สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เปิดขุมทรัพย์สิทธิส่วนเกินบอร์ดรัฐวิสาหกิจ

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...กองบรรณาธิการโพสต์ทูเดย์

กระทรวงการคลังได้รวบรวมข้อมูลในส่วนผลตอบแทนและสิทธิประโยชน์ของคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจ ตามคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (ศสช.) เบื้องต้นพบว่าผลตอบแทนของรัฐวิสาหกิจทุกแห่งจะเป็นลักษณะเดียวกันคือ มีทั้งผลตอบแทนในลักษณะเงินเดือนประจำให้กรรมการทุกคน มีเบี้ยประชุม มีค่าเลี้ยงรับรอง และในส่วนของประธานกรรมการ ประธานกรรมการบริหาร จะมีรถประจำตำแหน่ง คนขับรถ เลขานุการส่วนตัว และห้องทำงาน รวมทั้งมีการจ่ายโบนัสให้กรรมการทุกคน หากรัฐวิสาหกิจนั้นมีกำไร

ทั้งนี้ หากแบ่งประเภทรัฐวิสาหกิจออกเป็นรัฐวิสาหกิจที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและนอกตลาดหลักทรัพย์ฯ จะพบว่ารัฐวิสาหกิจในตลาดหลักทรัพย์ฯ จะได้ผลตอบแทนสูงกว่ารัฐวิสาหกิจนอกตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่จ่ายผลตอบแทนของกรรมการต้องอยู่ภายใต้ระเบียบของกระทรวงการคลัง

สำหรับรัฐวิสาหกิจนอกตลาดหลักทรัพย์ฯ แม้จะมีระเบียบให้กรรมการได้เพียงเบี้ยประชุมครั้งละ 6,000-1 หมื่นบาท หากเป็นอนุกรรมการจะได้เบี้ยประชุมเพิ่มอีกครั้งละ 5,000-8,000 บาท ซึ่งเป็นจำนวนไม่มาก รัฐวิสาหกิจต่างๆ จึงหาช่องจ่ายผลตอบแทนอื่นๆ ให้กรรมการ โดยไม่รายงานให้กระทรวงการคลังทราบ ได้แก่ ค่าประจำตำแหน่งกรรมการที่จ่ายทุกเดือนสูงถึงเดือนละ 5 หมื่น-2 แสนบาท ค่าเลี้ยงรับรองเดือนละ 5 หมื่น-1 แสนบาท โดยรัฐวิสาหกิจจะจ่ายเป็นเงินสดทั้งก้อน หรือออกเป็นบัตรเครดิต บัตรเดบิตให้กรรมการไว้รูดใช้จ่าย

ด้านรัฐวิสาหกิจในตลาดหลักทรัพย์ฯ กรรมการจะได้รับผลตอบแทนสูง ทั้งค่าเบี้ยประชุม เช่น ประธานธนาคารกรุงไทยได้เบี้ยประชุมครั้งละ 1 แสนบาท และกรรมการได้ครั้งละ 5 หมื่นบาท หรือประธานกรรมการบริษัท การบินไทย ได้เบี้ยประชุมครั้งละ 4.5 หมื่นบาท กรรมการได้ 3 หมื่นบาท และยังได้สิทธิตั๋วพิเศษที่ถูกตัด

สำหรับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จากรายงานประจำปี 2556 พบว่ามีค่าใช้จ่ายค่าตอบแทนคณะกรรมการรวม 7,622,851.56 บาท โดยกรรมการนอกจากจะได้รับผลตอบแทนปกติแล้ว หากได้รับมอบหมายหน้าที่และความรับผิดชอบเพิ่ม เช่น เป็นกรรมการตรวจสอบ กรรมการบริหารของคณะกรรมการ กฟผ. ฯลฯ จะได้รับค่าตอบแทนเพิ่มเติม

บริษัท ปตท. บอร์ดจะได้รับค่าเบี้ยประชุมเดือนละ 3 หมื่นบาท เบี้ยประชุมเฉพาะที่เข้าร่วมประชุมครั้งละ 5 หมื่นบาท จำกัดการจ่ายเบี้ยประชุมไม่เกินปีละ 15 ครั้ง และเบี้ยประชุมอื่นที่บอร์ดแต่งตั้ง
บอร์ดตรวจสอบได้รับเบี้ยกรรมการรายเดือน เดือนละ 1.5 หมื่นบาท ได้เบี้ยประชุมครั้งละ 1.5 หมื่นบาท

นอกจากนี้ ได้เงินเงินโบนัสให้สะท้อนและเชื่อมโยงกับผลประกอบการหรือกำไรสุทธิของ ปตท. ในอัตรา 0.05% ของกำไรสุทธิประจำปี แต่กำหนดวงเงินสูงสุดไม่เกิน 3 ล้านบาท/คน/ปี

ผลตอบแทนดังกล่าวพบว่า ปตท.ต้องจ่ายเงินบอร์ด ปีที่ผ่านมามีมูลค่ากว่า 64.4 ล้านบาท แยกเป็น เงินเบี้ยประชุม 16.3 ล้านบาท และเงินโบนัส 45.12 ล้านบาท

ปานปรีย์ พหิทธานุกร ประธานกรรมการ ปตท. ได้รับผลตอบแทนรวม 2.62 ล้านบาท (เริ่มรับตำแหน่ง 29 มิ.ย. 2556) วรุณเทพ วัชราภรณ์ กรรมการอิสระ ผู้บริหารจากเอไอเอส ได้รับผลตอบแทน 1.37 ล้านบาท และอินสอน บัวเขียว กรรมการอิสระ ที่ปรึกษาสหกรณ์สันป่าตอง และที่ปรึกษาบริษัท ชินวัตร-ลาว ได้รับผลตอบแทน 4.06 ล้านบาท

ขณะที่บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (ปตท.สผ.) ที่เป็นบริษัทลูก กำหนดค่าตอบแทนกรรมการดังนี้ 1.ค่าตอบแทนเดือนละ 4 หมื่นบาท และจ่ายเต็มเดือน 2.ค่าเบี้ยประชุมครั้งละ 4 หมื่นบาท กรณีที่มาประชุม 3.โบนัสกรรมการให้คณะกรรมการได้รับโบนัส ถ้ามีการจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นในปีนั้นๆ โดยได้รับ 0.1% ของกำไรสุทธิปีนั้นๆ จากงบการเงินรวมของบริษัท แต่ไม่เกินวงเงินปีละ 50 ล้านบาท โดยจ่ายตามระยะเวลาของการดำรงตำแหน่ง

ตามรายงานประจำปี 2556 นั้น พบว่า ณอคุณ สิทธิพงศ์ ประธานกรรมการ ปตท.สผ. ได้รับค่าตอบแทนรวม 5.39 ล้านบาท

ด้านบริษัท การบินไทย ที่มีการจ่ายเงินค่าตอบแทนเป็นเบี้ยประชุม ผลตอบแทนรายเดือน และเงินโบนัสพิเศษ 0.2% ของกำไรเบื้องต้นไม่หักผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งว่ากันว่าปีหนึ่งรับกันไปหลายล้านบาท

และที่ยั่วยวนใจชวนมานั่งเก้าอี้บอร์ด ที่จูงใจด้วยสิทธิประโยชน์ตั๋วบินฟรีชั้นธุรกิจเส้นทางในประเทศ 10 ใบ/ปี และเส้นทางต่างประเทศ 10 ใบ/ปี พ่วงด้วยการอัพเกรดที่นั่งเป็นเฟิสต์คลาส กรณีที่นั่งว่าง ถือเป็นสิทธิประโยชน์ที่ถูกจับตามอง

สิทธิประโยชน์ดังกล่าวได้ถูกลดลงเมื่อครั้งที่การบินไทยเลือดไหลออกอย่างหนักในช่วงปี 2552 ขาดทุนกว่า 2 หมื่นล้านบาท นับจากการก่อตั้งสายการบินมา ทำให้การปรับลดสิทธิประโยชน์ลดลง จากเดิมตั๋วฟรียังเผื่อแผ่ได้ทั้งครอบครัว รวมถึงการนั่งฟรีได้ตลอดอายุขัยของบอร์ด

ด้านบอร์ดบริษัท ท่าอากาศยานไทย หรือ ทอท. ไม่ได้มีสิทธิประโยชน์เพิ่มเติม ยกเว้นเบี้ยการประชุมบอร์ดครั้งละประมาณ 3 หมื่นบาท/เดือน และยังมีคณะกรรมการย่อยอีกจำนวน 6 คณะ ที่คณะกรรมการต้องเข้าไปนั่งเป็นกรรมการ ประกอบด้วย คณะกรรมการตรวจสอบ คณะกรรมการบริหารความเสี่ยง คณะกรรมการคัดสรร คณะกรรมการพิจารณาค่าตอบแทน คณะกรรมการธรรมาภิบาล และคณะกรรมการบริหาร ซึ่งค่าตอบแทน บอร์ดจะได้ชุดละ 3 หมื่นบาท/3 เดือน ซึ่งบอร์ด 1 คนจะนั่งคณะกรรมการชุดนี้ประมาณคนละ 3 คณะ

นอกจากนั้น ยังค่าเบี้ยเลี้ยงประชุมคณะอนุกรรมการอีกครั้งละประมาณ 1 หมื่นบาทเท่านั้น

สำหรับการรถไฟฟ้าขนมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) นั้น มอบสิทธิประโยชน์ของกรรมการเป็นเบี้ยรายเดือน ประธานบอร์ด รฟม. จะได้ค่าตอบแทนรายเดือน 2 หมื่นบาท/เดือน ค่าเบี้ยประชุม 1.25 หมื่นบาท/เดือน รวมเป็น 3.25 หมื่นบาท/เดือน รถประจำตำแหน่ง 1 คัน บัตรโดยสารรถไฟฟ้าใต้ดินลดราคา 50% รวมถึงบัตรจอดรถวีไอพีที่อาคารจอดรถฟรีตลอดชีพ

บอร์ดคนอื่นๆ จะมีเบี้ยการประชุมบอร์ดครั้งละประมาณ 1 หมื่นบาท และค่ารายได้อีก 1 หมื่นบาท/เดือน รวมเป็น 2 หมื่นบาท/เดือน

นอกจากนั้น จะได้รับบัตรโดยสารรถไฟฟ้าใต้ดินลดราคา 50% และยังได้รับบัตรจอดรถวีไอพีที่อาคารจอดรถฟรีตลอดชีพ

ด้าน นายสุนชัย คำนูณเศรษฐ์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า กระทรวงการคลังเป็นผู้กำหนดค่าตอบแทนของคณะกรรมการ กฟผ. ตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ และปัจจุบันไม่ได้มีสิทธิพิเศษมาก มีค่าตอบแทนเดือนละ 1 หมื่นบาท และค่าเบี้ยประชุม 1 หมื่นบาท/ครั้ง ส่วนประธานบอร์ดจะได้มากกว่า 25% สำหรับโบนัสขึ้นอยู่กับผลประกอบการในแต่ละปี และไม่มีสิทธิพิเศษใช้ไฟฟรี

“ถ้าเทียบผลตอบแทนของ กฟผ.กับบริษัทเอกชนอื่น ถือว่ายังต่ำ แต่รับผิดชอบมากกว่า ในการพิจารณาโครงการสำคัญๆ ที่เป็นประโยชน์กับประเทศ”นายสุนชัย กล่าว



สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : เปิดขุมทรัพย์ สิทธิส่วนเกิน บอร์ดรัฐวิสาหกิจ

view