สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ปรับปรุงซีจีภาคเอกชนขับเคลื่อนประเทศ

ปรับปรุงซีจีภาคเอกชนขับเคลื่อนประเทศ

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




วันอังคารที่ 24 มิถุนายนนี้ สถาบัน IOD จะจัดสัมมนาประจำปีสำหรับกรรมการบริษัททั่วประเทศ

ในหัวข้อ “ปรับปรุงการกำกับดูแลกิจการภาคเอกชน : กุญแจความก้าวหน้าประเทศไทย” หรือ “Improving Corporate Governance : Key to Advancing Thailand” ตั้งแต่เวลา 8.30 เป็นต้นไป ที่โรงแรมพลาซ่า แอทธินี กรุงเทพ เอ รอยัล เมอริเดียน

ความสำคัญของการกำกับดูแลกิจการที่ดีในธุรกิจเอกชน หรือธรรมาภิบาล หรือซีจี ปัจจุบันเป็นเรื่องที่ยอมรับกันกว้างขวาง ทั้งในประเทศพัฒนาแล้ว และประเทศตลาดเกิดใหม่ ต่างกับเมื่อยี่สิบปีก่อนที่แทบไม่มีใครสนใจ การเปลี่ยนมาเป็นการยอมรับ ส่วนหนึ่งเป็นผลโดยตรงจากสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงยี่สิบปีที่ผ่านมาที่เตือนทุกฝ่ายให้ตระหนักถึงความสำคัญของซีจี อันแรก ก็คือ วิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในรอบยี่สิบปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นในลาตินอเมริกา เอเชีย ยุโรป หรือสหรัฐอเมริกา ต่างชี้ให้เห็นถึงสาเหตุสำคัญอันหนึ่งที่เหมือนกันที่นำไปสู่การเกิดวิกฤติ นั่นก็คือ ความบกพร่องของการกำกับดูแลกิจการในภาคเอกชน ที่นำไปสู่การทำธุรกิจที่เสี่ยง ไม่ระมัดระวัง จนเกิดปัญหารุนแรง

อันที่สอง ก็คือ การขยายตัวของธุรกิจและการลงทุนแบบข้ามพรมแดนในโลกธุรกิจโลกาภิวัตน์ ที่ผู้ทำธุรกิจไม่รู้จักกัน อยู่กันคนละมุมหนึ่งของโลก (เช่นเงินออมจากสหรัฐไปลงทุนในทวีปแอฟริกาหรือเอเชีย) ทำให้จำเป็นที่จะต้องมีความโปร่งใสและการกำกับดูแลกิจการที่ดี เป็นเครื่องมือสนับสนุน เพื่อสร้างและรักษาไว้ซึ่งความไว้เนื้อเชื่อใจ (Trust) ในการทำธุรกิจ และอันที่สาม ก็คือ ผลศึกษาวิจัยทางวิชาการในหลายแขนง เช่น กฎหมาย เศรษฐศาสตร์ ธุรกิจ และสังคมศาสตร์ ที่ให้ข้อสรุปคล้ายกันว่า การกำกับดูแลกิจการที่ดีเป็นปัจจัยบวกทั้งต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัทเอกชน และต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ และการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจของประเทศ

สิ่งเหล่านี้ได้นำไปสู่การให้ความสำคัญมากขึ้นในเรื่องการกำกับดูแลกิจการที่ดี หรือธรรมาภิบาลในภาคเอกชน ทั้งในประเด็นพฤติกรรมของหน่วยธุรกิจ เพื่อให้ทำในสิ่งที่ถูกต้อง ทำด้วยความโปร่งใส มีความรับผิดรับชอบ และตรวจสอบได้ และในส่วนของการวางกฎเกณฑ์และแนวปฏิบัติที่ดีที่จะเป็นหลัก เป็นมาตรวัดคุณภาพของการทำหน้าที่ อันนี้คือสองแง่มุมมองของธรรมาภิบาล หรือการกำกับดูแลกิจการที่ดี ที่ได้เปลี่ยนแปลงไปมากในช่วงยี่สิบปีที่ผ่านมา

ในกรณีของไทย ต้องยอมรับว่า วิกฤติเศรษฐกิจปี 40 ก็มีสาเหตุสำคัญส่วนหนึ่งมาจากความบกพร่องในเรื่องซีจี หรือการกำกับดูแลกิจการในธุรกิจเอกชน ทำให้เกิดการทำธุรกิจที่เสี่ยง เกินความพอดี จนกลายเป็นปัญหารุนแรงที่ และตรงนี้ก็เป็นจุดเริ่มต้นของความพยายามที่จะผลักดันการกำกับดูแลกิจการในภาคธุรกิจไทยให้ดีขึ้น ขับเคลื่อนโดยหน่วยงานกำกับดูแลที่ต้องการเห็นภาคเอกชนมีการกำกับดูแลกิจการที่ดี เพื่อลดความเสี่ยงเชิงระบบ โดยนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศที่ต้องการใช้การกำกับดูแลกิจการที่ดีเป็นเครื่องมือลดความเสี่ยงในการลงทุนของตน เพิ่มอัตราตอบแทน และปกป้องสิทธิ ของผู้ถือหุ้นรายย่อย ขณะที่บริษัทเอกชนเองก็ต้องการใช้การกำกับดูแลกิจการที่ดีเป็นเครื่องมือสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจ และสร้างความสามารถในการแข่งขัน สิ่งเหล่านี้ได้ทำให้การกำกับดูแลกิจการของภาคเอกชนในประเทศไทยมีพัฒนาการที่ดีขึ้นมาตลอด โดยเฉพาะบริษัทจดทะเบียนที่เป็นเป้าของการลงทุนจากต่างประเทศ และเป็นกลไกสำคัญสำหรับการเติบโตของเศรษฐกิจ

ความสนใจของบริษัทเอกชนในเรื่องการกำกับดูแลกิจการ ต้องถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของการทำธุรกิจของภาคเอกชนไทยในช่วงที่ผ่านมาที่จะมีผลอย่างสำคัญในอนาคตต่อประสิทธิภาพ ความสามารถในการแข่งขัน การเติบโต และเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ และที่การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เกิดขึ้นได้ก็เพราะ บริษัทธุรกิจตระหนักในข้อเท็จจริงที่ว่า การมีการกำกับดูแลกิจการที่ดีนั้นนำประโยชน์มาให้บริษัทธุรกิจมากมาย เช่น หนึ่ง การเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่ทำได้ง่ายขึ้น เพราะการกำกับดูแลกิจการที่ดี ทำให้ผู้ให้กู้มีความพร้อมที่จะให้กู้หรือเข้าร่วมทุนมากกว่าบริษัทที่ขาดธรรมาภิบาล สอง ทำให้ต้นทุนทางการเงินลดลง เพราะกู้ได้ในต้นทุนที่ต่ำ จากที่ผู้ให้กู้มองว่า การกำกับดูแลกิจการที่ดีจะทำให้ความเสี่ยงในการทำธุรกิจของบริษัทที่ขอกู้เงินลดลง สาม การกำกับดูแลกิจการที่ดี มักทำให้ผลประกอบการของบริษัทดีขึ้น เนื่องจากมีระบบการบริหารจัดการที่ดี สี่ ความเสี่ยงในการทำธุรกิจของบริษัทก็ลดลง จากการมีระบบการควบคุมและการกำกับดูแลกิจการที่มีประสิทธิภาพ และห้า การประกอบธุรกิจภายใต้หลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีจะทำให้การทำธุรกิจของบริษัทเป็นที่ยอมรับจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทั้งพนักงาน ผู้ถือหุ้น นักลงทุน ลูกค้า บริษัทคู่ค้า และสังคม ทำให้ธุรกิจของบริษัทสามารถที่จะเติบโตได้ต่อเนื่องและมีความยั่งยืน

สิ่งเหล่านี้คือประโยชน์โดยตรงที่บริษัทธุรกิจได้จากการกำกับดูแลกิจการที่ดี ซึ่งเป็นประโยชน์ที่นักธุรกิจตระหนัก และยอมรับ

ในกรณีของภาคเอกชนไทย น่ายินดีว่าตั้งแต่หลังปี 2540 พัฒนาการในเรื่องการกำกับดูแลกิจการในภาคเอกชนมีความก้าวหน้าด้วยดีมาโดยตลอด ดัชนีต่างๆ ที่วัดความก้าวหน้าด้านธรรมาภิบาล หรือการกำกับดูแลกิจการของบริษัทจดทะเบียนไทย ทั้งที่ทำโดยสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย หรือ IOD หรือสถาบันซีจีในต่างประเทศ เช่น ธนาคารโลก หรือสมาคมบรรษัทภิบาลเอเชีย (ACGA) ต่างล้วนให้ข้อสรุปคล้ายกันว่าการกำกับดูแลกิจการในภาคเอกชนไทยมีพัฒนาการที่ดีต่อเนื่อง ล่าสุดที่สถาบัน IOD ร่วมกับ กลต. และตลาดหลักทรัพย์ ได้แถลงข่าวผลการสำรวจการกำกับดูแลกิจการของบริษัทจดทะเบียนไทย 100 อันดับแรกตามเกณฑ์ ASEAN CG Scorecard เมื่อวันพฤหัสที่แล้วคะแนนของบริษัทจดทะเบียนไทยปี 2013 ก็เพิ่มสูงขึ้นจากปีก่อนหน้า และมีคะแนนเฉลี่ยสูงสุด เมื่อเทียบกับอีกห้าประเทศในอาเซียน คือ สิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และเวียดนาม

แต่แม้คะแนนรวมจะดีขึ้น ก็มีหลายประเด็นที่บริษัทจดทะเบียนไทยควรต้องปรับปรุง โดยเฉพาะในประเด็นการทำหน้าที่ของคณะกรรมการ และการให้ความสำคัญต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อให้คะแนนการกำกับดูแลกิจการของบริษัทจดทะเบียนไทยดีต่อไป และไม่สูญเสียความเป็นผู้นำด้านซีจีในอาเซียน

อย่างไรก็ตาม อีกประเด็นที่ต้องตระหนักก็คือ บริษัทจดทะเบียนก็ไม่ใช่ทั้งหมดของภาคเอกชนของประเทศ เรายังมีบริษัทนอกตลาดหลักทรัพย์ ธุรกิจประเภท SMEs องค์กรไม่แสวงหากำไร มูลนิธิ และสมาคมต่างๆ ซึ่งทั้งหมดเป็นส่วนใหญ่อีกส่วนหนึ่งของภาคธุรกิจไทย ความท้าทายก็คือ ทำอย่างไรเราจะทำให้ซีจีขององค์กรและภาคธุรกิจเหล่านี้ดีขึ้นด้วย นอกจากนี้ เราก็มีความท้าทายว่า ธรรมาภิบาลของประเทศคงจะดีขึ้นด้วยธรรมาภิบาลของธุรกิจเอกชนฝ่ายเดียวไม่ได้ เพราะประเทศมีทั้งภาครัฐและเอกชน ดังนั้น ถ้าธรรมาภิบาลประเทศจะดีขึ้น ธรรมาภิบาลภาครัฐก็จะต้องดีขึ้นด้วย ทั้งในหน่วยธุรกิจของรัฐ เช่น รัฐวิสาหกิจ ในการทำงานของหน่วยงานรัฐ และในรัฐบาล ตรงนี้คือคำอธิบายว่า ทำไมปัญหาคอร์รัปชันประเทศไทยจึงรุนแรงขึ้น ทั้งๆ ที่การกำกับดูแลกิจการในภาคเอกชนดูดีขึ้น ซึ่งคำตอบก็คือ ถ้าจะลดคอร์รัปชันอย่างจริงจัง ธรรมาภิบาลภาครัฐก็ต้องดีขึ้นด้วย ซึ่งสำคัญต่อการเติบโตของธุรกิจเอกชน และต่อการเติบโตของเศรษฐกิจของประเทศ


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ปรับปรุงซีจีภาคเอกชนขับเคลื่อนประเทศ

view