สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

อำนาจดาบสองคม คสช.

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

นับเป็นเวลากว่า 10 วันแล้ว สำหรับการบริหารประเทศของ “คณะรักษาความสงบแห่งชาติ” หรือ คสช. ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก เป็นหัวหน้า คสช. เรียกได้ว่าเวลานี้ พล.อ.ประยุทธ์ คุมอำนาจเบ็ดเสร็จทั้งอำนาจฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ ยกเว้น ฝ่ายตุลาการ ได้เป็นที่เรียบร้อยไปจนกว่าจะมีรัฐบาลชุดใหม่และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา คสช.หมดเวลาไปกับการควบคุมสถานการณ์ด้านความมั่นคง หลังจากปรากฏความเคลื่อนไหวต่อต้านการบริหารประเทศของ คสช.เป็นรายวัน

การชุมนุมทางการเมืองหากเกิดขึ้นภายใต้สถานการณ์ปกติก็ไม่น่าจะมีปัญหา อะไร แต่หากมาอุบัติขึ้นในช่วงสถานการณ์พิเศษอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ถือได้ว่าเป็นแรงเสียดทานที่จะเกิดขึ้นสะสมและกัดกร่อนเสถียรภาพของ คสช.ไปเรื่อยๆ

เพราะนั่นหมายความว่ายิ่งเกิดม็อบต้าน คสช.มากขึ้นเท่าไหร่ ก็จะยิ่งสร้างปัญหาให้กับ คสช.มากขึ้นเท่านั้น เนื่องจากคำสั่งและประกาศของ คสช.จะไม่มีความศักดิ์สิทธิ์ในฐานะเป็นรัฏฐาธิปัตย์

จึงเห็นได้ว่า คสช.มักจะพยายามหาทางสยบความเคลื่อนไหวของฝ่ายต้านทั้งผ่านกระบวนการสื่อสาร มวลชน เช่น การให้ทีมโฆษกของกองทัพบกออกมาแถลงแสดงท่าทีของกองทัพเพื่อตักเตือนกลุ่ม เคลื่อนไหว หรือการประชาสัมพันธ์ผลงานของ คสช.ที่ได้มีการจ่ายเงินให้กับชาวนาที่เข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าว เพื่อซื้อใจมวลชนของพรรคเพื่อไทยไม่ให้ออกมาต่อต้านทหาร เช่นเดียวกับการจัดรายการพิเศษ “เดินหน้าประเทศไทย” ทุกวัน เพื่อให้ประชาชนเห็นผลงานของ คสช.

ไปจนถึงผ่านกระบวนทางกฎหมายอย่างการออกประกาศให้อำนาจศาลทหารมีสิทธิไต่ สวนดำเนินคดีกับพลเรือนในคดีความมั่นคงต่อราชอาณาจักรได้ จากเดิมที่ศาลทหารจะมีไว้เพื่อเอาผิดกับทหารที่แตกแถว หรือการมีคำสั่งเรียกตัวผู้ทรงอิทธิพลทางการเมืองมารายงานตัว

การเรียกบิ๊กการเมืองให้มารายงานกับ คสช. ในช่วงหลายวันก่อนหน้านี้นั้นมีความแตกต่างจากสมัยเมื่อครั้ง พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็น ประมุข (คปค.) ทำการรัฐประหารล้มรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เมื่อปี 2549 อย่างสิ้นเชิง

ครั้งนั้น คปค.ได้ออกคำสั่งเรียกเฉพาะนักการเมืองที่เป็นเครือข่ายของ พ.ต.ท.ทักษิณ อาทิ “เนวิน ชิดชอบ” “ยงยุทธ ติยะไพรัช” ซึ่งเวลานั้นทั้งสองคนถือเป็นองครักษ์พิทักษ์ทักษิณตัวจริงด้วยการเป็นผู้ สร้างมวลชนสนับสนุนรัฐบาลพรรคไทยรักไทยในช่วงก่อนการรัฐประหาร ทำให้ภายหลัง คปค.ได้ล้มรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ จึงจำเป็นต้องเรียกบุคคลทั้งสองเข้ามารายงานตัวและควบคุมตัวเอาไว้ เพื่อสกัดการตั้งกลุ่มบุคคลต่อต้าน คปค.

มาในครั้งนี้ คสช.ไม่ได้ดำเนินรอยตามแบบที่ คปค.เคยทำไว้

โดย คสช.ได้เรียกตัวบุคคลมารายงานตัวและดำเนินควบคุมตัวแบบ “จัดหนัก-จัดเต็ม” ไม่ว่าจะเป็นแกนนำพรรคประชาธิปัตย์ พรรคเพื่อไทย พรรคร่วมรัฐบาล แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ กปปส. กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ไม่เว้นแม้กระทั่งนักวิชาการและผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งรวมจำนวนที่ คสช.ออกคำสั่งเรียกไปนั้นมีเกินกว่า 100 คน

สิ่งที่ คสช.ได้ลงมือทำไป แน่นอนว่า พล.อ.ประยุทธ์ ต้องชั่งน้ำหนักมาก่อนแล้วว่า จะต้องมีทั้งเสียงชื่นชมและเสียงตำหนิ

ด้านหนึ่ง คสช.ต้องการพยายามสื่อให้เห็นว่ากองทัพไม่ได้เลือกปฏิบัติกับฝ่ายหนึ่งฝ่าย ใดและป้องกันไม่ให้ฝ่ายตรงข้ามนำประเด็นนี้เป็นเงื่อนไขในการปลุกปั่นมวลชน ให้แสดงท่าทีต่อต้าน คสช. และเหนืออื่นใดจะได้ช่วยให้การรัฐประหารของ คสช.ไม่ถูกมองว่ามีเป้าหมายที่การล้มรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เพียงอย่างเดียว แต่เป็นไปเพื่อสร้างความปรองดองให้ทุกฝ่ายมาร่วมปฏิรูปประเทศภายใต้กติกา ใหม่ที่ทุกฝ่ายให้การยอมรับ

แต่พอเอาเข้าจริงกลับกลายเป็นว่าการให้บุคคลมารายงานตัวมีเสียงตำหนิมากกว่าเสียงชื่นชม โดยเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ คสช.ถูกครหา คือ การเรียกนักวิชาการไปรายงานตัว และการออกประกาศห้ามการแสดงความคิดเห็นในลักษณะที่เป็นการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของ คสช.

แม้เจตนาของ คสช.จะเป็นไปเพื่อการรักษาความสงบและในทางปฏิบัติก็ไม่ได้ห้ามการแสดงความ คิดเห็นอย่างเข้มงวด แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า คสช.ได้สร้างบรรยากาศที่ไม่เป็นประชาธิปไตยขึ้นมาในทางอ้อม ซึ่งจะไม่เป็นผลดีต่อการปฏิรูปประเทศอันเป็นภารกิจสำคัญของ คสช.ในระยะยาว

ในเรื่องนี้ได้มีข้อเรียกร้องออกมาจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) แล้วว่า การปฏิรูปประเทศจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อไม่มีการจำกัดเสรีภาพทางวิชาการ

“การปฏิรูปเป็นการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง ซึ่งจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อคนในวงกว้าง จึงควรเกิดขึ้นภายใต้บรรยากาศการถกเถียงแลกเปลี่ยนที่ทุกฝ่ายสามารถมีส่วน ร่วมในการแสดงออกได้อย่างเท่าเทียมและเสรีไม่ควรดำเนินการปฏิรูป โดยกีดกันผู้ที่เห็นต่างออกไปจากกระบวนการปฏิรูป” ข้อสังเกตส่วนหนึ่งจาก สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานทีดีอาร์ไอ

สำหรับรูปธรรมของปัญหาที่ คสช.จะต้องเผชิญต่อไปอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ หากยังไม่มีการแก้ไขคือ เกิดกระบวนการไม่ยอมรับสภาปฏิรูปการเมือง

ตราบใดที่ คสช.ยังไม่ยกเลิกการสั่งห้ามเรื่องการแสดงความคิดเห็น ย่อมจะถูกตั้งคำถามว่ามีหลักประกันอะไรที่เป็นเครื่องยืนยันว่า สภาปฏิรูปการเมืองที่ประกอบไปด้วยผู้ทรงคุณวุฒิด้านเศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ สังคมศาสตร์ จะสามารถทำงานได้อย่างมีอิสระโดยปราศจากการแทรกแซงจากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด
ต้อง ไม่ลืมว่าการปฏิรูปประเทศเชิงโครงสร้าง จะเป็นผลสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อได้รับฉันทานุมัติจากหลายฝ่าย แต่เมื่อ คสช.กลับออกประกาศสั่งห้ามไม่ให้แสดงความคิดเห็น จึงไม่ต่างอะไรกับการปิดกั้นกระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชน

เช่นนี้ต่อให้สภาปฏิรูปการเมืองสามารถทำคลอดรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หรือโรดแมปที่นำไปสู่การปฏิรูปประเทศออกมาได้เป็นผลสำเร็จ ก็ยากที่จะทำให้ทุกฝ่ายยอมรับกับข้อเสนอที่ออกมาได้ ซึ่งอีกฝ่ายย่อมจะใช้เรื่องนี้เป็นข้ออ้างว่ารัฐธรรมนูญที่ออกมาไม่มีความ ชอบธรรม เพราะคณะผู้ยกร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้มีเสรีภาพทางวิชาการในการทำงาน จึงไม่อาจเป็นรัฐธรรมนูญที่เรียกได้ว่าเป็นรัฐธรรมนูญของประชาชนได้

ดังนั้น ถึงเวลาแล้วที่ คสช.จำเป็นต้องทบทวนมาตรการบางประการ เพื่อสร้างประโยชน์ในระยะยาวมากกว่ารักษาประโยชน์ในระยะสั้น เพราะอาจทำให้ คสช.ได้ไม่คุ้มเสีย


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : อำนาจ ดาบสองคม คสช.

view