สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

มองการเมืองอียู

มองการเมืองอียู

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




ในช่วงสถานการณ์การเมืองแบบนี้ ไม่ขอวิพากษ์วิจารณ์หรือแสดงความคิดเห็นการเมืองใดๆ แต่อยากพูดถึงการเมือง การเลือกตั้ง

และระบบการบริหารจัดการของสหภาพยุโรป โดยเฉพาะการเลือกตั้งสภายุโรปที่เพิ่งมีขึ้นไปเมื่อ พ.ค. 2557 นี้แทน เผื่อจะได้นำมาย้อนคิดถึง “เส้นทางการปฏิรูป” ของไทยเราว่าเหมือนหรือต่างกับของสหภาพยุโรปอย่างไร และมีอะไรที่เราจะเรียนรู้และนำมาปรับใช้แบบ constructive ได้บ้าง

เมื่อความขัดแย้งและความแตกต่าง นำไปสู่ความร่วมมือและบูรณาการทางการเมือง

อันที่จริง ยังคงเชื่อมั่นว่าความขัดแย้งและความคิดที่แตกต่างทางการเมืองเป็นเรื่องธรรมดาซึ่งหากได้รับการถกเถียงและหารือกันอย่างเปิดอกและเป็นระบบและที่สำคัญทุกฝ่ายรู้หน้าที่ เคารพและยอมรับซึ่งความแตกต่าง โดยตั้งเป้าหมายร่วมกันเพื่อมองหาจุดประนีประนอม หากทำแบบนี้ได้ความร่วมมือและสันติสุขก็คงจะเกิด แต่นั่นเป็นเพียงทฤษฎี ในความจริงต้องยอมรับปฏิบัติได้ไม่ง่ายนัก ไม่ว่าจะในระบบการเมืองของประเทศใด

สหภาพยุโรปเองต้องผ่านประสบการณ์ที่ปวดร้าวของสงครามมากก่อน กว่าจะทำให้ฝรั่งเศสและเยอรมนียอมร่วมมือและบูรณาการเป็นสหภาพยุโรป ภายใต้ระบอบที่ยุโรปเรียกว่า “ประชาธิปไตย” ต้องใช้เวลาเดินหน้ามากว่า 50 ปี เราจะไม่วิพากษ์วิจารณ์กันหรอกว่าระบอบประชาธิปไตยแบบยุโรปนั้นดีหรือไม่ดีอย่างไร แต่เราเพียงยอมรับว่านั่นเป็นทางเลือกของยุโรปเขา และเราก็มีทางเลือกทางการเมืองของเรา

สหภาพยุโรปหรืออียูเป็นตัวอย่างการพลิกความล้มเหลวของสงครามให้กลายเป็นความร่วมมือแบบเหนือรัฐ โดยเริ่มจากสมาชิกดั้งเดิม 6 ประเทศ ที่ร่วมมือกันด้านอุตสาหกรรมถ่านหินและเหล็กเมื่อ 50 กว่าปีก่อน จนมาบัดนี้ขยายความร่วมมือเป็น 28 ประเทศ ที่มีบทบาทสำคัญมากในเวทีโลกไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ การเมือง หรือสังคม ไม่ได้น้อยหน้าไปกว่าประเทศยักษ์ใหญ่อื่นๆ ในเวทีโลก

แต่น้อยคนนอกสหภาพยุโรปหรือแม้ในประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปเองจะเข้าใจระบบโครงสร้างการแบ่งหน้าที่ ความรับผิดชอบขององค์กรและสถาบันต่างๆ ของสหภาพยุโรป เพราะแค่ชื่อสถาบันต่างๆ ก็สับสนแล้วสรุปสั้นๆ สถาบันหลักของสหภาพยุโรป มี 3 สถาบัน คือ คณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) สภายุโรป (European Parliament) และคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป (Councilof the European Union) ซึ่งมีการคานอำนาจและระบบการบริหารจัดการภายใต้ระบอบประชาธิปไตยผ่านการเลือกตั้งและลงคะแนนเสียงในทุกๆ อย่าง ทุกๆ ประเด็น และที่สำคัญมีการตรวจสอบ ควบคุม และลงโทษที่โปร่งใส่และตรวจสอบได้ (อันนี้เป็นจุดเด่นที่น่าเอาอย่าง ในเรื่องของความโปร่งใสและตรวจสอบได้)

คณะกรรมาธิการยุโรปคือฝ่ายบริหารของสหภาพยุโรป เปรียบเสมือนเป็นรัฐบาลสหภาพยุโรปก็ว่าได้ มีอำนาจเหนือรัฐบาลประเทศสมาชิก โดยมีอำนาจ (บางส่วน แต่มิได้ทั้งหมด) ตามที่ประเทศสมาชิกมอบไว้ให้ตามสนธิสัญญาลิสบอน อาทิ สหภาพศุลกากร ตลาดร่วม นโยบายการค้าการเกษตร เศรษฐกิจ การเงิน ขนส่ง การแข่งขัน สิ่งแวดล้อม ฯลฯ มีข้าราชการประจำกว่า 20,000 คน จากสมาชิกทุกประเทศที่ต้องปฏิญาณตนว่า จะทำหน้าที่ปกป้องรักษาผลประโยชน์ของสหภาพยุโรปเหนือผลประโยชน์สมาชิกชาติใด ปัจจุบัน มีนาย Jose Manuel Barroso อดีตนายกรัฐมนตรีโปรตุเกส เป็นผู้นำฝ่ายบริหารของสหภาพยุโรป หรือเทียบเท่ากับนายกรัฐมนตรีนั่นเอง (แต่ไม่ได้ใช้ชื่อตำแหน่งว่านายกรัฐมนตรี) ดำรงตำแหน่งมาแล้ว 2 สมัย ตั้งแต่ปี 2547 และกำลังจะหมดวาระลงในปีนี้

คณะกรรมาธิการยุโรปที่มีหน้าที่เสนอร่างระเบียบกฎหมายของสหภาพยุโรปเข้าสู่กระบวนการตัดสินใจ รวมทั้งมีหน้าที่ตรวจสอบและควบคุมการใช้บังคับกฎหมายของสหภาพยุโรปในประเทศสมาชิกนอกจากนั้น มีบทบาทในการเป็นผู้นำเจรจาเรื่องต่างๆ ที่ได้รับอาณัติภายในสนธิสัญญา อาทิ การเจรจาเขตการค้าเสรีไทยและสหภาพยุโรปก็มีคณะกรรมาธิการยุโรปเป็นผู้เจรจาหลัก

สภายุโรป มีลักษณะพิเศษที่ไม่เหมือนกับรัฐสภาในการเมืองระดับประเทศเลย กล่าวคือสมาชิกสภายุโรปมาจากการเลือกตั้งในแต่ละประเทศสมาชิกโดยตรง แต่เมื่อเข้ารับตำแหน่งในสภายุโรปแล้วต้องเข้ากลุ่มตามอุดมการณ์ของพรรค (ขวากลาง สังคมนิยมอนุรักษนิยม เสรีนิยม กรีน ฯลฯ) มิใช่ตามรายชื่อประเทศ ที่สำคัญ รัฐสภายุโรปไม่มีอำนาจในการเสนอร่างกฎหมาย แต่มีส่วนร่วมตัดสินใจในร่างกฎหมายที่ฝ่ายบริหารคือ คณะกรรมาธิการเสนอขึ้นมาเท่านั้น และการมีส่วนได้รับการปรึกษาหารือ และลงคะแนนรับหรือไม่รับ บทบาทและอำนาจของสภายุโรปยิ่งมีมากขึ้นแล้วหลังการปรับใช้สนธิสัญญาลิสบอนในปี 2552

คณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป ประกอบด้วยผู้แทนสมาชิก 28 ประเทศ ที่คอยจับตาและปกป้องผลประโยชน์ของประเทศตนในสหภาพยุโรปผ่านบทบาทของสถาบันนี้ในการผ่านกฎหมายคู่กับสภายุโรป

ทั้งสามสถาบันหลักมีความสัมพันธ์และทำงานแบบคานอำนาจกัน โดยมีระบบการตรวจสอบที่ชัดเจน โปร่งใส่ และเป็นรูปธรรม คณะกรรมาธิการยุโรปยึดผลประโยชน์ร่วมของสหภาพยุโรปเป็นหลัก โดยสมดุลด้วยสภายุโรปที่มองจากผลประโยชน์ประชาชน และเน้นประเด็นด้านสังคม สิทธิมนุษยชน สิ่งแวดล้อม ฯลฯ ตามอุดมการณ์ทางการเมืองที่ ส.ส. นั้นสังกัดอยู่ และคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรปมองการปกป้องผลประโยชน์ของประเทศสมาชิกเป็นหลัก นับว่าเป็นรูปแบบของการประนีประนอมที่ดูลงตัว

ผลการเลือกตั้งสภายุโรปครั้งล่าสุด

การเลือกตั้งสภายุโรปครั้งล่าสุดมีขึ้นเมื่อ พ.ค. 2557 นับเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมทางการเมืองที่จะกำหนดทิศทางและเส้นทางทางการเมืองของสหภาพยุโรปในอีก 5 ปีข้างหน้าประชาชนยุโรปออกมาลงคะแนนเสียงเลือกตั้งร้อยละ 43.09 (ซึ่งก็ใกล้เคียงกับครั้งที่ผ่านมาเมื่อปี 2552) โดยได้เลือกตั้งสมาชิกสภายุโรปจำนวน 751 คนเข้ามารับตำแหน่งเป็นผู้แทนของตนในสภายุโรปแล้ว

พรรค EPP (European People’s Party) พรรคลูกผสมของกลุ่มอนุรักษนิยมและขวากลาง ได้รับเสียงไปอันดับหนึ่ง กล่าวคือร้อยละ 29.43 หรือจำนวน 221 ที่นั่งจาก 751 ที่นั่ง ในขณะที่พรรค S&D (Alliance of Socialists and Democrats) ได้เสียงอันดับสอง ร้อยละ 25.43 หรือ 191 เสียง EPP และ S&D เป็นสองพรรคใหญ่ในสภายุโรปที่คานอำนาจกันอย่างน่าสนใจ

สภายุโรปจะเปิดประชุมสามัญในวันที่ 1 ก.ค. ศกนี้ โดยสมาชิกสภายุโรปหน้าใหม่จะเข้าร่วมประชุมเป็นครั้งแรก ขั้นตอนต่อไปจะเป็นการคัดเลือกประธานสภายุโรปซึ่งดำรงตำแหน่งได้วาระละ 2.5 ปี

รัฐบาลใหม่ของสหภาพยุโรป

ต่อเนื่องจากผลการเลือกตั้งสภายุโรปก็จะเป็นการคัดเลือกฝ่ายบริหารหรือรัฐบาลใหม่ของสหภาพยุโรป ตำแหน่งสำคัญคือประธานคณะกรรมาธิการยุโรป (เทียบเท่านายกรัฐมนตรี) และการคัดสรร Commissioners (เทียบเท่ารัฐมนตรีของแต่ละกระทรวง) โดยประธานคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรปจะหารือกับสภายุโรปเพื่อสรรหาและเสนอรายชื่อผู้แทนของแต่ละกลุ่มการเมืองและในการประชุมผู้นำสุดยอดของสหภาพยุโรป (European Council) (ซึ่งก็คือผู้นำของประเทศสมาชิก) จะลงคะแนนเสียงเพื่อแต่งตั้งประธานคณะกรรมาธิการยุโรป โดยสภายุโรปมีหน้าที่ลงคะแนนเสียงยอมรับหรือไม่รับ กล่าวสั้นๆ ก็คือ ตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการยุโรปจะได้รับการแต่งตั้งโดยประเทศสมาชิก และยืนยันผ่านการลงคะแนนเสียงในสภายุโรป ต่อมาประธานคณะกรรมาธิการยุโรปจะเสนอชื่อ Commissioners หรือคณะรัฐมนตรี ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนประเทศสมาชิกครบประเทศสมาชิกอีกที

ผู้เข้าชิงตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการยุโรปหรือที่รู้จักในนาม “Spitzenkandidat” ได้แก่

กลุ่ม EPP ซึ่งมีเสียงมากที่สุดในสภายุโรปจากการเลือกตั้งครั้งนี้ ได้กำหนดตัวนาย Jean-Claude Juncker อดีตนายกรัฐมนตรีลักเซมเบิร์ก เพื่อเข้าชิงตำแหน่งกลุ่ม EPP มีอำนาจและกุมเสียงข้างมากในสภายุโรป และเป็นฐานเสียงของเยอรมนีในสภายุโรป

ส่วนพรรคสังคมนิยม หรือ S&D กำหนดตัวนาย Martin Schulz อดีตประธานสภายุโรปเข้าชิงตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการยุโรป และพรรค ALDE กำหนดตัวนาย Guy Verhofstadt อดีตนายกรัฐมนตรีเบลเยียมเข้าชิงตำแหน่ง

ในขณะเดียวกัน ก็น่าสนใจมองดูความขัดแย้งทางอำนาจระหว่างเยอรมนีกับสหราชอาณาจักร ที่มักจะลงคะแนนเสียงขัดกันอยู่ตลอดเวลา และดูท่าทีของสหราชอาณาจักรในสหภาพยุโรปว่าจะออกจากสหภาพยุโรปจริงๆ หรือเปล่า เมื่อนาย David Cameron นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักรมีประกาศว่าสหราชอาณาจักรอาจออกจากสหภาพยุโรป หากนาย Jean-Claude Juncker ได้ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการ !

ใครจะเป็นผู้ดำรงตำแหน่งผู้นำด้านบริหารของสหภาพยุโรป (เทียบเท่านายกรัฐมนตรีของสหภาพยุโรป) ตั้งแต่ปี 2557 นี้และจะดำรงตำแหน่งในอีก 5 ปีต่อไป คงต้องติดตามดูผลกัน คาดว่าจะทราบในไม่ช้านี้ แต่ที่น่าสนใจก็คือสหภาพยุโรปก็มีแนวทางการเลือกตั้งและคัดเลือกผู้นำในแบบของเขา ไทยก็มีแนวทางในแบบของเรา…คงนำมาเปรียบเทียบอะไรกันมิได้


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : มองการเมือง อียู

view