สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

คสช-จ้องรื้อใหญ่ขุมทรัพย์สลากกินแบ่ง

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...กนกวรรณ บุญประเสริฐ

แม้ที่ผ่านมาคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะยังไม่มีคำสั่งอย่างเป็นทางการใน|เรื่องการปฏิรูป สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล และกระบวนการขายสลากที่ผูกติดกับระบบโควตา จนกลายเป็นขุมทรัพย์ให้นักการเมืองวนเวียนเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ผ่านการขายสลากเกินราคา สร้างความเดือดร้อนให้ประชาชนต้องซื้อสลากแพงทั้งแผ่นดิน

เรื่องนี้จึงไม่เกินความคาดหมายว่า คสช.เตรียมสั่งล้างระบบนักการเมือง นายทุน เจ้าพ่อเจ้าแม่สลาก ที่ยึดกินหัวหาดหากินผลประโยชน์จากหน่วยงานของรัฐแบบเอิกเกริกเช่นนี้ให้สิ้นไปเสียที

หากต้องการทำทั้งระบบจริงๆ คสช.ต้องรื้อใหญ่ ทั้ง พ.ร.บ.สำนักงานสลาก พ.ศ. 2517 คณะกรรมการผู้อำนวยการสำนักงานสลากและรื้อโควตาใหม่

เพราะกลไกการตลาดที่ผิดเพี้ยนจากการมีสินค้าเพียงตัวเดียว จึงทำให้สลากจำนวน 72 ล้านฉบับ/งวด หรือ 36 ล้านคู่ เป็นสินค้าที่มีความต้องการสูงสามารถขายเกินราคาได้ถึงคู่ละ 100-110 บาท เมื่อเทียบจากราคาต้นทางจากสำนักงานสลากที่คู่ละ 72-73 บาท ทำให้ธุรกิจนี้มีผลประโยชน์มหาศาลถึง 3 หมื่นล้านบาท/ปี โดยมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่งวดละประมาณ 972-1,332 ล้านบาท

ดังนั้น การ “รื้อโควตาสลาก” ที่เปรียบเหมือนมรดกตกทอด จึงเป็นเรื่องที่ยากมากๆ ซึ่งภาพรวมของการออกสลาก 72 ล้านฉบับ แต่ละงวดแยกเป็นการออกสลากกินแบ่งรัฐบาลจำนวน 50 ล้านฉบับ/งวด หรือ 5 แสนเล่ม แยกคนที่ได้รับโควตาเป็นรายย่อยส่วนกลาง 1.46 แสนเล่ม รายย่อยส่วนภูมิภาค (จัดสรรผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดและคลังจังหวัด) 1.9 แสนเล่ม นิติบุคคล 1.72 หมื่นเล่ม องค์กร/มูลนิธิและสมาคม 1.35 แสนเล่ม และมูลนิธิสำนักงานสลาก 1.02 หมื่นเล่ม

ขณะที่สลากการกุศลมีจำนวน 22 ล้านฉบับ หรือ 2.2 แสนเล่ม จัดสรรให้กับนิติบุคคล (บริษัท, หจก.) 1.17 แสนเล่ม และสมาคม คนพิการ องค์กรการกุศลอีก 1.02 แสนเล่ม ซึ่งโควตาในส่วนสลากการกุศลก็ทำให้เกิดมาเฟียคนพิการที่ตั้งองค์กร ขึ้นมาขอรับการจัดสรรโควตาจากสำนักงานสลากอีกมากมาย

แม้ว่าในโควตาสลาก 72 ล้านฉบับ มากกว่าครึ่งเป็นการจัดสรรโควตาให้รายย่อยจริง แต่สภาพที่เกิดขึ้นในระบบค้าสลากคือ สลากที่ออกมาจากต้นทางคือ สำนักงานสลากจะผ่านมือผู้ค้าไม่น้อยกว่า 3-4 ทอดกว่าจะถึง ผู้บริโภค เช่น

สำนักงานสลากขายให้องค์กรและมูลนิธิ ทางองค์กรและมูลนิธิขายให้ 5 เสือ อีก  ทอดหนึ่ง หลังจากนั้น 5 เสือ ก็ไปขายให้ซุ้มขายสลากแยกคอกวัว วงจรต่อไปทางซุ้มขายสลากขายให้รายย่อย คนเดินเร่ขายสลากต่อๆ กันไป หรือกรณีรายย่อยได้โควตาขายต่อให้รายใหญ่เพื่อเอาไปรวมเล่ม ทางรายใหญ่ขายต่อให้รายกลาง ซุ้มขายสลาก แล้วรายย่อยก็ไปรับซื้อสลากมาขายอีกต่อหนึ่งในราคาไม่ต่ำกว่าคู่ละ 90-100 บาท ส่งผลให้คนเดินเร่ขายสลาก หรือรายย่อย ต้องมาบวกราคาขายปลีกกับประชาชนในราคา คู่ละ 110 บาท

คำถามคือว่า จะจัดการกับวงจรการค้าลักษณะนี้ได้อย่างไร

รายงานข่าวจากวงการค้าสลาก เปิดเผยว่า ล่าสุด ราฆพ ศรีศุภอรรถ อธิบดีกรมศุลกากร ในฐานะประธานกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล ได้เชิญผู้ค้าสลากที่ได้โควตารายใหญ่ 5-6 ราย เข้ามาหารืออย่างไม่เป็นทางการ รวมถึงมีการทำหนังสือ

ส่งถึงผู้ค้ารายอื่นๆ เพื่อขอความร่วมมือให้ช่วยควบคุมราคาขายสลาก เพื่อไม่ให้ราคา  สุดท้ายที่รายย่อยไปขายกับประชาชนแพงเกินเป็นคู่ละ 100-110 บาท อย่างที่เห็นในปัจจุบัน เพราะที่ผ่านมา คสช.ส่งสัญญาณเพ่งเล็งว่า  จะจัดการเรื่องการขายสลากเกินราคาด้วยอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งยังไม่นับรวมเรื่องการปลดบอร์ดและหาตัวคนมานั่งเป็นผู้อำนวยการสลากคนใหม่ แทน พล.ต.ต.อรรถกฤษณ์ ธารีฉัตร ที่ใบลาออกจะมีผลถึงสิ้นเดือน มิ.ย.นี้ จึงเป็นที่มาของข่าวลือที่แพร่สะพัดว่า คสช.เตรียมไล่จับ พ่อค้าขายสลากเกินราคาและเตรียมเข้ามารื้อบอร์ดสลากใหม่

นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร ท่าพระจันทร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อดีตกรรมการสำนักงานสลาก ซึ่งเคยทำเรื่องการรื้อโควตาสลากมาก่อนหน้านี้ ระบุว่า หากจะแก้เรื่องขายสลากแพงต้องทำสลากออนไลน์ออกมาตีสลากใบ เพราะเมื่อสลากใบมีสินค้าคู่แข่งคือสลากออนไลน์ ราคาสลากใบก็จะลดลงและระบบโควตาก็จะค่อยๆ สลายไป ซึ่งการ ออกสลากออนไลน์สามารถใช้วิธีการว่าจ้างบริษัทเข้ามารับจ้างออกได้ โดยที่ยังคงสัดส่วนรายได้นำส่งเป็นรายได้แผ่นดินตามเดิม

และมีเรื่องที่ต้องทำควบคู่กันไปคือ การแก้ พ.ร.บ.สำนักงานสลาก พ.ศ. 2517 เพราะเป็นการทำขึ้นในสมัยรัฐบาลของ สัญญา ธรรมศักดิ์ ถือเป็นกฎหมายที่เก่าแก่มาก ซึ่งขณะนั้นยังไม่มีใครรู้แน่ว่าอนาคตจะมีการออกสลากแบบออนไลน์ได้ ดังนั้นควรจะใช้โอกาสที่จะมีการ ตั้งสภานิติบัญญัติใหม่ให้เป็นผู้ศึกษาและร่าง พ.ร.บ.สำนักงานสลาก ฉบับใหม่ขึ้น เพื่อกำหนดรูปแบบ วัตถุประสงค์ องค์ประกอบของกรรมการ การแบ่งส่วนแบ่งรายได้ให้สอดคล้องกับยุคสมัยในปัจจุบัน

สังศิต พิริยะรังสรรค์ คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า ต้องทำสลากแบบ 2-3 ตัวแบบออนไลน์ จึงจะแก้เรื่องสลากเกินราคาได้ และต้องรื้อโครงสร้างบอร์ดสลากใหม่ หากยังให้ส่งปลัดกระทรวงการคลังเข้ามานั่งเป็นประธานบอร์ด หรือโควตาคนจากภาครัฐมาเป็นกรรมการได้ต่อไป การเมืองก็จะเข้ามาล้วงลูกได้ตลอด ทั้งนี้เสนอว่าให้ศึกษาวิธีการขายสลากในต่างประเทศที่ใช้เอกชนเป็นผู้ดำเนินการขายผ่านเครื่อง มีการจ่ายรางวัลแบบผันแปร ซึ่งวิธีการนี้ก็ยังสามารถนำส่งรายได้เข้ารัฐได้เช่นกัน

จะเห็นว่าการปฏิรูปสลากจัดเป็นงานช้างของ คสช. เพราะต้องทำหลายเรื่องที่กระทบ ในวงกว้างพร้อมๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นการรื้อโควตา การเอาสลากออนไลน์มาขายเพิ่ม ย่อมต้องมีผู้ที่เสียประโยชน์ ทั้งองค์กร มูลนิธิ ยี่ปั๊วซาปั๊ว ที่สำคัญผู้ค้าสลากรายย่อย คนพิการที่ได้โควตาเพื่อเลี้ยงชีพ จะหามาตรการช่วยเหลือคนเหล่านี้ได้อย่างไร

ขณะที่คนวงในมองว่า คสช.จะไม่เปลืองตัวเข้ามาแตะเรื่องสลากแบบเต็มตัว เพราะเกรงเรื่องถูกครหาว่าจะเข้ามาล้วงลูกเอาผลประโยชน์จากโควตาสลาก แต่ไม่ว่าหวยจะออกมาแบบไหน เชื่อว่าจากนี้ไปสังคมไทยคงจะได้เห็นการปฏิรูปสำนักงานสลากและการค้าสลากที่เป็นไปตามกลไกตลาดไม่ค้ากำไรเกินควรแน่นอน


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : คสช จ้องรื้อใหญ่ ขุมทรัพย์ สลากกินแบ่ง

view