สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

แนะเพิ่มสลากแก้แพง

แนะเพิ่มสลากแก้แพง

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์



อดีตผอ.กองสลากชี้ปริมาณมากช่วยลดราคา ปธ.บอร์ดแจงคุมราคาไม่ทันงวด1ก.ค. เชิญ"ล็อกซเล่ย์"ถกวันนี้

"บอร์ดสลาก" ประชุมนัดพิเศษ เร่งสรุปทางแก้ลอตเตอรี่เกินราคา เผยเตรียมไว้ 3-4 แนวทางเสนอทีมเศรษฐกิจ คสช.เคาะสิ้นเดือนนี้ ขณะที่ อดีตผอ.สลากฯ แนะเพิ่มปริมาณลอตเตอรี่เข้าระบบชั่วคราวเพื่อแก้เฉพาะหน้า "สังศิต" ชี้เครือข่ายพรรคการเมือง-ท้องถิ่นผูกขาดขายสลาก

แหล่งข่าวจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล เปิดเผยเมื่อวานนี้ (18 มิ.ย.) ว่า นายราฆพ ศรีศุภอรรถ อธิบดีกรมศุลกากร ในฐานะประธานคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาลได้เรียกประชุมคณะกรรมการนัดพิเศษเพื่อสรุปแนวทางแก้ไขปัญหาสลากกินแบ่งรัฐบาลหรือลอตเตอรี่เกินราคาเสนอต่อทีมเศรษฐกิจคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ภายในสิ้นเดือน มิ.ย.นี้

อย่างไรก็ตามมีรายงานภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุมยังไม่มีข้อสรุปใดๆ ที่ชัดเจน เพราะอยู่ระหว่างการสรุปแนวทางแก้ไขปัญหา รวมทั้งต้องเรียกผู้ค้าสลากรายใหญ่มาเพื่อขอความร่วมมือในการปรับลดราคาจำหน่าย

วาง3แนวทางแก้ระยะยาว

ทั้งนี้มีแนวทางแก้ปัญหาเบื้องต้นที่กำลังศึกษาอยู่ 3 แนวทางคือ 1.การเร่งจำหน่ายสลากอัตโนมัติ หรือหวยบนดิน เลขท้าย 2 ตัว 3 ตัว รวมถึงการขายสลาก 6 หลักผ่านเครื่องอัตโนมัติทั้งหมด

2.แนวทางการเพิ่มจำนวนหลักของสลากจาก 6 เป็น 7 หลัก เพื่อให้มีการรวมเลขชุดยากขึ้น และ 3.การหารือกับผู้ค้าสลากรายใหญ่ที่ได้รับจัดสรรโควตาสลากไปเพื่อขอความร่วมมือไม่ให้ขายเกินราคา ซึ่งได้หารือร่วมกันไปแล้ว และวันนี้ (19 มิ.ย.) จะนัดหารือกับบริษัท ล็อกซเล่ย์ เกี่ยวกับเรื่องการขายสลากด้วยเครื่อง

แก้ไม่ทันงวด1ก.ค.-ผู้ค้ารับสลากแล้ว

สำหรับ 3 แนวทางดังกล่าว น่าจะเป็นการแก้ไขปัญหาระยะยาว คงไม่สามารถดำเนินการได้ทันที สำนักงานสลากจึงอาจต้องเร่งหาแนวทางอื่นๆ ด้วย ซึ่งในงวดวันที่ 1 ก.ค.นี้ คาดว่าไม่สามารถแก้ปัญหาเกินราคา 80 บาทได้ เพราะผู้ค้าสลากได้มารับสลากไปหมดแล้วตั้งแต่วันที่ 17 มิ.ย.ที่ผ่านมาเพื่อจำหน่ายในงวดที่จะถึงนี้

แหล่งข่าวยังอ้างคำกล่าวของนายราฆพว่า ไม่สามารถดำเนินการได้ทันงวดวันที่ 1 ก.ค.นี้ เพราะเรื่องนี้กระทบต่อคนหลายคนจึงต้องใช้เวลา ส่วนเรื่องของโควตานั้นต้องพิจารณาให้รอบคอบ เพราะการรื้อโควตาโดยไม่เหมาะสมอาจทำให้สำนักงานสลากถูกฟ้องร้องได้

ชี้สลากชุดทำราคาพุ่ง-เสนอเพิ่มรางวัล

แหล่งข่าวในสำนักงานสลาก ฯ กล่าวด้วยว่า สลากที่ขายแพงคือมีการจัดชุด 5 คู่ 10 คู่ และ 20 คู่ ขายคู่ละ 120 บาท จากราคาที่ติดไว้เพียง คู่ละ 80 บาท หมายถึงส่วนเกินกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ แต่คนก็ยังซื้อเพราะอยากได้เลขเด็ด เลขสวย หากเพิ่มเป็น 7 หลัก การจัดคู่จะได้ยากขึ้นมาก รวมได้สูงสุดไม่เกิน 7 คู่ แต่เงินรางวัลจะเป็นอย่างไรต้องคำนวณใหม่

"ตอนนี้คิดไว้ 2 วิธี คือ เพิ่มจำนวนรางวัลให้มากขึ้น จากรางวัลที่ 1 จำนวน 2 ล้านบาทมี 1 รางวัล ก็ต้องเพิ่มเงินรางวัลให้มากขึ้น หรือเพิ่มรางวัลที่ 1 เป็นหลายรางวัลแทน หรือรางวัลที่ 5 มีแค่ 100 รางวัล ก็ต้องเพิ่มอีก นี่เป็นแค่ข้อเสนอต้องดูในรายละเอียดอีกครั้ง" แหล่งข่าว กล่าว

อดีตผอ.สลากแนะพิมพ์เพิ่มช่วยดึงราคา

ด้านนายชัยวัฒน์ พสกภักดี อดีตผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล กล่าวถึงแนวทางในการแก้ไขปัญหาลอตเตอรี่เกินราคาว่า แนวทางการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า คือ การเพิ่มปริมาณลอตเตอรี่เข้าสู่ระบบให้มากขึ้น เพื่อเป็นการดึงราคาจำหน่ายให้ปรับลดลงมาจากปัจจุบันที่มีจำนวนลอตเตอรี่อยู่ในระบบ ต่องวดที่ 72 ล้านฉบับ แบ่งออกเป็นลอตเตอรี่ 50 ล้านฉบับ และสลากการกุศล 22 ล้านฉบับ

"เราต้องทำให้ปริมาณสินค้าล้นๆ เข้าไว้ ราคาก็จะตกลงมาเอง แต่การเพิ่มจำนวนลอตเตอรี่นั้นก็ไม่ได้จะเพิ่มอย่างถาวร สิ่งสำคัญ คือ ต้องมีการบริหารจัดการปริมาณให้เหมาะสมกับช่วงเวลาและสถานการณ์ มีเพิ่มขึ้น และปรับลดลง ต้องไม่ปล่อยให้จำนวนลอตเตอรี่คงที่ไปตลอด" นายชัยวัฒน์ กล่าว

ขายให้บุคคล74.4บาท-นิติบุคคล72.8บาท

ปัจจุบันสำนักงานสลากฯ ได้กำหนดส่วนลดในการจำหน่ายลอตเตอรี่ ให้กับผู้แทนจำหน่ายที่เป็นผู้ค้าประเภทบุคคลทั่วไปที่รับซื้อลอตเตอรี่จากทางสำนักงานสลากฯ โดยส่วนลดอยู่ที่ใบละ 7 เปอร์เซ็นต์ ของราคาลอตเตอรี่ที่กำหนดเอาไว้ที่ 40 บาท หรือลดลง 2.8 บาท ดังนั้นราคาจึงอยู่ที่ใบละ 37.2 บาท หรือคู่ละ 74.4 บาท

ขณะที่ ตัวแทนจำหน่ายประเภทนิติบุคคลนั้น จะได้ส่วนลดที่ 9 เปอร์เซ็นต์ ของราคาลอตเตอรี่ใบละ 40 หรือลดลง 3.6 บาท คือ นิติบุคคลจะสามารถซื้อไปได้ในราคาใบละ 36.4 บาท หรือคู่ละ 72.8 บาท เช่นเดียวกันองค์กรการกุศลต่างๆ ก็จะได้รับส่วนลดอยู่ที่ 9 เปอร์เซ็นต์ หรือ 3.6 บาทเท่ากัน

สำหรับนิติบุคคลที่ได้รับโควตาจากกองสลาก หรือที่เรียกกันในวงการว่า 5 เสือกองสลาก ได้แก่ 1.บริษัท สลากมหาลาภ จำกัด 2.บริษัท ไดมอนล็อต จำกัด 3.บริษัท หยาดน้ำเพชร จำกัด 4.บริษัท ปลื้มวัฒนา จำกัด และ 5.บริษัท บีบีเมอร์ชานส์ จำกัด ซึ่งทั้งหมดได้โควตามาตั้งแต่ปี 2539 และมีการพิจารณาต่อสัญญาทุก 2 ปี

"พรรคการเมือง-ท้องถิ่น"มาเฟียสลาก

ด้าน รศ.ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ ผู้อำนวยการหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม นักวิชาการที่ทำวิจัยและติดตามเรื่องหวยมาหลายสิบปี กล่าวว่า การเพิ่มเลขบนสลากจาก 6 หลัก เป็น 7 หลัก คิดว่าไม่ได้เป็นการแก้ปัญหา เพราะจะทำให้คนไทยถูกรางวัลจากการซื้อล็อตเตอรี่ของรัฐบาลยากยิ่งขึ้นไปอีก ส่วนการผูกขาดการขายสลากกินแบ่งนั้น เป็นเรื่องของมาเฟียพรรคการเมืองที่โยงใยไปถึงระดับท้องถิ่น

"ตั้งแต่การจัดระเบียบการประมูลสลากว่าบริษัทไหนจะได้ก็ยากแล้ว เพราะต้องรู้จักกับคนใหญ่โตหรือกรรมการในบอร์ดของกองสลาก แต่ก่อนมี 5 เสือที่เป็นบริษัทขายสลาก แต่ตอนนี้แตกลูกหลานออกไปเป็นครอบครัวเสือตัวเล็กๆ หลายเจ้า การจัดการยากเพราะจะต้องผ่านขบวนการจัดซื้อที่มีสัญญา ใครอยากได้สัญญาต้องจ่ายเงินสดๆ" รศ.ดร.สังศิต กล่าว

เขา กล่าวว่า การแก้ปัญหาต้องปล่อยให้ผู้ซื้อไปซื้อเองตามตู้ขายอัตโนมัติ หรือเปลี่ยนไปซื้อหวยบนดิน 2-3 ตัวแทน เมื่อคนซื้อไม่ยอมจ่ายแพงเกินราคา คนขายก็ต้องลดราคาลงมาตามกลไกตลาด


เสียง'ยี่ปั๊ว-ซาปั๊ว'ทำไมสลากฯขายเกินราคา?

ฟังเสียง "ยี่ปั๊ว-ซาปั๊ว" ทั่วไทย ทำไมสลากกินแบ่งต้องขายเกินราคา

การแก้ปัญหาสลากกินแบ่งรัฐบาล หรือ "ลอตเตอรี่" ขายเกินราคา เป็นความฝันของนักเสี่ยงโชคทุกรายในบ้านเรา และวาดหวังกันมาทุกรัฐบาล แต่ก็ไม่เคยมีรัฐบาลไหนทำได้สำเร็จ

มาถึงยุคคืนความสุขให้คนในชาติ โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ได้ประกาศนโยบายนี้ด้วยการทุบโต๊ะให้ขยายสลากตามราคาหน้าสลาก คือ ฉบับละ 80 บาท และต้องทำให้ทันในงวดวันที่ 1 ก.ค.2557 นี้ด้วย

เป็นที่ทราบกันดีว่าโควตาและการกระจายสลากกินแบ่งรัฐบาล ซึ่งพิมพ์จำหน่ายถึงงวดละ 70 ล้านฉบับ มีผลประโยชน์มหาศาล ตั้งแต่ผู้รับโควตา ไปจนถึงยี่ปั๊ว ซาปั๊ว โดยมีผู้ซื้อ หรือผู้บริโภคขั้นสุดท้าย "รับเละ" ต้องซื้อสลากราคาแพงถึงฉบับละ 105-110 บาท

การแก้ปัญหาจึงต้องทำความเข้าใจระบบการกระจายสลาก และการกำหนดราคาของผู้ขายแต่ละขั้นด้วย

นายวิวัฒน์ ธรรมสิทธิ์บูรณ์ ผู้ประกอบการร้านสลากทอง ตัวแทนจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลรายหนึ่งใน อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา บอกว่า ทางร้านพร้อมให้ความร่วมมือกับ คสช.ในการจัดระเบียบราคาสลากกินแบ่งรัฐบาล เพียงแต่ตอนนี้ยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องวิธีการ จึงขอไม่พูดถึง

สำหรับเรื่องของโควตาสลากนั้น นายวิวัฒน์ อธิบายว่า ทางร้านจัดอยู่ในยุคเก่าแก่ที่ได้ประกอบกิจการนี้มายาวนาน ตั้งแต่รุ่นคุณพ่อคุณแม่ ทำให้มีโควตาเพียงแค่คนละ 2 เล่ม จำนวน 200 ใบ (ฉบับ) ส่วนที่เคยได้สูงสุดอยู่ที่ 3 เล่มครึ่ง จำนวน 350 ใบ

ขณะที่ในยุคหลัง รายใหม่ๆ ส่วนใหญ่จะได้โควตา 10 เล่ม จำนวน 1,000 ใบ ทั้งนี้เนื่องจากในยุคก่อนเป็นมรดกตกทอดกิจการครอบครัว เมื่อพ่อแม่เสียชีวิตหรือเลิกกิจการ รุ่นลูกก็สามารถรับช่วงรับสิทธิทำกิจการนี้ต่อได้ แต่ปัจจุบันถ้าผู้ประกอบการรายใดเสียชีวิต จะต้องคืนสิทธิตรงนี้ไป เพื่อให้กับผู้ยื่นขอประกอบการรายใหม่

เลขชุดต้องซื้อต่อจากยี่ปั๊วกทม.

"เรื่องของราคาจำหน่าย ขอเรียนว่าตามโควตาของทางร้านนั้น ได้รับมาเป็นเล่ม โควตาเราไม่เพียงพอ หากจะเอาเลขชุดมาจำหน่ายก็ต้องซื้อจากยี่ปั๊วที่กรุงเทพฯ ซึ่งเขาจำหน่ายต่อให้ในราคาใบละเกือบ 100 บาท นี่คืออีกสาเหตุที่ทำให้ไม่สามารถจำหน่ายสลากได้ตามราคาจริงหน้าสลาก คือ 80 บาท" นายวิวัฒน์ กล่าว

ส่วนที่มีกระแสข่าวว่าจะเพิ่มหลักเลขสลากโดยหวนกลับมาเป็นเลข 7 ตัว หรือ 8 ตัว (ปัจจุบัน 6 ตัว) นั้น ผู้ประกอบการจากหาดใหญ่ บอกว่า คงเป็นเรื่องยาก อีกทั้งเงินรางวัลในปัจจุบันก็ไม่ดึงดูดใจ ต่างกับมาเลเซียที่ผู้ซื้อมีโอกาสถูกรางวัลหลากหลายมาก อีกเรื่องหนึ่งคือ "หวยตู้" ในอดีตเคยมีมาแล้ว หากกลับมาอีกก็จะเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ช่วยให้ราคาสลากกินแบ่งรัฐบาลถูกลง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับทาง คสช.ว่าจะจัดระเบียบตรงนี้อย่างไร

ซาปั๊วเชียงใหม่แนะคุมราคาต้นทาง

แหล่งข่าวจากร้านจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาล ซึ่งเป็นซาปั๊วหวยรายใหญ่ใน อ.เมืองเชียงใหม่ กล่าวว่า ทางร้านรับซื้อสลากมา 2 ช่องทาง คือ รับซื้อจากคลัง โดยได้โควตาจากกองสลาก 10 เล่ม หรือ 1,000 ใบ รับซื้อมาในราคาใบละ 74.40 บาท โดยทางกองสลากจะส่งมายังจังหวัด ซึ่งแต่ละจังหวัดจะมีร้านขายหวยขนาดใหญ่ได้โควตาหวยจากกองสลากอยู่แล้ว แต่จะได้จำนวนเล่มไม่มากนัก ซึ่งบางร้านได้เพียง 2 เล่ม หรือ 5 เล่ม อย่างไรก็ตาม โควตาที่ได้รับนั้นไม่พอขาย จึงต้องไปซื้อกับยี่ปั๊วเพิ่ม

ส่วนช่องทางที่สอง คือ รับซื้อจากยี่ปั๊วที่กรุงเทพฯ ราคาแต่ละงวดไม่เท่ากัน ยิ่งช่วงเทศกาลจะมีราคาแพง เคยรับซื้อจากยี่ปั๊วสูงสุดราคา 9,500 บาทต่อเล่ม หรือ 95 บาทต่อใบ ทางร้านก็ต้องบวกกำไรเล็กน้อยและขายต่ออีกทอดหนึ่ง

สำหรับงวดนี้ทางร้านรับซื้อจากยี่ปั๊วมาในราคา 9,050 บาทต่อเล่ม หรือ 90.50 บาทต่อ 1ใบ ทั้งๆ ที่ราคาขายที่กำหนดบนหน้าสลากราคา 80 บาทต่อ 1 ใบ และต้องขายส่งให้ลูกค้าที่จะนำไปขายย่อยราคา 9,200 บาทต่อเล่ม หรือ 92 บาทต่อ 1 ใบ และขายหน้าร้านให้ลูกค้ารายย่อยในราคาใบละ 100 บาท ฉะนั้นหากจะคุมราคาต้องไปคุมที่ต้นทาง

วอนเห็นใจรายย่อยเสี่ยงขาดทุน

ด้านซาปั๊วหวยรายใหญ่อีกรายใน อ.เมืองเชียงใหม่ กล่าวสอดคล้องกันว่า ทางร้านไม่ได้โควตาจากกองสลาก จึงต้องซื้อผ่านยี่ปั๊วจากกรุงเทพฯ ส่วนราคารับซื้อก็ขึ้นอยู่กับต้นทางว่ากำหนดราคามาเท่าไร ซึ่งผู้ใหญ่คงต้องเข้าไปดูราคาที่ต้นทางเป็นหลัก

สำหรับราคารับซื้อสลากแต่ละงวดจะไม่เท่ากัน ช่วงเทศกาลสลากที่รับซื้อมาจะมีราคาแพง ส่วนงวดนี้ทางร้านรับซื้อมาจากยี่ปั๊วที่กรุงเทพฯ ในราคาเล่มละ 9,000 บาท แล้วทางร้านขายส่งให้ลูกค้าย่อยที่เร่ขายเล่มละ 9,050 บาท คิดกำไร 50 บาทต่อเล่ม หรือ 0.50 บาทต่อ 1 ใบ ส่วนลูกค้ารายย่อยที่รับซื้อจากร้านไปขายต่ออีกทอดหนึ่งจะขายในราคาเท่าไรไม่ทราบ แต่ต้องเข้าใจพ่อค้าแม่ค้าที่เร่ขายด้วย เพราะจำนวนขายไม่มาก จึงต้องบวกกำไรเพิ่ม ต้องเข้าใจคนทำมาหากิน ที่สำคัญต้องเสี่ยงกับหวยที่ขายไม่หมด ต้องเสี่ยงขาดทุน อย่างเช่นทางร้านเคยมีสลากเหลือคิดเป็นเงินกว่า 3 แสนบาท ก็ต้องรับภาระตรงนี้ด้วย

แฉสลากถึงมือซาปั๊วก็ 80 บาทแล้ว

ขณะที่ซาปั๊วสลากกินแบ่งรายใหญ่ใน จ.ขอนแก่น กล่าวว่า การขอโควตาขายในต่างจังหวัด แต่เดิมประชาชนยื่นเอกสารขอซื้อสลากจากเสมียนตราในพื้นที่ ก็จะได้จัดสรรมารายละ 2 เล่มบ้าง 5 เล่มบ้าง ตามจำนวนสลากที่พิมพ์ในแต่ละปี จะได้ราคาส่วนต่างร้อยละ 7 บาท คือซื้อที่ต้นทุนใบละ 74.40 บาท แต่โควตาเหล่านี้มีมานานมากแล้ว ผู้ค้ารายใหม่ไม่มีโอกาสได้ยื่นขอซื้อ เพราะโควตาเต็มทั้งหมด

ฉะนั้นผู้ค้าที่ไม่ได้โควตาก็ต้องไปซื้อมาจากแหล่งอื่น ก็จะมีพวกที่กว้านซื้อมาจากโควตาแหล่งอื่นมาขายต่อ บวกเพิ่มอีกฉบับละ 5 บาท มาถึงมือซาปั๊วในพื้นที่ ราคาก็ขยับเป็นใบละ 80 บาท ถ้ามีคนมารับไปขายต่อ ราคาก็จะเพิ่มขึ้นอีกเป็น 85-90 บาท

แนะแก้ที่กองสลากรื้อใหม่ทั้งระบบ

ส่วนซาปั๊วใน จ.ชัยภูมิ กล่าวว่า เป็นไปได้ยากที่ คสช.จะจัดระเบียบเรื่องราคาสลากกินแบ่ง เนื่องจากจุดเริ่มต้นของปัญหาอยู่ที่กองสลาก โดยขั้นตอนจะเริ่มจากการที่กองสลากแจ้งไปยังจังหวัดแต่ละจังหวัด เพื่อให้ทางจังหวัดแจ้งว่าในแต่ละอำเภอมีความต้องการสลากจำนวนเท่าไร โดยจะส่งลอตเตอรี่ประมาณ 550 เล่ม เล่มละประมาณ 8,000 บาท หรือเฉลี่ยใบละ 80 บาท โดย 80 บาทนี้ 78 บาทจะส่งคืนให้กับทางกองสลาก ส่วนอีก 2 บาท ให้กับทางจังหวัดเป็นเงินบำรุง

หลังจากนั้นทางจังหวัดก็จะจำหน่ายให้กับยี่ปั๊วที่แจ้งรายชื่อเข้ามาในแต่ละอำเภอในราคา 80 บาท เมื่อยี่ปั๊วรับมา ก็จะนำไปขายให้กับซาปั้วขนาดกลางในราคา 90 บาท ก่อนที่จะส่งต่อไปยังคนจำหน่ายรายย่อยในราคา 100 บาท เมื่อถึงมือลูกค้าซึ่งเป็นผู้บริโภคลอตเตอรี่ จึงมีราคา 110 บาท ดังนั้นการแก้ไขปัญหาจึงต้องเริ่มจากกองสลากเป็นอันดับแรก เพราะต้นขั้วก็ขายในราคา 80 บาทแล้ว ดังนั้นหากเป็นไปได้ต้องรื้อใหม่ทั้งระบบ


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : แนะเพิ่มสลาก แก้แพง

view