สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

พม่าปฏิรูป

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ พร้อมรับ AEC หรือยัง โดย ณกฤช เศวตนันท์ Thai.attorney@hotmail.com

ในอดีตที่ผ่านมาชาวโลกอาจมอง สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ หรือ พม่า เป็นประเทศที่ด้อยพัฒนา ประชากรขาดการศึกษา และภาพรวมของประเทศยังขาดความเจริญในด้านต่าง ๆ

แต่ในปัจจุบันคงต้องเปลี่ยนความคิดใหม่เสียแล้ว เนื่องจากกำหนดการเข้าเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนของเหล่าสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศในปี พ.ศ. 2558 เป็นตัวกระตุ้นที่สำคัญให้พม่าในวันนี้พัฒนาอย่างต่อเนื่องและเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

ขณะนี้พม่ามีความตื่นตัวเรียนรู้ และพัฒนาด้านต่าง ๆ เพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนหรือ AEC อย่างมาก เห็นได้จากการเป็นเจ้าภาพจัดงานขนาดใหญ่ ทั้งซีเกมส์ครั้งที่ 27 และล่าสุดกับการจัดประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 24 
ซึ่งถือเป็นการแสดงออกถึงความพร้อมที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับประเทศที่ไม่มีประสบการณ์จัดงานขนาดใหญ่มาเป็นเวลานาน


รวมถึงความตื่นตัวของประชากรในประเทศซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลพม่าพยายามสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับประชาชนพม่าในด้านต่าง ๆ อย่างกว้างขวาง

โดยนายพิษณุ สุวรรณะชฎ เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงย่างกุ้ง เปิดเผยว่า ขณะนี้ พม่ากำลังปฏิรูปประเทศ ในทุก ๆ ด้าน เพื่อให้ระบบการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และการศึกษาเข้าสู่มาตรฐานอาเซียน เพื่อเตรียมความพร้อมที่จะก้าวขึ้นสู่แถวหน้าของอาเซียน

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การปฏิรูปการศึกษา ที่ขยายการศึกษาภาคบังคับจาก 11 ปี เป็น 12 ปี และยกระดับการศึกษาวิชาชีพเข้าสู่มาตรฐานอาเซียน ปัจจุบันชาวเมียนมาร์สนใจศึกษาต่อต่างประเทศมากขึ้น รวมถึงศึกษาในสถาบันการศึกษานานาชาติ เพราะทำให้มีทางเลือกในการประกอบอาชีพมากขึ้น

แต่เดิมชาวเมียนมาร์นิยมมาศึกษาต่อที่ประเทศไทย แต่ภายหลังจากการเปิดประเทศแล้ว ชาวเมียนมาร์สนใจเข้าไปศึกษาในประเทศสิงคโปร์และมาเลเซียมากขึ้น

ดังนั้น หากประเทศไทยต้องการรักษาสถานภาพในการเป็นประเทศเป้าหมายด้านการศึกษาของพม่า อาจต้องปรับเปลี่ยนในหลายด้าน อาทิ การปรับหลักสูตรให้เป็นนานาชาติมากขึ้น ซึ่งในปัจจุบันพบว่าชาวพม่าที่เคยอพยพไปอยู่นอกประเทศทยอยกลับประเทศ พร้อมกับวิทยากร วิสัยทัศน์ ประสบการณ์ ความสัมพันธ์และเงินทุน ที่นำกลับมาจากต่างประเทศเพื่อกลับไปพัฒนาประเทศของตน

สำหรับภาพรวมการค้าในพม่า พบว่าขณะนี้รัฐบาลพม่าได้ประกาศยกเลิกระเบียบที่ต้องขออนุญาตนำเข้าสินค้าแล้วรวม 166 กลุ่มสินค้า จำนวน 1,920 รายการ และได้มีการปรับลดอัตราภาษีศุลกากรตามกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียนแล้วในสัดส่วนร้อยละ 80 ของรายการสินค้าทั้งหมด ซึ่งในปี พ.ศ. 2558 จะปรับลดภาษีเพิ่มเป็นร้อยละ 93 ของรายการสินค้าทั้งหมด และยังได้อนุมัติโครงการลงทุนจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะโครงการก่อสร้างอาคาร ที่พักโรงแรม รีสอร์ตอีกจำนวนกว่า 900 โครงการ รวมถึงการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมขนส่งและการสื่อสารที่กำหนดให้แล้วเสร็จภายในปี พ.ศ. 2558

ที่กล่าวมาข้างต้นนี้ จะมีผลทำให้ความต้องการบริโภคสินค้าและการนำเข้าสินค้าจากประเทศไทยเพิ่มขึ้น ซึ่ง นายบูรณ์ อินธิรัตน์ อัครราชทูตที่ปรึกษาฝ่ายการพาณิชย์ สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงย่างกุ้ง แนะนำธุรกิจที่ผู้ประกอบการไทยควรเข้าไปลงทุนในพม่าในขณะนี้ ได้แก่ ธุรกิจออกแบบและก่อสร้าง ธุรกิจขอสัมปทานระบบสาธารณูปโภค ธุรกิจบ้านพัก คอนโดมิเนียม อพาร์ตเมนต์ อาคารพาณิชย์ รีสอร์ต ธุรกิจโรงแรม โรงพยาบาล สุขภาพและความงาม บันเทิงและสื่อโฆษณา เหมืองแร่ อัญมณี และการประมง

ธุรกิจข้างต้นล้วนแต่เป็นธุรกิจที่ผู้ประกอบการไทยสามารถเข้าไปลงทุนได้ หากมีความเชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ ดังนั้น ในเวลานี้จึงน่าจะเป็นช่วงจังหวะที่ดีที่จะอาศัยช่วงที่พม่ากำลังเร่งพัฒนาประเทศให้มีความพร้อม ในการก้าวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในการเข้าไปลงทุนในพม่าในเวลานี้


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน,

Tags : พม่าปฏิรูป

view