สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

มืออาชีพคนหนึ่ง โดย วิรัตน์ แสงทองคำ

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ เรื่องราวกับความคิด

โดย วิรัตน์ แสงทองคำ viratts.wordpress.com

ยุคมืออาชีพเริ่มต้นและเป็นพลังขับเคลื่อนอย่างซับซ้อนและย้อนแย้งตามเส้นสายสัมพันธ์สังคมไทย ดำเนินไปอย่างต่อเนื่องยาวนานอย่างไม่น่าจะเป็นไปได้

จากความพยายามปะติดปะต่อ "ชิ้นส่วนย่อย" ให้เป็น "ภาพรวม" โดยอ้างอิงจากเนื้อหาในหนังสือ "ทำดีแล้ว...อย่าหวั่นไหว" อมเรศ ศิลาอ่อน (อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง 2556) แม้ว่าหนังสือเล่มนี้เป็นเพียงบันทึกความทรงจำของคนคนหนึ่ง ที่มีจุดประสงค์เล่าเรื่องตนเอง (แน่นอนในเชิงบวก) ตามธีม "ปู่เล่าเรื่องให้หลานฟัง" แต่เนื่องจากผู้เล่าเป็นบุคคลในแวดวงสังคม เรื่องราวในหนังสือจึงมีความเชื่อมโยงกับบริบททางสังคม และให้ภาพบางภาพที่น่าสนใจขึ้นมาได้บ้าง

นั่นคือ ภาพ "มืออาชีพ" ผู้เริ่มต้นทำงานและมีบทบาทมากกว่า 4 ทศวรรษ เป็นปรากฏการณ์ต่อเนื่อง สะท้อนแกนอันมั่นคงที่อาจมองไม่เห็น ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่เห็นและเป็นอยู่


ผู้บริหารธุรกิจ

อมเรศ ศิลาอ่อน เป็นนักบริหารคนสำคัญคนหนึ่งในยุคต้น ๆ สังคมธุรกิจไทย โดยเฉพาะยุคต้นสงครามเวียดนาม เขาเป็นหนึ่งกลุ่มผู้มีโอกาส ในบรรดากลุ่มผ่านการศึกษาจากต่างประเทศ

อมเรศ ศิลาอ่อน จบการศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์จาก University of Manchester เข้าทำงานในบริษัทระหว่างประเทศ Shell--เป็นเวลากว่า 10 ปี ในช่วงเวลานั้นกิจการค้าน้ำมันและพลังงานเป็นกิจการที่ทรงอิทธิพลในสังคมธุรกิจไทย ยุคที่สินค้าปัจจัยการผลิตสำคัญไม่สามารถผลิตได้ในประเทศ

จากนั้นเขามาอยู่เครือซิเมนต์ไทยหรือเอสซีจี ยุคธุรกิจไทยกำลังเติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยเฉพาะกรณีเอสซีจีมีบางบทวิเคราะห์อ้างว่า ปัจจัยหนึ่งมาจากฐานะกิจการที่ได้รับการดูแลจากสังคมไทยเป็นพิเศษ เป็นช่วงที่อมเรศ ศิลาอ่อน ทำงานยาวนานที่สุดในชีวิตมากกว่า 20 ปี จนเป็นที่ยอมรับในฐานะนักบริหารยุคใหม่

เมื่อเขาลาออกจากเอสซีจีด้วยความคาดหมายบางประการในองค์กรใหญ่ไม่เป็นไป ใช้เวลาช่วงหนึ่งเป็นที่ปรึกษาให้บริษัทครอบครัวภรรยา-เอสแอนด์พี ธุรกิจหนึ่งที่เหลืออยู่ของนักธุรกิจในตำนานรุ่นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2--สุริยน ไรวา

เส้นทางชีวิตในการทำงานภาคธุรกิจ ได้สร้างความสัมพันธ์กับผู้คนมากมาย อาทิ กรณี ดร.กัลย์ อิศรเสนา ณ อยุธยา เลขาธิการพระราชวัง (ขณะนั้น) เป็นผู้ใหญ่ฝ่ายอมเรศ ศิลาอ่อน ไปขอหมั้นหมาย ภัทรา ไรวา (เจ้าของเอสแอนด์พี และบุตรีของสุริยน ไรวา) ไปจนถึงกรณีทำงานสำคัญ ๆ บางชิ้น โดยเฉพาะการกอบกู้กิจการสยามคราฟท์ อันเป็นตำนานการบริหารธุรกิจยุคใหม่ของไทย

เขาบอกว่า "ได้เรียนรู้จากยอดฝีมือ 3 คน" ซึ่งหมายถึง ชุมพล ณ ลำเลียง ต่อมาเป็นผู้จัดการใหญ่เอสซีจี ปรีดิยาธร เทวกุล และธารินทร์ นิมมานเหมินท์ ซึ่งขณะนั้นทั้งสองเป็นกรรมการรองผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย และไทยพาณิชย์ตามลำดับ

รัฐมนตรีพาณิชย์


"อมเรศกำลังนั่งปรึกษากันอยู่ตอนนี้ และกำลังมีการเปลี่ยนแปลงในรัฐบาล จะขอให้คุณอมเรศมารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์" ตอนหนึ่งของหนังสืออมเรศ ศิลาอ่อน อ้างถึงบทสนทนากับหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช สะท้อนช่วงชีวิตของคนคนหนึ่ง กำลังก้าวข้ามจากบทบาทในสังคมธุรกิจสู่การเมือง

เขาเป็นหนึ่งของกลุ่มคนแรก ๆ ที่มาจากภาคธุรกิจ เข้าสู่ตำแหน่งทางการเมืองในฐานะผู้บริหารนโยบายรัฐ

อมเรศ ศิลาอ่อน เข้าสู่การเมืองด้วยการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (26 สิงหาคม 2533-กุมภาพันธ์ 2534) ในรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ช่วงสุดท้ายก่อนถูกรัฐประหาร

"ความจริงแล้วคนที่สนับสนุน คือ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ท่านคงรู้ว่าปู่ทำได้ แต่ก็ไม่ทราบว่าท่านเจรจาอย่างไร เพราะเก้าอี้รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ เป็นโควตาของพรรคกิจสังคม ปู่จึงต้องรายงานท่านคึกฤทธิ์ ไปหาท่านทุกสัปดาห์" ขณะนั้นหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นหัวหน้าพรรคกิจสังคม

แม้เมื่อคณะรัฐประหารยึดอำนาจ อมเรศ ศิลาอ่อน ยังเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในรัฐบาลชุดต่อไป "ได้เจอคุณอานันท์ ปันยารชุน ซึ่งเป็นที่ปรึกษา รสช.เหมือนกัน ก็หารือกันว่าจะทำอย่างไร ที่สำคัญจะต้องไปชี้แจงให้ฝรั่งพี่เบิ้มมหาอำนาจ"

อานันท์ ปันยารชุน คืออีกคนหนึ่งที่มาจากภาคธุรกิจ เพียงแต่ว่าช่วงเวลาทำงานส่วนใหญ่อยู่ในระบบราชการ (รับราชการกระทรวงต่างประเทศมากกว่า 20 ปี) ขณะอยู่ภาคธุรกิจมีบทบาทในฐานะกรรมการและที่ปรึกษาอีกประมาณ 10 ปี (เรื่องราวของอานันท์ ปันยารชุน ได้เขียนถึงมาแล้วอย่างละเอียด) อานันท์ ปันยารชุน ตกลงรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี "อย่างน้อยก็น่าจะช่วยแก้ไขความเสียหายที่เกิดขึ้น จากการที่ประเทศถูกรัฐประหารได้บ้าง" อมเรศในฐานะผู้รู้เห็นให้เหตุผลที่ควรอ้างอิงไว้

อมเรศ ศิลาอ่อน กล่าวชื่นชมความสำเร็จของรัฐบาลอานันท์ ปันยารชุน ไว้มาก ซึ่งมีความหมายพาดพิงถึงบทบาทตนเองด้วย "ปู่ทำงานร่วมกับท่านหลายอย่าง แก้ปัญหาระบบเศรษฐกิจและสังคมต่าง ๆ ที่บิดเบี้ยวเพราะความขัดแย้งทางการเมือง" ขณะเดียวกัน ได้กล่าวถึงแผนการทำงานของรัฐบาลอานันท์ ปันยารชุน ในช่วงท้าย ๆ ไว้ว่า "รัฐบาลอานันท์ 2 อยู่ต่ออีก 3 เดือนกว่าเพื่อจัดการเลือกตั้งอีกครั้ง ในช่วงระหว่างนี้คุณอานันท์พยายามทำงานให้เร็ว เพราะไม่เช่นนั้นจะเสียชื่อประเทศ เราไม่เป็นประชาธิปไตย"

ประธานตลาดหลักทรัพย์ฯ

ตอนนี้อมเรศ ศิลาอ่อน กลายเป็นตัวแทนกลุ่มคนรุ่นหนึ่งที่ได้รับการยอมรับ และเป็นที่คาดหวังของสังคมอย่างมาก "ยามใดที่แวดวงสังคม เศรษฐกิจ การเมืองมีปัญหาในเรื่องผู้นำ ชื่ออมเรศ ศิลาอ่อน ปรากฏขึ้นเกือบทุกครั้ง" ผมเคยเขียนถึงเขาครั้งหนึ่งนานมาแล้ว (กันยายน 2540)

หลังจากพ้นตำแหน่งรัฐมนตรี อมเรศ ศิลาอ่อน มีบทบาทในกรรมการชุดต่าง ๆ เกี่ยวข้องกับยุทธศาสตร์สังคมและรัฐที่น่าสนใจคือ ประธานตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย "มีโทรศัพท์เข้ามา บอกว่า จากหม่อมเต่า-หม่อมราชวงศ์จัตุมงคล โสณกุล ปลัดกระทรวงการคลัง ซึ่งตอนนั้นรู้จักกันดีเพราะเคยทำงานร่วมกันในรัฐบาล และรู้จักกันมาตั้งแต่เขาเป็นอธิบดีกรมสรรพพากร เขาบอกว่ากำลังประชุมอยู่ที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. คณะกรรมการ เขาตกลงเลือกปู่เป็นประธานตลาดหลักทรัพย์ฯ" เขากล่าวไว้อีกตอนหนึ่ง พร้อมทั้งระบุเหตุผลไว้ด้วย ซึ่งดูขัดแย้งแต่น่าสนใจ "มารู้ทีหลังว่าคณะกรรมการ ก.ล.ต. เขาเป็นห่วงมาก โบรกเกอร์ซึ่งแข็งกร้าวจ้องหาประโยชน์จากตลาดหลักทรัพย์ฯมาก เขาอยากได้คนไปคานได้ เพราะคนแข็งหน่อย ไม่กลัวพ่อค้าหรือนายธนาคาร"

อมเรศ ศิลาอ่อน เข้าดำรงตำแหน่งประธานในช่วงคาบเกี่ยววิกฤตการณ์ตลาดหุ้น (2540-2544) ซึ่งเป็นช่วงท้ายของรัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ และอยู่ในตำแหน่งต่อเนื่องตลอดช่วงรัฐบาลชวน หลีกภัย

ประธาน ปรส.

หลังจากเป็นประธานตลาดหลักทรัพย์ฯได้ไม่กี่เดือน อมเรศ ศิลาอ่อน ก็ได้รับงานที่ท้าทายมาก ๆ

"ตอนนั้นรัฐบาลประกาศลอยตัวค่าเงินบาทแล้ว ดร.โกร่งมาหาปู่ตอนเย็นวันนั้นที่บ้าน มาถึงก็พูดว่าต้องขอให้ไปช่วยหน่อย" อมเรศ ศิลาอ่อน เล่าในหนังสือตอนที่ชื่อว่า "รับงาน ปรส." ขณะนั้น ดร.วีรพงษ์ รามางกูร หรือ ดร.โกร่ง เป็นรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ (15 สิงหาคม 2540-14 พฤศจิกายน 2540) ของรัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ

ภาระที่ท้าทายอย่างยิ่งในการจัดการกับปัญหาสถาบันการเงินท่ามกลางวิกฤตการณ์ครั้งใหญ่ อมเรศในฐานะผู้มีประสบการณ์ในภาคธุรกิจย่อมมีมุมมองที่แตกต่างจากระบบราชการ เขาสามารถดำเนินหลายสิ่งหลายอย่างไปได้ช่วงหนึ่ง "ปู่ขอให้หม่อมอุ๋ย--หม่อมราชวงศ์ปรีดิยาธร เทวกุล มาช่วยและหาคนเก่ง ๆ มาช่วยเป็นกรรมการหลายคน" เขาได้ตัดสินใจลาออกไปในช่วงท้าย ๆ รัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ

และแล้วเขากลับมารับภารกิจเดิมอีกครั้ง ตามคำร้องขอของธารินทร์ นิมมานเหมินท์ รัฐมนตรีคลังของรัฐบาลชวน หลีกภัย "คุณธารินทร์โทร.มาหา ขอให้กลับไปช่วยที่ ปรส."

แม้ว่าในหนังสือได้กล่าวผลงานในช่วงนี้ไว้พอสมควร แต่บทสรุปจบลงไม่ค่อยดีนัก เนื่องจากต้องเผชิญคดีความ ผลตัดสินชั้นต้นไม่เป็นที่ยอมรับจากอมเรศ ศิลาอ่อน ผู้อยู่ในวัย 80 ปี

แต่สำหรับคนคนหนึ่ง ถือเป็นโอกาสที่ดีมากที่มีบทบาทอย่างยาวนานเช่นนี้


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : มืออาชีพคนหนึ่ง วิรัตน์ แสงทองคำ

view