สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เมื่ออัตราดอกเบี้ยติดลบ

เมื่ออัตราดอกเบี้ยติดลบ

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




ถือเป็นข่าวใหญ่โตพอสมควรนะครับ สำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทางฝั่งยุโรป ในกลุ่มประเทศ Eurozone

ที่เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. 2557 ธนาคารกลางยุโรปหรือ European Central Bank(ECB)ได้ประกาศกำหนดอัตราดอกเบี้ย สำหรับเงินฝากที่ธนาคารพาณิชย์วางไว้กับECBไว้ เป็นอัตราที่ติดลบเป็นครั้งแรกในประวัติการณ์ที่อัตรา -0.1%

กล่าวคือ ECB จะเรียกเก็บเงินจากธนาคารที่นำเงินมาฝากไว้กับ ECB ในอัตรา 0.1% หรืออีกนัยหนึ่ง ธนาคารพาณิชย์ต้องจ่ายค่าฝากเงินสำหรับ Excess Reserve ที่ธนาคารฝากไว้กับ ECB ในอัตรา0.1% นั่นเอง ซึ่งก็เป็นไปตามที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ล่วงหน้า อย่างที่ President Mario Draghiของ ECB ได้เกริ่นเอาไว้ตั้งแต่ปลายปีที่แล้วว่า ECB มีความพร้อมที่อาจจะกำหนดอัตราดอกเบี้ยไปจนถึงขั้นติดลบ

โดยวัตถุประสงค์ให้ธนาคารพาณิชย์(แทนที่จะกักตุนเงินเอาไว้) เร่งปล่อยกู้ให้เม็ดเงินกระจายเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ เพื่อเป็นการกระตุ้นให้เกิดภาวะที่มีอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ทั้งนี้เนื่องจากในปัจจุบัน อัตราเงินเฟ้อของกลุ่ม Eurozone มีอัตราที่ระดับ 0.5% ในเดือนพ.ค. 2557 ต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อเป้าหมายที่ 2% ที่ ECB กำหนดเอาไว้พอสมควร

มาถึงตรงนี้ ผู้อ่านบางคนอาจจะสับสนระหว่าง กลุ่มประเทศ Eurozone กับ กลุ่มประเทศสหภาพยุโรปหรือ European Union (EU) ว่าเกี่ยวข้องหรือสัมพันธ์กันอย่างไร ซึ่งในความเป็นจริงกลุ่มประเทศEurozone นี้ก็คือ เป็นกลุ่มประเทศใน EUนั่นเอง โดยมีจำนวน 18 ประเทศ จากทั้งหมด28 ประเทศที่เลือกที่จะใช้สกุลเงินยูโร (Euro หรือ €) เป็นเงินตรา(Currency) ของประเทศตน

โดยมีการจัดตั้งธนาคารกลางยุโรป หรือ ECB ทำหน้าที่รับผิดชอบเรื่องนโยบายทางการเงิน (Monetary Policy)ของสกุลเงินยูโร ในขณะที่รัฐบาลกลางแต่ละประเทศยังจะเป็นผู้รับผิดชอบนโยบายการคลัง (Fiscal Policy) กันเอง ตัวอย่างของประเทศในกลุ่ม Eurozone ที่สำคัญ เช่นเยอรมนี, ฝรั่งเศส, อิตาลี, สเปน, โปรตุเกสและเนเธอร์แลนด์

มีประเทศในกลุ่มEU แต่อยู่นอก Eurozone อาทิ อังกฤษ, เดนมาร์กและสวีเดน ที่ยังคงมีเงินตราใช้เป็นของตนเอง ซึ่งก็คือเงินPound Sterling(GBP) Dennis krone (DKK) และ Swedish krona(SEK) ตามลำดับขณะที่ก็มีอีกกลุ่มหนึ่งอย่าง สวิตเซอร์แลนด์และนอร์เวย์ ที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่ม EU และแน่นอนว่าย่อมมีเงินตราของตัวเองซึ่งก็คือ Swiss franc (CHF) และ Norwegian krona(NOK) โดยแต่ละประเทศที่ใช้สกุลเงินของตัวเองนี้ จะมีธนาคารกลางของตนในการดำเนินนโยบายทางการเงินสำหรับในแต่ละประเทศ

การที่ธนาคารกลางยุโรป หรือ ECB ทำหน้าที่รับผิดชอบนโยบายการเงินของกลุ่ม Eurozone ทั้ง18ประเทศ ในขณะที่รัฐบาลแต่ละประเทศยังทำหน้าที่รับผิดชอบนโยบายการคลังกันเอง ส่งผลให้เป้าหมายหลักของ ECB มีเพียงหนึ่งเดียวนั่นก็คือ ภาวะเงินเฟ้อเป้าหมาย ซึ่งจะต่างไปเมื่อเทียบกับกรณีของธนาคารกลางของสหรัฐ (หรือ Federal Reserve) ที่มี เป้าหมายหลัก2 ประการ ได้แก่ ภาวะเงินเฟ้อ และ ภาวะการจ้างงาน โดยจะเห็นจากกรณีเมื่อเร็ว ๆ นี้ เมื่อตัวเลขการว่างงานในสหรัฐดูดีขึ้น Federal Reserve ก็ได้เริ่มที่จะลดตัวเลขการทำ Quantitative Easing หรือ QE ลง(เริ่มลดการผ่อนคลายทางการเงิน เมื่อภาวะการจ้างงานดูดีขึ้น)

ด้วยการมีเป้าหมายหลักเพียงหนึ่งเดียวที่ว่า ทำให้การดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบในครั้งนี้ เมื่อรวมกับมาตรการอื่น ๆ ของ ECB ที่ได้ออกมาพร้อม ๆ กัน อาทิ ปรับอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงของการ Refinance Operation ลงจาก 0.25% เหลือ 0.15% และเตรียมเงินให้ธนาคารพาณิชย์ในการปล่อยกู้นอกภาคการเงินอีก 400,000 ล้านยูโร มีมาเพียงเพื่อทำให้อัตราเงินเฟ้อใน Eurozone ปรับตัวไปสู่ระดับเป้าหมายให้ได้นั่นเอง

นอกจากมาตรการต่าง ๆที่ได้ออกมาแล้วนั้น President Draghi ได้ยืนยันแล้วว่า มาตรการที่ออกมาแล้วนั้นยังถือว่าไม่ถึงที่สุด โดยหากเมื่อจำเป็น ECB อาจจะมีเครื่องมือหรือมีมาตรการใหม่ ๆ ออกมาอีก (ซึ่งทำให้อาจจะทำให้หลายคนพลอยคิดไปถึงวิธีการเข้าไปซื้อสินทรัพย์ของธนาคารกลาง หรือ Quantitative Easing หรือ QE ด้วย ซึ่งเป็นวิธีการ ECB ยังไม่เคยได้ลองทำอย่างเป็นทางการเลย)

อย่างไรก็ตาม การกำหนดอัตราดอกเบี้ยแบบติดลบในครั้งนี้ ก็ถือว่าเป็นวิธีการแบบใหม่ และเป็นปรากฏการณ์ที่ได้ถูกกล่าวขวัญถึงไปทั่ว เนื่องจากการติดลบที่ว่าเป็นการติดลบจริง ๆ ของอัตราดอกเบี้ย กล่าวคือ ธนาคารพาณิชย์ต้องจ่ายเงินกับ ECB ในอัตรา 0.1% ของเงินที่ฝากไว้กับ ECB ซึ่งไม่ใช้การติดลบของอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง หรือ Negative Real Interest Rate ที่เป็นการนำเอาอัตราดอกเบี้ยมาหักด้วยอัตราเงินเฟ้อแล้วออกมาติดลบ

การที่อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงติดลบนั้นถือว่าเป็นเรื่องที่ปกติมาก ทั้งนี้ เป็นภาวะเนื่องมาจากนโยบาย Financial Repression ที่หลายประเทศได้เคยทำหรือกำลังทำอยู่ ต่อเนื่องมาตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน

ทั้งนี้ การกำหนดอัตราดอกเบี้ยแบบติดลบในครั้งนี้ นับว่าเพิ่งเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกของธนาคารกลางขนาดใหญ่ระดับภูมิภาค ซึ่งถึงแม้ว่าในอดีตอาจจะมีตัวอย่างเกิดขึ้นมาแล้ว อาทิธนาคารกลางของ เดนมาร์กในปี 2555ก็ได้เคยปรับดอกเบี้ยจนติดลบหรือ -0.2% มาแล้ว แต่ในครั้งนั้น เดนมาร์กทำไปเพื่อป้องกันไม่ให้เงินภายนอกเข้ามาถือครองเงินสกุล Dennis krone (DKK) มากเกินไป มิได้มีวัตถุประสงค์ในการใช้สู่ภาวะเงินเฟ้อต่ำเกินไปเหมือนอย่างที่ ECB กำลังเจออยู่ ณ ขณะนี้

สำหรับผลของการกำหนดให้อัตราดอกเบี้ยบน Reserve ของ ECB ให้ติดลบในครั้งนี้ ก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันว่าจะสามารถช่วยให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยกู้มากขึ้น แล้วจะทำให้อัตราเงินเฟ้อในกลุ่ม Eurozone ปรับตัวเพิ่มขึ้นสู่เป้าหมายได้หรือไม่ แต่ที่แน่ ๆ การกำหนดนโยบายแบบนี้ได้ทำให้ค่าเงินยูโรอ่อนค่าลงในทันที

แต่คำว่า “อัตราดอกเบี้ยติดลบ” ซึ่งได้ถูกทำให้เป็นนโยบายในครั้งนี้ ได้ส่งผลทางจิตวิทยาให้กับกลุ่มผู้ออมทั่วไปเรียบร้อยแล้วโดยคำถามตามมาว่า ธนาคารผลักภาระให้ผู้บริโภคแล้วเริ่ม charge หรือ เรียกเก็บเงินกับผู้ฝากเงินรายย่อยที่มีเงินฝากกับธนาคารพาณิชย์หรือไม่คำตอบในใจของผมก็คือ “คงไม่ เพราะว่า ECB คงมีมาตรการต่อไปออกมาก่อนอย่างแน่นอน”

นโยบายที่ว่าก็คือการเข้าซื้อทรัพย์สินของธนาคารกลาง หรือ Quantitative Easing (QE) มาตรการสุดฮิต ที่ธนาคารกลางทั่วโลกขนาดใหญ่ได้นำออกมาใช้กันเรียบร้อยแล้ว ไล่ไปตั้งแต่ US Federal Reserve, Bank of England, และ Bank of Japan มาคราวหนี้หากมาตรการอัตราดอกเบี้ยติดลบของ ECB ยังไม่ช่วยให้อัตราเงินเฟ้อปรับสูงขึ้น ผมเชื่อว่า ECB คงไม่มีทางเลือก

อีกทั้งในคราวนี้เสียงคัดค้านจากประเทศที่อดีตเคยคัดค้านการทำ QE หนัก ๆ อย่างเยอรมนี คงค้านเสียงเบาลง ทั้งนี้เนื่องจากผลเสียที่จะเกิดขึ้นหากเกิดภาวะเงินฟืด จะส่งผลกระทบต่อเยอรมนีมากกว่าผลของ QE อีกทั้งได้มี Case Study ทั้งจากที่ อเมริกา อังกฤษ และญี่ปุ่นมาแล้ว น่าจะทำให้การออกนโยบาย QE หาก President Draghi ต้องการไม่น่าจะมีเสียงคัดค้านมาก คอหุ้นทั้งหลายในบ้านเราก็คงต้องรอลุ้นในการประชุมครั้งต่อ ๆ ไปของ ECB ครับ


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : อัตราดอกเบี้ย ติดลบ

view