สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

แปดข้อคิดลงทุนในพม่า

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ ช่วยกันคิด โดย บุญเกียรติ ชีวะตระกูลกิจ bcheewatragoongit@yahoo.com

ด้วยประชากรขนาด 64 ล้านคน และมี GDP ต่ำกว่าไทยถึง 7 เท่า "พม่า" จึงถูกมองเป็นโอกาสอันยิ่งใหญ่ในการลงทุนทำธุรกิจ และในกลุ่มอาเซียนด้วยกันเอง

ประเทศที่มีพรมแดนติดกับพม่ามากที่สุดคือประเทศไทย กล่าวคือมีชายแดนติดต่อกันยาวถึง 1,800 กิโลเมตรเลยทีเดียว ด้วยทำเลที่ได้เปรียบเพื่อนบ้านอื่น ๆ เช่นนี้ ถ้าเรายังขืนทำอะไรไม่เป็นโล้เป็นพาย และมัวแต่ขัดแย้งกันเองภายในประเทศ ไทยแทบเป็นชาติเดียวในอาเซียนที่ไม่ได้พัฒนายุทธศาสตร์อะไรขึ้นมารองรับการ "เปิดประตู" ของการก้าวสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558

ผิดกับพม่าที่แม้จะเพิ่งเปิดประเทศ แต่มี "โรดแมป" รองรับการเปิดเออีซี อาทิ เป็นเจ้าภาพซีเกมส์เมื่อปีกลาย และเป็นประธานอาเซียนในปีนี้ พม่าจะมีการเลือกตั้งทั่วไป รวมถึงการเลือกประธานาธิบดีในปลายปีหน้า-2015

อย่างไรก็ตาม แม้ยุทธศาสตร์ของประเทศยังไม่ถูกวาง แต่นักธุรกิจไทยคงอยู่นิ่งเฉยไม่ได้ ภายใต้การร่ายรำแบบตัวใครตัวมัน ผมมีข้อคิดที่อาจเป็นประโยชน์มา "แบ่งปัน" กับผู้ประกอบการไทย อย่างน้อยพอจะผ่อนหนักเป็นเบา และนำไปแก้ไขสถานการณ์ต่าง ๆ ในการทำธุรกิจได้

ประการแรก
ฝากถึงนักธุรกิจไทยต้องมองพม่าว่าเป็น "ตลาดบุกเบิก" หลายสิ่งหลายอย่างอยู่ระหว่างการพัฒนา เช่น สาธารณูปโภค สาธารณูปการ หรือระบบต่าง ๆ อาทิ ระบบธนาคาร ระบบบัตรเครดิต ระบบโทรคมนาคม ฯลฯ ล้วนไม่สะดวก เพราะประเทศถูกปิดมานาน การ "เปิด" ประเทศซึ่งเพิ่งไม่นานมานี้ จึงยังต้องการเวลาในการพัฒนาอีกมากทีเดียว การเข้าไปทำธุรกิจในพม่าควรมองว่าเป็น "งานท้าทายยิ่งยวด" ถ้าประสบความสำเร็จ ก็จะกลายเป็นความหอมหวาน ถ้าไม่สำเร็จ ถือเป็นเรื่องธรรมดา โดยคาถาที่ต้องท่องให้ขึ้นใจคือ "อย่าท้อแท้"

ประการที่สอง
จะทำการให้สำเร็จในพม่า ต้องมี "เพื่อน" ทางธุรกิจ (Business Partner) เป็นคนท้องถิ่นที่จริงใจ เพราะอย่างน้อย หากเกิดอะไรขึ้น ยังมีหุ้นส่วนที่เป็นคนในพื้นที่คอยอุดรูรั่วให้ การเป็นพาร์ตเนอร์อาจทำได้หลายรูปแบบ เช่น ตั้งบริษัทร่วมทุน (Joint Venture) หรือเป็นเจ้าของทรัพย์สินให้เราเช่า ฯลฯ

มีข้อควรระวัง คือพาร์ตเนอร์ที่เลือกควรเป็นกลาง ไม่ถูกมองว่าฝักใฝ่การเมืองฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ดังนั้น การเอกซเรย์หุ้นส่วนโดยละเอียดก่อนร่วมมือกันจึงเป็นเรื่องสำคัญ

ประการที่สาม
กลยุทธ์การลงทุน ในบางธุรกิจแม้ Business Model จะต้องใส่แบบ "เต็มแม็ก" เพื่อให้ได้ Economy of Scale แต่ที่พม่า ควรแบ่งเป็นเฟส

โดยเฟสแรก อาจต้องวางแผนให้ใช้กำลังการผลิต "เต็ม" โดยเร็ว อย่างน้อยสินทรัพย์จะได้ไม่ว่าง ให้เป็น Earning Asset ดีกว่าเป็น Unearned Asset เฟสแรกนี้ยังไม่ต้องหวังผลกำไรอะไรมากนัก เพราะความไม่ชัดเจน ทั้งในแง่กฎหมายและระบบยังมีอยู่ ถ้าเรามองการขาดทุนระยะแรกเป็น "ค่าหน่วยกิต" ในการเล่าเรียน (Learning Cost) ก็น่าจะสบายใจที่สุด เมื่อทุกอย่างเข้าที่และมีความมั่นใจ จึงค่อยขยายงานมุ่งสู่ Economy of Scale เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนต่อไป

ประการที่สี่
การลงทุนในที่ดิน หลายคนอาจเคยได้ยินว่า "ราคาที่ดินกลางกรุงย่างกุ้ง แพงกว่าในนิวยอร์ก" ซึ่งไม่เกินความจริงเลย ที่ดินในพม่ามีราคาแพงมาก ทันทีที่มีข่าวเปิดประเทศ ด้วยเหตุนี้ ธุรกิจที่ไม่จำเป็นต้องใช้ที่ในเมือง จึงอยากแนะนำให้ใช้ที่ไกลเมืองออกไปสักหน่อย ซึ่งสนนราคาย่อมเยากว่า

กรณีที่จำเป็นต้องอยู่ในเมือง เช่น ธุรกิจบริการซึ่งทำเลเป็นเรื่องสำคัญ "การเช่า" น่าจะเป็นทางออกที่สวยที่สุด ไม่ว่าจะเช่าจากรัฐบาลหรือเอกชนก็ตาม ควรทำสัญญาเช่าระยะยาวสักหน่อย ขณะเดียวกัน ไม่ว่าจะเช่าหรือซื้อ ควรตรวจสอบในแง่กฎหมายให้ดี

ประการที่ห้า
การมีที่ปรึกษาที่รู้เรื่องพม่าดี เป็นสิ่งจำเป็น อย่างน้อยก็ต้องใช้บริการที่ปรึกษากฎหมาย (Legal Consultant) เพราะกฎหมายยังอยู่ในระหว่างการปฏิรูป ข้อกฎหมายหลายประเด็นยังไม่มีการสรุปที่ชัดเจน ถ้าเดินหน้าไปแล้วเกิดติดขัด ก็จะเสียเวลาและมีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นมาก

ประการที่หก
เรื่องแรงงาน ในอดีตค่าแรงในพม่ามีราคาถูก ก่อนเปิดประเทศไม่นาน ค่าแรงยังอยู่ที่วันละไม่กี่สิบบาท ปัจจุบันพุ่งสูงขึ้นประมาณวันละ 100 บาท สาเหตุหนึ่งเพราะแรงงานพม่าหูตากว้างขึ้น จากการได้ออกไปทำงานนอกประเทศ และได้ทราบถึงอัตราค่าแรงในตลาดแรงงานอื่น ๆ เช่น ค่าแรงในไทย เป็นต้น

ประการที่เจ็ด เรื่องวัตถุดิบ ธุรกิจที่ออกแบบให้สามารถนำวัตถุดิบจากบ้านเราเข้าไปเพิ่มมูลค่าในพม่าได้ จะมี Advantage เพราะทำเลของเราได้เปรียบ ยกตัวอย่างถ้าธุรกิจไทยต้องเข้าไปตั้งบริษัทร่วมทุนกับชาวพม่า อย่างน้อยวัตถุดิบ เมื่อสามารถสั่งตรงจากประเทศไทยภายใต้เงื่อนไขไร้พรมแดนของ AEC เราก็จะได้ประโยชน์ไปแล้วส่วนหนึ่ง อันเป็น Upstream ของ Value Chain

ประการที่แปด เรื่องการเมือง ประมาทไม่ได้เลย เพราะพม่าเองเพิ่งปรับโหมดมาเป็นประชาธิปไตยสด ๆ ร้อน ๆ ดังนั้น การเมืองอาจพลิกผันได้ง่าย พม่าจะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีปลายปีหน้า (2015) เรื่องที่ถูกจับตามองคือจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเปิดโอกาสให้ "อองซาน ซู จี" ลงสมัครรับเลือกตั้งได้หรือไม่ ผลเป็นอย่างไร คงต้องติดตามต่อไป

อย่างไรก็ตาม ในฐานะของคนที่เข้าไปลงทุนทำธุรกิจ การเลือกหุ้นส่วนทางการค้า ถ้าได้ผู้ที่เป็นกลางจะช่วยตัดความกังวลในประเด็นนี้ไปได้โขทีเดียว

คนพม่าโดยรวมนิยมสินค้าไทย มองว่าสินค้าไทยมี Positioning สูงกว่าสินค้าจีน ทั้งในแง่ของคุณภาพและราคา และเมื่อเทียบกับสิงคโปร์ ภาพลักษณ์ของไทยไม่ได้ด้อยกว่าแต่อย่างใด แต่ราคาสินค้าสิงคโปร์อาจแพงกว่า

ด้านการบริการรักษาพยาบาลนั้น คนชั้นสูง (A, B+) ในพม่าจะเลือกสูสี ระหว่างเดินทางไปสิงคโปร์หรือกรุงเทพฯ มาตรฐานทางการแพทย์ของไทยเป็นที่ยอมรับของชาวพม่ามากทีเดียว ส่วนผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปจากประเทศไทย อย่างเครือเจริญโภคภัณฑ์ ก็ประสบความสำเร็จอย่างมากในตลาดพม่า

ข้อคิดเห็นต่าง ๆ เหล่านี้อาจเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจไทยในการเข้าตลาดพม่าได้บ้าง แต่ผมยังเชื่อว่าถ้าภาครัฐมีสมาธิในการจัดทำยุทธศาสตร์อย่างเป็นระบบ มุ่งสู่เป้าหมายที่ชัดเจน เป็นเอกภาพ ธุรกิจไทยจะมีโอกาสประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ในตลาดพม่า


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : แปดข้อคิด ลงทุนในพม่า

view