สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

คอร์รัปชัน : ปัญหาที่คนทั้งประเทศต้องช่วยกันแก้

คอร์รัปชัน : ปัญหาที่คนทั้งประเทศต้องช่วยกันแก้

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




คงไม่มีใครปฏิเสธคอร์รัปชันเป็นปัญหาหนักของประเทศที่ต้องเร่งแก้เพราะคอร์รัปชันทำลายจริยธรรมและกติกาในการทำธุรกิจ

ทำลายความสามารถในการแข่งขันของประเทศ สร้างความเหลื่อมล้ำ ทำลายแรงจูงใจทางเศรษฐกิจ ทำให้ไม่มีใครอยากลงทุน ซึ่งบั่นทอนอนาคตเศรษฐกิจของประเทศ และในการแก้ไขปัญหา มีสามประเด็นที่เราต้องเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาคอร์รัปชันของประเทศขณะนี้

หนึ่ง คอร์รัปชันเป็นปัญหาที่รุนแรงขึ้นมากในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมาไม่ว่าเราจะได้ใครมาเป็นรัฐบาลหรือบริหารประเทศ ตัวเลขภาพลักษณ์คอร์รัปชันประเทศไทยตั้งแต่ปี 2006 เสื่อมถอยลงต่อเนื่องไม่ว่าใครหรือพรรคการเมืองไหนมาเป็นรัฐบาล จากอันดับของประเทศที่ 59 ปี 2005 ทรุดลงเป็นอันดับ 102 ปีที่แล้ว ซึ่งชี้ว่าปัญหาไม่เคยมีการแก้ไขที่จริงจัง ดังนั้น ถ้าต่อไปการแก้ไขปัญหายังไม่จริงจัง คอร์รัปชันก็จะยิ่งรุนแรงขึ้น

สอง ปัญหาคอร์รัปชันเลวร้ายลงทั้งที่คนไทยส่วนใหญ่ไม่ชอบและไม่อยากให้ประเทศมีคอร์รัปชัน นักธุรกิจไม่อยากให้มีคอร์รัปชัน เพราะทำให้การทำธุรกิจไม่มีความแน่นอน ไม่มีการแข่งขัน ไม่มีนวัตกรรม มีแต่เพิ่มต้นทุนให้สูงขึ้นจนแข่งขันกับต่างประเทศไม่ได้ ภาคราชการไม่ชอบคอร์รัปชัน เพราะทำให้การปฏิบัติหน้าที่ของราชการมัวหมอง ข้าราชการไม่สามารถทำงานได้โดยใช้ความรู้ความสามารถ แต่ระบบราชการต้องเป็นเชลยอยู่กับพฤติกรรมของคนส่วนน้อย ทำให้ไม่สามารถเป็นที่พึ่งของประชาชนได้เต็มที่ สำหรับประชาชนทั่วไปคอร์รัปชันทำให้ชีวิตอยู่ยาก เพราะต้องใช้เส้นสายหรือใช้เงินในเกือบทุกเรื่อง ทำให้ประชาชนขาดความมั่นใจ ขาดศรัทธาในระบบราชการและการบริหารประเทศ

สาม คอร์รัปชันเป็นเรื่องของพฤติกรรมสังคม ที่เกิดขึ้นเพราะทุกฝ่ายยอมให้เกิด ปล่อยวาง ไม่ได้พยายามร่วมกันแก้ไข จนให้ปัญหาลุกลามเหมือนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตปรกติ แต่เราก็มักจะโกรธ เมื่อมีการย้ำว่าคนไทยยอมรับคอร์รัปชันถ้าตนเองได้ประโยชน์ โดยเฉพาะถ้าเป็นความเห็นของคนรุ่นใหม่ เช่น นักศึกษา ผมเองก็รู้สึกเช่นนั้น เพราะสิ่งที่ไม่ดีไม่ถูกต้องได้กลายเป็นสิ่งที่ยอมรับกัน แต่พอมาคิดอีกทีก็ตระหนักว่า ความเข้าใจแบบนี้ไม่ใช่ความผิดของนักศึกษา ซึ่งอายุคงประมาณ 18 - 21 ปี ตอนให้ความเห็น เพราะตั้งแต่คนรุ่นนี้จำความได้และมีความคิดความอ่านเป็นของตัวเอง (คือตั้งแต่อายุ 6 - 7 ขวบ) ช่วงสิบสอง สิบสามปีต่อมาของชีวิตที่คนเหล่านี้เติบโตในสังคมไทย สิ่งที่เขาเห็นเป็นพฤติกรรมสังคม ก็คือ การทุจริตคอร์รัปชันที่เกิดขึ้น จนเหมือนเป็นชีวิตปรกติ เห็นคุณพ่อ คุณแม่ พยายามใช้เส้นสาย อาศัยคนรู้จัก ใช้เงินทำสิ่งที่ไม่ควรทำ อันนี้คือสิ่งที่เขาเห็น จึงได้สะท้อนออกมาในความเห็น คนที่ผิดจริง ก็คือผู้ใหญ่ที่มีพฤติกรรม

แต่พฤติกรรมก็เป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้ คอร์รัปชันก็เช่นกัน เพราะคอร์รัปชันเพิ่งจะรุนแรงมากก็ช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา ถ้าแรงจูงใจและภาวะแวดล้อมในสังคมเปลี่ยน มีระบบการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มแข็ง สิ่งที่เคยทำได้ เป็นเรื่องที่ทำไม่ได้และมีแรงจูงใจให้พฤติกรรมของคนในสังคมเปลี่ยน ให้ไม่ทำผิดกฎหมาย สังคมก็จะเปลี่ยน และการทุจริตคอร์รัปชันก็จะลดลง ผมเองมั่นใจว่าพฤติกรรมของคนไทยเรื่องคอร์รัปชันเปลี่ยนได้ เพราะคนไทยโดยพื้นๆ แล้ว เป็นชนชาติที่เคารพกฎหมาย และมักไม่มีปัญหากับใคร ตัวอย่างเช่น คนไทยที่อยู่ต่างประเทศ ไม่ว่าจะอยู่ที่ สหรัฐ ยุโรป ออสเตรเลีย หรือแม้แต่ในเอเชีย คนไทยมักเป็นหมู่ชนที่เคารพกฎหมาย และมีปัญหากับทางการท้องถิ่นน้อยมาก แต่พอมาอยู่บ้านเราเอง อยู่เมืองไทย ในภาวะแวดล้อมที่แตกต่าง คือ การบังคับใช้กฎหมายไม่เข้มแข็ง และภาคสังคมประชาชนดูแลตัวเองไม่ค่อยได้ พฤติกรรมก็เปลี่ยน เกิดช่องว่างให้ไม่ทำตามกฎหมาย และบิดเบือนการใช้อำนาจ เพื่อประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง เพราะไม่มีการตรวจสอบ โดยภาครัฐหรือประชาชน

ทั้งสามประเด็นนี้ชี้ว่า คอร์รัปชันเป็นพฤติกรรมสังคมที่เกิดขึ้น แต่ยังเปลี่ยนแปลงได้ ถ้าเราเอาจริง แก้ไขจริง เพราะมีตัวอย่างต่างประเทศมากมายที่ชี้ว่า ปัญหาคอร์รัปชันลดทอนได้ แก้ไขได้ แม้ในประเทศที่เคยมีปัญหารุนแรงกว่าของเรา แต่เนื่องจากคอร์รัปชันเป็นพฤติกรรมของสังคม การแก้ไขก็ต้องทำด้วยกันทุกๆ ฝ่าย ไม่ใช่เฉพาะคนใดคนหนึ่ง หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง การแก้ไขต้องมาจากทั้งนักการเมือง ภาคข้าราชการ ภาคประชาชน และภาคธุรกิจ ซึ่งจากประสบการณ์ประเทศที่สามารถแก้ไขปัญหาได้ เช่น ฮ่องกง สิงคโปร์ ไต้หวัน และเกาหลีใต้ ก็ชัดเจนว่าสิ่งที่เราต้องช่วยกันทำเพื่อแก้ปัญหามีอยู่ห้าด้าน

หนึ่ง ฝ่ายบริหารต้องจับกุมดำเนินคดี “ปลาตัวใหญ่” ที่ทุจริตคอร์รัปชันให้เป็นตัวอย่าง ไม่ว่าจะเป็นนักการเมือง ข้าราชการระดับสูง หรือนักธุรกิจ เพื่อเปลี่ยนความเชื่อของคนไทยว่าปัญหาคอร์รัปชันแก้ไม่ได้ ไม่มีการเอาผิดจริง ให้เป็นตัวอย่างว่าปัญหาแก้ไขได้ มีการเอาผิดจริง อันนี้เป็นเงื่อนไขสำคัญที่สุดที่ต้องเกิดขึ้น ถ้าประเทศจะประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหาคอร์รัปชันซึ่งพิสูจน์แล้ว เพราะถ้ามีการเอาผิดให้เห็น คนจะเชื่อและจะร่วมมือ ขณะที่พวกที่ทุจริตก็จะไม่กล้า ในกรณีของไทยเรื่องนี้ ยังไม่เคยเกิดขึ้น ทำให้คนไม่ดีที่ทำผิดคอร์รัปชันสามารถมีอิทธิพลและมีบารมีมากในสังคม ทั้งๆ ที่รู้ว่าโกง ต่างกับฮ่องกง สิงคโปร์ ไต้หวัน และเกาหลีใต้ ที่มีการเอาผิดจริงกับคนที่คอร์รัปชัน ตั้งแต่ระดับประธานาธิบดี รัฐมนตรี นักธุรกิจ และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ให้เห็นเป็นตัวอย่าง ประเทศจีนขณะนี้ก็เดินในแนวนี้ มีการเอาผิดบุคคลในระดับนำของประเทศให้เป็นตัวอย่าง แต่ของไทยยังไม่มี นี่คือความแตกต่าง

สอง นโยบายเศรษฐกิจของภาครัฐจะต้องยืนอยู่บนพื้นฐานของการแข่งขัน ไม่ใช่การผูกขาด ใช้กลไกตลาดเป็นเครื่องมือในการจัดสรรทรัพยากรเศรษฐกิจของประเทศ ให้การแข่งขันและความโปร่งใสเป็นกลไกลดการทุจริตคอร์รัปชัน ตรงกันข้ามถ้านโยบายเศรษฐกิจเน้นการผูกขาดตัดทอน ก็จะทำให้เศรษฐกิจอ่อนไหวต่อการให้สินบนและการทุจริต

สาม การจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐต้องมีการดำเนินการที่เป็นระบบ โปร่งใส ตรวจสอบได้ โดยหน่วยงานภายนอก หรือภาคประชาสังคม ระบบที่โปร่งใสจะลดการใช้วิจารณญาณของผู้ไม่สุจริต ที่มักเลือกปฏิบัติเพื่อหาช่องทางโกงกิน ระบบการจัดซื้อจัดจ้างที่ดีมีให้เลือกมากมายในโลก แต่เราไม่เคยนำมาใช้ แต่เรื่องนี้หัวใจจริงๆ ก็คือ ต้องทำให้ระบบราชการเป็นอิสระจากอำนาจของฝ่ายการเมือง เพื่อลดการแทรกแซงทั้งในระดับการแต่งตั้งตัวบุคคล และในระดับปฏิบัติการที่ฝ่ายการเมืองมักแทรกแซงเพื่อสร้างกลไก “ขนาน” ในกระบวนงานปกติของราชการเพื่อหาเงิน เช่น สร้างขั้นตอนการอนุมัติให้มากขึ้นโดยไม่จำเป็น เพื่อหาเงินจากการผ่านคำขออนุญาตต่างๆ ในกรณีของไทย การสร้างระบบข้าราชการที่อิสระนี้ต้องทำโดยรัฐธรรมนูญที่แยกอำนาจบริหาร ตุลาการ นิติบัญญัติ และข้าราชการออกจากกันชัดเจน เป็นการแบ่งแยกอำนาจเป็นสี่ด้านต่างจากเพียงสามด้านที่เราคุ้นเคย เพื่อให้ระบบข้าราชการสามารถทำหน้าที่ได้โดยไม่ถูกแทรกแซงโดยอิทธิพลของฝ่ายการเมือง

สี่ คือนักธุรกิจหรือภาคเอกชนจะต้องร่วมแก้ไขปัญหาโดยทำธุรกิจอย่าง “สะอาด” ไม่มีการทุจริตคอร์รัปชัน มีจริยธรรม มีการกำกับดูแลกิจการที่ดี อันนี้เป็นบทบาทที่บริษัทเอกชนต้องทำ เพื่อร่วมแก้ปัญหา เปลี่ยนพฤติกรรมการทำธุรกิจใหม่ ไม่ฮั้วไม่จ่ายสินบน ซึ่งจะสร้างความน่าเชื่อถือให้กับการทำธุรกิจในประเทศไทย และ

ห้า บทบาทของภาคประชาสังคมที่ต้องเป็นภาคประชาชนที่เข้มแข็ง สามารถแยกแยะถูกผิดได้ เคารพกฎหมาย ปฏิเสธการจ่ายสินบน กล้าแสดงความเห็นและพร้อมร่วมสอดส่องดูแล ให้ข้อมูลการทุจริตคอร์รัปชันกับราชการ เพื่อป้องปรามไม่ให้พฤติกรรมคอร์รัปชันเกิดขึ้น

ทั้งห้าแนวทางนี้เป็นสิ่งที่ประเทศอื่นได้ทำ และประสบความสำเร็จ ของเราก็ต้องทำเช่นกัน ถ้าจะร่วมกันแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง ต้องถือเป็นภาระหน้าที่ร่วมกันของคนทั้งประเทศที่ต้องช่วยแก้คอร์รัปชัน เพื่ออนาคตของและความภูมิใจของลูกหลานไทย


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : คอร์รัปชัน ปัญหา คนทั้งประเทศ ต้องช่วยกันแก้

view