สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เร่งเครื่องสร้างความสำเร็จ ธุรกิจสตาร์ตอัพไทย

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ ช่วยกันคิด โดย จอน เอ็ดดี้ อับดุลลาห์

ในอนาคตอันใกล้ ถ้าผู้ให้บริการมือถือช่วยกันสนับสนุนและหาโอกาสดี ๆ ให้คนไทยได้คิดค้นและพัฒนาเทคโนโลยี แอปพลิเคชั่น หรือโซลูชั่นที่มีประโยชน์ ช่วยให้การทำกิจวัตรประจำวันได้สะดวก ง่าย และรวดเร็วขึ้น ประเทศไทยก็จะกลายเป็น ศูนย์กลางนวัตกรรมดิจิทัล ได้แน่

ปีนี้ทีมที่เข้ารอบมาร่วมโครงการกับ dtac Accelerate มีผลงานและไอเดียที่น่าทึ่งมาก น้อง ๆ บางทีมเริ่มต้นคิดโปรดักต์ โดยการพบปัญหาและต้องการหาวิธีแก้ปัญหาให้ได้ดีที่สุด

หนึ่งในทีมนั้น คือ Drivebot ที่เจอปัญหาเรื่องรถกับตัวเอง ระหว่างนั่งอยู่ในรถกับคุณพ่อ ขณะขับรถออกจากบ้านไปสักพัก ปรากฏไฟสีแดงรูปเครื่องยนต์ขึ้นที่หน้าจอ ซึ่งตอนนั้นไม่รู้จะทำอย่างไร เปิดคู่มืออ่านบอกว่าถ้าปรากฏไฟดังกล่าวให้ติดต่อศูนย์บริการ แต่ตอนนั้นอยากลองแก้ปัญหาด้วยตัวเองก่อน จึงลองดับเครื่องและสตาร์ตใหม่ ปรากฏว่าขับมาได้ไม่เกิดปัญหาอะไร จึงรู้สึกว่าควรจะมีเครื่องมือมาช่วยในการทำความเข้าใจกับปัญหารถยนต์

ไฟแดงรูปรถยนต์นี้ เป็นสัญญาณเตือนถึงรถยนต์อาจเกิดปัญหาได้พันกว่าอย่าง โดยผู้ขับรถไม่มีทางรู้เลยว่ามันเกิดอะไร หรือการแจ้งเตือนจะเกิดปัญหาจริงถึงขั้นต้องเข้าศูนย์บริการหรือไม่ ซึ่งถ้ามีอุปกรณ์มาช่วยทำให้สามารถวิเคราะห์และตัดสินใจได้ในเบื้องต้นจะช่วยทำให้ประหยัด ค่าใช้จ่ายได้นี่คือสิ่งที่จุดประกายให้ทีม Drivebot สร้างสรรค์อุปกรณ์ที่เรียกว่า Fitbit สำหรับรถ ซึ่งเชื่อมกับแอปพลิเคชั่นบนมือถือ ที่ช่วยให้ผู้ใช้รถสามารถลดเวลาและค่าใช้จ่ายในการดูแลรถ ช่วยให้คนใช้รถขับรถและดูแลรักษารถได้ดีขึ้น ยืดอายุการใช้งานรถยนต์ได้นานขึ้น ประหยัดค่าซ่อมและบำรุงรักษา

อย่างที่เราทราบกันดี ว่าเดี๋ยวนี้กลุ่มเจเนอเรชั่นใหม่ ๆ ของไทยแสดงความกระหายในเทคโนโลยีอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะในยุคที่ประเทศไทยมีผู้ใช้โซเชียลมีเดียมากถึง 20 ล้านคน เช่นเดียวกับจำนวนการครอบครองสมาร์ทโฟนเพิ่มสูงขึ้นมากอย่างรวดเร็ว ต่างประเทศมีของใหม่อะไร คนไทยเราก็มีใช้เช่นกัน แถมยังติดอันดับโลกเป็นผู้ใช้แอปต่าง ๆ เป็นอันดับต้น ๆ ของโลกเสียด้วย

วันนี้กลุ่มธุรกิจสตาร์ตอัพของไทยมีศักยภาพเต็มที่ในการก้าวสู่การเป็นกลุ่มธุรกิจสตาร์ตอัพที่แข็งแกร่งที่สุดในภูมิภาค

จากประสบการณ์ในการทำงานด้านเทเลคอมของผมในแต่ละประเทศทั้งที่มาเลเซีย สาธารณรัฐเช็ก ปากีสถาน จนกระทั่งมาทำงานในประเทศไทย ซึ่งเป็นประเทศที่มีการเติบโตของการใช้เทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดด ยิ่งในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา

วันนี้สภาพแวดล้อมของสตาร์ตอัพในไทยกำลังอยู่ในจุดที่เหมาะสมที่สุด

ในปี 2556 ยอดการใช้อินเทอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์มือถือในประเทศไทยเพิ่มขึ้นเกือบสองเท่า ก้าวกระโดดจาก 18.4% เป็น 31.9% ในขณะที่กรุงเทพฯได้ชื่อว่าเป็นเมืองที่มีผู้ใช้เฟซบุ๊กมากที่สุดในโลก มากถึง 8 ล้านกว่าคน (จากจำนวนประชากรทั้งหมด 10 ล้านคน) สนามบินสุวรรณภูมิและสยามพารากอน ติดสองอันดับแรกของโลก ในการเป็นสถานที่ที่ได้รับการถ่ายภาพขึ้นอินสตาแกรมมากที่สุด และไม่นานมานี้ ไลน์ (Line) เปิดเผยว่า ประเทศไทยเป็นตลาดที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลก ด้วยยอดผู้ใช้ถึง 24 ล้านคน เพราะจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตและแอปพลิเคชั่นที่เพิ่มมากขึ้นอย่างมหาศาล

เช่นเดียวกันกับตลาดแอปพลิเคชั่นและบริการออนไลน์ที่ได้รับแรงกระตุ้นจากสมาร์ทโฟน ซึ่งมีราคาถูกลง เครือข่ายข้อมูลที่พัฒนาอย่างรวดเร็วทั้งในด้านคุณภาพและพื้นที่ครอบคลุม รวมถึงบริการเป็นที่ชื่นชอบของผู้บริโภคในวงกว้าง เช่น ไลน์ และเฟซบุ๊ก สิ่งเหล่านี้ดึงดูดให้คนหันมาใช้อินเทอร์เน็ต ทั้งหมดจึงเป็นเหตุผล ว่าทำไมเราจึงคิดว่าธุรกิจสตาร์ตอัพของคนไทยควรมุ่งเป้าไปที่ตลาดแอปพลิเคชั่นและบริการบนมือถือ

บริการเหล่านี้เข้าถึงผู้ใช้ในวงกว้างและสร้างโอกาสที่ยอดเยี่ยมสำหรับธุรกิจสตาร์ตอัพในการสื่อสารกับลูกค้าทำการตลาดให้กับสินค้า และขายบริการต่าง ๆ จำนวนผู้ใช้แอปพลิเคชั่นทั้งสองตัวนี้ มีจำนวนมากเกือบเท่าจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั้งหมด เฟซบุ๊ก กลายเป็นช่องทางการขายสินค้าออนไลน์ยอดนิยม โดยมีเพจขายสินค้าในประเทศไทยมากกว่า 10,000 เพจในปัจจุบัน

ในขณะที่ผู้ใช้ไลน์ในประเทศไทยมากถึง 5.6 ล้านคน ใช้บริการไลน์แฟลชเซลส์ (Line Flash Sales) ในขณะเดียวกันต้นทุนและความซับซ้อนในการเริ่มต้นธุรกิจอีคอมเมิร์ซนั้นลดลง และบริษัทต่าง ๆ เช่น aCommerce ก็เปิดให้บริการคำปรึกษาด้านอีคอมเมิร์ซอย่างครบวงจร

ธุรกิจสตาร์ตอัพไม่เพียงแต่สามารถหาเว็บไซต์ออนไลน์เท่านั้น แต่ยังสามารถหาโกดังเก็บของระบบโครงสร้างด้านการขนส่ง และทุกอย่างที่ต้องการเพื่อขายสินค้าและบริการผ่านทางอินเทอร์เน็ตได้อย่างง่ายดาย

บริษัทใหญ่ ๆ หลายแห่งมี Incubator Program เพื่อช่วยให้กลุ่มธุรกิจไอทีรุ่นใหม่เหล่านี้กลั่นกรองไอเดียและตั้งต้นธุรกิจได้ ซึ่งถือเป็นเทรนด์ที่ดีมากสำหรับอุตสาหกรรมของเรา

อย่างไรก็ตาม ก่อนที่เราจะเริ่มต้นปีที่สองของ dtac Accelerate รู้สึกว่ายังขาดโปรแกรมที่จะช่วยให้กลุ่มสตาร์ตอัพและบริษัทเล็ก ๆ ผ่านช่วงเวลาสำคัญ นั่นคือการพัฒนาบริษัทและสินค้าในช่วงตั้งต้นไปได้อย่างราบรื่น รวมถึงการให้ความสนับสนุนด้านเงินลงทุน

สิ่งที่จะทำให้ธุรกิจสตาร์ตอัพประสบความสำเร็จนั้นมีดังนี้

1.การอบรม ธุรกิจสตาร์ตอัพมีไอเดียที่ยอดเยี่ยม แต่ยังขาดทรัพยากรและประสบการณ์ที่จะทำให้ไอเดียประสบความสำเร็จ และทำให้สินค้ากลายเป็นสินค้าทำเงิน สตาร์ตอัพและบริษัทนั้นเหมือนกันตรงที่ต่างก็ต้องการโปรแกรมอบรมที่ครอบคลุมหัวข้อต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นทำอย่างไรให้ระบบปฏิบัติการมีประสิทธิภาพ การเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายแบบ Growth Hacking การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การขายงานให้ผู้ลงทุนและอื่น ๆ อีกมากมาย ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนมีความสำคัญต่อการพัฒนาสตาร์ตอัพให้ประสบความสำเร็จ และพร้อมสำหรับผู้ที่ต้องการจะร่วมทุนและการลงทุนอื่น ๆ ในอนาคต

2.โครงสร้างธุรกิจ
ธุรกิจสตาร์ตอัพต้องการคำแนะนำในการสร้างโครงสร้างธุรกิจที่ยั่งยืน และสามารถปรับขยายต่อไปได้ พร้อมศักยภาพที่จะก้าวไปสู่ขั้นต่อ ๆ ไปในช่วงเวลาสั้น ๆ โดยมีพื้นฐานอยู่บนผลิตภัณฑ์หลัก นอกจากนี้ยังต้องการสนับสนุนในการนำสินค้าและบริการไปสู่ตลาดนานาชาติ ผ่านช่องทางกระจายสินค้า และการขายต่าง ๆ

3.การเชื่อมต่อ
ทั้งธุรกิจสตาร์ตอัพและธุรกิจอื่น ๆ ที่มีผลิตภัณฑ์หรือบริการใหม่ ๆ ต่างก็ต้องการแสดงสินค้าให้กับผู้ลงทุน การเชื่อมต่อพวกเขากับพาร์ตเนอร์ด้านกลยุทธ์และนักลงทุนที่เหมาะสมในช่วงเวลานี้เป็นสิ่งที่สำคัญมาก สำหรับการเติบโตของธุรกิจ

4.ความมุ่งมั่น คำปรึกษาด้านกฎหมายและการเงิน คือกุญแจสำคัญสำหรับธุรกิจสตาร์ตอัพในการสร้างรากฐานที่แข็งแกร่งในระยะยาว การจัดการด้านกฎหมายและการเงินให้เป็นระบบ จะนำมาซึ่งการเชื่อมต่อกับฐานลูกค้าที่มีศักยภาพ

สำหรับเราแล้ว หมายถึงลูกค้าดีแทคและบริษัทลูกของเราในเครือเทเลนอร์กว่า 150 ล้านคนทั่วโลก การให้คำปรึกษาและการสนับสนุนในระยะยาวจากพาร์ตเนอร์ระดับโลก สามารถสร้างความแตกต่างที่แท้จริงให้กับความสำเร็จของธุรกิจได้

จากยุครุ่งเรืองของสมาร์ทโฟนในประเทศไทยเรากำลังก้าวสู่ยุครุ่งเรืองของธุรกิจสตาร์ตอัพ ซึ่งองค์กรในภาคธุรกิจควรทำทุกวิถีทางที่จะทำได้ เพื่อผลักดันให้สิ่งนี้เกิดขึ้น


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน,

Tags : เร่งเครื่องสร้าง ความสำเร็จ ธุรกิจสตาร์ตอัพ ไทย

view