สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ประชานิยมพลังงาน สูญรายได้ไม่แพ้ จำนำข้าว ?

ประชานิยมพลังงาน สูญรายได้ไม่แพ้'จำนำข้าว'?

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




ประชานิยมพลังงาน สูญรายได้ไม่แพ้"จำนำข้าว" ยันไทยไม่ใช่ซาอุฯตะวันออก จี้รัฐงดแทรกแซง รสก.พลังงาน

"การปฏิรูปพลังงาน" ถูกกล่าวถึงว่าเป็นหนึ่งในแนวทางที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะเข้าไปดูแลให้เกิดความโปร่งใส โดยเฉพาะการปรับกรรมการ (บอร์ด) "รัฐวิสาหกิจพลังงาน" ซึ่งเป็นเป้าหมายในอันดับต้นๆ จากผลประโยชน์มหาศาลในธุรกิจน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ กับข้อกังขาการ "ล้วงลูก" ของฝ่ายการเมืองผ่านการส่งคนของตัวเองเข้าไปนั่งเป็นบอร์ด

ด้าน "นโยบายพลังงาน" ยังเป็นอีกประเด็นที่มีข้อขัดแย้ง โดยเฉพาะการกำหนด "ราคาพลังงาน" จาก "ชุดข้อมูล" ที่ต่างกันของบุคคลหลายฝ่าย สังคมจึงจำเป็นต้องแสวงหาข้อเท็จจริง กลายเป็นที่มาของ "กลุ่มปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืน" ที่เกิดจากการรวมตัวของเหล่า "กูรูพลังงาน" และผู้ที่เกี่ยวข้องกว่า 32 ชีวิต เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงเหล่านี้สู่สาธารณะ เป็นการปฏิรูปในสิ่งที่เข้าใจผิดๆ ให้ถูกต้อง

กลุ่มปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืน นำทีมโดยปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน อดีตกรรมการผู้อำนวยการใหญ่การบินไทย (ดีดีการบินไทย) เขาบอกว่า ที่ผ่านมามีความ "ไม่ถูกต้อง" ในการให้ข้อมูลด้านพลังงาน ทำให้ประชาชนส่วนหนึ่งเข้าใจสถานการณ์พลังงานไทยบิดเบือน คลาดเคลื่อน

เช่น ไทยเป็นผู้ผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติรายใหญ่ของโลก เหตุใดจึงยังคง "ขายน้ำมันแพง" ข้อเท็จจริงคือปัจจุบันไทยยังต้องนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศมากถึง 50% เมื่อเทียบกับปริมาณความต้องการใช้ในประเทศ 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ต้องนำเข้าน้ำมัน 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน คิดเป็นเงินนำเข้าพลังงานปีละกว่า 1 ล้านล้านบาท

ไทยจึงไม่ได้เป็น "ซาอุดิอารเบียตะวันออก" อย่างที่หลายฝ่ายกล่าวอ้าง

ปิยสวัสดิ์ อธิบายว่า สิ่งที่กลุ่มปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืนต้องการนำเสนอ คือ การปฏิรูปพลังงานใน 6 หัวข้อ ประกอบด้วย

1.การปรับโครงสร้างราคาพลังงาน ให้นำไปสู่การใช้อย่างมีประสิทธิภาพ สร้างความเป็นธรรมต่อผู้ใช้น้ำมันประเภทอื่น โดยเฉพาะผู้ใช้น้ำมันเบนซิน จะต้อง "ลดการอุดหนุน" ราคาพลังงาน เพราะถือเป็นการบิดเบือนโครงสร้างราคาพลังงาน

ช่วงที่ผ่านมา ไทยอุดหนุนราคาก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) ผ่านกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซล กำหนดไว้ว่าราคาหน้าสถานีบริการน้ำมันต้องจำหน่าย "ไม่เกินลิตรละ 30 บาท" ผ่านการลดการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลจนแทบจะไม่มีการจัดเก็บ เมื่อเทียบกับการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันเบนซินที่จัดเก็บในอัตราสูงกว่าลิตรละ 5 บาท

การดำเนินการดังกล่าวทำให้ประเทศสูญรายได้จากการจัดเก็บภาษีสรรพสามิต "ปีละไม่ต่ำกว่าแสนล้าน" ขณะที่การอุดหนุนราคาก๊าซหุงต้ม 4 ปีที่ผ่านมาคิดเป็นเงินกว่า "1.7 แสนล้านบาท"

ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาไทยจึง "สูญเสีย" รายได้จากการอุดหนุนราคาพลังงาน "ไม่น้อยกว่า" ความสูญเสียจากการขาดทุนโครงการรับจำนำข้าว

ปิยสวัสดิ์ ยังเสนอว่า หากรัฐต้องการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย สามารถดำเนินการได้ผ่านการ "ตั้งงบประมาณ" ให้ชัดเจน ถือเป็นการช่วยเหลือ "เฉพาะกลุ่ม" ไม่ควรนำเงินจากผู้ใช้น้ำมันเบนซินไปอุดหนุนผู้ใช้น้ำมันดีเซลทั้งประเทศเช่นนี้

2.เสนอให้เพิ่มการแข่งขันในธุรกิจพลังงาน ทำให้ตลาดน้ำมันมีการแข่งขันมากขึ้น โดยเสนอให้ พระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2542 (หมวดการมีอำนาจเหนือตลาด) บังคับใช้ครอบคลุม "รัฐวิสาหกิจ" อย่าง บมจ.ปตท.เพื่อสร้างการแข่งขันให้เท่าเทียมกันระหว่างบริษัทน้ำมันเอกชน กับ ปตท.

เขายังเสนอด้วยว่า กระทรวงการคลังควรลดการถือหุ้นใน ปตท.ให้พ้นสภาพความเป็นรัฐวิสาหกิจอย่างแท้จริง และลดการถือหุ้นบริษัทพลังงานอื่นๆ เช่น ใน บมจ.บางจากปิโตรเลียม ในโรงกลั่นสตาร์ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง (เอสพีอาร์ซี) เพื่อแยกผู้กำหนดนโยบายออกจากการดำเนินธุรกิจ ทำให้การแข่งขันเป็นธรรมมากขึ้น

ในส่วนของธุรกิจท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ผูกขาดโดยธรรมชาติ ควรแยกธุรกิจนี้ออกจาก ปตท.ออกไปตั้งบริษัทใหม่ เพื่อให้สะดวกในการกำกับดูแล โดยเฉพาะการให้ "บุคคลที่สาม" (Third Party Access) เข้ามาใช้บริการส่งก๊าซฯผ่านท่อฯ

3.รัฐควรลดการแทรกแซงการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจพลังงาน รวมถึงรัฐวิสาหกิจอื่นๆ เช่น การขออนุมัติการลงทุนจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) หรือส่งคนมาเป็นบอร์ด มีการแต่งตั้งโยกย้าย และกำหนดผลตอบแทนให้เหมาะสม

"รัฐวิสาหกิจบางแห่งรัฐไม่จำเป็นต้องถือหุ้น ถ้ารัฐเข้าไปก้าวก่ายกิจการอาจเจ๊ง ปตท.ตอนนี้ผลดำเนินงานยังไม่มีปัญหา แต่ถ้าปล่อยให้การเมืองเข้าไปแทรกแซงมากๆ อนาคตก็อาจจะเป็นเหมือนการบินไทยที่ขาดทุนติดต่อกัน 4 ไตรมาส และจะเป็น 6 ไตรมาสในอนาคต โดยไตรมาสแรกปีนี้ขาดทุนครั้งแรกในรอบ 54 ปี เทียบกับที่ผ่านมาไตรมาสแรกจะเป็นไตรมาสที่กำไรดีที่สุด"

4.ปรับปรุงการกำหนดนโยบายและการขออนุญาตให้โปร่งใส โดยเฉพาะใบอนุญาตตั้งโรงไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ซึ่งต้องขอทั้งใบอนุญาต รง.4 จากกรมโรงงานอุตสาหกรรม และใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงไฟฟ้า จากกระทรวงพลังงาน ตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ.2550 ซึ่งถือเป็นการขอใบอนุญาตที่ซ้ำซ้อน

5.เร่งหาข้อสรุปพื้นที่ทับซ้อนด้านพลังงานระหว่างไทยกับเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-กัมพูชา เพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศอย่างเร่งด่วน เนื่องจากสัมปทานสำรวจและผลิตปิโตรเลียมเดิมกำลังจะหมดอายุลง ขณะที่ในระยะ 5 ปีที่ผ่านมาไม่สามารถออกสัมปทานใหม่ได้ สวนทางกับปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง

หากระยะเวลา 10 ปีจากนี้ ไทยยังไม่มีการพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมเพิ่มเติม จะเกิดผลกระทบต่อ "ค่าไฟ" อย่างรุนแรงและต่อเนื่อง จากการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) จำนวนมหาศาล หากนำเข้าไม่ได้ก็ต้องใช้น้ำมันเตามาปั่นไฟแทน ทำให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นมาก

6.ส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนให้เป็นทางเลือกในการผลิตและการใช้ไฟฟ้า เช่น การใช้เชื้อเพลิงชีวภาพ และการใช้เชื้อเพลิงประเภทอื่นในยานพาหนะ หรือแม้แต่รถยนต์ขับเคลื่อนพลังงานไฟฟ้า (ไฮบริด) คาดว่าจะมีใช้แพร่หลายในระยะ 10-20 ปีนับจากนี้


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ประชานิยมพลังงาน สูญรายได้ ไม่แพ้ จำนำข้าว

view