สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยช้าเร็วแค่ไหน?

เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยช้าเร็วแค่ไหน?

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




ถึงตรงนี้ คำถามที่หลายคนสงสัยเกี่ยวกับธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟด คือจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายช้าหรือเร็วแค่ไหน

โดยการประชุมครั้งล่าสุด ทางเฟดเชื่อว่าเศรษฐกิจสหรัฐยังเติบโตได้ดี ทว่าก็ไม่กังวลเรื่องเงินเฟ้อเช่นกัน

หากจะตอบในเชิงทฤษฎีแล้ว เฟดก็จะตอบว่าอัตรานโยบายของเฟดจะขึ้นก็เมื่อเห็นว่าอัตราการว่างงานต่ำกว่าร้อยละ 6 และ อัตราเงินเฟ้อสูงกว่าร้อยละ 2-2.5 ดูผิวเผินเหมือนจะตีความได้แบบตรงไปตรงมาดี ทว่าในความเป็นจริงมีความเห็นที่แตกต่างกันมากสำหรับเศรษฐกิจสหรัฐในช่วงนี้

ความเห็นฝ่ายแรก มาจากนักเศรษฐศาสตร์ ซึ่งเป็นประธานที่ปรึกษาของประธานาธิบดี บารัก โอบามา นาม ดร. อลัน ครูเกอร์ ที่มีความเห็นว่า การว่างงานส่วนใหญ่ที่เป็นปัญหาของเศรษฐกิจสหรัฐเป็นการว่างงานแบบที่ได้ว่างงานมาเป็นเวลานานพอควร ซึ่งตรงนี้ มิได้มีผลต่อค่าจ้างหรือระดับราคาในประเทศให้มีระดับที่ลดลง ที่เป็นเช่นนี้เนื่องจากว่านายจ้างมิได้เกี่ยงเรื่องค่าจ้างกับผู้ที่มาสมัครงาน ทว่ามาจากการที่ความชำนาญของผู้สมัครไม่เหมาะกับงานที่มีอยู่ ทำให้โอกาสของการได้งานของคนเหล่านี้มีอยู่น้อยมาก ไม่ว่าจะยอมลดค่าจ้างมากน้อยเท่าใดก็ตาม ดังรูปที่ 1



จึงทำให้นายครูเกอร์เห็นว่าการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดในเร็ววันนี้ ไม่ได้ทำให้อัตราการว่างงานของสหรัฐสูงขึ้น เนื่องจากผู้ว่างงานกลุ่มนี้ยังคงว่างงานอยู่ไม่ว่าจะขึ้นดอกเบี้ยและไปชะลอเศรษฐกิจหรือไม่ก็ตาม ซ้ำยังเป็นการดีเสียอีกเนื่องจากจะไปชะลอการขึ้นของอัตราเงินเฟ้อเนื่องจากผู้ที่ว่างงานไม่นานก็เป็นแรงกดดันให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นจากอัตราการว่างงานที่ลดลงมาเรื่อยๆ ในขณะนี้

โดยนายครูเกอร์เสนอว่าแทนที่จะคงอัตราดอกเบี้ยระดับต่ำเพื่อช่วยเรื่องการว่างงาน เขาเห็นว่าควรจะให้ผลประโยชน์ทางภาษีกับนายจ้างที่ยอมจ้างแรงงานที่ผ่านการว่างงานเป็นระยะเวลายาวนาน รวมถึงให้สวัสดิการช่วยเหลือโดยตรงต่อคนว่างงานเหล่านี้

ทั้งนี้ หากนางเจเน็ต เยลเลน ประธานธนาคารกลางสหรัฐ เริ่มจะคล้อยตามแนวคิดของฝ่ายนี้เราอาจเห็นเฟดเริ่มขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างเร็วที่สุดในต้นปีหน้า



ในทางกลับกัน นักเศรษฐศาสตร์ของเฟดเองกลับมองว่า อัตราการว่างงานแบบช่วงสั้นและแบบระยะเวลายาวๆ ของเศรษฐกิจสหรัฐนั้น มีความสัมพันธ์ระหว่างกันดังรูปที่ 2 ดังนั้น หากเฟดเองคงอัตราดอกเบี้ยแบบต่ำๆ เพื่อช่วยให้ผู้ที่เพิ่งว่างงานได้ไม่นานสามารถมีงานทำก็จะส่งผลให้ผู้ที่ว่างงานเป็นระยะเวลายาวนานได้งานทำไปด้วย ซึ่งแนวคิดนี้มองว่าการคงอัตราดอกเบี้ยแบบต่ำๆ จะสามารถช่วยให้การว่างงานโดยรวมลดลงได้ ซึ่งหากนางเยลเลนเชื่อตามแนวทางดังกล่าว เฟดก็น่าจะคงอัตราดอกเบี้ยแบบต่ำๆ ไปอีกอย่างเร็วที่สุดจนถึงปลายปีหน้า

คำถามที่น่าสนใจคือ นางเยลเลนมีแนวโน้มจะเชื่อใครมากกว่ากัน คำตอบคือตอนนี้นางเยลเลนยังเอียงมาทางฝ่ายหลังมากกว่า ที่มากไปกว่านั้น เมื่อเดือนก่อน นางเยลเลนเพิ่งไปกล่าวสุนทรพจน์ต่อหน้าผู้สำเร็จการศึกษาของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง โดยกล่าวถึงความสูญเสียทางสังคมจากความไม่ปกติทางจิตใจของผู้ที่ว่างงานในสหรัฐสำหรับช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ดังรูปที่ 3



ตรงนี้แสดงให้เห็นถึงความใส่ใจของนางเยลเลนต่อการว่างงานมากเป็นพิเศษเมื่อเทียบกับเรื่องเงินเฟ้อ ทำให้สามารถมองได้ว่าแนวคิดของนายครูเกอร์ต้องมีหลักฐานชัดเจนจริงๆ จึงจะสามารถโน้มน้าวให้นางเยลเลนคล้อยตามได้

โดยสรุป คงต้องบอกว่านางเยลเลนเป็นประธานธนาคารกลางที่ Dovish โดยธรรมชาติ การขึ้นดอกเบี้ยคงจะไม่โฉ่งฉ่างมากนัก ตรงนี้ ผู้ที่ลงทุนในตลาดหุ้นน่าจะสบายใจได้มากกว่าสมัย ดร. เบน เบอร์นันกี เล็กน้อย แต่ก็อย่าชะล่าใจโดยเด็ดขาดครับ


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : เฟด ขึ้นดอกเบี้ย ช้าเร็ว แค่ไหน

view