชการทั้งหลาย โปรดเปลี่ยนเรื่องนี้เสียทีก็ดี)

คำแนะนำอีกข้อหนึ่งของ บิล จอร์จ ก็คือเป็นการยากที่ผู้นำจะยืนหยัดให้มั่นคงและ “เท้าติดดิน” ได้ด้วยตนเอง อย่างไรเสียก็ต้องมีคนคอยช่วยคิด ช่วยกระตุก และคนที่ทำหน้าที่นี้ได้ มีอยู่สองคน คนหนึ่งคือคู่สมรส ซึ่งควรทำหน้าที่คอยกระตุกผู้นำ เมื่อเริ่มก้าวหลงทาง ซึ่งตรงนี้ ก็อีกนั่นแหละ สำหรับประเทศไทย บ่อยครั้งมาก ที่เป็นไปในทางตรงกันข้าม คือคู่สมรส กลับก้าวเข้าไปร่วมขบวนการเสียเอง และมากขึ้น มากขึ้น จนกระทั่งทางเข้าหลังบ้านนั้น “มันแผล็บ” เลยทีเดียว

อีกคนหนึ่งก็คือ ที่ปรึกษาใกล้ชิด ซึ่งควรเป็นผู้ที่มีความกล้า ที่จะพูดความจริง ได้รับอนุญาตให้พูดความจริง ให้กระตุกผู้นำได้เสมอ แต่ในทางปฏิบัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สำหรับผู้นำไทย ตรงนี้ก็หายากมากเช่นกัน เพราะขึ้นอยู่กับความกล้าของที่ปรึกษา และความพร้อมของผู้นำที่จะรับฟังข้อท้วงติง (เพราะเขาอาจจะกำลัง “บ้าอำนาจ” อยู่มากๆ ก็ได้)

ด้วยเหตุต่างๆ ดังกล่าวข้างต้นแล้วกระมัง ผู้นำไทยในอดีตที่ผ่านมาหลายต่อหลายคน จึง “หลงทาง” ทั้งๆ ที่เริ่มต้นการเดินทางได้อย่างสง่างาม เวลานี้ ไทยกำลังเปลี่ยนผู้นำอีกแล้ว จึงขอฝากคนใกล้ชิด ให้นำข้อคิดนี้เสนอเสียด้วย ก่อนที่เขาจะเสียคน เพราะ “หลงทาง” ไปอีกคน

ประเทศไทยถอยมาไกลมากแล้ว....ไม่ต้องการหลงทางอีกแล้วครับ


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ผู้นำ หลงทาง

view