สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ปัจจัยการผลิตที่เคลื่อนย้ายได้

ปัจจัยการผลิตที่เคลื่อนย้ายได้

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพได้ทำการสำรวจความเห็นโดยการส่งแบบสอบถามออนไลน์ไปยังนักเศรษฐศาสตร์องค์กรชั้นนำ 31 แห่งจำนวน 60 คน

โดยเก็บข้อมูลช่วง 26-30 พฤษภาคมซึ่งผมเห็นว่ามีผลสำรวจที่น่าสนใจดังนี้

1. ต้องการนายกรัฐมนตรีที่เป็นคนเด็ดขาด กล้าตัดสินใจและให้ความสำคัญกับการปฏิรูปมากถึง 65% ตรงนี้น่าสนใจเพราะผมเชื่อว่าผู้ตอบให้ความสำคัญกับความเด็ดขาดกล้าตัดสินใจมากกว่าการปฏิรูป เพราะหากจะเน้นปฏิรูปคงต้องให้ความสำคัญกับการมีความรู้ความสามารถด้านเศรษฐกิจตามมาด้วย (จะได้ทราบว่าต้องปฏิรูปอะไรบ้าง) ซึ่งมีเพียง 6.7% เท่านั้นที่มองว่าเป็นคุณสมบัติสำคัญ ส่วนคุณสมบัติของการเป็นคนประนีประนอมนั้นมีเพียง 10% และมีความเป็นกลางและเป็นที่ยอมรับของประชาชนนั้นก็มีเพียง 10% เท่านั้น จึงน่าจะเป็นการแสดงความเห็นว่าต้องเด็ดขาดมากกว่าต้องเป็นคนประนีประนอม

2. นักเศรษฐศาสตร์ถึง 80% มองว่าเศรษฐกิจต่อไปนี้น่าจะดีขึ้น ซึ่งอาจสะท้อนความหวังจากผู้นำการปฏิวัติ ส่วนหนึ่งกล่าวคือ 66.7% มั่นใจว่าการปฏิรูปประเทศจะสำเร็จ 50% จากที่คาดหวังเอาไว้ แต่อีกส่วนหนึ่งก็คงจะเป็นเพราะสภาวการณ์ก่อนการปฏิวัตินั้นย่ำแย่เต็มที ทำให้การ “ปลดล็อค” ความขัดแย้งสามารถน่าจะทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้โดยอัตโนมัติ

3. มีการคาดหวังว่าการปฏิรูปโดยคสช.หรือรัฐบาลชุดใหม่จะไม่ใช้เวลามากนัก กล่าวคือ 41.7% คิดว่าควรกินเวลานานที่สุดไม่เกิน 1 ปีอีก 20% คิดว่าไม่ควรเกิน 6 เดือนและ 16.7% ไม่ควรเกิน 1 ปี 6 เดือน

4. ในส่วนของการปฏิรูปนั้นอันดับแรกคือการแก้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน 41.5% (ซึ่งผมนึกว่าจะสูงกว่านี้มาก) ตามมาด้วยการปฏิรูประบบการเลือกตั้งการซื้อเสียงนโยบายประชานิยม 30.2% ทั้งนี้ นักเศรษฐศาสตร์เสียงแตกในส่วนของการให้นักการเมืองมีส่วนร่วมในการปฏิรูปดังกล่าวคือ 36.7% เห็นควรมีตัวแทนจากภาคการเมือง แต่ 36.7% เห็นว่าไม่ควรมีตัวแทนจากพรรคการเมือง สำหรับการปฏิรูปด้านเศรษฐกิจนั้น การปฏิรูประบบภาษีเพื่อลดความเหลื่อมล้ำมาเป็นอันดับแรก 29.6% ตามด้วยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน 13% และเพิ่มประสิทธิภาพในการส่งออก/แข่งขัน 13%

แต่ครั้งนี้ผมไม่ได้ตั้งใจจะเขียนเรื่องปัจจุบันและอนาคต แต่อยากมองกลับไปในอดีตที่เสียงส่วนใหญ่ชื่นชมผลงานของรัฐบาลพลเรือนนำโดยนายกรัฐมนตรีอานันท์ โดยเฉพาะการปฏิรูประบบรถแท็กซี่ในกรุงเทพฯ หากจำได้ก่อนหน้าปี 1991 จำนวนแท็กซี่มีจำกัดมากเพราะไม่ต้องการให้จำนวนแท็กซี่ทำให้รถติดและคนขับแท็กซี่ก็กลัวว่าหากมีจำนวนแท็กซี่มากขึ้นก็จะทำให้รายได้ของคนขับรถแท็กซี่ลดลง ดังนั้น เมื่อใดที่มีข้อเสนอให้เพิ่มทะเบียนแท็กซี่ก็จะมีการต่อต้านจากคนขับรถแท็กซี่เป็นหลัก อย่างไรก็ดี รัฐบาลอานันท์แสดงความ “เด็ดขาด” ในการตัดสินใจเพิ่มจำนวนแท็กซี่อย่างเกือบจะไม่มีขอบเขตจำกัดเพียงให้แท็กซี่ต้องเป็นรถใหม่มีเครื่องยนต์ 1600 ซีซีขึ้นไปและต้องมีมิเตอร์คิดค่าโดยสารตามอัตราที่ทางการกำหนด

ผลปรากฏว่าจำนวนแท็กซี่เพิ่มขึ้นอย่างมากหลายเท่าตัวและการใช้มิเตอร์ก็ประสบผลสำเร็จในการทำให้ค่าบริการมีความชัดเจนเสมอภาคและคุณภาพการบริการก็ดีขึ้นอย่างมากเพราะผู้บริโภคได้ใช้รถแท็กซี่ใหม่ ที่สำคัญคือรายได้ของพนักงานขับรถแท็กซี่ก็ไม่ได้ปรับลดลงไปดังที่บางคนเกรงว่าจะเกิดขึ้น ดังนั้น จึงควรตั้งคำถามว่าทำไมและใครเป็นผู้เสียประโยชน์ในที่สุด คำตอบคือผู้ที่เสียประโยชน์คือผู้ที่เป็นเจ้าของทะเบียนแท็กซี่ซึ่งก่อนปี 1991 มีค่าหลายแสนบาทเพราะเป็นสิ่งที่ขาดแคลน

ในขณะเดียวกันต้องถามว่าทำไมเมื่อจำนวนคนขับรถแท็กซี่เพิ่มขึ้นรายได้จึงไม่ลดลง คำตอบคือคนขับนั้นเป็นปัจจัยการผลิตที่เคลื่อนย้ายได้ หมายความว่าหากมีแท็กซี่ให้ขับอยู่น้อยคัน ก็มีรายได้เท่ากับที่มีแท็กซี่จำนวนมากเพราะเมื่อมีน้อยคัน ผลประโยชน์ก็จะไปตกกับผู้ที่เป็นเจ้าของทะเบียนแท็กซี่ ผู้ขับนั้นหากได้รายได้ต่ำกว่านี้ก็จะไปทำอาชีพอื่นเพราะรายได้ดีกว่า ตรงกันข้ามเมื่อมีจำนวนแท็กซี่มากขึ้น การจะให้มีคนมาขับแท็กซี่เพิ่มขึ้นนั้นคนขับรายใหม่ก็ยังต้องการรายได้เท่ากับคนที่ขับอยู่แล้ว มิฉะนั้นก็จะไม่ทิ้งอาชีพเดิม ดังนั้น ส่วนที่ต้องปรับตัวคือค่าเช่าแท็กซี่ต้องปรับลดลงเพราะสามารถขอทะเบียนแท็กซี่ได้โดยมีต้นทุนไม่สูงมากนัก (ค่าติดมิเตอร์) ส่วนผู้ที่สูญเสียคือเจ้าของใบอนุญาตแท็กซี่เดิมซึ่งเคยมีมูลค่าหลายแสนก็กลายเป็นทรัพย์สินที่ไม่มีค่าเลยในทันทีทันใด

การแบ่งแยกระหว่างปัจจัยการผลิตที่เคลื่อนย้ายได้กับที่เคลื่อนย้ายไม่ได้จึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะผลของนโยบายจะแตกต่างจากที่คาดหวังไว้ เช่น กรณีของการประกันราคาข้าวที่ 15,000 บาทต่อเกวียนที่ผมไม่เห็นด้วยมาตลอดนั้นส่วนหนึ่งมีวัตถุประสงค์หลักคือช่วยชาวนาให้มีรายได้เพิ่มขึ้น แต่หากมองว่าเป็นรายได้จากผลตอบแทนจากแรงงานเพื่อปลูกข้าว ผมก็สงสัยว่าส่วนนี้จะไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนักเพราะแรงงานนั้นเป็นปัจจัยการผลิตที่เคลื่อนย้ายได้ ดังนั้น จึงจะมีการเกณฑ์คนงานนอกภาคเกษตร (หรือนอกประเทศ) มาเพิ่มได้ ทำให้รายได้จากแรงงานไม่เพิ่มมากนัก แต่ส่วนที่จะได้ผลตอบแทนสูงมากที่สุดน่าจะเป็นค่าเช่าที่นาเพราะมีข้อจำกัดในการนำที่ดินมาปลูกข้าวเพิ่มขึ้นดังจะเห็นจากข่าวหนังสือพิมพ์ว่าค่าเช่านาปรับสูงขึ้นเท่าตัวและค่าปุ๋ย/ยาฆ่าแมลงก็ปรับสูงขึ้นอย่างมาก ทำให้มีข้อเสนอให้ตรึงค่าเช่านาและอุดหนุนค่าปุ๋ย/ยาฆ่าแมลง ตลอดจนพันธุ์ข้าวอีกด้วย

ประเด็นคือการจะช่วยชาวนามีความกินดีอยู่ดีในระยะยาวนั้นควรต้องส่งเสริมให้ชาวนาเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตที่สำคัญ เพิ่มความสามารถในการแข่งขันและคุณภาพสินค้าพร้อมกันไปครับ


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ปัจจัยการผลิต เคลื่อนย้ายได้

view