สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

คสช ล้มเค้ก6.25หมื่นล.สร้างสุวรรณภูมิ เฟส 2

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...ทีมข่าวเศรษฐกิจภาครัฐ โพสต์ทูเดย์

ตกตะลึงกันทั้งเมืองเมื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สั่งการให้คณะกรรมการตรวจสอบการใช้งบประมาณภาครัฐ (คตร.) ส่งอนุกรรมการเข้าไปตรวจสอบโครงการพัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิ เฟส 2 วงเงิน 6.25 หมื่นล้านบาท

เนื่องเพราะโครงการนี้แม้ว่า คณะกรรมการบริษัท ท่าอากาศยานไทย (ทอท.) พยายามผลักดันให้มีการประมูลมาหลายครั้งแต่ยังไม่มีการเปิดซอง

ความคืบหน้าล่าสุดนั้น มีการว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา EPM Consortium ให้เป็นผู้บริหารจัดการโครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เพื่อรองรับผู้โดยสารที่จะเพิ่มขึ้นจาก 48-50 ล้านคน/ปี เป็น 60 ล้านคน ในปี 2560

บริษัทปรึกษา EPM Consortium ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของบริษัท พีซีบีเคอินเตอร์เนชั่นแนล บริษัท โชติจินดามูเชลคอนซัลแตนท์ บริษัท เอพซิลอน และบริษัท ออเรียนทอลคอนซัลแตนส์ รับงานนี้ด้วยค่าใช้จ่ายที่สูงถึง 809.9 ล้านบาท หน้าที่หลักคือบริหารจัดการโครงการ เช่น การจัดทำข้อกำหนดรายละเอียด งานจ้างที่ปรึกษาออกแบบ การควบคุมการออกแบบ การควบคุมการก่อสร้าง เริ่มงานตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. 2555 เป็นต้นไป รวมเวลา 70 เดือน

ปัจจุบันมีการกำหนดรายละเอียดโครงการลงทุนไว้อย่างชัดเจน โดยแยกเป็น 4 กลุ่มงาน และพร้อมที่จะเปิดการประมูลทันทีที่คณะกรรมการ ทอท.อนุมัติ

กลุ่มงานที่ 1 งานก่อสร้างอาคารเทียบเครื่องบินรอง ซึ่งมีพื้นที่ใช้สอยประมาณ 2.16 แสนตารางเมตร สามารถจอดเครื่องบินประชิดอาคารได้ 28 หลุมจอด สามารถจอดอากาศยานขนาด A380 ได้ 8 หลุมจอด และอากาศยานขนาด B747400 ได้ 20 หลุมจอด

นอกจากนี้ ยังมีงานก่อสร้างลานจอดอากาศยานประชิดอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 เพื่อรองรับหลุมจอดอากาศยานประชิดอาคาร 28 หลุมจอด สามารถจอดอากาศยานขนาด A-380 ได้ 8 หลุมจอด และอากาศยานขนาด B-747-400 ได้ 20 หลุมจอด พร้อมก่อสร้างระบบทางขับเพื่อเข้าสู่ลานจอด รวมทั้งสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ที่เกี่ยวข้องและระบบน้ำมันทางท่อ ซึ่งจะดำเนินการโดยผู้ประกอบการรายอื่น พื้นที่โดยประมาณ 9.6 แสนตารางเมตร วงเงินก่อสร้างทั้งสองส่วน 3.61 หมื่นล้านบาท

กลุ่มงานที่ 2 เป็นการก่อสร้างส่วนขยายอาคารผู้โดยสารปัจจุบันทางด้านทิศตะวันออก อาคารสำนักงานสายการบินและที่จอดรถ 1 อาคาร วงเงิน 7,078 ล้านบาท

แยกเป็นงานออกแบบและก่อสร้างส่วนขยายอาคารผู้โดยสารด้านทิศตะวันออก พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกที่เกี่ยวข้องบนพื้นที่ 1.45 หมื่นตารางเมตร

งานออกแบบและก่อสร้างอาคารสำนักงานพร้อมที่จอดรถยนต์ โดยสร้างเป็นอาคาร 2 ส่วน ด้านหน้าเป็นอาคารสำนักงานสูง 4 ชั้น พื้นที่ประมาณ 3.5 หมื่นตารางเมตร โดยจัดเตรียมพื้นที่และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ส่วนด้านหลังเป็นอาคารจอดรถสูง 5 ชั้น และดาดฟ้า 1 ชั้น พื้นที่ประมาณ 3.2 หมื่นตารางเมตร พร้อมทางเดินเชื่อมต่อกับอาคารจอดรถที่อยู่ข้างเคียงและอาคารผู้โดยสาร

กลุ่มงานที่ 3 เป็นงานออกแบบและก่อสร้างระบบสาธารณูปโภค วงเงิน 2,564 ล้านบาท

เนื้องานหลักเป็นการก่อสร้างระบบสาธารณูปโภค ได้แก่ ระบบไฟฟ้าแรงสูง ระบบประปา ระบบน้ำเย็นสำหรับเครื่องปรับอากาศ เพื่อเชื่อมต่อเข้าสู่อาคารเทียบ เครื่องบินรองหลังที่ 1 ระบบขนส่งผู้โดยสาร (APM) และรองรับทางวิ่งเส้นที่ 3 ในอนาคต ก่อสร้างสถานีไฟฟ้าย่อย ระบบจ่ายไฟฟ้า ระบบควบคุม และสั่งการ SCADA ก่อสร้างท่อเมนประปาและก่อสร้างระบบท่อส่งน้ำเสีย เชื่อมต่อกับระบบเดิม

กลุ่มงานที่ 4 เป็นงานติดตั้งระบบขนส่งผู้โดยสาร หรือรถ APM (Automated People Mover) วงเงิน 2,897 ล้านบาท ระบบขนส่งกระเป๋าสัมภาระผู้โดยสาร (BHS) โดยก่อสร้างอุโมงค์ต่อเชื่อมกับปลายอุโมงค์ด้านที่ได้ก่อสร้างในระยะที่ 1 มายังอาคารเทียบเครื่องบินรอง หลังที่ 1 รวมความยาวของอุโมงค์ที่ทำการต่อเชื่อม ประมาณ 700 เมตร จะเป็นรถรางวิ่งในอุโมงค์รับส่งคนระหว่างอาคารผู้โดยสารกับอาคารเทียบเครื่องบินรอง

“ถ้าพิจารณารายละเอียดจะเห็นว่าใน 4 กลุ่มงานเป็นงบค่าก่อสร้างที่เป็นเนื้องานจริง 4.86 หมื่นล้านบาท ส่วนที่เหลือเป็นงานอื่นๆ และค่าติดตั้งระบบ ในจำนวนนี้ไม่รวมสำรองราคาและปริมาณงานที่จะเปลี่ยนแปลงได้อีก 10% ภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% และดอกเบี้ยระหว่างการก่อสร้าง 1,761 ล้านบาท” แหล่งข่าวจาก กรรมการ ทอท.ชี้แจง

สำหรับการดำเนินการนั้น หาก คสช.ไม่สั่งระงับ คณะกรรมการ ทอท.สามารถสั่งการให้เดินหน้าได้ทันที ไม่ต้องผ่านการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) อีกแล้ว เพราะมีการอนุมัติมาแล้ว 2 รอบ ในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ทั้งการขออนุมัติเปิดประมูลและเซ็นสัญญาก่อสร้าง และได้ผ่านการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) มาแล้ว

สำหรับเงินลงทุนนั้น ทอท.จะใช้เงินลงทุนจากรายได้ของ ทอท.เองบางส่วน ที่เหลือมาจากการกู้เงิน ไม่ได้ผ่านเงินงบประมาณแผ่นดิน ทุกอย่างขึ้นอยู่กับอำนาจของคณะกรรมการบริษัท (บอร์ด) จะทำให้การดำเนินการได้รวดเร็วมากขึ้น

ปัจจุบัน ทอท.มีสภาพคล่องเงินสดมากกว่า 2-4 หมื่นล้านบาท มีรายได้เฉลี่ยเดือนละ 3,000-4,000 ล้านบาท มีผลประกอบการที่ดีมาตลอด โดยแต่ละปีมีกำไรสุทธิจากการดำเนินงานปีละ 9,500 ล้านบาท และกำไรอื่นๆ อีกกว่า 6,000 ล้านบาท

ขณะที่ตามแผนงานที่มีการกำหนดไว้นั้น ในปี 2557 จะใช้เงินทุนของ ทอท. ประมาณ 1,300 ล้านบาท ปี 2558 อีกประมาณ 6,000 ล้านบาท ที่เหลืออยู่ระหว่างพิจารณาแหล่งเงินกู้ในประเทศมาลงทุน

โครงการสนามบินสุวรรณภูมิเฟส 2 จึงเป็นที่จับจ้องของนักลงทุนและผู้รับเหมา เพราะเป็นงานชิ้นใหญ่ที่เหลืออยู่งานเดียว ขณะนี้โครงการ 2 ล้านล้านบาทล้มไป

ขนาดว่าบริษัทผู้รับเหมาขาใหญ่ ช.การช่าง อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ ซิโนไทยฯ ล้วนจ้องตาเป็นมัน เพราะหากเป็นไปตามแผนจะมีการเปิดซองประมูลกันในเดือน ก.ค. 2557 นี้


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : คสช ล้มเค้ก 6.25หมื่นล. สร้างสุวรรณภูมิ เฟส 2

view