สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

อย่าให้รัฐประหารสูญเปล่า สมคิด เลิศไพฑูรย์

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...พรเทพ เฮง

อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คนที่ 16 และศาสตราจารย์ประจำภาควิชากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เคยเป็นคณบดีคณะดังกล่าว ทั้งยังเคยเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญและเลขานุการคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐ ธรรมนูญเมื่อปี 2550

ในท่ามกลางความผันผวนและความขัดแย้งทางการเมือง ศาสตราจารย์ ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์  อยู่ในสถานะของผู้กำหนดนโยบายของสถาบันการศึกษาที่ถือว่า ยืนเคียงข้างประชาชนมาทุกยุคสมัย ดังคำกล่าวที่พูดติดปากว่า "ฉันรักธรรมศาสตร์ เพราะธรรมศาสตร์สอนให้ฉันรักประชาชน"

หลังรัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีการวิวาทะกันในหลากหลายวงการ โดยเฉพาะศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในแวดวงปัญญาชนนักเขียนนักอ่านก็ถูกแบ่งเป็น 2 ฝักฝ่ายตามแรงผลักทางการเมือง ทั้งฝ่ายเห็นด้วยกับรัฐประหารและฝ่ายต่อต้านรัฐประหาร รวมถึงนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่มีบางส่วนออกมาใช้พื้นที่ ของมหาวิทยาลัยออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐประหาร

มาฟังจุดยืนของอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์คนปัจจุบันถึงสภาพการณ์และความเป็นไปของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในปัจจุบัน

มองนักศึกษายุครัฐประหาร

ดร.สมคิด บอกถึงสถานะของตัวเองว่า คนเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ส่วนใหญ่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาเยอะ รวมทั้งตัวของเขาเองด้วย ที่เคยเป็นนักศึกษาและประท้วงทางการเมืองมาก่อนในอดีต

“ผมหมายความว่าสมัยเป็นวัยรุ่น ผมก็ร่วมประท้วงทหารตอน 6 ตุลา 2519 ตอนนั้นเป็นนักเรียนที่เตรียมอุดมศึกษา ผมเข้ามาธรรมศาสตร์ก็ประท้วงรัฐบาลทหารของพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ เรื่องขึ้นราคาน้ำมัน เพราะเป็นเด็กทำกิจกรรม มาเป็นอาจารย์ปี 2534 มีการรัฐประหารของ รสช. (คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ) ผมก็เขียนบทความประท้วง ตรงนี้เป็นเสรีภาพหรือดอกไม้หลากสีในธรรมศาสตร์”

ในช่วงก่อนวันที่ 22 พฤษภาคม ก่อนรัฐประหาร ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดร.สมคิด ชี้ว่า ในธรรมศาสตร์มีกลุ่มนิติราษฎร์ มีกลุ่มตรงข้ามนิติราษฎร์ มีกลุ่มต่างๆ เยอะแยะเต็มไปหมด ก็เป็นสีสันที่มีอยู่ในธรรมศาสตร์

“ในฐานะอธิการบดี ผมก็เข้าใจเรื่องเหล่านั้นดี เวลาที่เห็นเด็กประท้วงก็ย้อนคิดว่านี่ตัวเราหรือเปล่า ในอดีตเราก็เป็นอย่างนี้ เรารู้สึกว่าเด็กเขาไม่ได้มีเบื้องหลังในการชุมนุมประท้วง เขาถูกสั่งถูกสอนมาว่า รัฐประหารไม่ดี การไม่มีเสรีภาพในการพูดเป็นสิ่งไม่ดี แต่แน่นอนเขาไม่ได้มองมุมอื่น อย่างเรื่องความมั่นคง ปัญหาคอร์รัปชั่น เพราะฉะนั้นการใช้วิจารณญาณในการเคลื่อนไหวทางการเมืองของเด็กนักศึกษาอาจจะ ไม่ได้เท่ากับผู้ใหญ่ ผมหมายความว่า วันนี้เราจะเห็นว่าคนเสื้อแดงเขาหยุดเคลื่อนไหวแล้ว ทั้งที่คนเสื้อแดงแรงกว่านักศึกษาด้วยซ้ำไป แต่ไม่ใช่เขาหยุดทันทีหรอก แต่เขารอรัฐธรรมนูญชั่วคราวและฉบับถาวร ถึงตอนนั้นจะออกมาเคลื่อนไหว แต่ถามว่านักศึกษาเราหยุดไหมก็ไม่หยุด ก็เป็นธรรมชาติของคนที่แตกต่างกัน เป็นเรื่องของคนที่มีประสบการณ์น้อยที่เห็นว่าเป็นอย่างนี้...ฉันก็จะ แสดงออกได้”

ในฐานะที่เป็นคนดูแลนักศึกษาโดยตรง ดร.สมคิดก็บอกว่า ก็พยายามพูดจาบอกและเตือนนักศึกษารุ่นปัจจุบันว่า จะทำอะไรก็ไม่เป็นไรหรอกแต่ต้องเข้าใจว่าถ้าคุณชุมนุมประท้วงแล้วคุณถูกจับ ไป อาจจะไม่ได้เรียนหนังสือสักปีหนึ่งหรือสองปีก็แล้วแต่ ตรงนี้คุณต้องตัดสินใจด้วยตัวของคุณเอง

“ตัดสินใจแล้วก็อยากจะทำอะไรก็ทำ แต่ในเชิงของคนเป็นผู้ใหญ่ ในเชิงของคนดูแลมหาวิทยาลัยผมอยากบอกอย่างนี้ว่า หลังรัฐประหารมีการเรียกตัวอาจารย์และนักศึกษาธรรมศาสตร์จำนวนมากเข้าไปใน ค่ายทหารไปพบกับ คสช. (คณะรักษาความสงบแห่งชาติ) โดยมีจำนวนหนึ่งเข้าพบแล้วไม่ได้ถูกกักตัวไว้ อีกจำนวนหนึ่งเข้าพบแล้วก็ถูกกักตัวไว้และถูกปล่อยตัวแล้วภายในเวลา 2-3 วัน และมีอีกจำนวนหนึ่งที่ถูกกักตัวไว้ 2-3 วัน แล้วถูกส่งฟ้องศาลเพื่อฝากขัง เพราะมีปัญหาเรื่องมาตรา 112 และมีบางส่วนที่ไม่รายงานตัว ก็มีความหลากหลายประมาณนี้

“ผมรู้ดีว่าเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 และ 6 ตุลา 2519 ที่มีความขัดแย้งกันเยอะ เหตุการณ์รัฐประหารปี 2534 เหตุการณ์ความขัดแย้งปี 2549 ซึ่งกลายเป็นเสื้อสี ท้ายที่สุดเมื่อโตขึ้นนักศึกษาเหล่านี้ที่ผ่านเหตุการณ์ต่างๆ ก็ต้องจับมือกันทำงานด้วยกัน ทำอย่างไรให้ประเทศชาติเจริญก้าวหน้า ผมก็ให้นโยบายให้ผู้บริหารของธรรมศาสตร์ว่า อย่างไรก็แล้วแต่คนเหล่านี้ก็เป็นคนของธรรมศาสตร์ ช่วงนี้เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้นสิ่งที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ทำได้ในนามองค์กร ก็คือทำอย่างไรที่จะประคับประคองสถานการณ์ในธรรมศาสตร์ให้ดีที่สุด

“ผมหมายความว่าเราไม่ได้สนับสนุนการชุมนุมประท้วงในธรรมศาสตร์ เพราะเรารู้ว่าสถานการณ์บ้านเมืองในขณะนี้ไม่สนับสนุนให้มีการชุมนุมประท้วง ถามว่าเราไปบล๊อกไม่ให้เขาแสดงความคิดเห็นเลยไหม เราก็ไม่ทำ เพราะธรรมศาสตร์ไม่ใช่องค์กรประเภทนั้นที่จะไปปิดปากใครได้หรือไม่ให้ใครคิด เลย แต่ถ้าเขาทำก็ต้องรับผิดชอบจะถูกจับหรือเป็นอะไรก็แล้วแต่ คนเหล่านั้นเป็นคนธรรมศาสตร์ ซึ่งธรรมศาสตร์ต้องให้ความช่วยเหลือ ผมก็ให้คณะนิติศาสตร์ตั้งกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งเพื่อดูแลคนธรรมศาสตร์ที่ถูก จับไป เราต้องสืบให้รู้ว่าเขาถูกจับไปอยู่ที่ไหน ซึ่งเป็นศิษย์ปัจจุบันและเจ้าหน้าที่ต่างๆ เราก็พยายามทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้”

การประท้วงรัฐประหารครั้งล่าสุดของนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดร.สมคิดบอกว่า ตัวเขาไม่ได้พูดคุยกับนักศึกษาเองโดยตรง แต่มอบหมายให้รองอธิการบดีดูแลเรื่องเหล่านี้

“ผมไม่ได้หนีนะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไม่กลัวใครอยู่แล้วล่ะ มอบหมายให้รองอธิการฯ และผู้อำนวยการกองทั้งหลายที่ดูแลพื้นที่อยู่ ให้คุมยามคุมคนอยู่ ให้เขาดูแลกันไป ผมยกตัวอย่างเช่นถ้าเป็นการชุมนุมประท้วงที่ท่าพระจันทร์ก็มีรองอธิการบดี ฝ่ายบริหารท่าพระจันทร์ดูแล แต่เขาก็ติดต่อผมและรายงานตลอดเวลาว่า วันนี้มีนักศึกษามาประท้วง มีวิดีโออะไรที่ถ่ายไว้ มีภาพถ่ายเขาก็ส่งมาให้ดู ผมก็รู้หมดว่าใครทำอะไรต่างๆ อย่างไรบ้าง อย่างที่ผมบอกว่าก็ไม่ได้ถึงขนาดสกัดกั้น เขามาประท้วงในธรรมศาสตร์ก็เป็นไปไม่ได้ที่จะมาปิดประตูรั้วธรรมศาสตร์ เราก็ไม่ได้ทำอย่างนั้น แต่ก็จะขอร้องว่าอย่ามาประท้วงที่ธรรมศาสตร์เลย ถ้าคุณเป็นศิษย์เก่าไปเคลื่อนไหวประท้วงที่อื่นได้ไหม ก็พยายามเจรจา”

ดร.สมคิด มองว่าสังคมไทยเปลี่ยนไปมากจากอดีต นักศึกษาและคนไทยมีความตื่นตัวทางสังคมการเมืองเยอะขึ้น มีการแสดงออกของคนมากขึ้น

“อย่างเช่นรัฐประหารที่ผ่านไปเกือบเดือนแล้ว ก็ยังมีการชุมนุมประท้วงอยู่ มีคนศึกษาว่ารัฐประหารปี 2534 และ 2549 มีคนประท้วงอยู่แค่อาทิตย์เดียวก็หมดแล้ว แต่คราวนี้ยังมีการชุมนุมประท้วงอยู่ แสดงว่ามีคนสนใจทางการเมืองมากขึ้น มีจิตวิญญาณทางการเมืองมากยิ่งขึ้น อย่างผมไปกินข้าวก็เจอคนมาขอเฟซบุ๊กเพื่อเอดเป็นเฟรนด์จะนำเสนออธิการบดีใน เรื่องการปฏิรูปการเมืองของประเทศไทยอย่างนี้เป็นต้น เดี๋ยวนี้มีคนอย่างนี้เยอะ มีคนที่อยากรู้จักเราอยากคุยทางการเมืองก็แล้วแต่ ผมว่าเยอะขึ้น ในขณะเดียวกันในสังคมธรรมศาสตร์ก็เห็นเด็กนักศึกษาสนใจทางการเมืองมากขึ้นใน บางกลุ่ม แต่ว่าเราจะไปคาดหวังว่าเขาจะสนใจทางการเมืองเหมือนหลังยุค 14 ตุลา และ 6 ตุลา คงไม่ได้ เพราะปัจจุบันความหลากหลายของประเทศมีมากขึ้น ระบบการสื่อสารและเรื่องราวที่น่าสนใจอะไรต่างๆ มีเยอะเต็มไปหมด ก็เห็นว่าเด็กธรรมศาสตร์มีความสนใจมากขึ้น แต่จะให้เหมือนสมัยก่อนคงลำบาก

“แต่เรื่องหนึ่งที่มีผลมากคือ ผมรู้สึกว่าสมัยก่อนทะเลาะกันก็ยังคุยกันได้เป็นเพื่อนฝูงกัน ผมไม่ได้โทษสื่อ แต่คิดว่าเป็นเรื่องสื่อ เพราะมีทั้งทีวีและวิทยุเสื้อแดง เสื้อเหลืองก็มี ฝ่ายคุณสุเทพก็มี แล้วก็ให้ข้อมูลคนละชุดกันเลย ซึ่งจริงหรือไม่จริงก็ไม่รู้นะ ผมไม่ขอวิเคราะห์ ก็แชร์กันไปคนก็ซึมซับเรื่องพวกนี้ แล้วก็มีปัญหาตามมา ซึ่งผมคิดว่าสิ่งที่เราน่าจะทำในวันนี้ก็คือว่าเราต้องพิจารณาข้อมูลต่างๆ ให้รอบ ผมพูดถึงขั้นว่าแม้แต่คนพวกเดียวกันก็มองต่างกัน ไม่ใช่เรื่องผิดปกติแต่อย่างใด มีความแตกต่างทางความคิดกันได้แต่อย่ารุนแรงก็แล้วกัน อย่าใช้อาวุธ แต่ถ้าเป็นปัญญาชน การเสียดสีการใช้ภาษาหยาบคาย การด่ากันอย่างหยาบโลน อย่างนี้ไม่ควรทำในเฟซฯ หรือในไลน์ ทำอย่างนั้นเราไม่สามารถคุยกันได้นานหรอก แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันก็ไม่ได้มาก”

"ธรรมศาสตร์" 2 ฝักฝ่าย

สังคมไทยในปัจจุบัน แม้แต่ศิษย์เก่าธรรมศาสตร์เองยังแบ่งเป็นสองฝักสองฝ่ายทะเลาะกันเอง ดร.สมคิด มองว่าทุกอย่างเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้น

“ความแตกแยกไม่ใช่สิ่งที่ผิดปกติ ความขัดแย้งของคนที่เรียนสถาบันเดียวกันมาก็ไม่ใช่สิ่งผิดปกติ ผมเองกลับเห็นตรงกันข้ามว่า ไม่ใช่เป็นธรรมศาสตร์ด้วยกันแล้วเฮไหนเฮนั้น คนหนึ่งคอร์รัปชั่นแล้วอีกคนก็คอร์รัปชั่นตาม เราไม่ควรทำอย่างนั้น ต้องยึดความดีความงามเป็นสำคัญ ส่วนความขัดแย้งระหว่างคนก็เป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ แต่ปัญหาของสังคมไทยวันนี้ ก็คือเราชอบสวมหมวกให้กัน เราชอบใส่ร้ายป้ายสีกัน

“แม้แต่ผมเองก็โดน คนที่เป็นแดงก็หาว่าผมไม่สนับสนุนแดง ส่วนคนที่เป็นเหลืองก็บอกว่าผมไม่สนับสนุนเหลือง ยกตัวอย่างเช่นแดงก็จะบอกว่าทำไมผมต้องไปเตือนนิติราษฎร์ด้วย นิติราษฎร์มาใช้สถานที่ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในการแสดงออกทางการเมืองผม ก็โดนประท้วงว่าทำไมไม่ทำนู้นทำนี้ทำนั้นเต็มไปหมด คนที่เป็นเหลืองก็บอกว่า ทำไมไม่ออกไปช่วยคุณสุเทพ เทือกสุบรรณเขาบ้าง ทำไมอยู่เฉยๆ ในมหาวิทยาลัย หรือทำไมบางทีเขามาในธรรมศาสตร์ทำไมไม่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ซึ่งก็แล้วแต่ ผมก็โดนทั้งขึ้นทั้งล่อง ผมจะสบายใจมากถ้าผมเป็นนายสมคิดไม่ใช่อธิการบดีธรรมศาสตร์ เวลาเป็นตัวแทนมหาวิทยาลัยก็ต้องมีจุดยืนก็มหาวิทยาลัย เป็นตัวแทนของสถาบันก็ต้องมีจุดของมันเอง”

“ผมไม่ได้หนักใจอะไร อธิการบดีก็อยู่ตรงกลาง กลุ่มชุมนุมประท้วงเขาก็จะว่าอธิการบดี คนที่แรงหน่อยก็จะบอกว่าทำไมอธิการฯ ทำไมไม่คัดค้านรัฐประหาร ถ้าเบาหน่อย คุณไม่คัดค้านแต่ทำไมไม่สนับสนุนให้ชุมนุมประท้วง เมื่อเร็วๆ นี้ก็มีคนเข้าเฟซบุ๊กมาคุยกับผมว่าทำไมอธิการบดีไม่จัดการกับนักศึกษาที่ ชุมนุมประท้วงที่ทำให้ธรรมศาสตร์เสื่อมเสียชื่อเสียง คนอื่นเขาหยุดประท้วงกันแล้ว เหลือแต่นักศึกษาธรรมศาสตร์เท่านั้นที่ยังประท้วงอยู่ ผมก็อธิบายเขาไปว่าเป็นอธิการบดีธรรมศาสตร์บางทีก็ลำบาก ถ้าผมปิดทั้งมหาวิทยาลัย ผมก็เป็นอธิการบดีธรรมศาสตร์ไม่ได้หรอก แต่ถ้าผมอนุญาตให้อยากทำอะไรก็เข้ามาทำ ไปที่ไหนก็ได้ในธรรมศาสตร์ ผมก็อยู่ไม่ได้เหมือนกัน แต่ผมไม่ได้คิดเรื่องผมจะอยู่หรือไม่ได้อยู่ในตำแหน่ง

ผมคิดว่าในฐานะอธิการบดีและในฐานะมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งมีม็อตโต้ว่าเป็นมหาวิทยาลัยทางการเมืองการปกครอง เป็นมหาวิทยาลัยที่ส่งเสริมประชาธิปไตยและอยู่เคียงข้างประชาชนมาตลอด มีสิทธิเสรีภาพทุกตารางนิ้ว เรามีจิตวิญญาณแบบนี้ จะไปปิดกั้นไม่ได้ ต้องพยายามหาจุดกึ่งกลางให้ได้ เราไม่ได้สนับสนุนให้มีการชุมนุมประท้วงแต่ก็ไม่ห้าม แต่ต้องคิดให้ดีเมื่อจะชุมนุม ถ้ามีการรบกวนหรือมีปัญหาต่างๆ เราต้องเข้ามาดูแล”

นิติราษฎร์ และ ม.112

กรณีความเคลื่อนไหวของนิติราษฎร์เรื่อง ม.112 ซึ่งเกี่ยวข้องกับธรรมศาสตร์โดยตรง เพราะบรรดาคนที่เป็นแกนนำเคลื่อนไหวส่วนใหญ่เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยธรรม ศาสตร์

“การแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับมาตรา 112 เป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ เพราะเป็นหนึ่งในประมวลกฎหมายอาญา ก็คุยกันได้ แต่ว่าอย่าไปละเมิดกฎหมายจนถึงขนาดไปหมิ่นองค์พระมหากษัตริย์ สมเด็จพระราชินี และองค์รัชทายาทเป็นสิ่งสำคัญ ผมเตือนทางนิติราษฎร์เขาไป คือมีเรื่องราวตั้งเยอะแยะที่คุณน่าจะทำเช่น เรื่องรัฐธรรมนูญ เรื่องต่อต้านคอร์รัปชั่น เรื่องความยากจนของคน ทำไมคุณต้องจัดเฉพาะประเด็นเรื่อง ม.112 เพียงประเด็นเดียวจัด 4-5 ครั้ง มันไม่ควร ซึ่งน่าจะจัดที่อื่นบ้างหมุนเวียนกันไป แต่ผมคิดว่าการวิพากษ์วิจารณ์มาตรา 112 เป็นเรื่องที่ทำได้ แต่ต้องอยู่ในขอบเขตที่เหมาะที่ควรของกฎหมาย”

ต้องปราบคอร์รัปชั่น

ดร.สมคิด มองว่า ปัญหาคอร์รัปชั่นที่เป็นปัญหาใหญ่ของสังคมไทยที่ต้องรีบแก้ไขอย่างเร่งด่วนมากกว่า

“เรื่องคอร์รัปชั่นเป็นปัญหาใหญ่ที่สุดปัญหาหนึ่งที่ต้องทำ รวมถึงระบบเลือกตั้งทำอย่างไรให้คนดีมีความสามารถเข้ามาสู่ระบบให้ดีกว่า เดิม ระบบตรวจสอบควบคุมต้องเข้มแข็ง ซึ่งต้องจัดการให้ได้ ผมคิดว่าความปรองดองกับการประนีประนอมไม่เหมือนกัน การปรองดองคือทำให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมเป็นสิ่งที่ดี แต่การประนีประนอมเราบอกว่าคนนี้ผิด เขาไม่ต้องผิดได้ไหมมาอยู่ร่วมกันแล้วเริ่มต้นใหม่ ผมว่านี่ไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง คิดว่าปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นที่เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลที่แล้วต้องพิสูจน์ถูก ผิดให้เห็นชัดเจน

“จำนำข้าวถูกผิดจริงไหม การกู้เงินมาแก้ปัญหาเรื่องน้ำท่วมมีการทุจริตจริงไหม ปัญหาเรื่องอื่นๆ อีกร้อยแปดพันเก้าที่คนพูดมา ผมว่าต้องชำระสะสางให้ชัดเจนว่าเรื่องไหนถูกเรื่องไหนผิด ต้องให้มีความชัดเจน แต่จะมาบอกว่า เอาละคนล้มแล้วอย่าข้าม รัฐประหารล้มรัฐบาลเสร็จแล้วก็ปล่อยรัฐบาลไปเถอะ ผมว่าสังคมไทยจะไม่ได้บทเรียน ผมคิดว่าบทเรียนที่สำคัญต้องทำให้คนเห็นว่านี่คือสิ่งทำไม่ได้และไม่ควรเกิด ขึ้นในสังคมไทย แม้แต่การชุมนุมประท้วงของกลุ่มคุณสุเทพ เทือกสุบรรณถูกทำร้ายด้วยการใช้เอ็ม 79 ผมคิดว่าเรื่องพวกนี้ต้องสะสาง คสช.ควรแสดงให้เห็นเป็นตัวอย่างว่าการใช้กำลังอาวุธที่กระทำต่อประชาชนทั้ง หลาย กลุ่มคนประท้วงไม่ว่าจะเป็นฝ่ายใดก็แล้วแต่ต้องได้รับการชำระ สิ่งเหล่านี้หลายเรื่องเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องทำ ถ้าบอกว่า ปรองดองคือการยกโทษกันไปหมดเลย อย่าเอาผิดกันเลย ผมคิดว่าคนจะผิดหวัง แล้วสังคมไทยจะเดินหน้าไปข้างหน้าไม่ได้”

อย่าวิตกต่างชาติต่อต้านรัฐประหารของไทย

สำหรับประเด็นที่หลายประเทศอย่าง สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และสหภาพยุโรป ประกาศลดความสัมพันธ์กับประเทศไทย เนื่องจากมีรัฐประหาร ดร.สมคิด บอกว่า เป็นเรื่องธรรมดาไม่ใช่เรื่องผิดปกติ

“ไม่มีประเทศไหนหรอกที่บอกว่า รัฐประหารดี ต้องเชียร์รัฐประหาร มันจะผิดธรรมชาติมาก ผมคิดว่าภาวะอย่างนี้ไม่ดำรงอยู่นานหรอก แต่จะไปห้ามเขาว่าอย่ามาบอกว่าประเทศไทยทำอย่างนี้ไม่ดี ผมว่าห้ามไม่ได้ เพราะว่าเขามีวิธีคิดแบบหนึ่งซึ่งไม่ตรงกับวิธีคิดของคนไทย เพียงแต่ว่าเราขอความกรุณาเขาเหมือนกับที่หลายฝ่ายพูดว่าขอให้มองด้วยความ เป็นธรรมกับประเทศไทย เพราะว่ารัฐประหารคราวนี้ ณ จนถึงวันนี้ผมคิดว่าไปได้ดีพอสมควร ผมหมายความว่าผู้คนตั้งความหวังกับหัวหน้าและกรรมการ คสช.ทั้งหลายจะไม่มีผลประโยชน์ได้เสียกับการรัฐประหาร ไม่ได้ทำเพื่อตัวเองและก็นำพาประเทศไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองในอนาคต

“ผมไม่ใช้คำของหัวหน้า คสช. ที่บอกว่า 'คืนความสุขให้ประชาชน' ผมมองว่าประเทศไทยมีต้นทุนที่ดีและผมไม่เชื่อว่ามีประเทศไหนจะมาตัดความ สัมพันธ์กับประเทศไทย ไม่ว่าสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย สหภาพยุโรป ซึ่งอาจจะแรงกับไทยในคราวนี้หน่อย แต่ผมเชื่อว่าเขามองบริบทในสายตาคนต่างชาติ ไม่ได้มองบริบทของคนไทย คสช.ก็ต้องพิสูจน์ตัวเอง รัฐบาลใหม่ชั่วคราวเฉพาะกาลที่จะเกิดขึ้นก็ต้องพิสูจน์ตัวเองว่าสิ่งที่ทำมา ไม่ได้สูญเปล่าเราต้องพลิกวิกฤตเป็นโอกาสให้ชาวต่างชาติเห็นว่า การที่เราหยุดไปชั่วคราวและเริ่มต้นใหม่น่าจะนำให้ประเทศพุ่งไปข้างหน้าได้ ดีกว่าเดิม เมื่อถึงเวลานั้นคนต่างชาติเขาก็เข้าใจ เขาไม่ได้มีปัญหาอะไรกับสังคมไทยหรอก เพราะรู้ว่าสังคมไทยไม่ได้มีปัญหามากมายอย่างที่เขาคิดอยู่”
หวังว่าหลังรัฐประหารจะมีสิ่งที่ดีๆ เกิดขึ้นในสังคมไทย

การออกมาพูดอย่างนี้ในประเด็นที่ให้กำลังใจ คสช. ดร.สมคิด ยืนยันว่า ไม่กลัวจะถูกตีตราว่าสนับสนุนรัฐประหาร

“ผมไม่เคยสนับสนุนรัฐประหารมาตั้งแต่ต้น ไม่เคยเห็นว่ารัฐประหารดี และไม่เคยบอกว่าช่วยทำรัฐประหารเถอะ ไม่เคยพูดอย่างนั้นเลย ผมเป็นนักนิติศาสตร์ เป็นอธิการบดี ไม่มีทางที่จะไปสนับสนุนรัฐประหารเลย แต่ถามว่ารัฐประหารเกิดขึ้นแล้วจะให้ทำอย่างไร เราควรจะมาประท้วงหรือคัดค้าน ซึ่งมันไม่ใช่บทบาทที่ดีของคนที่เป็นโมเลกุลหนึ่งของสังคมไทย ผมไม่สนับสนุนการรัฐประหารแต่ถ้าไปคัดค้านก็เป็นการเสียโอกาส คิดว่าเราควรต้องมองไปข้างหน้าบ้างว่า จะพัฒนาไปในทิศทางใดได้บ้าง มีอะไรบ้างที่จะช่วยประเทศให้พัฒนาไปได้ ดีกว่าที่จะไปคิดว่า ควรหรือไม่ควร ไม่ควรทำอย่างนี้เลย ไม่ควรทำอย่างนั้นเลย ผมศึกษาประวัติศาสตร์การเมืองไทย รู้ว่าเดี๋ยวก็จะมีรัฐธรรมนูญชั่วคราว ต้องมีรัฐบาลชั่วคราว แล้วมีรัฐธรรมนูญถาวร เดี๋ยวก็มีการเลือกตั้ง ไม่มีทางหรอกครับที่รัฐประหารจะอยู่ไปยั่งยืนยง คสช.ไม่มีหรอกที่จะประกาศกฎอัยการศึกไปตลอดกาลหรือเป็นเผด็จการทหาร ไม่มีทางหรอกครับ นี่เป็นกระบวนการปกติของการดำเนินการหลังการรัฐประหาร เพียงแต่เวลาจะช้าหรือจะเร็วก็เท่านั้นเอง

“ที่สำคัญก็คือว่าผมอยากให้พัฒนาการเมืองไทย ไม่อยากให้เป็นวงกลมที่อยู่กับที่อย่างนี้ แต่อยากให้เป็นวงกลมที่เป็นสปริงขึ้นมาให้มันเด้งขึ้นมาเรื่อยๆ อยากให้คนไทยได้รับรู้บทเรียนจากการทำรัฐประหารคราวนี้ว่า สังคมไทยไม่ควรเกิดรัฐประหาร แต่เมื่อเกิดแล้วจะทำอย่างไรที่จะให้เกิดการพัฒนาเท่าที่จะทำได้ ผมไม่รู้ว่าคนไทยโทษรัฐประหารหรือว่าโทษฝั่งรัฐบาลที่ไม่ยอมลาออกจากตำแหน่ง มันมีทั้งสองฝั่ง ผมเชื่ออย่างที่หลายคนเชื่อว่าถ้าวันนั้นรัฐบาลลาออกจากตำแหน่ง รัฐประหารก็คงไม่เกิดขึ้น เมื่อรัฐบาลไม่ลาออกก็เกิดรัฐประหารขึ้น ผมย้ำอีกทีว่า เมื่อปีที่แล้วผมเป็นประธานในที่ประชุมอธิการบดีทั่วประเทศ ตอนเดือนพฤศจิกายน 2556 เราได้ออกแถลงการณ์ที่ประชุมอธิการบดีฯ ในครั้งนั้น 4 ข้อ 1 รัฐบาลต้องยุบสภา 2 รัฐบาลต้องลาออก 3 ต้องปฏิรูปการเมือง และ 4 เลือกตั้ง เราเรียกร้องไป 4 ข้อ

“ย้ำอีกครั้งนะว่า ผมไม่ได้สนับสนุนรัฐประหาร แต่ผมคิดว่าเท่าที่ดูพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในช่วงของการทำงานตั้งแต่รัฐประหาร 22 พฤษภาคมถึงวันนี้ ผมคิดว่า คสช. มีความตั้งใจดี ในหลายๆ เรื่องก็ทำได้ดี เรื่องจำนำข้าวก็แก้ปัญหาได้ฉับไว เรื่องบีโอไอการลงทุนอะไรต่างๆ เหล่านี้ ตรงนี้เป็นสิ่งที่เห็นในปัจจุบัน ส่วนอนาคตเราไม่รู้ว่าจะดีไปตลอดไหม ตอนนี้แนวทางในการแก้ปัญหาถือว่าใช้ได้ และเหมือนกับว่าทหารยุคปัจจุบันได้รับบทเรียนจากรัฐประหารเมื่อปี 2549 ซึ่งไม่ได้แก้ปัญหาอะไร หลายคนก็บ่นว่าเสียดายของ ทำรัฐประหารทั้งทีไม่ได้พัฒนาอะไรให้เกิดขึ้นเลย ก็เป็นกำลังใจให้พลเอกประยุทธ์ในการปฏิรูปประเทศ แล้วก็เป็นกำลังใจให้กับคนไทยทุกคนให้พวกเรา ผมคิดว่าวันนี้น่าจะให้พวกเราร่วมมือกัน ทำอย่างไรให้การปฏิรูปทั้งการเมือง เศรษฐกิจ สังคมให้ก้าวไปข้างหน้า และอย่าไปซ้ำรอยเดิม อย่ามีการรัฐประหารเกิดขึ้นอีกเลยในสังคมไทย”

อนาคตสังคมไทย

ดร.สมคิดบอกว่า เขาให้กำลังใจกับสถานการณ์ช่วงนี้ เพราะไม่มีใครอยากให้เกิดเหตุการณ์รัฐประหาร และรัฐประหารก็ไม่มีใครรับได้ ถึงจุดหนึ่งเราก็ต้องกลับมาสู่ระบอบประชาธิปไตย ทุกคนมีสิทธิมีเสียง

“โจทย์ใหญ่วันนี้คือเราจะทำอย่างไรให้รัฐประหารซึ่งมีทั้งคนชอบและไม่ชอบ จะไม่สูญเปล่า หมายความว่าเราต้องเก็บเกี่ยวจากรัฐประหาร ซึ่งเป็นการล้มล้างรัฐบาลชุดปัจจุบันไปสู่การแก้ปัญหาที่ดีกว่า ผมคิดว่าคนจำนวนมากมองเห็นปัญหาอยู่ ไม่ใช่เฉพาะคณะรัฐประหาร ผมคิดว่าคุณสุเทพ เทือกสุบรรณ อาจารย์คณิต ณ นคร อาจารย์หมอประเวศ วะสี อดีตนายกอานันท์ ปันยารชุน หลายคนที่นำเสนอความคิดเรื่องปฏิรูปมาก่อนหน้านี้ก็มีไอเดียและความเห็นดีๆ ทั้งสิ้น ถ้าเราสามารถรวบรวมความคิดเห็นจากทุกหมู่ทุกเหล่า ซึ่งผมหมายความว่าเป็นความคิดเห็นที่ดี ไม่ใช่ความคิดเห็นที่อีเหละเขะขะเอาแต่ผลประโยชน์ตัวเอง

“ผมบอกเลยว่าการปฏิรูปการเมืองคราวนี้ทำไม่ยากหรอก แล้วอย่าไปทำใหม่ อย่าไปเริ่มต้นที่ศูนย์ ให้เริ่มที่สิบ ยี่สิบ หรือสามสิบ เพราะว่าเรามีข้อมูลอยู่แล้ว ชุดอดีตนายกอานันท์กับหมอประเวศพูดว่า การแก้ปัญหาความยากจนทำอย่างไร ชุดอาจารย์คณิตก็มีข้อมูลว่าถ้าอยากปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ปฏิรูปตำรวจจะทำอย่างไร มันมีอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าเราอย่าไปเริ่มต้นที่ศูนย์กันใหม่ ลงไปเริ่มต้นหากันใหม่ ไปรับฟังความคิดเห็นกันใหม่ ให้รวบรวมความเห็นที่มีนำเสนออยู่แล้วเป็นจุดเริ่มต้นเป็นทุนเพื่อประเดิม แล้วก็ค่อยๆ พัฒนาไป ผมคิดว่าถ้าเราช่วยกันก็จะพลิกวิกฤตเป็นโอกาสจากการรัฐประหาร การจะเริ่มต้นประเทศกันใหม่ให้ประเทศไทยไม่มีความขัดแย้งคงเป็นไปไม่ได้ แต่ให้มีความเจริญก้าวหน้าไปบนหนทางของสันติ และทำให้ประเทศพัฒนาไปข้างหน้า”


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : อย่าให้ รัฐประหาร สูญเปล่า สมคิด เลิศไพฑูรย์

view