สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

นักวิชาการชี้ ปฎิรูปคน ปัจจัยชี้ขาดความสำเร็จ

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...ธเนศน์ นุ่นมัน

เมื่อวันที่ 5 มิ.ย.ที่หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(มธ.) ท่าพระจันทร์ ได้จัดเสวนาทางวิชาการชุด "8ทศวรรษ อภิวัฒน์สังคมไทย" ในโอกาสครบรอบ 80 ปี แห่งการสถาปนา มธ. เรื่อง "วิกฤตการศึกษาไทย...ปฎิรูปอย่างไรให้ตอบโจทย์\

สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมธ. กล่าวเปิดงาน ว่า ประเทศไทยมีการปฎิรูปการศึกษาหลายครั้ง แต่ดูเหมือนการศึกษาก็ยังไม่ดีขึ้น อย่างไรก็ตามช่วงนี้มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล และมีการพูดถึงปฎิรูปทุกด้าน แต่การปฎิรูปด้านไหนก็ไม่สำคัญเท่ากับการปฎิรูปคน เพราะคนเป็นปัจจัยชี้ขาด หากพัฒนาคนได้ การปฏิรูปใด ๆ ก็เป็นเรื่องง่าย

วรากรณ์  สามโกเศศ  อธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)  กล่าวว่า ปัญการศึกษาชาติส่วนหนึ่งเพราะคนไทยยังคิดไม่เป็น คนในชาติขาดความมุ่งมั่น ในการทำเรื่องการปฏิรูปการศึกษาให้เป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งสาเหตุหลักเพราะมีเรื่องการเมืองเข้ามาแทรกแซง โดยเข้าผ่านเข้ามาทางครู เพราะครูถือเป็นผู้มีอิทธิพลต่อพ่อแม่ เด็กนักเรียน และชุมชน นอกจากนี้ จะเห็นได้ว่า 75%  ของงบประมาณทั้งหมดคือเงินเดือนครู  ดังนั้นเมื่อมีเรื่องการเมืองมาเกี่ยวข้องกับการศึกษาความมุ่งมั่นก็เปลี่ยน ไป

"ยิ่งเมื่อเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีว่าการศธ. นโยบายต่าง ๆ ก็เปลี่ยน ซึ่งเรื่องนี้ต้องโทษคนไทย โทษสังคมไทยที่อ่อนแอที่ไม่มีเป้าหมายที่ชัดเจน ขณะเดียวกัน การบริการจัดการภาพรวมก็ขาดคนรับผิด รับชอบ เพราะไม่ว่าผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาขของเด็กจะเป็นอย่างไร ผู้อำนวยการโรงเรียนครูก็ยังได้สองขั้นขณะเดียวกันยังไม่มีการตรวจสอบว่างบ ประมาณที่ลงไปในแต่ละโรงเรียนถูกนำไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ และสุดท้ายคือ รัฐยึดอำนาจในการจัดศึกษาของประเทศ ทำให้โรงเรียนทางเลือก โรงเรียนเอกชนอยู่อย่างยากลำบาก"วรากรณ์กล่าว

อธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ระบุว่า หากจะปฏิรูปการศึกษาให้ได้ผล ต้องเปลี่ยนวิธีคิดของคนไทย โดยตั้งเป้าหมายให้การศึกษาต้องเป็นการเรียนรู้  ไม่ใช่โลกของการสอน นักเรียนต้องมีบทบาทในการเรียนรู้ ลงมือปฏิบัติเอง โดยต้องไม่มองเพียงว่า การศึกษาอยู่เฉพาะในโรงเรียน ขณะเดียวกันงบประมาณการจัดการศึกษาต้องถึงตัวเด็กและโรงเรียนให้มากขึ้น ปล่อยให้โรงเรียนมีอิสระ ต้องปรับลดโรงเรียนขนาดเล็ก ควบรวมโรงเรียนที่เล็กเกินไป เพราะอนาคตอัตราการเกิดจะน้อยลง

ขณะเดียวกันยังสามารถบริหารจัดการการเรียนการสอนให้มีคุณภาพได้ ไม่ใช่เพิ่มขึ้นอย่างปัจจุบัน ซึ่งส่วนหนึ่งเพราะการเมือง และที่สำคัญต้องหาคนดีมาเป็นครูมากขึ้น โดยปัจจุบัน 40% ของครูจะมีอายุระหว่าง 50-60  ปี ดังนั้นในอีก 10 ปีข้างหน้าเป็นโอกาสจะเลือกคนดีมาเป็นครู สุดท้าย ต้องหารูปแบบการบริหารศธ.ใหม่ ที่ต้องมีระบบรับผิด รับชอบ มีระบบกระจายครูที่เหมาะสม รวมถึงส่งเสริมโรงเรียนนอกระบบ สถาบันการศึกษาเอกชนมากขึ้น

มีชัย  วีระไวทยะ ผู้ก่อตั้งและนายกสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ระบบการศึกษาของประเทศไทยต้องแก้ไข เปลี่ยนแปลง ทั้งระบบและวิธีการศึกษาเรียนรู้ ที่ผ่านมาเราเน้นให้เด็กอ่านออกเขียนได้ มีการวัดประเมินผล แต่ไม่มีการวัดผลเรื่องคุณธรรมจริยธรรม 

"ทำอย่างไรให้รู้และเข้าใจ กระตุ้นให้ นักเรียนมีความคิดริเริ่ม สามารถค้นคว้าหาทางเลือกได้ เป็นเรื่องที่ ต้องเพิ่มบทบาทของโรงเรียนให้เป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิตของทุกคน เป็นศูนย์ของการพัฒนาชุมชน มุ่งสรัางเยาวชนคนรุ่นใหม่ รู้จักคิดนอกกรอบ เน้นการสร้างคนดี  สร้างคนที่บริหารจัดการเป็น มีความสามารถในการทำธุรกิจ มีธุรกิจที่เลี้ยงตนเองและครอบครัวได้ และช่วยเหลือชุมชน

ซึ่งต้องมีโรงเรียนประเภทนี้เพิ่มขึ้น เพราะปัจจุบันการศึกษาดึงคนชนบทออกมาจากบ้าน ต้องแก้ไขให้คนอยู่ทำมาหากินในชนบท จนคนไม่สามารถกลับไปอยู่ในชนบท ขณะเดียวกันฝากถึงทหารว่าหากต้องต้องการสร้างความสามัคคี ให้เริ่มทำที่เด็กและโรงเรียนทั่วประเทศ ให้เด็กกลับไปทำในหมู่บ้านและที่บ้าน" มีชัยกล่าว


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : นักวิชาการ ปฎิรูปคน ปัจจัยชี้ขาดความสำเร็จ

view