สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เปิด10ประเด็นปฏิรูปตำรวจ

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

เปิด10ประเด็นปฏิรูปตำรวจ งานที่ต้องสานต่อให้ครบกระบวนการ

"ต้องปฏิรูปตำรวจ" หรือ "องค์กรตำรวจต้องได้รับการปฏิรูป" เป็นประโยคที่ได้ยินได้ฟังกันมานับครั้งไม่ถ้วน ตั้งแต่บนเวทีปราศรัยของคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ช่วงที่มีการชุมนุมกันอย่างต่อเนื่องยาวนานกว่า 6 เดือน

และมาได้ยินซ้ำอีกครั้งแบบชัดๆ หลังจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ายึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลรักษาการพรรคเพื่อไทย

การมีคำสั่งย้าย พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ให้ไปช่วยราชการสำนักนายกรัฐมนตรีแบบไม่มีกำหนด แล้วให้ พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชการ รองผบ.ตร.ขึ้นทำหน้าที่รักษาราชการแทน ผบ.ตร. ทั้งๆ ที่ทั้งคู่เป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจ (นรต.) รุ่นเดียวกัน คือ รุ่น 29 มีอายุราชการเหลืออีกเพียง 4 เดือนเท่ากันนั้น นอกเหนือจากประเด็นการสะสางปัญหาเรื่อง "ตัวบุคคล" ที่คุมตำแหน่งสำคัญระดับผู้บัญชาการภาคและผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดแล้ว น่าจะมีประเด็นเกี่ยวกับการ "ปฏิรูปตำรวจ" รวมอยู่ด้วย

เพราะ พล.ต.อ.วัชรพล เป็นนายตำรวจ "ดอกเตอร์" ทำงานเรื่องการปฏิรูปโครงสร้างตำรวจมาเนิ่นนาน และยังเคยร่วมอยู่ในคณะกรรมการพัฒนาระบบงานตำรวจ ที่มี พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร อดีตรองอธิบดีกรมตำรวจ เป็นประธาน ซึ่งแต่งตั้งขึ้นในรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ (หลังการรัฐประหารเมื่อปี 2549) ด้วย

อย่างไรก็ดี พลันที่ พล.ต.อ.วัชรพล จุดพลุเรื่องการปฏิรูปโครงสร้างตำรวจให้สำเร็จภายใน 4 เดือน โดยยกฐานะจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ขึ้นเป็น กระทรวงรักษาความปลอดภัยสาธารณะ และกำหนดให้กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค รวมทั้งหน่วยงานระดับกองบัญชาการอื่นๆ มีสถานะเทียบเท่า "กรม" นั้น กลับถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง และสร้างแรงกระเพื่อมในแวดวงสีกากีไม่น้อย

รวมถึงการแยกตำรวจเป็น "ตำรวจมียศ" กับ "ตำรวจไม่มียศ" ในสายงานธุรการ ในแบบฉับพลันทันทีด้วย

เพราะสาระสำคัญของการปฏิรูปตำรวจ คือ เพื่อให้ถูกแทรกแซงจากฝ่ายการเมืองน้อยลง และสร้างตำรวจให้เป็นมืออาชีพมากขึ้น แต่การยกฐานะเป็นกระทรวง ไม่ได้มีหลักประกันใดๆ ว่าจะตอบโจทย์การเดินไปสู่เป้าหมายดังกล่าว เพราะจะต้องมีรัฐมนตรีเจ้ากระทรวงมาควบคุมกำกับอยู่ดี

เหมือนกับสมัยที่โอนกรมตำรวจ สังกัดกระทรวงมหาดไทย มาจัดตั้งเป็นสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี เมื่อปี 2541

หลายคนอาจลืมไปแล้วว่า พิมพ์เขียวที่เป็น "ข้อเสนอ" ปรับโครงสร้างตำรวจที่จัดทำโดย คณะกรรมการพัฒนาระบบงานตำรวจ ซึ่งได้รวบรวมผู้ทรงคุณวุฒิในด้านที่เกี่ยวข้องเอาไว้อย่างครบถ้วนนั้น ได้สรุปแนวทางการปฏิรูปตำรวจเอาไว้ 10 ประเด็น ซึ่งบางเรื่องก็ได้รับการเปลี่ยนแปลงไปตามข้อเสนอแล้ว แต่บางเรื่องยังไม่คืบหน้า

ฉะนั้นหากจะสานต่อข้อเสนอของคณะกรรมการพัฒนาระบบงานตำรวจ หรือปรับแต่งข้อเสนอให้เหมาะสมกับยุคสมัยยิ่งขึ้น อาจดีกว่าการยกสถานะสำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นกระทรวง เพราะในการจัดทำข้อเสนอเหล่านั้นเมื่อปี 2550 พล.ต.อ.วัชรพล ก็ร่วมคิดร่วมเสนอในฐานะกรรมการด้วยเหมือนกัน

ประเด็นการพัฒนาระบบงานตำรวจ 10 ประเด็น เคยผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 ก.ค.50 แล้ว สรุปได้ดังนี้

1.กระจายอำนาจการบริหารงาน เสนอให้กระจายอำนาจการบริหารงานตำรวจไปสู่หน่วยงานระดับรอง ให้กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 1-9 และกองบัญชาการตำรวจนครบาลมีสถานะ "เสมือนเป็นนิติบุคคล" ที่มีความคล่องตัวและเบ็ดเสร็จในการบริหารงานบุคคลและงบประมาณ โดยประเด็นนี้ได้มีการทำตามข้อเสนอไปบางส่วนแล้ว

2.การมีส่วนร่วมของประชาชนในการบริหารงานตำรวจ เสนอให้จัดตั้งคณะกรรมการนโยบายตำรวจ ทั้งในระดับชาติ ระดับภาค ระดับจังหวัด และระดับสถานีตำรวจ ประเด็นที่ผ่านมามีเฉพาะคณะกรรมการนโยบายตำรวจระดับชาติ คือ ก.ต.ช. แต่ไม่ได้มีกลไกการมีส่วนร่วมของประชาชน เป็นแต่เพียงคณะกรรมการพิจารณาเห็นชอบการตั้ง ผบ.ตร.เท่านั้น

3.การสร้างกลไกตรวจสอบการปฏิบัติงานของตำรวจ เสนอให้มีคณะกรรมการอิสระรับเรื่องราวร้องทุกข์จากการปฏิบัติงานของตำรวจ ให้เป็นหน่วยงานอิสระ ไม่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และให้คำชี้ขาดของคณะกรรมการมีผลในทางกฎหมาย ประเด็นนี้ยังไม่มีการดำเนินการ

4.การถ่ายโอนภารกิจที่ไม่ใช่ของตำรวจไปให้หน่วยอื่น คณะกรรมการพัฒนาระบบงานตำรวจเห็นว่า ภารกิจหลักของตำรวจมีอยู่ 3 ข้อ คือ การถวายความปลอดภัย, การป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดทางอาญา และการรักษาความสงบเรียบร้อย ความปลอดภัยของประชาชนและความมั่นคงของราชอาณาจักร ส่วนภารกิจอื่นนอกเหนือจากนี้ ถือเป็นภารกิจรอง เสนอให้โอนไปให้หน่วยงานอื่น เช่น ตำรวจท่องเที่ยว ตำรวจน้ำ ตำรวจป่าไม้ เป็นต้น

5.การปรับปรุงพัฒนาระบบงานสอบสวน เสนอตั้งหน่วยงานสอบสวนส่วนกลาง พัฒนาด้านวิชาการให้พนักงานสอบสวนมีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ, ปรับปรุงสายงานสอบสวนให้มีความเป็นอิสระ ไม่ถูกแทรกแซงตามสายการบังคับบัญชาและการเมือง, กำหนดค่าตอบแทนใหม่โดยเทียบเคียงกับบุคลากรของหน่วยงานอื่นในกระบวนการยุติธรรม

6.การปรับปรุงการปฏิบัติงานของสถานีตำรวจ เสนอให้โอนภารกิจรองให้หน่วยงานอื่น, เน้นการดำเนินการเชิงป้องกันอาชญากรรม และแบ่งขนาดสถานีตำรวจใหม่ ให้จัดรูปแบบงานในโรงพักเป็นแบบ "จุดเดียวเบ็ดเสร็จ" หรือ one-stop service

7.การพัฒนากระบวนการสรรหา การผลิตและพัฒนาบุคลากรตำรวจ เสนอให้ยกฐานะโรงเรียนนายร้อยตำรวจเป็นสถาบันการศึกษาวิชาการตำรวจ เน้นหลักสูตรตำรวจสมัยใหม่ เพิ่มคุณวุฒินักเรียนพลตำรวจ

8.การปรับปรุงเงินเดือน ค่าตอบแทน และสวัสดิการของข้าราชการตำรวจ เสนอให้แยกบัญชีเงินเดือนของข้าราชการตำรวจออกจากบัญชีเงินเดือนข้าราชการพลเรือนทั่วไป เพื่อให้มีระดับเงินเดือน ค่าตอบแทนเทียบเท่ากับบุคลากรของหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม และมีความเหมาะสมกับภาระหน้าที่ความรับผิดชอบ รวมถึงสภาพเศรษฐกิจสังคมในปัจจุบัน

9.การส่งเสริมความก้าวหน้าของตำรวจชั้นประทวน เสนอให้ข้าราชการตำรวจชั้นประทวนที่สามารถพัฒนาตนเอง เพิ่มคุณวุฒิถึงระดับปริญญาตรี ควรได้รับการเลื่อนระดับขึ้นเป็นชั้นสัญญาบัตรโดยเร็วที่สุด ประเด็นมีการดำเนินการแล้ว นอกจากนั้นให้เปิดเส้นทางความก้าวหน้าของชั้นประทวนให้สามารถขยับขึ้นสู่ชั้นสัญญาบัตรได้อย่างชัดเจน ลดความถี่ของชั้นยศในระดับชั้นประทวน ให้เหลือ "ดาบตำรวจ" เพียงยศเดียว

10.การจัดตั้งหน่วยงานพัฒนากระบวนการยุติธรรม เสนอให้มีการตั้ง "สถาบันส่งเสริมหลักนิติธรรม" ขึ้นเป็นหน่วยงานรูปแบบพิเศษ เพื่อพัฒนากิจกรรมขับเคลื่อนสังคมให้เห็นถึงความจำเป็นของการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมอย่างต่อเนื่อง


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : เปิดประเด็น ปฏิรูปตำรวจ

view