สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

การบริหารจัดการ ใช้ระบบสารสนเทศในองค์กร

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ เรื่องเล่าซีอีโอ โดย วิชัย เบญจรงคกุล

ในฐานะผู้บริหาร มักจะมีคำถามหรือปัญหาที่ส่งมาให้ตัดสินใจ หลาย ๆ ครั้งก็เป็นเรื่องที่เหมาะสมที่ต้องให้เป็นเราในฐานะผู้มีอำนาจในการตัดสิน ใจ แต่บางครั้งก็จะเป็นเรื่องที่เหมือนผลักภาระให้เราเป็นผู้ร้ายในการตัดสินใจ

ยกตัวอย่าง การใช้ระบบสารสนเทศในองค์กรหรือการใช้อินเทอร์เน็ต ต้องยอมรับว่า ในโลกดิจิทัลนั้นการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตเป็นสิ่งจำเป็นในการติดต่อสื่อสาร ค้นหา และใช้เป็นช่องทางการตลาด และแม้แต่การให้บริการต่าง ๆ แก่ลูกค้า แต่การเปิดช่องทางการสื่อสารผ่านโลกอินเทอร์เน็ตก็ต้องยอมรับว่าเราก็เหมือนเปิดประตูไปยังโลกดิจิทัลที่กว้างใหญ่ไพศาล

คนในองค์กรที่ใช้อินเทอร์เน็ตบนระบบสารสนเทศขององค์กรเราก็มีสิทธิ์ (หากไม่ได้ถูกจำกัด) ที่จะเข้าไปสัมผัสกับโลกของข้อมูลข่าวสารและโซเซียลมีเดียต่าง ๆ จนอาจเกินความจำเป็น...คุ้น ๆ ไหมครับ

ผมมักได้รับคำบ่นจากเพื่อนนักธุรกิจว่า "สมัยนี้พนักงานวัน ๆ เอาแต่เล่น facebook แล้วงานไม่ค่อยทำ"

ผมจะถามกลับว่า ทำไมไม่คุมล่ะ ไม่ให้เขาใช้เวลางานไปเล่นพวกนี้ แต่เขาสามารถไปเล่นที่บ้านหรือนอกเวลางานด้วยเครื่องมือถือเขาหรือคอมพิวเตอร์ที่บ้านเขาที่ต่ออินเทอร์เน็ตส่วนตัว

เพื่อน ๆ ผมก็จะทำหน้างง ๆ แล้วถามว่า "ทำได้เหรอ ? จริงเหรอ ? ไม่ผิดเหรอ ?" แล้ว "พนักงานเขาจะพอใจหรือห้ามเขาเล่น ?"



จากนั้นก็คุยกันยาวเล็กน้อยถึงสิทธิและหน้าที่ของบริษัทกับพนักงานที่เกี่ยวกับเครื่องมือในการทำงาน และเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ของพนักงานที่ต้องใช้เครื่องมือของบริษัทในการทำงาน เราก็พบว่าไม่มีคำว่า "เล่น" ในนิยามของการใช้เครื่องมือและทรัพยากรของบริษัทกับการใช้ระบบสารสนเทศเพื่อการบันเทิงหรือเล่นเลย

แล้วทำไมมีความเข้าใจว่า พอมีอินเทอร์เน็ตให้ใช้ในองค์กร จะต้องถือว่าเป็นการใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อกิจใด ๆ ก็ได้ตามอำเภอใจของผู้ใช้

นั่นเป็นความเข้าใจผิด และเป็นการคาดหวังที่ผิดว่าผู้ใช้หรือพนักงาน จริง ๆ ก็คือจะใช้งานอินเทอร์เน็ตได้เฉพาะกับในเรื่องงานเท่านั้น

หาก facebook เป็นส่วนหนึ่งของการทำการตลาดหรือติดต่อสื่อสารกับลูกค้าก็ย่อมใช้ได้ แต่ไม่ควรใช้ในการติดต่อสื่อสารเรื่องส่วนตัวหรือเล่น ๆ ในเวลาทำงาน

ในกรณีข้อสมมติฐานว่า สื่อดิจิทัลใช้เฉพาะกับงานได้อย่างเดียวนั้นอาจจะถูกมากกว่าสมัยนี้ เมื่อ 20 ปีก่อน ตอนนั้นเป็นตอนที่ยังไม่มีโซเซียลมีเดียต่าง ๆ มากมาย อย่างมากก็อาจใช้อีเมล์ในการส่งหาเพื่อนบ้าง แต่เมื่อราวสิบปีที่ผ่านมาในประเทศไทย การใช้อินเทอร์เน็ตเชื่อมต่อโลกดิจิทัลนั้นได้แพร่หลายมาก จนวันนี้เรียกว่าคนส่วนมากในสังคมคนเมืองมีความเกี่ยวพันและมีการใช้อินเทอร์เน็ตเป็นประจำ และกับเรื่อง "ส่วนตัว" มาก และกับงานก็เยอะ

ที่ผมมาเล่าเรื่องนี้ ก็เพราะเราสามารถกำกับดูแลการใช้สื่อดิจิทัลให้เป็นประโยชน์กับกิจการได้ ในขณะที่สามารถจำกัดการใช้งานที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์กับกิจการได้พอสมควร เพื่อการเพิ่มประสิทธิภาพและทำให้การทำงานมีคุณภาพมากขึ้น และไม่ได้เป็นการจำกัดสิทธิ์ในการสื่อสารของใคร

อย่าลืมว่า เราคงไม่หยุดทำงาน และลาไปยืนคุยธุระส่วนตัวทุกชั่วโมงหรือโทรศัพท์คุยกับแฟนตลอดเวลาที่นั่งทำงาน มันเป็นแนวคิดเดียวกันว่าหากมีการควบคุมกำหนดการใช้งานของสื่อดิจิทัลในองค์กรให้เกิดประโยชน์ ก็คงต้องมีระเบียบหรือข้อกำหนดต่าง ๆ ในการให้ใช้ เพื่อไม่เป็นการตีความกันเองถึงขอบเขตที่สามารถใช้งานได้

อีกทั้งเป็นการแยกแยะให้ชัดเจนระหว่างการใช้เพื่อ "กิจส่วนตัว" และ "กิจของบริษัท"

สิ่งที่คงต้องทำคือ กำหนดและประกาศนโยบายขององค์กรในเรื่องการใช้สื่อดิจิทัลในที่ทำงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อใช้เครื่องมือหรือช่องทางการสื่อสารที่เป็นขององค์กร (แต่ถ้าใช้ Account ส่วนตัว และช่องทางการสื่อสารส่วนตัว/เบอร์ส่วนตัว ก็คงเป็นสิทธิ์ส่วนบุคคล)

อีกเรื่องที่ต้องระวัง คือ การใช้ระบบ Wi-fi ในที่ทำงาน ดูเหมือนจะเป็นเรื่องไกลตัว แต่จริง ๆ ใกล้มากครับ เพราะเครื่องระบบ Wi-fi ที่ติดตั้งในที่ทำงานต้องเชื่อมกับระบบสารสนเทศขององค์กร

ฉะนั้น IP Address ต่าง ๆ Account ของอินเทอร์เน็ต คือเป็นขององค์กรและหน่วยงานในนามบริษัททั้งสิ้น แม้ว่าจะใช้เครื่องอุปกรณ์มือถือต่าง ๆ ที่เป็นของส่วนบุคคลมาต่อเชื่อม เพราะเมื่อต่อเชื่อมแล้วการสื่อสารนั้นจะเป็นการสื่อสารจากองค์กร หรือเสมือนเป็นของจากองค์กรทั้งสิ้น

มีหลายกรณีที่มีการใช้สื่อดิจิทัลในการส่งข้อความที่ไม่เหมาะสมต่าง ๆ ออกจากองค์กร โดยผู้ส่งใช้เชื่อมกับระบบ Wi-fi ในสำนักงานที่ส่ง หรือการนำไวรัสที่ทำลายระบบฐานข้อมูลมาแพร่ผ่านระบบ Wi-fi ในสำนักงาน หรือแม้แต่การทำจารกรรมข้อมูลของคู่แข่ง หากสามารถเข้าถึงระบบ Wi-fi ที่ใช้โดยผู้บริหารในองค์กรได้

ดังนั้น ระบบ Wi-fi สำหรับผู้เยือน/ลูกค้า ต้องแยกจากระบบ Wi-fi ที่ใช้ในการดำเนินธุรกิจอย่างสิ้นเชิง เรื่องนี้มัวคิดจะประหยัดก็อาจจะต้องสูญเสียมากกว่าที่จะคิดประหยัดแน่นอนครับ

ดังนั้น สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญในการใช้ระบบสารสนเทศในองค์กร นอกจากจะมีเครื่องมือต่าง ๆ ในการป้องกัน เช่น ระบบ Firewalls ต่าง ๆ ก็ต้องมีระเบียบต่าง ๆ รวมทั้งขั้นตอนการตรวจสอบให้ชัดเจนด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้มีการลักลอบใช้ในการทำความเสียหายกับระบบหลักขององค์กร หรือใช้ในการทำร้ายหรือก่อความผิดต่าง ๆ ทั้งภายในองค์กรและภายนอกองค์กร

เช่นเดียวกับการนำอุปกรณ์ หรือ Thump Drive ต่าง ๆ มาเสียบเข้าเครื่องคอมพิวเตอร์ในสำนักงานภายในองค์กร โดยไม่รู้ว่าสิ่งนั้นเป็นของใคร และปลอดภัยที่จะมาใช้กับอุปกรณ์ในองค์กรเราหรือไม่ เพราะมีหลาย ๆ กรณีที่การจารกรรมทางธุรกิจ มีการใช้ไวรัสในการทำลายฐานข้อมูลในองค์กรโดยการนำ Thump Drive ที่ปนเปื้อนด้วยไวรัสตัวร้าย ๆ มาทิ้งไว้ตามห้องประชุม โต๊ะทำงาน

เวลาพนักงานพบเข้าก็จะสงสัยว่าเป็นของใคร และเสียบเข้ากับเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลที่ต่อเชื่อมกับระบบสารสนเทศขององค์กรอยู่เพื่อตรวจสอบว่ามีข้อมูลอะไร

แต่ทันทีที่เปิดอ่าน Thump Drive นั้น การแพร่ของไวรัสที่อยู่ใน Thump Drive นั้นก็แพร่กระจายไปในระบบสารสนเทศขององค์กรทันที

อันตรายนะครับ เรื่องพวกนี้ในฐานะผู้บริหารและผู้บังคับบัญชาต้องมอบหมายนโยบายให้หน่วยงาน ที่ดูแลเรื่องระบบสารสนเทศขององค์กรทำเรื่องระเบียบและวิธีปฏิบัติที่เหมาะ สมมาให้เราพิจารณาเพื่อประกาศใช้ด้วย เพราะยังมีอีกหลาย ๆ เรื่องที่จะสามารถป้องกันระบบสารสนเทศขององค์กรเราได้ อีกทั้งจะทำให้ประสิทธิภาพในการใช้งานมีมากขึ้นครับ


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : การบริหารจัดการ ระบบสารสนเทศในองค์กร

view