สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

จัดพอร์ตการลงทุน : ศาสตร์หรือศิลป์

จัดพอร์ตการลงทุน : ศาสตร์หรือศิลป์

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




เพราะว่าการลงทุนมีความเสี่ยง การบริหารจัดการความเสี่ยงจากการลงทุนจึงทำด้วยการกระจายความเสี่ยง

ด้วยการลงทุนในสินทรัพย์และตราสารหลายๆ ประเภท

เพื่อให้ผลตอบแทนออกมาไม่หวือหวาจนเกินไป การบริหารความเสี่ยงโดยการกระจายลงทุนในสินทรัพย์และตราสารที่แตกต่างกันหลายๆ ประเภทนี้ เรียกว่า การจัดพอร์ตการลงทุน

เจ้าพ่อแห่งทฤษฎีการจัดพอร์ตการลงทุนในโลกสมัยใหม่คือ แฮรี่ มาร์โควิทซ์ (Harry Markowitz) นักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกันเชื้อสายยิว ซึ่งได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ในปี 1990 เป็นผู้ค้นพบแนวหน้าของประสิทธิภาพ หรือ Efficient Frontier โดยบอกว่า ในตราสารประเภทเดียวกันนั้น ตัวที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดคือตัวที่มีความเสี่ยงน้อยที่สุด ณ ผลตอบแทนที่เท่ากัน หรือตัวที่ให้ผลตอบแทนสูงที่สุด ในบรรดาหลักทรัพย์หรือตราสารที่มีความเสี่ยงเท่ากัน

เมื่อเรานำหลักทรัพย์หรือตราสารที่มีความเสี่ยงและผลตอบแทนระดับต่างๆ มาพล็อตเป็นกราฟ โดยให้แกนนอนเป็นค่าความเสี่ยง และแกนตั้งเป็นอัตราผลตอบแทน เราจะเห็นกลุ่มแนวหน้า เมื่อเราลากเส้นระหว่างกลุ่มแนวหน้าเหล่านี้ เราจะเรียกเส้นนี้ว่า Efficient Frontier ซึ่งเมื่อทำการทดสอบแล้วจะออกมาเป็นเส้นโค้งๆ เหมือนร่มค่ะ ตราสารหรือหลักทรัพย์ที่ที่อยู่บนเส้นนี้ทุกตัว เป็นตราสารที่มีประสิทธิภาพที่สุด เรียกง่ายๆ ว่าน่าลงทุนที่สุดค่ะ

ทีนี้ประเด็นอยู่ที่ว่า ผู้ลงทุนแต่ละคนจะเลือกลงทุนอะไร Markowitz ให้แนวทางไว้ว่า จุดที่ดีที่สุด คือจุดที่เมื่อลากเส้นจากผลตอบแทนของตราสารที่ไม่มีความเสี่ยง (พันธบัตรระยะสั้นของรัฐบาล หรือตั๋วเงินคลัง) ไปสัมผัส เพราะจะเป็นจุดที่โค้งนูนที่สุด เส้นตรงที่สัมผัสแนวหน้าของประสิทธิภาพนี้เรียกว่า เส้นตลาดทุน (Capital Market Line)

ถ้าผู้ลงทุนกลัวความเสี่ยงมาก (กลัวผลตอบแทนจะผันผวน หรือกลัวสูญเสียเงินต้นบางส่วน) ผู้ลงทุนก็ควรจะลงทุนในพอร์ตที่มีตราสารหนี้และพันธบัตรเป็นสัดส่วนมากหน่อย ผู้ลงทุนที่ใจกล้าก็อาจจะลงทุนในจุดแตะของเส้น Efficient Frontier เลยก็ได้ คือลงทุนในตราสารหรือหลักทรัพย์ที่มีความเสี่ยงทั้งหมด

ที่กล่าวมาข้างบนนี้เป็น ศาสตร์ ค่ะ

ในการสัมมนาของมอร์นิ่งสตาร์ที่ฮ่องกง Thomas Idzorek ได้กล่าวว่าเมื่อการจัดพอร์ตแบบนี้เป็นการจัดเพื่อให้ได้เป้าหมายผลตอบแทนที่ต้องการ ดิฉันขอยกตัวอย่างพอร์ตที่มีหุ้นทุน 50% ตราสารหนี้และพันธบัตร 50% มีผลตอบแทนที่คาดหวัง 7.5 ถึง 8% ต่อปี ค่าความเบี่ยงเบน หรือความผันผวน (ความเสี่ยง) 9.5% โดยค่าความเสี่ยง 7.5% มาจากหุ้นทุน และ 2% มาจากตราสารหนี้

มีการจัดพอร์ตอีกลักษณะหนึ่งคือ การจัดให้กระจายความเสี่ยงไปในตราสารหรือหลักทรัพย์ประเภทละเท่าๆ กัน เช่น ค่าความเสี่ยงจากหุ้นทุน 4% และค่าความเสี่ยงจากตราสารหนี้ 4% รวมเป็น 8% ซึ่งจะทำให้เราได้พอร์ตที่มีการลงทุนในหุ้นทุน 12.5% และตราสารหนี้และพันธบัตร 87.5% โดยพอร์ตนี้จะมีผลตอบแทนที่คาดหวัง 4.125 ถึง 5% เป็นต้น

อย่างไรก็ดีมีการทำการศึกษาโดยใช้ข้อมูลในอดีตแล้ว พบว่าในช่วงเวลาใกล้เคียงปัจจุบัน พอร์ตการลงทุนที่จัดสรรความเสี่ยงให้เท่าๆ กันในหลักทรัพย์แต่ละกลุ่ม จะมีผลตอบแทนดีกว่าการจัดพอร์ตแบบดั้งเดิม แต่เมื่อเทียบหลายช่วงเวลาแล้ว การจัดสรรความเสี่ยงของกลุ่มสินทรัพย์ให้เท่ากัน ไม่ได้ช่วยให้ผลตอบแทนดีกว่าการจัดสรรแบบเดิมมากนัก ดังนั้นผู้ลงทุนทั้งหลายไม่ควรต้องกังวลไปมากนักว่าเราควรจะจัดสรรพอร์ตแบบไหนดี

หากถามว่า พอร์ตที่ดิฉันนำมาแนะนำผู้ลงทุนที่รับความเสี่ยงได้มากน้อยแตกต่างกันนั้น ดิฉันคำนวณสัดส่วนมาจากไหน ก็ต้องเรียนว่า ส่วนนี้เป็น ศิลป์ ที่นำมาผสมกับ ศาสตร์ ค่ะ พยายามเดาใจว่ากลุ่มคนที่อนุรักษนิยม จะไม่ต้องการให้ผลตอบแทนติดลบเลยแม้แต่ปีใดปีหนึ่ง จึงต้องพยายามปรับสัดส่วนให้ดี แม้ในปีที่แย่ก็อาจจะเพียงไม่ได้รับผลตอบแทน หรืออาจจะได้รับพอหอมปากหอมคอประมาณ 0.5% และแน่นอนว่าในปีที่ดี ก็จะไม่ได้ผลตอบแทนสูงมากนัก แต่โดยเฉลี่ยจะได้สูงกว่าอัตราเงินเฟ้อค่ะ

สำหรับผู้ลงทุนกลุ่มอื่นๆ ที่รับความเสี่ยงได้สูงขึ้น ก็ต้องดูด้วยว่าแนวโน้มในแต่ละปีเป็นอย่างไร ยกตัวอย่างในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ควรจะมีการลงทุนในทองคำไว้เป็นสีสันของพอร์ต แต่ในปีนี้ผู้ที่ไม่ต้องการเสี่ยงก็ไม่ควรจะลงทุนในทองคำ ยกเว้นผู้มีความเชี่ยวชาญ และติดตามดูตลาดตลอดเวลา ในช่วงที่ตะวันออกกลางดูอึมครึมเช่นเวลานี้ การลงทุนในทองคำระยะสั้นๆ ก็อาจจะเป็นกลยุทธ์ที่ท่านอยากจะทำ และพอได้กำไรสักนิดหน่อยก็ขายออกไป

การจัดพอร์ตแบบนี้เมื่อนำมาพล็อตในกราฟ อาจจะไม่ได้อยู่บน Efficient Frontier อาจจะมีบางพอร์ตที่ดูเหมือนรับความเสี่ยงมากเกินไป หรือบางพอร์ตที่อาจจะดูว่าทำกำไรได้มากกว่านี้ แต่ต้องไม่ลืมว่า ข้อมูลที่ใช้ในการทำนายผลตอบแทนที่คาดหวังนั้น ก็เป็นเพียงการใช้ข้อมูลในอดีตมาเป็นตัวแทน สิ่งที่จะเกิดขึ้นอาจเบี่ยงเบนไปจากความคาดหวังได้มากกว่านั้น

เราจึงต้องตั้งความคาดหวังให้พอดีๆ ไม่เสียใจหากไม่เป็นไปตามที่คาด และไม่ดีใจจนเกินเหตุ หากผลออกมาดีกว่าที่คาดไว้

ดิฉันได้เคยออกแบบกองทุนรวมที่จัดพอร์ตการลงทุนแบบที่ให้คำแนะนำผู้ลงทุน เรียกเป็น Lifestyle Fund อันที่จริงผสมผสานระหว่าง Life Cycle คือจัดพอร์ตให้มีระดับความเสี่ยงปรับเปลี่ยนไปตามความสามารถในการรับความเสี่ยงของผู้ลงทุน กับ แบบแผนของชีวิตที่ต้องการใช้ ซึ่งเมื่อนำผลการลงทุนมาศึกษาดู ก็จะใกล้เคียงกับที่คาดการณ์เอาไว้

สรุปก็คือ ในการจัดพอร์ตการลงทุน ต้องคำนึงถึงปัจจัยต่างๆ ด้วย ทั้งความสามารถรับความเสี่ยงของผู้ลงทุน ผลตอบแทนที่คาดหวัง การคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจของภูมิภาคต่างๆในโลก แนวโน้มดอกเบี้ย สภาพคล่อง และสถานการณ์ลงทุนของหลักทรัพย์และตราสารประเภทต่างๆ ฯลฯ

ที่สำคัญคือ ผู้ลงทุนต้องหมั่นทบทวนพอร์ตการลงทุนเป็นระยะๆ เมื่อต้นปียังมองว่าราคาน้ำมันคงจะขึ้นลงในกรอบแคบๆ ในปีนี้ พอมีปัจจัยสถานการณ์ความตึงเครียดในภูมิภาคต่างๆ เกิดขึ้น โดยเฉพาะในอิรัก ราคาน้ำมันก็ปรับสูงขึ้นไปกว่าที่คาด ดังนั้นเราจึงต้องทบทวนพอร์ตการลงทุนว่าเหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบันหรือไม่ รวมถึงเหมาะสมกับสถานการณ์และข้อกำหนดส่วนตัวของเราหรือไม่ เพื่อที่จะสามารถปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมค่ะ

พอร์ตการลงทุนแบบผสมผสาน เป็นพอร์ตที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการนำเงินออมมาลงทุนในระยะยาว

สัปดาห์นี้ออกจะเป็นวิชาการไปหน่อย แต่คิดว่ามีประโยชน์สำหรับการลงทุนของท่านค่ะ


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : จัดพอร์ตการลงทุน : ศาสตร์หรือศิลป์

view